19 กรกฎาคม 2555

การประชุมเชิงปฏิบัติการทุ่นระเบิดที่เชียงใหม่

วันที่ 19 ก.ค.2555 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย (ศทช.ศบท.บก.ทท.)ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการบูรณาการแผนงานปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในพื้นที่ของหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 4 (นปท.4) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือรวม 10 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย และเพชรบูรณ์ ขนาดพื้นที่อันตรายจากทุ่นระเบิดที่ยืนยัน รวม 524 ตร.กม. 

13 กรกฎาคม 2555

แผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ราชอาณาจักรไทย

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2555 มีหนังสือจากอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ (กองสันติภาพ ความมั่นคง และการลดอาวุธ) กระทรวงการต่างประเทศ ให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิด เพื่อจัดทำรายงานประจำปี (Geneva Progress Report 2012) และเพื่อการดำเนินการตามแผนปฏิบัติคาร์ตาเฮนาข้อ 14 ที่กำหนดให้รัฐภาคีระบุพื้นที่ที่ยังคงมี หรือคาดว่ามีทุ่นระเบิดฯ ตกค้างอยู่  ซึ่งต้นเรื่องนี้เป็นการทวงถามมาจากคณะผู้แทนถาวรอินโดนีเซียและแซมเบีย (ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการประจำด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดฯ ภายใต้อนุสัญญญาฯ) ที่มีหนังสือไปถึงคณะผู้แทนถาวร ณ นครเจนีวา

ข้อมูลที่ประเทศไทยต้องแจ้งให้ทราบก็คือ
  1. พื้นที่ที่ประเทศไทยเคยรายงานเมื่อ พ.ค.2555 ว่ายังมีทุ่นระเบิดเหลืออยู่ จำนวน 542.6 ตร.กม.นั้น แยกเป็นพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยัน (Confirmed Hazardous Area : CHA) และเป็นพื้นที่อันตรายที่ระบุดชัดเจน (Defined Hazardous Area : DHA) จำนวนเท่าใด
  2. สถานะของแผนดำเนินการและกรอบระยะเวลาในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามพื้นที่ในข้อ 1
  3. ประเทศไทยจะสามารถเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามข้อ 1 ให้แล้วเสร็จภายใต้พันธกรณี ข้อ 5 ของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลฯ (ออตตาวา) ที่ขอต่อระยะเวลาถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 ได้หรือไม่
  4. จำนวนพื้นที่ที่ประเทศไทยจะเก็บกู้ได้จนถึงปลายปี พ.ศ.2557