10 กุมภาพันธ์ 2556

ลีลาคชยุทธที่ขอบขัณฑสีมา

ผมได้มีโอกาสไปสักการะ "พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระพุทธรูปของชาวไทยใหญ่" ที่เจ้ายอดศึกแห่งไทยใหญ่ และทหารไทยได้ร่วมกันสร้างขึ้นบนดอยสูงสุด บนกึ่งกลางเส้นแบ่งขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรไทยและประเทศเมียนมาร์  ณ ตำบลนาปู่ป้อม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน (ดูแผนที่) ที่นั้นผมใด้พบภาพเขียนเกี่ยวกับ "ลีลาคชยุทธจำนวน 12 ท่า 12 ภาพ"  แขวนไว้ในศาลาที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไทยใหญ่  เป็นความรู้ใหม่ของผมที่ได้พบ จึงถ่ายรูปมาและบันทึกไว้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อไป

ภาพพาโนรามา
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
และพระพุทธรูปของชาวไทยใหญ่
บนกึ่งกลางเส้นแบ่งขอบขัณฑสีมา

พระบารมีแผ่ปกคุมหัวเมืองเหนือ
พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน)แห่งบ้านปางคาม เล่าให้ผมฟังว่า ชาวไทยใหญ่ทุกคนมีความเคารพและศรัทธาต่อสมเด็จพระนเรศวรฯ มาก เพราะท่านมีคุณูปการต่อชาวไทยใหญ่หลายครั้งหลายครา แม้เหตุการณ์ตอนที่พระองค์ฯ สิ้นพระชนม์ที่เมืองหาง ก็เพราะกำลังเดินทัพมาช่วยเหลือชาวไทยใหญ่นั้นเอง


พระบรมราชานุสาวรีย์
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


บันทึกเจ้ายอดศึก
ที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อกอบกู้รัฐฉาน (R.C.S.S) ได้จารึกพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเอาไว้  ผมขอคัดในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับไทยใหญ่ โดยสรุปดังนี้ 
  • พ.ศ.2107  สมเด็จพระนเรศวรฯ พระชนมายุ 9 พรรษา  บุเรงนอง กษัตริย์พม่า ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา  ทรงถูกนำไปเป็นตัวประกัน ณ กรุงหงสาวดี ประทับ 6 ปี ทรงรู้จัก "เจ้าคำก่ายน้อย" ของไทยใหญ่แห่งเมืองแสนหวี  ซึ่งเป็นตัวประกันอยู่กรุงหงสาวดี  ตั้งแต่ พ.ศ.2098
  • ................
  • พ.ศ.2126 สมเด็จพระนเรศวรฯ พระชนมายุ 28 พรรษา  ได้เป็นแม่ทัพยกไปช่วยเมืองหงสาวดีไปตีเมืองคัง (ไทยใหญ่เรียกเมืองกลอง) ในรัฐไทยใหญ่ ตามคำสั่งของพม่า
  • ...............
  • พ.ศ.2135 สมเด็จพระนเรศวรฯ พระชนมายุ 37 พรรษา สงครามยุทธหัตถี พม่า 240,000 คน ไทย 100,000 คน รบกันที่เมืองสุพรรณบุรี ทรงมีชัยชนะฟันพระมหาอุปราชา มังกะยอชวา แห่งกรุงหงสาวดี ด้วยพระแสงของ้าว สิ้นพระชนม์ เมื่อวันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ.2135  และในสงครามเมืองทะวาย  ตะนาวศรี ไทย 100,000 คน ตีได้เมือง
  • พ.ศ.2143  สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงส่งเจ้าคำก่ายน้อย  กลับแสนหวี เพื่อรวมอาณาจักรเจ้าฟ้าไทยใหญ่ทั้งปวงขึ้นตรงต่ออยุธยา
  •  พ.ศ.2147 สงครามครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยกทัพไปตีกรุงอังวะ ด้วยกำลังทัพจำนวน 200,000 คน เพื่อทรงช่วยพระสหาย เจ้าคำก่ายน้อยแห่งแสนหวี ที่กำลังถูกอังวะรุกราน ระหว่างทางทรงประชวร และเสด็จสวรรคต ที่เมืองหาง (อยู่ในรัฐฉาน) เมื่อวันจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง  ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2148  สิริพระชนมพรรษา 50 พรรษา รวมสิริดำรงราชสมบัติ 15 ปี
จากบันทึกดังกล่าวจึงเป็นสิ่งยืนยันได้ถึงสาเหตุของความเคารพศรัทธา ที่ชาวไทยใหญ่มีต่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ของเรา 

"พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ยืนตระหง่านบนยอดดอยสูงสุด  หลังของพระองค์ท่านฯ  พิงขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรไทย สายตามองยาวไกลเพื่อกำราบทัพพม่า เจ้าจงอย่ามารุกรานชาวไทยใหญ่ที่ดอยไตแลง ภายใต้สายพระเนตรของพระองค์ฯ "

หลังพิงขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรไทย
ปกป้องคุ้มภัย..ชาวไทยใหญ่..ที่อยู่ด้านหน้า
สายตามองไกล..ไปยอดเขาลิบ
กำราบทัพพม่า..ให้ยำเกรง
  

  
















ลีลาคชยุทธ
จากการที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงกระทำยุทธหัตถี มีชัยชนะฟันพระมหาอุปราชา มังกะยอชวา แห่งกรุงหงสาวดี ด้วยพระแสงของ้าว สิ้นพระชนม์นั้น  จึงได้เกิดภาพวาดลีลาคชยุทธ จำนวน 12 ท่าติดเอาไว้ในศาลาเพื่อเป็นอนุสรณ์นั่นเอง  ลีลาคชยุทธน่าจะเป็นเคล็ดวิชากระบวนท่าในการรบบนหลังช้าง เพราะสมัยก่อนแม่ทัพมักใช้ช้างเป็นพาหนะ จึงต้องมีการเรียนการฝึกฝนเพื่อให้ชำนาญและเชี่ยวชาญในการรบบนหลังช้าง ภาพลีลาคชยุทธ ที่ติดอยู่ประกอบด้วย 12 กระบวนท่า ได้แก่
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 1 นาคีพันหลัก
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 2 หักด่านลมกรด
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 3 องคตควงพระขรรค์
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 4 คชสารสะบัดงวง
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 5 ทะลวงประจัญบาน
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 6 คชสารประสานงา
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 7 บาทาลูบพักตร์
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 8 หักคอเอราวัณ
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 9 โค่นเขาพระสุเมรุ
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 10 เถรกวาดลาน
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 11 บั่นเศียรทศกัณฑ์
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 12 ประหารราชสีห์                                                
ผมไม่มีความรู้เรื่องลีลาคชยุทธ จึงไม่สามารถอธิบายเคล็ดวิชาได้ แต่ผมได้ถ่ายภาพมาประกอบให้ชมด้านล่าง  เผื่อว่าท่านผู้ใดมีความรู้จะได้อธิบายเพิ่มเติมได้มากยิ่งขึ้น  

แต่ผมยังสงสัยว่า ตอนที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงกระทำยุทธหัตถี มีชัยชนะฟันพระมหาอุปราชา สิ้นพระชนม์นั้น ไม่ทราบว่าจะเป็นลีลาคชยุทธ  ท่าที่ 11 บั่นเศียรทศกัณฑ์ หรือ ท่าที่ 12 ประหารราชสีห์ กันแน่  วานให้ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญได้ต่อยอดองค์ความรู้ นี้เพื่อประโยชน์ในทางศิลปะการต่อสู้ต่อไป

    































































































































***********************************
ชาติชยา ศึกษิต
10 ก.พ.2556

ดอยไตแลง แผ่นดินผืนสุดท้าย..

เมื่อบ่ายวันที่ 6 ก.พ.2556 หลังจากที่ผมเสร็จภารกิจการตรวจสอบประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดที่บ้านไม้ลัน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ผมมีโอกาสได้เดินทางเข้าไปที่ "ดอยไตแลง" ในเขตแดนของรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งดอยไตแลงนี้ เป็นเหมือนแผ่นดินผืนสุดท้ายของชาวไทยใหญ่ ที่ถอยมาจนสุดขอบเขตแดนแล้ว 

