4 ธันวาคม 2556

ในหลวงในดงทาก...

วันนี้  (4 ธันวาคม 2556) ผมพยายามค้นหาภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ในหลวงของพวกเรา จาก Google  เพื่อจะนำภาพของพระองค์ท่าน มาเขียนคำถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ.2556  ในนามข้าราชการในหน่วยงานของผมเอง  ผมพยายามค้นหาภาพที่พระองค์ท่านในขณะเสด็จพระราชดำเนินไปในผืนป่าทุรกันดารต่างๆ  จะได้เป็นการสอนลูกน้องทางอ้อมไปในตัวด้วย เพราะงานของพวกเราก็ต้องเดินทางไปในผืนป่าทั่วประเทศไทยเพื่อหาทุ่นระเบิดเช่นกัน เวลาพวกเราออกราชการสนามไปทำงานจะได้มีแรงบันดาลใจและกำลังใจนึกถึงเสมอว่า  "ขนาดพระองค์ท่าน เป็นถึงพระมหากษัตริย์ พระองค์ท่านก็ทรงไม่ย่อท้อต่อความลำบาก พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปทุกหนแห่งเพื่อช่วยเหลือราษฎรของพระองค์"   แล้วตัวพวกเราเป็นใครกันเล่า ที่คิดจะขี้คร้านทำราชการให้แก่แผ่นดิน



ในหลวงในดงทาก
ผมค้นข้อมูลไปมาจนไปพบบทความหนึ่งที่ชื่อว่า "ในหลวงในดงทาก" จากเว็บไซต์เด็กดีดอทคอม (http://www.dek-d.com/board/view/1700695/ เลยขอนำมาเผยแพร่ไว้ในบล็อกนี้อีกแห่งหนึ่ง เพื่อพวกเราหลายๆ คนจะได้ทราบว่า พระองค์ท่านทรงยากลำบากเพียงใดบ้าง

*************************


20 กันยายน 2528 วันนี้เป็นวันฝนตกพรำมาจากเช้าจวบบ่าย ไม่มีทีท่าจะเลิกรา หนาบ้าง บางบ้าง สลับเป็นสายไล่เลียง ลีลาเหมือนม่านฟ้าสีขาว เป็นฉากกั้นขุนเขาที่แลเห็นอยู่ลับลิบ ”

ในป่ายางหนาวเย็น ที่ลึกซอกซอนและซ่อนตัว ณ บ้านตามุง หมู่ที่ 4 ตำบลเชิงคีรี อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส แห่งนี้


ทันทีที่รถพระที่นั่ง “แวกอนเนียร์” ซึ่งทรงขับด้วยพระองค์เองจอดสนิทบนทางดินเล็กๆ ข้างป่ายาง ซึ่งเป็นทางเดิน มิใช่ทางรถ ฝนก็กระหน่ำลงมา ประหนึ่งจะขอรับเสด็จด้วย ผืนแผ่นดินที่เปียกแฉะฉ่ำชื่นอยู่แล้วก็แปรสภาพเสมือนทะเลโคลนย่อมๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฉลองพระองค์ชุดเสื้อกันฝน ทรงนำคณะเจ้าหน้าที่บุกฝ่าเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นป่าสลับกับสวนยาง ท่ามกลางเม็ดฝนใสที่กระทบยอดไม้และใบหญ้าดังกรูเกรียว ในสภาพที่หนาวเย็น พื้นดินเป็นโคลนตม และสัญจรเข้าไปได้ยากเย็นยิ่งนักเช่นนี้ เชื่อหรือไม่ว่าได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทนำหน้าคณะเข้าไปอย่างรวดเร็ว จนผู้ติดตามและข้าราชบริพารเดินตามแทบไม่ทัน บางคนต้องวิ่งเยาะ บางคนลื่นไถล และเมื่อหนทางวิบากนี้ไกลขึ้นๆ บางคนต้องหยุดพักเหนื่อยและหลบฝนอยู่ใต้ร่มไม้ที่แข็งแรงพอซึ่งมีอยู่เพียง ส่วนน้อยใครที่แข็งแรงก็ตามต่อไปกระชั้นชิด ทั้งที่เหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทเข้า ไปในป่ายางท่ามกลางฝนตกหนัก โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทไปไม่ห่าง เป็นระยะทางถึง 2 กิโลเมตรเศษ ตามภาพที่เกริ่นกล่าวในเบื้องต้น นี่คือสิ่งที่มิใช่สามัญธรรมดาในความรู้สึกของผู้คน และความไม่สามัญธรรมดานี้ก็ยิ่งไม่ธรรมดามากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ เนื่องเพราะบริเวณนี้คือ “ดงทาก” หรือ “รังทาก” อันมีทากชุกชุมที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ และด้วยเหตุอันน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงดังกล่าวการบุกเข้าไปใน “ดงทาก” ท่ามกลางสภาพการณ์เช่นนี้จึงไม่ต่างกับการเข้าไปสงครามในดงทาก เพียงเห็นบรรดาทากห้อยหัวยั้วเยี้ยบนก้านกิ่งและใบไม้ อีกบนพื้นหญ้าแฉะชื้นก็ชูคอสลอนดังใบหญ้าโอนเอนแล้ว ที่หนาวกายเพราะสายฝนก็กลับหนาวเข้าไปถึงหัวใจ กว่าจะถึงจุดหมาย คือบริเวณพื้นที่ที่จะพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ สำหรับพื้นที่ 5,000 ไร่ ใน 3 เขตตำบล คือ เชิงคีรี มะยูง และรือเสาะ เกือบทุกคนก็โชกฝนและโชกเลือด แม้ทูลกระหม่อมทั้ง 2 พระองค์ก็มิได้ยกเว้น

ค่ำวันนั้นระหว่างเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์อากาศปรายฤดูฝนกำลังสบาย ดวงดาวบนท้องฟ้าเริ่มจะปรายแสง ขบวนรถยนต์พระที่นั่งได้หยุดลงอย่างกระทันหันโดยไม่ทราบถึงสาเหตุบนทางหลวง ที่มืดสงัดเป็นเวลาหลายนาที ถามไถ่ได้ความภายหลังว่า ยังมีทากหลงเหลือกัดติดพระวรกายอยู่อีก เมื่อรู้สึกพระองค์จึงได้ทรงหยุดรถพระที่นั่งรับสั่งให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ช่วยจับทากที่ตัวเป่งด้วยพระโลหิตออกจากพระวรกาย

ทรงเรียกการทรงงานวิบากที่เชิงคีรีครั้งนี้ในภายหลังว่า "“สงครามกับตัวยึกยือที่เชิงคีรี”"


*****************************     



2 ตุลาคม 2556

หนึ่งปีครึ่ง..ที่ศูนย์ปฎิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ


ผมจากกรมการทหารช่างหน่วยต้นสังกัดของผม ที่ จ.ราชบุรี  มาปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้าส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เขตดอนเมือง กทม. ตั้งแต่ 1 ต.ค.2555 ครบหนึ่งปี เมื่อ 30 ก.ย.2556 แต่ถ้ารวมอีก 6 เดือนก่อนหน้านั้น (ซึ่งผมไม่ได้เป็นหัวหน้าส่วนฯ) ก็รวมเป็นหนึ่งปีครึ่งพอดี

ชีวิตการปฎิบัติงานที่นี่...ผมถือว่าโชคดีที่ได้มีโอกาสเดินทางไปในหลายๆ จังหวัด ตั้งแต่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ น่าน ตาก อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ สระแก้ว เรื่อยลงมาถึงจันทบุรี และตราด รวมตลอดปีแล้วต้องเดินทางลงภาคสนามกว่า 20 ครั้งๆ ละ 4-5 วัน  

ผมได้รับประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับวิถีการดำรงชีวิต  ประเพณี วัฒนธรรม ของคนพื้นถิ่นตามขอบแนวชายแดนทั้งลาว พม่า และกัมพูชา จำนวนมาก หลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายภาษา รวมทั้งได้เห็นถึงปัญหาความล้มเหลวของการบริหารจัดการภาคราชการอีกจำนวนมากเช่นกัน  เห็นแม้กระทั่งความเลวร้ายของข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ ที่จ้องแต่เอาประโยชน์เข้าส่วนตนและพรรคพวกอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะกล้าทำได้  ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดการศึกษา ขาดปัญญาเพียงพอที่จะช่วยเหลือตนเอง เอาแต่แบมือขอ มีเลือกตั้งก็รับเงิน มีเหตุร้ายก็ขอเงินเยียวยา ข้าวกล้าก็รอแต่การจำนำ สถาบันครอบครัวแตกแยก เป็นหนี้เป็นสิน นายทุนกลายเป็นเจ้าของที่ดินทำกินเกือบทั้งหมด ตาสี ยายสา ได้แค่รับจ้างทำนา ในผืนนาที่เคยเป็นของตัวเอง ยายใจ ก็รับจ้างเก็บลำใย นายใสก็รับจ้างกรีดยาง..ฯ ผมเห็นมาเช่นนั้นจริงจริง



ลูกหลานของแรงงานชาวกัมพูชา ที่ตามพ่อแม่เข้ามารับจ้างในประเทศไทย


ใจของผมรู้สึกหดหู่  ที่ประเทศไทยของเรามีคนเก่งๆ อยู่มากมาย แต่กลับไม่สามารถสร้างปัญญาให้กับประชาชนคนไทยได้ หากถามย้อนกลับมาว่า "เพราะการศึกษาที่ล้มเหลว ใช่หรือไม่" ผมคิดว่าไม่ไช่ เพราะการศึกษาเป็นแค่ส่วนหนึ่งในเสี้ยวชีวิต เท่านั้น ชีวิตของคนๆ หนึ่งจะเป็นอย่างไร ไม่ได้อยู่ที่การศึกษา ขึ้นอยู่กับการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพ เลี้ยงปาก เลี้ยงท้องของตัวเอง กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เขาอาศัยอยู่

คนไทยมักถูกปลูกฝังให้เป็นผู้รับจ้าง..เพราะเราคำนึงถึงแต่การลงทุนของชาวต่างชาติ มากกว่าการลงทุนของคนในชาติ
คนไทยถูกปลูกฝังให้เป็นผู้ซื้อใช้..เพราะเราไม่สามารถผลิตอะไรใช้ได้ด้วยตนเอง
คนไทยถูกปลูกฝังให้เป็นผู้รับความช่วยเหลือ..มากกว่าช่วยเหลือตนเอง
คนไทยถูกปลูกฝังให้มีเจ้านาย(คุ้มหัว) ..มากกว่าเป็นนายของตัวเอง
..ฯลฯ..



ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ มีภารกิจต้องทำให้พื้นที่ 530.8 ตารางกิโลเมตร ใน 18 จังหวัดของประเทศไทยที่ถูกระบุว่ายังมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยต้องให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2561  ตามพันธะในอนุสัญญาออตตาวา ที่ให้ไว้กับนานาประเทศ ในปีงบประมาณ 2556 นี้พวกเราทำกันอย่างเต็มกำลังแล้ว ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด จำเขี่ย  พวกเราทำได้แค่เพียง  28.5 ตร.กม. ยังคงเหลืออีก 502.3 ตารางกิโลเมตร ที่ยังคงท้าทายให้พวกเราคนกู้ระเบิดยังคงต้องเสียสละทำงานกันต่อไป   


ข้าราชการทหารทุกเหล่าทัพ ที่มาปฏิบัติงานในศูนย์ปฏฺิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ และหน่วยปฎิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม 1-4 (นปท.1-4) จะถูกขอตัวมาช่วยราชการแบบปีต่อปี หากปีนั้นปฏิบัติงานไม่ดี ไม่บรรลุผล ก็ต้องจบภารกิจ และหาคนดีมีฝีมือคนใหม่มาทดแทนในปีต่อไป

ที่กล่าวมานั้นคือ อุดมคติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มิเป็นเช่นนั้น "คนดีมีฝีมือกลับอยู่ไม่ได้ มักถูกส่งกลับ คนที่เหลืออยู่มักจะเป็นคนประจบสอพลอ ถูกเลี้ยงไว้เพื่อทำประโยชน์ให้เจ้านายบางคน  คนพวกนี้มักทำตัวเป็นจิ้งจกเปลี่ยนสีอยู่ร่ำไป  ส่วนคนมาใหม่ก็มีแต่เส้นแต่สาย มาเพื่ออยากลองหรือแค่เป็นเพียงทางผ่านเพื่อเอาสิทธิบางประการ พอครบปีแล้วก็จากไป"

ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีความสำคัญ สามารถทำประโยชน์ให้แก่ผืนแผ่นดินไทยได้อย่างชัดเจนเห็นได้เป็นรูปธรรม หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีคุณค่า มีความดีงามอยู่ในตัวของมันเอง  แต่คนที่มาอยู่ต่างหากที่ทำไม่ดี จนทำให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ต้องเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียงตามไปด้วย 

ตลอดหนึ่งปีที่ผมลงปฏิบัติงานภาคสนาม ผมมักจะพูดกับเพื่อนพี่น้องชาว นปท.ทั้งหลายว่า  
"งานของพวกเรา เหมือนกับการปิดทองหลังองค์พระปฏิมา ไม่ค่อยมีคนได้รู้ได้เห็น ทั้งๆ ที่เป็นงานในระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมแห่งชาติ (National Mine Action Committee : NMAC) แต่กลับไม่มีใครให้ความสนใจ คนส่วนใหญ่แทบไม่มีใครรู้จักหน่วยงานของพวกเราด้วยซ้ำไป

แต่พวกเราต้องเชื่อในหลวงของพวกเรา พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัส เมื่อปี พ.ศ.2510 ว่า
"...ที่ให้ปิดทองหลังพระ ก็เพื่อเตือนตัวเองว่า การทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร หรือประกาศให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่ เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว..."

เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2556 ในวันที่ 30 ก.ย.2556 และเริ่มทำงานใหม่ปีงบประมาณ 2557 ในวันที่ 1 ต.ค.2556  หลายคน...อาจไม่ได้ปิดทองหลังพระองค์เดียวกันกับผมอีก...แต่ไม่ว่าพวกเธอจะไปอยู่ที่ไหน..ก็ขอให้หมั่นปิดทองอยู่เสมอ ถึงแม้จะเป็นการปิดทองหลังพระอีกองค์ก็ตาม....

ผมมีความเชื่อว่า "วันหนึ่งข้างหน้า..พระทุกองค์จะงามทั้งองค์พร้อมกัน..ทั่วทั้งแผ่นดิน" ด้วยมือของพวกเรา






















**********************
ชาติชยา ศึกษิต : 2 ก.ย.2556

ดูรายละเอีดเพิ่มเติม http://www.facebook.com/CoED-TMAC

30 กรกฎาคม 2556

ตามหาเมธี ตอนที่ 1

ผมเผอิญได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า "ฟื้นฟูปราสาทสด๊ก ก๊อก ธม"  (The Sadok Kok Thom Ruins Revived) จัดทำโดย  องค์กรพันธมิตรแห่งประเทศญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการกู้ระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (Japan Alliance for Humanitarian Demining Support : JAHDS)    พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2547 โดยจัดพิมพ์เป็น 3 ภาษา คือ ไทย ญี่ปุ่น และอังกฤษ เพื่อเป็นที่ระลึกหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ "เก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดบริเวณปราสาทสด๊ก ก๊อก ธม"  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการ "Japan NGO-Support Grant Cooperation" อันเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กร JAHDS, ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) และมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จนสามารถคืนพื้นที่ปลอดภัยบริเวณปราสาทฯ ให้แก่ประชาชน จากทุ่นระเบิดที่ตกค้างจากการสู้รบในสมัยอดีต และยังสามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งโบราณสถานที่สำคัญที่มีคุณค่าของผืนแผ่นดินไทย สามารถฟื้นฟูเป็นแหล่งศึกษาโบราณคดีและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสระแก้วได้อีกแห่งหนึ่ง

หนังสือ "ฟื้นฟูปราสาท สด๊ก ก๊อก ธม"

เมธี...ผู้เคราะร้าย
ในหนังสือเล่มดังกล่าวมีบทความหนึ่งใช้ชื่อว่า "เสียงแห่งชีวิต" (Voice of life) เป็นเรื่องราวของ ด.ช.เมธี  เย็นควร อายุ 7 ปี  ซึ่งเหยียบทุ่นระเบิดบริเวณสวนใกล้บ้านของเขา ขาขาดทั้งสองข้าง 



หลังจากเขาต้องกลายเป็นคนพิการ เมธีก็ไม่ได้ไปโรงเรียน
เมธี เคยรำพึงให้ฟังว่า "ผมอยากไปโรงเรียน..." แต่เมธีก็ไม่ได้ไป ถึงแม้เขาจะสามารถเดินได้อีกครั้งด้วยขาเทียมแล้วก็ตาม เพราะที่บ้านไม่มีใครพาเขาไปโรงเรียนได้ แม่ก็ยุ่งอยู่กับการทำงานในไร่นา และพ่อของเขาก็ต้องไปทำงานในเมือง 

เรื่องราวของเมธี ทำให้ผมรู้สึกสนใจว่า "ป่านนี้ชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไรบ้าง"  ผมจึงได้โพสต์เรื่องราวของเมธีลงในเฟสบุ๊ค  เผื่อจะมีใครพอทราบบ้าง (ดูรายละเอียด) ได้ผลครับ มีผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ได้เข้ามาแจ้งข่าวสารเพิ่มเติม คือ