ดอยไตแลง มองจากบรมราชานุสาวรีย์
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ชาวไทยใหญ่ปัจจุบันกระจัดกระจายอยู่หลายพื้นที่ ดอยไตแลงนี้เป็นที่อยู่อีกแห่งหนึ่งของชาวไทยใหญ่ที่ต้องอพยพถอยร่นจากการรุกคืบของกองทัพเมียนมาร์ บ่ายวันที่ผมไป ดอยไตแลงครึกครื้นเป็นพิเศษ มีผู้คนชาวไทยใหญ่เดินขวักไขว่กันเป็นจำนวนมาก ทั้งลูกเด็กเล็กแดง คนหนุ่มคนสาว คนเฒ่าคนแก่ เนื่องจากวันพรุ่งนี้ คือ วันที่ 7 ก.พ.2556 จะเป็นวันชาติไทยใหญ่ ครบรอบปีที่ 66 ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองกัน ชาวไทยใหญ่ที่ไปทำงานในที่ต่างๆ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง และจังหวัดทางภาคเหนือ จึงต่างทยอยเดินทางกลับมาเพื่อรอร่วมฉลองงานวันชาติในวันรุ่งขึ้น และถือโอกาสมาเยี่ยมพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องอีกทางหนึ่งด้วย 


ทางยากลำบาก ใจไม่ย่อท้อ
ถนนหมายเลข 1226 แยกจาก อ.ปางมะผ้า ขึ้นสู่บ้านไม้ลัน บ้านปางคาม สู่ดอยไตแลง เต็มไปด้วยรถกะบะตอนเดียวขับเคลื่อนสี่ล้อบรรทุกชาวไทยใหญ่เต็มท้ายรถ ขับไปบนเส้นทางสันเขาที่คดเคี้ยวและยอดดอยสูงชัน โค้งอันตรายและหักศอกนับไม่ถ้วน ช่วงแรกๆ ก็ยังเป็นทางลาดยาง แต่พอยิ่งสูงยิ่งลึกเข้าไปก็ยิ่งลำบากและอันตราย ถนนชำรุด..เหลือแต่ฝุ่นดินและลูกรังตลบอบอวล จนศรีษะเสื้อผ้า และเนื้อตัวผู้โดยสารล้วนเป็นสีน้ำตาลแดงกันหมด  ดีที่เป็นหน้าหนาว หากเป็นหน้าฝน..ถนนเส้นนี้คงจะปิดใช้งานเพราะมันอันตรายมาก


"ผมเคยเดินทางมาหลายพื้นที่ ยอมรับว่าถนนเส้นนี้  เป็นถนนที่ลำบากและอันตรายมากที่สุด อีกถนนหนึ่ง ในประเทศไทย"    

ไม่ว่าการเดินทางจะโหดร้ายเพียงใด ใจของชาวไทยใหญ่ไม่เคยย่อท้อ ไม่ว่าเขาจะอยู่แห่งหนตำบลใด ต้องดิ้นรนขวนขวายกลับมาร่วมฉลองงานวันชาติของตนเองให้ได้ที่ "ดอยไตแลง"


จุดตรวจสุดท้ายของไทย
ก่อนเข้าสู่ดอยไตแลง

















บนดอยไตแลง ใช่ว่าจะเป็นทางอย่างดี เต็มไปด้วยฝุ่นเช่นกัน ไม่มีทางลาดยางให้เห็น วันนี้..มีร้านค้ากางผ้าพลาสติคตั้งขายอยู่สองทางข้างเต็มไปหมดเหมือนกับคาราวานตลาดนัดขนาดใหญ่ รอให้ผู้คนที่มาร่วมงานฉลองจำนวนมากได้จับจ่ายใช้สอย ทั้งเสื้อผ้า ของกิน ของใช้ เหล้า เบียร์ บุหรี่ น้ำแข็ง ฯลฯ


สภาพทั่วไปบนดอยไตแลง
















ชาวไทยใหญ่ต่างกลับมารอร่วมฉลองวันชาติ
คาราวานสินค้าเต็มข้างทาง
































บนดอยไตแลงมีแต่ถนนลูกรังและฝุ่น

















ชาติที่ยิ่งใหญ่
ผมได้กินน้ำชาและสนทนากับนายทหารคนหนึ่งของกองทัพบกแห่งรัฐฉาน (Shan State Army : SSA) ผมเข้าใจเขาได้ทันทีในความรู้สึกของเขา "เขาเคยเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ แต่วันนี้เขากลับไม่มีแผ่นดินของตัวเอง" ผมหวนนึกกลับมาถึงชาติไทยของเราว่า วันหนึ่ง พวกเราจะมีชะตากรรมเยี่ยงเขาหรือไม่ เพราะวันนี้ "นายทุนเข้มแข้ง นักการเมืองขายชาติ ข้าราชการอ่อนแอ กองทัพไร้นักรบ แถมราษฎรยังต่ำอุดมการณ์" วันหนึ่ง เราอาจจะเหมือนชาวไทยใหญ่ ที่ต้องแอบฉลองวันชาติบนเนื้อที่ผืนเล็กๆ ห่างไกลจากแผ่นดินที่เคยเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรในอดีต..ผมคนหนึ่งที่ไม่อยากเป็นเหมือนชาวไทยใหญ่ 