คุณอ้น "เมธีอยู่กับยาย ทีหลังยายเลี้ยงไม่ไหว เมธีได้ไปเรียนที่โรงเรียนมหาไถ่ ที่ดีมากๆ สำหรับคนพิการ อยู่ที่พัทยาค่ะ โดยพี่อ๋า เจอาร์เอส (องค์การที่น้องชมพู่ทำงานอยู่) ซึ่งเป็นคนดูแลงานด้านทุ่นระเบิดตอนนั้นเป็นคนคอยดูแลเมธีอยู่สม่ำเสมอค่ะ แต่ไม่ได้ข่าวหลายปีแล้ว คิดว่าคงสบายดี เพราะถ้าไม่สบายคงได้ข่าวบ้าง" 

คุณชมพู่ "ตามข่าวให้แล้วค่ะ ได้สอบถามไปยังพี่อ๋า อดีตเจ้าหน้าที่ JRS และ Landmine Monitor Researcher คนแรกของไทยค่ะ ข่าวล่าสุดคือ น้องเมธีเรียนอยู่ที่โรงเรียนพระมหาไถ่ พัทยา และถูกส่งไปฝึกเป็นนักบาสคนพิการค่ะ พี่อ๋าเป็นคนพาน้องไปส่งเรียนที่โรงเรียนพระมหาไถ่ พัทยาเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว รายละเอียดอื่น ๆ ต้องโทรไปสอบถามเพิ่มเติมที่โรงเรียนนะคะ"


นอกจากนั้น ยังมีเพื่อนๆ  ในเฟสบุ๊ค หลายท่าน ให้กำลังใจ และจะคอยเฝ้าติดตามข่าวของเมธีด้วย...
การ "ตามหาเมธี" จึงเกิดขึ้น ซึ่งผมก็อยากรู้เช่นกันว่า...

"ชีวิตเด็กน้อยๆ ที่ต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างตั้งแต่อายุเพียง 6 ขวบ เขาจะต่อสู้ชีวิตได้อย่างไร มีใครคอยช่วยเหลือและให้กำลังใจเขาอยู่บ้าง   ป่านนี้ เมธี..คงน่าจะอายุ 17 ปี แล้ว การเยียวยาช่วยเหลือจากรัฐบาลแก่ผู้ที่ประสบภัยจากทุ่นระเบิด (ที่ตกค้างจากพิษภัยของสงครามในสมัยก่อน) ยังคงช่วยเหลือเขาอยู่หรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ไฟไหม้ฟาง" 

เรื่องราวเหล่านี้ ผมและลูกน้องทุกคน จะพยายามตามหาเมธีให้พบ...เพื่อนำมาเล่าสู่กันฟัง
...เราอาจจะได้ฟังเรื่องราวที่ดีๆ...จากน้องเมธีได้บ้าง ไม่มากก็น้อย....

ติดตามเรื่องราวผ่านเฟสบุ๊ค
*****************************************
ชาติชยา  ศึกษิต : 30 ก.ค.2556

ติดตาม ตามหาเมธี ตอนที่ 2  

1 กรกฎาคม 2556

พื้นที่ทับซ้อนดอยลาง กับ การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วม ไทย-เมียนม่าร์

เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2556 ผมได้มีโอกาสได้ไปตรวจสอบและประเมินพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด บริเวณช่องทางสันต้นดู่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ติดแนวชายแดนประเทศเมียนม่าร์ จึงได้พบว่าตามแนวชายแดนนี้ ยังมีปัญหารอให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายได้ช่วยแก้ไขอีกหลายเรื่อง  ซึ่งปัญหาเหล่านี้ มีมาตั้งแต่อดีต แม้กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จ



ถัดออกไปทางตะวันตกของช่องทางสันต้นดู่ มีพื้นที่ทับซ้อนที่ยังถกเถียงกันอยู่ ขนาดประมาณ 32 ตร.กม.เรียกชื่อพื้นที่นี้ว่า "พื้นที่ทับซ้อนดอยลาง" เหตุเพราะว่าประเทศไทยและประเทศเมียนม่าร์ ใช้แผนที่คนละฉบับ ดังแสดงไว้ในภาพด้านบน  พื้นที่แห่งนี้จึงตกลงกันไม่ได้ว่าเป็นพื้นที่ของประเทศเมียนม่าร์หรือของราชอาณาจักรไทย  ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหน่วยทหารทั้งของเมียนม่าร์ ว้า และทหารไทย ตั้งเผชิญหน้ากัน แต่ไม่มีความขัดแย้งใดๆ  มีความสัมพันธ์อันดี เพียงแต่รอเวลาว่าตัดสินว่า แผ่นดิน 32 ตร.กม.นี้จะเป็นของใคร

สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ที่ผมปฏิบัติงานอยู่ก็คือ พื้นที่ทับซ้อน 32 ตร.กม. แห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่ได้รับการยืนยันว่ามีอันตรายจากทุ่นระเบิดอยู่ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center: TMAC) ต้องเก็บกู้และกวาดล้างทุ่นระเบิดและทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2561 ตามพันธสัญญาที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ในอนุสัญญาออตตาวา ..แล้วทีนี้จะทำอย่างไรต่อไปดี..ปัญหาแนวชายแดนนี้คงไม่เสร็จสิ้นในเร็ววันนี้แน่นอน เพราะทั้งสองประเทศได้พยายามร่วมกันแก้ไขกันมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จ



พื้นที่ทับซ้อนดอยลาง

การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมระหว่างไทย-เมียนม่าร์
TMAC เป็นหน่วยงานปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม ไม่ถืออาวุธ ถือแต่เครื่องตรวจค้นทุ่นระเบิด มุ่งประโยชน์เพื่อมนุษยชาติเป็นสำคัญโดยไม่แบ่งเขตแดนและเชื้อชาติศาสนา ปฏิบัติงานภายใต้คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมแห่งชาติ (National Mine Action Committee: NMAC)  โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พื้นที่ดอยลางนี้ เป็นพื้นที่ทับซ้อน ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะอยู่ในเขตแดนของประเทศไทยหรือประเทศเมียนมาร์  วิธีการแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้ก็คือ "การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันระหว่างไทย-เมียนม่าร์" ซึ่งมีหนทางที่เป็นไปได้มากที่สุด หากรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย เห็นแก่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรทั้ง 2 ประเทศ ไม่ว่าจะเชื้อชาติใดก็ตาม


ที่ตั้งกำลังทหารของพม่าบริเวณพื้นที่ทับซ้อนดอยลาง

แต่วิธีการนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะพื้นที่แห่งนี้ เป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดและสิ่งของผิดกฏหมาย ที่สำคัญของเหล่าผู้ทรงอิทธิพลทั้งหลาย ยากต่อการจับกุมและใช้กฏหมายบังคับ 

พื้นที่อันตรายจากทุ่นระเบิดคงไม่หมดไปจากประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2561 ตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมโลกอย่างแน่นอน เพราะพื้นที่ทับซ้อน เช่น ดอยลางนี้ ยังมีอยู่อีกหลายพื้นที่ตามแนวชายแดน..รอบประเทศไทย

*******************

ชาติชยา ศึกษิต : 30 มิ.ย.2556

24 มิถุนายน 2556

ใช้ทุ่นระเบิดปกป้องป่าไม้..ความคิดที่ถูกหรือผิด

ผมทำงานในศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center : TMAC) มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบและประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด ที่ยังคงมีตกค้างอยู่ในประเทศไทยจากผลพวงการสู้รบตามแนวชายแดนในสมัยก่อน การดำเนินการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในประเทศไทยนี้ เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เรียกกันทั่วไปว่า "อนุสัญญาออตตาวา" โดยประเทศไทยต้องกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2561 หน่วยงานของผมทำงานภายใต้อำนาจของคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

เส้นทางเดินปลอดภัยขนาดกว้าง 1-2 ม.
หลังจากการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่

การดำเนินการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ วิธีการก็คือ การสุ่มเจาะเพื่อเปิดเส้นทางในพื้นที่กว้างประมาณ 1-2 เมตรเพื่อทำการตรวจค้นว่ามีทุ่นระเบิดหลงเหลืออยู่หรือไม่ หากพบก็จะทำการเก็บกู้และทำลายทิ้ง การสุ่มเจาะเพื่อเป็นตัวอย่าง จะเป็นไปตามกระบวนการปรับลดพื้นที่ด้วยวิธี Land release ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับและเป็นมาตรฐานใช้กันทั่วโลก โดยการสุ่มตัวอย่างจะต้องสุ่มให้ได้พื้นที่ปลอดภัยอย่างน้อยตั้งแต่ร้อยละ 5-40 ขึ้นไปของจำนวนพื้นที่ทั้งหมด แล้วแต่ความหนาแน่นของทุ่นระเบิดที่คาดว่าจะมี ดังนั้นในพื้นที่หลังจากการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดแล้ว จะก่อให้เกิดเส้นทางเดินขนาดกว้าง 1-2 เมตร โยงใยเต็มไปหมดคล้ายใยแมงมุม ซึ่งล้วนเป็นช่องทางเดินที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดแล้วทั้งสิ้น

ในพื้นที่ที่ระบุว่ายังมีสนามทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ ตามแนวชายแดนไทยและประเทศกัมพูชา ยังมีไม้พะยูงขึ้นอยู่จำนวนมาก มีการลักลอบตัดไม้พะยูงปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ ผู้ลักลอบตัดไม้ ไม่เกรงกลัวว่าจะเหยียบทุ่นระเบิดที่ยังตกค้างและมีอยู่ในพื้นที่ แต่ยังข้ามแดนเข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูงกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ยิ่งหลังจากหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม(นปท.) เข้าไปดำเนินการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ด้วยแล้ว ยิ่งก่อให้เกิดเส้นทางปลอดภัยจากทุ่นระเบิดอีกจำนวนหลายเส้นทาง ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น...

มีการกล่าวอยู่เสมอจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ว่า เส้นทางปลอดภัยจากการเก็บกู้และกวาดล้างทุ่นระเบิดที่ นปท. ดำเนินการ กลายเป็นเส้นทางที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกลักลอบตัดไม้พะยูง ให้เดินทางเข้ามาตัดไม้พะยูงและขนส่งได้ง่ายขึ้น  การตัดไม้พะยูงจึงมีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ ยากต่อการควบคุม จึงเกิดความเห็นที่ว่า "ควรใช้ทุ่นระเบิดปกป้องทรัพยากรป่าไม้เอาไว้ ไม่ควรเก็บกู้มันออกจากพื้นที่"

ร่องรอยตัดไม้พะยูง
ที่พบเป็นประจำขณะผมออก
ตรวจสอบและประเมินผล
พื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด
ผมว่าคำพูดเหล่านี้เป็นคำพูดที่ขาดความผิดชอบอย่างมาก..ไม้พะยูงมีการลักลอบตัดกันอยู่แล้วตามปรกติตามแนวชายแดน แม้จะยังไม่มีการเก็บกู้กวาดล้างทุ่นระเบิดก็ตาม เหตุเพราะเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ พ่อค้า และนักการเมือง ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ 

มีหรือ..ไม่รู้ว่าวันใดจะมีพวกลักลอบข้ามแดนเข้ามาตัดไม้พะยูงในเขตบ้านเรา แล้วชุดหาข่าวที่แฝงตัวอยู่ตามแนวชายแดนที่มีอยู่มากมาย ทำอะไรกันอยู่

ผู้รับผิดชอบพื้นที่มีการจัดชุดออกลาดตระเวนเฝ้าระวังพื้นที่บ่อยครั้งแค่ไหน หรือว่าไม่มีคน คนไม่พอ

นอกจากนั้น หลายหน่วยงานยังชอบอ้างว่าพื้นที่ป่าไม้ที่รับผิดชอบ เต็มไปด้วยอันตรายจากทุ่นระเบิด หากออกเดินลาดตระเวนแล้วเกรงว่าเจ้าหน้าที่จะได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบทุ่นระเบิด แต่พอพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดแล้ว กลับมาอ้างว่าเป็นการเอื้อต่อการเข้ามาลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอีก...ตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่...

ผมว่าปัญหาเหล่านี้ มันเป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่มากกว่า อย่าโทษคนเก็บกู้ทุ่นระเบิดอย่างพวกเราเลย ไม่ว่าจะท่านจะอยู่ในหน่วยงานใดก็ตามที่เป็นผู้ดูแลรักษาพื้นที่อยู่ ท่านรู้อยู่แก่ใจว่าไม้พะยูงมันอยู่ที่ไหน พิกัดตำแหน่งใด ขึ้นอยู่ที่ว่า ท่านตั้งใจรักษามันไว้ และตั้งใจปราบปราบผู้ลักลอบอย่างจริงจังหรือปล่าว หรือว่ามันมีอะไรปิดหูปิดตาอยู่ พวกท่านจึงมองไม่เห็น 

ผมว่าพอพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดแล้ว มีเส้นทางที่เปิดเอาไว้ให้เดินทางด้วยความปลอดภัย มันน่าจะทำให้เจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวณเฝ้าระวังพื้นที่ได้สะดวกและบ่อยครั้งขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่าเดิม และมีความปลอดภัยจากการบาดเจ็บจากการเหยียบทุ่นระเบิด..

ดังนั้น คำพูดที่กล่าวว่า "เส้นทางที่เปิดไว้กลายเป็นเส้นทางที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกลักลอบตัดไม้พะยูง ให้เดินทางเข้ามาตัดไม้พะยูงและขนส่งได้ง่ายขึ้น ยากต่อการควบคุม" จึงถือว่าเป็นคำพูดที่ขาดความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง


*************************
ชาติชยา ศึกษิต : 23 มิ.ย.2556

11 มิถุนายน 2556

ทำความสะอาด..อุบลราชธานี

ผลการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทยขององค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์ (Norwegian People's Aid : NPA และศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center : TMAC) เมื่อปี พ.ศ.2544 พบว่าในประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดที่ยังตกค้างและถูกฝังอยู่ จากผลพวงของการสู้รบตามแนวชายแดนในอดีตที่ผ่านมา จำนวนถึง 2,557 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 25 จังหวัด และหนึ่งในนั้นคือ จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีพื้นที่ที่คาดว่ายังมีทุ่นระเบิดตกค้างและฝังอยูุ่ถึง 131.62 ตารางกิโลเมตร  TMAC ได้เริ่มการปฏิบัติการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


พื้นที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิดตกค้างและฝังอยู่
ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จำนวน 131.62 ตร.กม.

ผมมาทำหน้าที่หัวหน้าส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผลของ TMAC เมื่อเดือนตุลาคม 2555 ผมรู้สึกแปลกใจว่า เวลาล่วงมาแล้วถึง 11 ปี แต่ในพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี ไม่เคยมีหน่วยงานใดเข้าไปดำเนินการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดอย่างเป็นจริงเป็นจังเลย มีเพียงแค่เข้าไปกวาดล้างและเก็บกู้พื้นที่บางส่วน ตอนก่อสร้างถนนเข้าสู่ช่องเม็กเท่านั้น  ในขณะที่จังหวัดต่างๆ มีการจัดหน่วยงานเข้าไปดำเนินงานกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิด และสามารถทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้วถึง 7 จังหวัด คงเหลือพื้นที่ที่มีดำเนินการกวาดล้างและเก็บกู้ฯ ในปัจจุบันสลับกันไปมาในแต่ละปีอยู่ 17 จังหวัด ส่วน จ.อุบลราชธานี เป็นจังหวัดเดียวที่ไม่ได้รับการเหลียวแลและไม่มีแผนที่จะเข้าไปดำเนินการ

ผมพยายามถามผู้บังคับบัญชาและผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคนในวงการทุ่นระเบิด ก็ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้อย่างชัดเจน 

"บ้างก็ว่าเป็นพื้นที่กันชนระหว่างไทย ลาวและกัมพูชา จึงไม่อยากเก็บกู้ระเบิดออก เอาไว้เป็นเครื่องกีดขวางป้องกันตามแนวชายแดน"

"บ้างก็ว่าเอาทุ่นระเบิดไว้ป้องกันทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่จากพวกลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและล่าสัตว์"

"บ้างก็ว่านายทุนและนักการเมืองไม่ยอมให้เข้าไป เกรงว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปรู้ความลับเรื่องการทำผิดกฏหมายและอิทธิพลเถื่อนตามแนวชายแดนฯลฯ"

จนบัดนี้ ผมก็ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงเลยว่า 
"เหตุผลที่ไม่กวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี มันคืออะไรแน่"

ทำความสะอาด..อุบลราชธานี
Cleanup  Ubonratchathani
อยู่ๆ เมื่อกลางเดือน พ.ค.2556 ทางองค์กรพัฒนาเอกชนชื่อว่า Anti-Personnel Landmines Detection Product Development :  APOPO  และมูลนิธิถนนเพื่อสันติภาพ (Peace Road Organization : PRO) ได้ขออนุญาตจากกองบัญชาการกองทัพไทย เข้าปฏิบัติการสำรวจพื้นที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิด ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานีด้วยวิธีการสำรวจที่ไม่่ใช่ทางเทคนิค ในพื้นที่ อ.นาจะหลวย และ อ.บุณฑริก จ..อุบลราชธานี  ซึ่งได้รับการอนุญาต และขณะเดียวกันหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) ก็เปลี่ยนแผนการปฏิบัติงานประจำปีเข้าไปกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี เช่นกัน 