ลานใช้จัดพิธีสวนสนามในวันชาติไทยใหญ่
กลางคืนใช้เป็นที่แสดงดนตรี และลิเก
















ปะรำพิธีสวนสนามและเวทีแสดงดนตรีตอนกลางคืน
















ก่อนจบขอนำประโยคๆหนึ่งไว้มาเตือนสติพวกเราทุกคน...ได้ตะหนัก
และช่วยกันขจัดสิ่งที่เลวร้าย ออกจากแผ่นดินไทยให้หมด...พวกเราชนชาติไทยไม่อยากเหลือแผ่นดินแค่หยิบมือ เฉกเช่น "ดอยไตแลง"

  "วันนี้ กูมองเห็นแต่ความเสื่อมสลาย 
ความโทรมทรุดอันเกิดจากการเห็นแก่อำนาจและประโยชน์ส่วนตัว 
มากกว่าความรักบ้านเมืองอย่างจริงใจ" 
ประโยคคลาสสิคจากภาพยนต์เรื่อง "ขุนรองปลัดชู" 

********************* 
ชาติชยา ศึกษิต 
9 ก.พ.2556

3 กุมภาพันธ์ 2556

ดินแดน 2 ภาษาที่จันทบุรี

ระหว่างวันที่  28 ม.ค.-1 ก.พ.2556  ในโอกาสที่ผมไปตรวจสอบประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดในเขตพื้นที่  จ.จันทบุรี และ จ.ตราด  ผมไปนอนพักรีสอร์ทแถว อ.โป่งน้ำร้อน พอมีเวลาว่าง ผมแอบแวะไปเดินชม  ตลาดชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณ บ.ผักกาด และด่านถาวรบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี  นอกจากจะพบเห็นการค้าขายผลผลิตทางเกษตร สินค้าอุปโภค บริโภค เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ ฯลฯ  แล้ว  สิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างของทั้งสองด่านก็คือ "บ่อนการพนัน"  ซึ่งตั้งอยู่ในเขตประเทศกัมพูชา


ตลาดชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณ บ.ผักกาด
อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี

















หาซื้อลำใยไม่ได้
ที่โป่งน้ำร้อนนี้ แรงงานที่รับจ้างทั่วไป ทำสวนลำใย หรือทำไร่มันสำปะหลัง  ล้วนเป็นชาวกัมพูชา (เขมร) เกือบทั้งสิ้น  (ส่วนเจ้าของก็คือ นายทุนที่เป็นคนไทย) แม้แต่พนักงานรีสอร์ทที่ผมพักอยู่ก็เป็นชาวเขมร แรกๆ ผมพูดหรือทักทายกับเขา  เขากลับทำหน้างงๆ  สงสัยเขาคงจะฟังเราไม่รู้เรื่องแน่เลย ก็ปรากฏว่าจริงครับ "เขาเป็นคนเขมร" 

พื้นที่บริเวณโป่งน้ำร้อนนี้ ส่วนใหญ่ปลูกลำใยกัน สวนลำใยเต็มสองข้างทางไปหมด  เพราะรายได้ดีกว่าปลูกยางพารา  และที่โป่งน้ำร้อนนี้สภาพดินและภูมิอากาศเหมาะแก่การปลูกลำใย  แต่เชื่อไหมครับ ผมหาซื้อลำใยดีๆ ไม่ได้เลย  มีอยู่บ้างก็ตามเพิงเล็กๆ ข้างทางตามสี่แยก ลำใยก็ลูกเล็กๆ หล่นๆ  ถามคนในพื้นที่ได้ความว่า ลำใยพวกนี้ คนไทยไม่ได้กินหรอกครับ  เพราะมันถูกคัดและส่งออกต่างประเทศหมด ออกไปทางกัมพูชา ต่อไปยังเวียดนาม จีน

คนไทยก็เลยได้กินเฉพาะลำใยที่ถูกคัดทิ้งแล้วเท่านั้น......