นายตรีภพ ตรีมรรคา ผู้จัดการภาคสนาม APOPO-PRO
ชี้แจงการเข้าสำรวจพื้นที่สนามทุ่นระเบิด
ในที่ประชุมประจำเดือนของ อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี
วันที่ 4 มิ.ย.2556
เหตุการณ์นี้  ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการที่มีการเข้าปฏิบัติการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดอย่างเป็นจริงเป็นจังใน จ.อุบลราชธานี

ผมรู้สึกดีใจที่มีการเริ่มปฏิบัติการด้านการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดใน จ.อุบลราชธานี เสียที หลังจากที่สงสัยมานาน แต่ก็ยังไม่คลายสงสัยอยู่ดี ว่าการเข้าปฏิบัติงานใน จ.อุบลฯ ครั้งนี้เป็นไปอย่างกระทันหัน และก็ไม่รู้ว่าการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดใน จ.อุบลฯ นี้ จะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน 


ได้มีโอกาสสนทนาบอกเล่า
ถึงสถานการณ์พื้นที่ทุ่นระเบิดใน จ.อุบลราชธานี
กับนายปัญญา จินตะเวช ส.ส.อุบลราชธานี เขต 9 

ไม่มีหลักประกันได้ว่า พื้นที่ 131.62 ตารางกิโลเมตร ของ จ.อุบลราชธานี จะถูกกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้หมดเมื่อใด....หากวันหนึ่งข้างหน้า  APOPO-PRO ไม่มีเงินจากต่างชาติมาช่วยเหลือบริจาคให้ทำงานต่อ และกองบัญชากองทัพไทยไร้ซึ่งนโยบายโดยต่อเนื่อง... 

แต่สิ่งที่ผมกลัวที่สุดว่างานด้านกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดใน จ.อุบลฯ จะหยุดและสะดุดลง ก็เพราะนายทุน ข้าราชการ นักการเมือง และผู้มีอิทธิพล ที่เป็นเหลือบหากินอยู่กับสิ่งผิดกฏหมายตามแนวชายแดนของ จ.อุบลฯ จะเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้งานนี้..จบลง..

***************************************
ชาติชยา  ศึกษิต : 11 มิ.ย.2556

28 พฤษภาคม 2556

Voice of Life (เสียงแห่งชีวิต)

ผมไปอ่านพบบทความนี้ในหนังสือเรื่อง "การฟื้นฟูปราสาท สด๊ก ก๊อก ธม" ซึ่งจัดทำโดย องค์กรพันธมิตรแห่งประเทศญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการกู้ระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (Japan Alliance for Humanitarian Demining Support : JAHDS)  เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2547 เลยคิดว่าน่าจะนำมาเผยแพร่ในบล็อกนี้อีกทางหนึ่ง  เพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงผลกระทบของทุ่นระเบิดที่ตกค้างจากสงครามและการสู้รบในสมัยก่อนที่ยังไม่ได้ถูกเก็บกู้ออกไป  มันทำลายชีวิตมุนษย์ไม่เลือกหน้า ไม่เลือกว่าเด็กหรือผู้ใหญ่  และปัจจุบันยังมีทุ่นระเบิดเหล่านี้หลงเหลืออยู่ในประเทศไทยอีกประมาณ 18 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดตามแนวชายแดนระหว่างไทย  ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์    


Voice of Life (เสียงแห่งชีวิต)
ทัศนียภาพของทุ่งนาและหมู่บ้านที่อยู่รอบๆ ปราสาท สด๊ก ก๊อก ธม ดูเงียบสงบ ผู้คนที่นั่นใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ใครบ้างเลยจะคิดว่าที่แห่งนี้มีเรื่องราวน่าเศร้าเกิดขึ้นมากมาย? จากทุ่นระเบิดเพียงชิ้นเดียว ที่ถูกฝังไว้ใต้ดิน สามารถทำลายชีวิตผู้คนอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว และที่แห่งนี้ ที่มีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายมากมาย

ระหว่างการทำงานในไร่นาหรือเล่นกับเพื่อนหลังกลับจากโรงเรียน  หากพวกเขาโชคร้ายเหยียบทุ่นระเบิดเข้า  ถ้าไม่สูญเสียขาหนึ่งข้างก็สูญเสียทั้งสองข้าง มีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ด้วยหรือ?

เด็กชายเมธี  อายุ 7 ขวบ รำพึงให้ฟังว่า "ผมอยากไปโรงเรียน...."

"ปีที่แล้ว ขณะที่ผมกลับจากโรงเรียน ได้แวะเล่นกับเพื่อนที่สวน  ทันใดนั้น ผมก็ได้ยินเสียงดังมาก จากนั้นไม่รู้สึกตัวอีกเลย สิ่งต่อมาที่รู้ก็คือ มีผู้ใหญ่หลายคนมาอยู่ตรงหน้า"

ในตอนนั้น  เมธีสูญเสียขาทั้งสองข้าง แม้ว่าเขาจะสามารถเดินได้ด้วยขาเทียม แต่ก็ไม่อาจไปโรงเรียนได้อีก เพราะที่บ้านไม่มีใครพาเขาไปได้  แม่ก็ยุ่งอยู่กับการทำงานในไร่นาและพ่อก็เข้าไปทำงานในเมือง

ความปวดร้าวทางกายได้เลือนหายไปแล้ว 
แต่สิ่งที่เขาสูญเสียไปตลอดกาล มันช่างยากที่จะลบเลือน


****************************
ที่มาข้อมูล
องค์กรพันธมิตรแห่งประเทศญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการกู้ระเบิดเพื่อมนุษยธรรม. (2547). Voice of Life (เสียงแห่งชีวิต).  การฟื้นฟูปราสาท สด๊ก ก๊อก ธม. กรุงเทพฯ : เชอิอูน (ประเทศไทย).

20 พฤษภาคม 2556

ใครควรรับผิดชอบ?

เหตุการณ์จำลองนี้ดัดแปลงมาจาก Allen Prak, J.D.,Managing Partner (Cambodia) (9 May 2013) เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในประเทศไทย 

จอห์นและแคทเธอรีน เป็นนักท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ทั้งสองคนชอบเที่ยวในชนบทห่างไกล ไปตามหมู่บ้านตามแนวชายแดนของประเทศต่างๆ ทั้งสองเคยประสบอุบัติเหตุจากทุ่นระเบิดที่ตกค้างจากการสู้รบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกมาแล้วถึง 2 ครั้ง ทำให้ขาข้างขวาของจอห์นและขาข้างซ้ายของแคทเธอรีนต้องขาด กลายเป็นคนพิการใส่ขาเทียมจนถึงทุกวันนี้ แต่จอห์นและแคทเธอรีน ก็ยังชอบท่องเที่ยวอยู่เช่นเดิม 

เมื่อกลางเดือน มกราคม พ.ศ. 2555 จอห์นและแคทเธอรีน ต้องการมาเที่ยวในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขต อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ติดกับชายแดนประเทศกัมพูชา หมู่บ้านแห่งนี้ ทางรถยนต์เข้าไปไม่ถึง ไกด์ที่พามาแนะนำและวางแผนว่า ต้องใช้เกวียนเป็นพาหนะเดินทางผ่านทุ่งนาถึงจะถึงหมู่บ้านแห่งนี้ จอห์นและแคทเธอรีนถามว่าพื้นที่นี้ปลอดภัยหรือไม่ กลัวว่าจะมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ อาจเกิดอันตรายเหมือนประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาถึง 2 ครั้ง

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มาของภาพ masscomm35
ไกด์ตอบว่าพื้นที่แห่งนี้สมัยก่อนมีการสู้รบ และมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ แต่ทางหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 ได้ดำเนินการเก็บกู้และกวาดล้างไปหมดแล้ว และศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติก็ประกาศรับรองเป็นพื้นที่ปลอดภัยและส่งมอบพื้นที่ให้กับประชาชนในหมู่บ้านใช้ประโยชน์เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน จึงขอยืนยันว่า "พื้นที่นี้ ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด" ผู้ใหญ่บ้านและคนขับเกวียน ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านก็ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้นจริง และทุ่งนาที่จะเดินทางผ่านนี้ ได้ผ่านการทำนามาแล้วถึง 4 ฤดูกาล จึงมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัย 

จอห์นและแคทเธอรีนยอมเชื่อ จึงได้ตัดสินใจเดินทางด้วยเกวียนผ่านทุ่งนาแห่งนั้น 
ทันใดนั้น ล้อเกวียนวิ่งไปเหยียบบนรากไม้ของต้นไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง ทำให้ UXO ที่ฝังอยู่ใต้รากไม้เกิดระเบิดขึ้น 
จอห์น, แคทเธอรีน, ไกด์ และคนขับเกวียน ได้รับบาดเจ็บสาหัส 

แบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่มถกแถลงกันโดยอิสระ (15 นาที) 
  • กลุ่มที่ 1 จอห์นและแคทเธอรีน ผู้บาดเจ็บ ต้องการฟ้องร้องผู้รับผิดชอบได้แก่ หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3, ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ และผู้ใหญ่บ้าน พวกเขาควรจะฟ้องร้องด้วยข้อหาอะไรบ้าง 
  • กลุ่มที่ 2 ถ้าคุณเป็นผู้บังคับหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 คุณจะปกป้องตัวเองให้พ้นผิดจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร 
  • กลุ่มที่ 3 ถ้าคุณเป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ คุณจะปกป้องตัวเองให้พ้นจากความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร 
  • กลุ่มที่ 4 ถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่บ้าน คุณจะแก้ตัวเรื่องนี้ว่าอย่างไร และจะป้องกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต 

แต่ละกลุ่มนำเสนอ 5 นาที ????? 

เหตุการณ์นี้ปรับปรุงและดัดแปลงมาจากการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านความรับผิดชอบการดำเนินงาน   ด้านทุ่นระเบิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Regional Mine Action Liability Workshop for South East Asia) เมื่อวันที่ 8-10 พ.ค.2556 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมซันเวย์ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ผมตั้งใจนำมาเผยแพร่เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย  ได้ลองคิดทบทวนและไตร่ตรองดูว่า เหตุการณ์ดังกล่าว "ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ" ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้มีการถกแถลงกันในที่ประชุมแต่ก็ไม่มีข้อสรุปโดยแน่ชัด เพราะบริบทของแต่ละประเทศทั้งลาว ไทย กัมพูชา พม่า และเวียดนาม มีความแตกต่างกัน ทั้งทางกฏหมาย โครงสร้างอำนาจ ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ และการจัดองค์กร 

ผมอยากให้ทุกคนที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย ลองถกแถลงกันดู ครับ เผื่ออาจจะได้แนวคิดดีดี แล้ววันหนึ่ง ผมจะบรรยายเรื่อง "ความรับผิดชอบ" นี้ให้ฟังอีกครั้งเมื่อมีโอกาสได้พบกัน 
















************************** 
ชาติชยา ศึกษิต : 20 พ.ค.2556 

13 พฤษภาคม 2556

มุมหนึ่งในพนมเปญ


ผมได้มีโอกาสมากรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เป็นครั้งแรก มาประชุมเรื่อง "Regional Mine Action Liability Workshop for South East Asia" ประชุม 3 วันเต็ม ระหว่างวันที่ 8-10 พ.ค.2556 เดินทางไปวันที่ 7 และกลับวันที่ 11 ด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ประชุมตั้งแต่ 09:00-17:00 ทุกวัน ชีวิตช่วงกลางวันเลยไม่ได้ไปเที่ยวไหน อยู่แต่ในโรงแรมซันเวย์ โรงแรมระดับห้าดาว ตั้งอยู่ตรงข้ามสถานเอกอัครข้าราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศกัมพูชา ก็ดีครับ...มีห้องพักและอาหารอย่างดีครบ 3 มื้อ ประหยัด ไม่ค่อยได้ใช้เงิน 

ผีข้างสถานฑูตฯ 
หน้าโรงแรมฯ มีเกาะกลางถนนขนาดใหญ่กั้นอยู่ระหว่างโรงแรมฯ และสถานฑูตฯ จัดสร้างเป็นสวนสาธารณะให้ผู้คนมาพักผ่อน พอยามเย็นใกล้โพล้เพล้ ผู้คนก็เริ่มมากัน ผมเห็นว่ามันน่าแปลก เพราะผู้คนที่มาส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงวัยรุ่น แต่งตัวโชว์เนื้อหนังมังสา บางก็โป๋มาก ผิวดำ ผิวขาวสลับกันไป เสื้อผ้าที่ใส่ก็เป็นแบบคุณภาพถูก ซื้อหาได้ตามตลาดนัดทั่วไป นั่งอยู่ตามม้านั่ง เหมือนกำลังรอใครสักคน 
สวนสาธารณะหน้าโรงแรม
ฝั่งตรงข้ามคือสถานฑูตสหรัฐอเมริกา

ผมพยายามถามพนักงานโรงแรมว่า "ผู้หญิงเหล่านี้เขามาทำไม?" (จริงๆ แล้วผมก็พอเดาออก ว่าที่สวนสาธารณะแห่งนี้น่าจะเป็นย่านขายบริการทางเพศแน่เลย แต่ไม่กล้าคิดไปเอง) พวกเธอก็พยายามเหลี่ยงไม่ตอบคำถามตรงๆ เธอคงกลัวเสียภาพลักษณ์ผู้หญิงในเมืองหลวงของเธอแน่เลย ในที่สุดผมก็ได้คำตอบจากคนขับรถตุ๊กๆ หน้าโรงแรมที่คอยบริการนักท่องเที่ยวว่า ที่สวนสาธารณะแห่งนี้ คือ แหล่งที่ผู้หญิงวัยรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากบ้านนอก ครอบครัวยากจน ขี้เกียจเรียนหนังสือ ใจแตก หวังมาขายบริการทางเพศในเมืองหลวง เพื่อหาเงินไปเที่ยว ไปดื่ม ไปซื้อยา ขายบริการครั้งละไม่แพง ผมถามต่อว่า "แล้วตำรวจรู้ไหม" เขาตอบว่า "รู้ครับ แต่ไม่เห็นทำอะไร" หลังที่ฟังจบ ผมนึกถึง "ผีใต้ต้นมะขาม" ที่สนามหลวง กรุงเทพฯ บ้านเรา ในอดีตทันที ผมจึงเรียกผู้หญิงเหล่านี้ว่า "ผีข้างสถานฑูตฯ" เพื่อให้ฟังดูดีหน่อย

จริงๆ แล้ว ก็น่าสงสารเด็กผู้หญิงเหล่านี้น่ะครับ คงไม่มีใครอยากเป็นเช่นนี้ 
คงต้องโทษ "สังคมของกรุงพนมเปญ ที่นำพาชีวิตของพวกเธอให้เป็นอย่างนี้เอง" 

ใช้เงินสองสกุล 
ก่อนมามีคนแนะนำว่าให้แลกเงินไทยเป็นเงินดอลล่าร์เลย เพราะที่พนมเปญเขานิยมใช้เงินดอลล่าร์กัน ผมเลยแลกที่สนามบินสุวรรณภูมิบ้านเรา จริงอย่างเขาว่า ที่พนมเปญนี้รับเงินสองสกุลจริงๆ คือ เงินดอลล่าร์ของสหรัฐอเมริกา และเงินเรียล (Riel) ซึ่งเป็นเงินของกัมพูชาเอง แต่ดูเหมือนว่า ร้านค้าส่วนใหญ่จะชอบรับเงินดอลล่าร์มากกว่าเงินเรียลอาจเป็นเพราะค่าของเงินก็ได้ เรื่องนี้ผมไม่เข้าใจเหตุผลเท่าใดนัก คงต้องถามนักเศรษฐศาสตร์การเงิน แม้แต่ที่ร้านสะดวกซื้อ(คล้าย 7 eleven ของเรา) ยังมีหน้าจอคอมพิวเตอร์สำหรับคิดเงินเป็น 2 หน้าคือ ครึ่งจอด้านซ้ายเป็นเงินดอลล่าร์ ครึ่งจอด้านขวาเป็นเงินเรียล 

ค่าของเงินตอนนั้น เงินเรียลประมาณ 4,000 เรียล เท่ากับ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ (29 บาทไทย) เวลาจ่ายเงินจ่ายเป็นดอลล่าร์ แต่พอทอนเงิน เขาจะทอนมาเป็นเรียล ระหว่างที่อยู่ผมมีเงินเรียลเป็นหมื่นเรียวเต็มกระเป๋าสตางค์เลยครับ ในบางครั้งก็ต้องจ่ายเงินดอลล่าร์ผสมกับเงินเรียลด้วย หากราคาค่าของที่เป็นเศษไม่ถึงดอลล่าร์ เล่นเอางง นับไม่ถูกเหมือนกัน 

ผมถามว่า "ทำไม แบงค์เรียล ไม่มีรูปพระมหากษัตริย์พิมพ์อยู่ในแบงค์เหมือนแบงค์ของไทยและชาติอื่นๆ" เขาตอบว่าหากมีรูปพระมหากษัตริย์ต้องเป็นแบงค์ 5,000 เรียลขึ้นไป ผมพยายามรวมรวบเงินเรียลขอแลกแบงค์ 5,000 เรียลจากร้านค้าต่างๆ หลายร้านเลยทีเดียว กลับไม่มีให้แลก ก็รู้สึกฉงนใจอยู่เหมือนกัน ว่าเป็นเพราะอะไร? 