หนังสือขายดี
สำหรับชาวเขมรหน้าใหม่ ที่เพิ่งผ่านแดนเข้ามาทำงานในเขตประเทศไทย  สิ่งสำคัญสิ่งแรกที่ต้องหาชื้อ คือ หนังสือสนทนาภาษาไทยแบบเร่งด่วน  ซึ่งมีขายอยู่ตามร้านในตลาดชายแดนฯ เกือบทุกร้าน เพื่อจะได้พูดคุยสนทนากับนายจ้างคนไทยได้  ไม่อย่างนั้นคงสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ผมลองซื้อมาอ่านดู ก็พอจะสนทนาภาษาเขมรได้บ้างเล็กน้อย แต่อีกไม่นานก็คงจะลืมเพราะไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน

หนังสือขายดีสำหรับเขมรมือใหม่
สนทนาภาษาไทยด่วน

















ดินแดน 2 ภาษา
แถวนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชาที่มารับจ้างแรงงาน บางส่วนเข้ามาตอนเช้ากลับออกไปตอนเย็น บางส่วนนายจ้างคนไทยก็จัดที่พักให้เลย  ภาษาที่ใช้พูดกันส่วนใหญ่จะเป็นภาษาเขมร  การเขียนป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์จะเป็น 2 ภาษาคือภาษาไทย และภาษาเขมร  แต่บางครั้งก็เขียนภาษาเขมร ภาษาเดียวเลยก็มี รถวิ่งแห่โฆษณางานต่างๆ  ก็ต้องใช้  2 ภาษาเช่นกัน 

ผมเดินในตลาดชายไทย-กัมพูชาที่บ้านผักกาด และบ้านแหลม นี้ รู้สึกเหมือนเดินอยู่ในประเทศกัมพูชาเลยครับ ไม่ต้องข้ามพรมแดนไปในประเทศกัมพูชาให้เสียเวลา โดยเฉพาะที่ด่านถาวรบ้านแหลม แถบจะเป็นคนเขมรเกือบทั้งนั้น ทั้งๆ ที่อยู่ในเขตไทย ชาวไทยและชาวเขมรในพื้นที่นี้ อยู่ด้วยกันแบบมิตรภาพ มีความเป็นพี่เป็นน้องกันจริงๆ   แตกต่างกับทาง อ.กัณฑลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยสิ้นเชิง  


ป้ายเชิญชมคอนเสิร์ต
"อีวา"  นักร้องขวัญใจชาวเขมร
นี่ปักในเขตประเทศไทยนะครับ
แต่ภาษาเขมร....






















บ่อนการพนัน คู่ชายไทย-กัมพูชา
ผมสังเกตเห็นรถตู้รับจ้างวิ่งกันทั้งวัน ไปด่านบ้านผักกาดบ้าง ไปด่านบ้านแหลมบ้าง นึกว่าคนไปท่องเที่ยวหรือไปซื้อของกัน  แต่ที่แท้รถตู้เหล่านั้น กำลังพาลูกทัวร์คนไทยไปเล่นการพนันที่ฝั่งกัมพูชา แปลกนะครับ "คนเขมรค้าขายและใช้แรงงาน รับจ้างทุกอย่างที่ได้สตางค์  แต่คนไทยกลับชอบเสี่ยงโชคหาสตางค์กับการพนัน"  บ่อนที่นี่ยังไม่มาตรฐานเท่าแถบ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว  แต่ก็มีคนไทยเข้ามาเล่นกันอย่างไม่ขาดสาย  บ่อนการพนันนี้ สังเกตดูได้ว่า จะมีอยู่รอบขอบชายแดนไทย-กัมพูชา เกือบทุกแห่ง  ทุกช่องผ่านแดน  เหมือนกับว่ามันเป็นของคู่กัน 


ด่านถาวรบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี
ข้ามไปคือประเทศกัมพูชา


















ผ่านด้านถาวรบ้านแหลมก็เข้าสู่ประเทศกัมพูชา
เข้าไปคือบ่อนการพนัน ที่คนไทยมักชอบไปเสี่ยงโชคกัน

















*****************************