ภาษามือ 
โรงแรมที่ผมไปพักนี้ เป็นโรงแรมระดับห้าดาว การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษภายในโรงแรมจึงไม่เป็นปัญหา พนักงานสามารถพูดภาษาอังกฤษได้เข้าใจ แต่พอออกนอกโรงแรมแล้ว ลำบากครับ แทบสื่อสารไม่รู้เรื่อง เพราะคนพนมเปญยังพูดและฟังภาษาอังกฤษพื้นฐานสำหรับนักท่องเที่ยวไม่ออก พูดแต่ภาษาของเขา ไม่ว่าจะเป็นรถตุ๊กๆ รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้า เล่นต้องใช้ภาษามือเป็นหลัก กว่าจะเข้าใจกันได้ถึงกับเหนื่อยเลยครับ นี่ถ้าเป็นภาษาลาวยังพอเข้าใจได้บ้าง แต่ภาษาเขมรนี้ ฟังไม่ออก เดาไม่ได้เลยจริงๆ 

ตลาดกลาง (Central market) 
หากมาพนมเปญ จะหาซื้อของฝากของที่ระลึก บอกรถตุ๊กๆ รับจ้างได้เลยครับ ให้พาไปที่ Central Market เป็นตลาดขนาดใหญ่ มีสินค้าครบเกือบทุกชนิด หากเทียบง่ายๆ กับบ้านเรา ก็คือ เอาตลาดต่างๆ มารวมกันคือ ปากคลองตลาด โบ้เบ้ พาหุรัด บ้านหม้อ พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ฯลฯ สินค้าอีกประเภทหนึ่งที่มีให้ซื้อหามาก คือ ไม้แกะสลัก เป็นรูปพระ เทวรูป เทวดา สัตว์ต่างๆ เครื่องทองเหลือง เครื่องเงิน ส่วนพวกเครื่องประดับก็จะเป็นทองคำ เงินและพลอย เดินชอบปิ้งที่นี่..เขาบอกให้ระมัดระวัง ยังมีพวกชกชิงวิ่งลาวล้วงกระเป๋าแอบแฝงอยู่ 


Central Market
ริเวอร์ไซต์ ย่านบันเทิง 
เมืองพนมเปญนี้ มีแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำโขงช่วงนี้เป็นตอนปลายก่อนออกสู่ทะเล เทียบได้กับแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างกรุงเทพฯ บ้านเรา ที่ถนนสายหลักริมแม่น้ำโขงในยามค่ำคืนตลอดแนว เป็นแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีของชาวต่างชาติ เหมือนแถวพัฒพงษ์และพัทยาบ้านเรา มีอบายมุขครบทุกชนิด ดูแล้วก็เหมือนเมืองหลวงทั่วไป ที่ต้องมีย่านบันเทิงไว้บริการนักท่องเที่ยวอย่างนี้เกือบทุกเมือง 


ถนนริมแม่น้ำโขง  แหล่งย่านบันเทิง
พนมเปญ..วันนี้ ในความเห็นของผม หากเทียบความเจริญแล้วก็ประมาณ จ.เชียงใหม่ของประเทศไทยเรา อาจจะน้อยกว่าด้วยซ้ำ แต่การวางผังเมืองเขาดีมาก เป็นถนนสายหลัก สายรอง เป็นบล็อกสี่เหลี่ยมมีระเบียบเชื่อมโยงถึงกัน ความสะอาดไม่ค่อยดีเท่าไหร่ สะอาดเฉพาะถนนสายหลัก ส่วนถนนสายรอง ตามตรอก ซอกซอย ยังแลดูสกปรก ทั้งขยะและสิ่งปฏิกูลต่างๆ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับไม่น่าไว้วางใจ ชาวต่างชาติที่มาที่นี้ สังเกตุว่าส่วนใหญ่มาลงทุนทำธุรกิจ ประชุม หรือสัมมนามากกว่ามาท่องเที่ยวโดยตรง โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นและเกาหลี มีมากกว่าชาติอื่น เพราะเห็นได้ถึงกิจการศูนย์การค้า อสังหาริมทรัพย์ และห้างขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ เป็นของทั้งสองประเทศนี้เกือบทั้งนั้น รถยนต์ที่ใช้กันในพนมเปญนี้ ส่วนใหญ่ยี่ห้อโตโยต้า และฮุนไดเป็นหลักครับ 


รถตุ๊กตุ๊ก รับจ้างในพนมเปญ
พนมเปญ กำลังหอมหวน นักลงทุนชาวต่างชาติกำลังรุมตอม แสวงหาผลประโยชน์ และทำการสูบเลือดชาวกัมพูชาในทุกรูปแบบ เพื่อให้ตัวเองเป็นเจ้าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ หากกัมพูชา ไม่ตั้งสติเตรียมรับมือให้ดี วันหนึ่งอาจจะคล้ายประเทศไทยบ้านเราในขณะนี้ ที่ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเช่นกัน กิจการเกือบทุกอย่างอยู่ในมือชาวต่างชาติ นายทุน และนักการเมืองแทบทั้งสิ้น 


Cambodia




















******************** 

ชาติชาย คเชนชล 
13 พ.ค.2556


8 เมษายน 2556

แค้นนี้..ต้องชำระ


เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2556 ซึ่งเป็น "วันรณรงค์การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดสากล" มีการจัดงานกันใน 120 กว่าประเทศทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญก็คือ รณรงค์ห้ามทุกประเทศในโลกใบนี้ ผลิต ใช้ หรือเก็บสะสม ทุ่นระเบิดชนิดต่างๆ ทั้งสังหารบุคคลและยานพาหนะ เพราะมันทำให้มนุษย์ต้องล้มตายและพิการมาแล้วจำนวนมาก จากผลพวงของสงครามและการสู้รบต่างๆ ที่่ผ่านมา แม้ทุกวันนี้ ทุ่นระเบิดยังคงตกค้างอยู่ในอีกหลายพื้นที่ทั่วโลก ในประเทศไทยเองครอบคลุมถึง 520 ตร.กม. ในเขต 18 จังหวัด การจัดงานของทุกประเทศในวันนี้เพื่อมุงหวังให้ "โลกใบนี้ปลอดจากทุ่นระเบิด" 

ที่ประเทศไทยนี้ ค่อนข้างตกกระแส เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี หลายคนไม่เคยทราบว่าประเทศไทยยังคงมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่อีกจำนวนมาก แม้แต่หน่วยงานที่ชื่อ "ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ" ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ตั้งมานานกว่า 10 ปีแล้ว ลองสอบถามคนทั่วไปสัก 100 คน เชื่อได้เลยว่าไม่มีใครรู้จักหน่วยงานนี้สักคน 


ปีนี้ หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดอยู่แถวภาคอิสานตามขอบชายแดนไทย-กัมพูชา ได้จัดงานฯ ขึ้นที่โรงเรียนบ้านสำโรงเกียรติ ต.บักดอง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ภายใต้แนวคิด "คนสู้ชีวิต" ซึ่งนอกเหนือจากการจัดนิทรรศการแจ้งเตือนอันตรายจากทุ่นระเบิด การประกวดวาดภาพชิงทุนการศึกษา การสาธิตการเก็บกู้ทุ่นระเบิดแล้ว ยังได้เชิญ "ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดตัวจริง" มาเล่าเรื่องราวชีวิตก่อนประสบภัยและหลังจากประสบภัยแล้ว ให้ผู้ร่วมงานฟังด้วย เพื่อให้เกิดความตระหนักและเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจ จากความเป็นคนธรรมดาต้องกลายมาเป็นคนพิการ สาเหตุเพราะไปเหยียบทุ่นระเบิดอำมหิตที่ยังตกค้างอยู่ในพื้นที่ทำมาหากินของเขา ถึงแม้ชีวิตของเขาจะต้องพิการในชั่วพริบตา แต่เขาก็ยังคงอยู่ได้อย่างคนปกติทั่วไปเพราะความสู้ชีวิตของเขานั่นเอง แต่เขาไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ อีกต่อไป 

ผู้ประสบภัย
เล่าประสบการณ์ให้ผู้ร่วมงานฟัง

ผู้ประสบภัยร่วมเป็นสักขีพยานในการทำลายทุ่นระเบิด

แค้นนี้..ต้องชำระ 
ในช่วงบ่าย นปท.3 มีการทำลายทุ่นระเบิดและสรรพาวุธที่ไม่ระเบิดที่เก็บกู้ได้เป็นจำนวนมาก จึงได้เชิญผู้ประสบภัยเหล่านี้ไปร่วมเป็นสักขีพยานด้วย ให้เขาได้ไปเห็นทุ่นระเบิดที่เขาเคยเหยียบและทำให้เขาต้องพิการ อยากน้อยความแค้นในใจก็ได้ชำระสะสางไปได้บ้าง แต่ที่สำคัญที่ผู้ประสบภัยทุกคนพูดตรงกันคือ 

"ไม่อยากให้ทุกคนประมาท หากพบเห็นป้ายแจ้งเตือนอันตรายจากทุ่นระเบิดที่ทางราชการปิดเอาไว้ อย่าพยายามเข้าไปเด็ดขาด ขอให้ดูชีวิตของผมเป็นอุทธาหรณ์" 

********************** 

ชาติชยา ศึกษิต : 8 เม.ย.2556

7 เมษายน 2556

ไม้พยุง ที่ช่องพระพะลัย

ผมได้เดินทางไปตรวจสอบประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด แถวช่องพระพลัย ชายแดนไทย-กัมพูชา ในเขตบ้านก่อ ต.ละลาย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อต้นเดือน เม.ย.2556 ที่นี่เคยมีประวัติการสู้รบอย่างหนักบริเวณช่องพระพลัย ในช่วงปี พ.ศ.2525-2528 ระหว่างเขมรแดงและเวียดนาม เขมรแดงได้ถอยร่นเข้ามาอาศัยบริเวณห้วยห้าสิบ และหลังสิ้นสุดสงคราม ทหารไทยได้ผลักดันเขมรแดงกลับประเทศกัมพูชา เมื่อ พ.ศ.2528-2530 

เมื่อเดินขึ้นไปบนสันเขา ผมและคณะได้พบการลักลอบตัดไม้พยุง จำนวนมาก รอขนกลับไปยังฝั่งกัมพูชา ทั้งๆ ที่อยู่ในเขตแผ่นดินไทย ถามชาวบ้าน เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ทหารพราน ได้ความเหมือนเดิม คือ คนไทยชี้เป้า ชาวเขมรเข้ามาตัด มีกำลังติดอาวุธคุ้มกัน แล้วขนออกไป มีนักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพ่อค้าผู้ทรงอิทธิพลเป็นเจ้าของกิจการร่วมกันให้ท้ายอยู่เบื้องหลัง เจ้าหน้าที่ของไทยระดับปฏิบัติงานในพื้นที่ อึดอัดใจต่อการตัดไม้พยุงดังกล่าว แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ 

การตัดไม้พยุงแถวนี้จะแปรรูปในพื้นที่แล้วซอยเป็นไม้หน้า 4-7 นิ้ว ยาวท่อนละประมาณ 20-50 ซม. บางทีก็ตัดเป็นสี่เหลี่ยมรูปลูกเต๋าแล้วแต่ความสมบูรณ์ของเนื้อไม้ ตัดตอนกลางวัน แล้วเวลากลางคืนจะใช้ผู้หญิงเขมรมาแบกขนออกไปยังประเทศเขมร หากท่อนยาวมากจะใช้วิธีทิ้งลงหน้าผา แล้วไปขนต่อด้านล่าง 


ดูแผนที่และพิกัด



ผมคุยกับเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ท่านหนึ่ง บอกว่า "บางครั้งพวกเราก็ต้องใช้อาวุธปราบปรามพวกกองกำลังติดเขมรมันบ้าง เพราะมันก็ยิงเรา ทั้งๆ ที่มันมาขโมยไม้ในบ้านเรา มีการเสียชีวิตหลายศพ แต่เราพยายามไม่ให้เป็นข่าว เคยมีการตั้งค่าหัวไอ้พวกขโมยตัดไม้ไว้เหมือนกัน ราคาถึงหัวละ 5,000 บาท ก็ได้หลายศพอยู่ เงินค่าหัวไม่เคยลงมาถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเลย ถูกตัดตอนระหว่างกลางแถวเจ้านายข้างบนเสียหมด" 




ในคณะที่ร่วมเดินทางพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "พวกชาวเขมรนี้ ไว้ใจไม้ได้ เช้าคุยกันอย่าง พอเที่ยงไปแล้วก็เป็นอีกอย่าง" มันไม่เคยสนใจเรื่องกฏหมายระหว่างประเทศ มันไม่สนใจข้อตกลงกันระหว่างกองกำลังทั้ง 2 ฝ่าย มันอยากจะเข้ามาขโมยทรัพยากรในเขตบ้านเรา มันก็มา มันไม่สนข้อตกลงอะไรทั้งสิ้น เพราะเงินคือสิ่งที่มันต้องการ หากมันบอกว่าตรงไหนเป็นเขตแดนของมัน มันก็อพยพชาวบ้านเข้ามาปักหลักทำมาหากิน แต่พี่ไทยเราก็เป็นสุภาพบุรุษ ได้แต่ร้องเรียนและประท้วงทางเอกสาร  แล้วดันอพยพถอยร่นชาวบ้านไทยให้ออกมาจากแนวชายแดนอีก  ชาวบ้านจำใจต้องออกจากพื้นที่ที่เคยทำมาหากินมาแต่ครั้งปู่ย่าตาทวด  ปัจจุบันกลับกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่อันธพาลเขมรไล่คนไทยไม่ให้ทำกิน

















ผมยิ่งเดินทาง ก็ยิ่งพบเห็นแต่ความเสื่อมถอยของคนไทย  โดยเฉพาะข้าราชการของแผ่นดิน ที่กลายเป็นพวกของนักการเมืองและนักธุรกิจ ร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ของประเทศชาติเอาไปเป็นของส่วนตัว หากเป็นอย่างนี้ ประเทศชาติมีหวังล่มจมแน่

*************************
ชาติชยา  ศึกษิต : 7 เม.ย.2556

13 มีนาคม 2556

"ต้นไม้ใหญ่ กับรอยกากบาท" สัญลักษณ์ที่น่าศึกษา

เมื่อต้นเดือน มี.ค.2256 ผมได้ไปตรวจสอบและประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด CHA 53-01 ต.ทัพไทย อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว  ในพื้นที่นี้ หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 1 (นปท.1) ตรวจพบ ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล  PMN จำนวน 129 ทุ่น   ขณะที่ผมเดินตรวจสอบพื้นที่นั้น  กำลังพลของ นปท.1 ได้ชี้ให้ผมดูรอยกากบาทบนต้นไม้ขนาดใหญ่ จำนวน 2 ต้น  แล้วอธิบายว่า น่าจะเป็นสัญลักษณ์สนามทุ่นระเบิด ที่ผู้วางทำเอาไว้  (ตำแหน่งที่พบ เป็นไปตามภาพด้านล่าง)



เมื่อดูที่รอยกากบาท และเทียบกับแนวสนามทุ่นระเบิดที่ตรวจพบ  มีความเป็นไปได้ตามที่สันนิษฐาน แต่ก็ยังไม่สามารถแปลลักษณะของกากบาทได้ชัด  ว่าทิศทางของหางที่ลากไป ความสูง ความยาว รอยตะวัด มีความหมายอะไร  ตำแหน่งตรงกลางกากบาทที่ตัดกัน คือตำแหน่งของต้นไม้ ใช่หรือไม่   




นอกจากนั้น รอบๆ ต้นไม้ที่ทำสัญลักษณ์นี้ จะมีทุ่นระเบิดวางไว้เพื่อป้องกันด้วย ใครสุ่มสี่สุ่มห้าเดินเข้าไปโดยไม่ระมัดระวัง  อาจเป็นอันตรายได้  เหตุที่วาง อาจจะเป็นการป้องกันฝ่ายตรงข้ามที่เข้ามาตรวจเพื่อจะทำการเก็บกู้รื้อถอนก็ได้ 




ซึ่งผมแจ้งว่า ทาง นปท.1 น่าจะลองศึกษาเรื่องนี้ให้ถ่องแท้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานของตนเอง หรือ นปท.อื่นๆ ต่อไป  

เรื่องนี้ ผมนำมาบันทึกไว้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  เผื่อว่า นปท.หรือหน่วยงานที่ปฏิบัติการทุ่นระเบิดอื่นๆ  จะนำไปใช้และลองสังเกตในพื้นที่สนามทุ่นระเบิดที่ตนเองกำลังปฏิบัติงานอยู่ได้บ้าง  

"หาต้นไม้ใหญ่ และรอยกากบาท"   


ต้นมะค่าแต้ใหญ่ ที่มีรอยกากบาท













*********************
ชาติชยา ศึกษิต : 13 มี.ค.2556