8 เมษายน 2556

แค้นนี้..ต้องชำระ


เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2556 ซึ่งเป็น "วันรณรงค์การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดสากล" มีการจัดงานกันใน 120 กว่าประเทศทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญก็คือ รณรงค์ห้ามทุกประเทศในโลกใบนี้ ผลิต ใช้ หรือเก็บสะสม ทุ่นระเบิดชนิดต่างๆ ทั้งสังหารบุคคลและยานพาหนะ เพราะมันทำให้มนุษย์ต้องล้มตายและพิการมาแล้วจำนวนมาก จากผลพวงของสงครามและการสู้รบต่างๆ ที่่ผ่านมา แม้ทุกวันนี้ ทุ่นระเบิดยังคงตกค้างอยู่ในอีกหลายพื้นที่ทั่วโลก ในประเทศไทยเองครอบคลุมถึง 520 ตร.กม. ในเขต 18 จังหวัด การจัดงานของทุกประเทศในวันนี้เพื่อมุงหวังให้ "โลกใบนี้ปลอดจากทุ่นระเบิด" 

ที่ประเทศไทยนี้ ค่อนข้างตกกระแส เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี หลายคนไม่เคยทราบว่าประเทศไทยยังคงมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่อีกจำนวนมาก แม้แต่หน่วยงานที่ชื่อ "ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ" ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ตั้งมานานกว่า 10 ปีแล้ว ลองสอบถามคนทั่วไปสัก 100 คน เชื่อได้เลยว่าไม่มีใครรู้จักหน่วยงานนี้สักคน 


ปีนี้ หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดอยู่แถวภาคอิสานตามขอบชายแดนไทย-กัมพูชา ได้จัดงานฯ ขึ้นที่โรงเรียนบ้านสำโรงเกียรติ ต.บักดอง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ภายใต้แนวคิด "คนสู้ชีวิต" ซึ่งนอกเหนือจากการจัดนิทรรศการแจ้งเตือนอันตรายจากทุ่นระเบิด การประกวดวาดภาพชิงทุนการศึกษา การสาธิตการเก็บกู้ทุ่นระเบิดแล้ว ยังได้เชิญ "ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดตัวจริง" มาเล่าเรื่องราวชีวิตก่อนประสบภัยและหลังจากประสบภัยแล้ว ให้ผู้ร่วมงานฟังด้วย เพื่อให้เกิดความตระหนักและเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจ จากความเป็นคนธรรมดาต้องกลายมาเป็นคนพิการ สาเหตุเพราะไปเหยียบทุ่นระเบิดอำมหิตที่ยังตกค้างอยู่ในพื้นที่ทำมาหากินของเขา ถึงแม้ชีวิตของเขาจะต้องพิการในชั่วพริบตา แต่เขาก็ยังคงอยู่ได้อย่างคนปกติทั่วไปเพราะความสู้ชีวิตของเขานั่นเอง แต่เขาไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ อีกต่อไป 

ผู้ประสบภัย
เล่าประสบการณ์ให้ผู้ร่วมงานฟัง

ผู้ประสบภัยร่วมเป็นสักขีพยานในการทำลายทุ่นระเบิด

แค้นนี้..ต้องชำระ 
ในช่วงบ่าย นปท.3 มีการทำลายทุ่นระเบิดและสรรพาวุธที่ไม่ระเบิดที่เก็บกู้ได้เป็นจำนวนมาก จึงได้เชิญผู้ประสบภัยเหล่านี้ไปร่วมเป็นสักขีพยานด้วย ให้เขาได้ไปเห็นทุ่นระเบิดที่เขาเคยเหยียบและทำให้เขาต้องพิการ อยากน้อยความแค้นในใจก็ได้ชำระสะสางไปได้บ้าง แต่ที่สำคัญที่ผู้ประสบภัยทุกคนพูดตรงกันคือ 

"ไม่อยากให้ทุกคนประมาท หากพบเห็นป้ายแจ้งเตือนอันตรายจากทุ่นระเบิดที่ทางราชการปิดเอาไว้ อย่าพยายามเข้าไปเด็ดขาด ขอให้ดูชีวิตของผมเป็นอุทธาหรณ์" 

********************** 

ชาติชยา ศึกษิต : 8 เม.ย.2556

7 เมษายน 2556

ไม้พยุง ที่ช่องพระพะลัย

ผมได้เดินทางไปตรวจสอบประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด แถวช่องพระพลัย ชายแดนไทย-กัมพูชา ในเขตบ้านก่อ ต.ละลาย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อต้นเดือน เม.ย.2556 ที่นี่เคยมีประวัติการสู้รบอย่างหนักบริเวณช่องพระพลัย ในช่วงปี พ.ศ.2525-2528 ระหว่างเขมรแดงและเวียดนาม เขมรแดงได้ถอยร่นเข้ามาอาศัยบริเวณห้วยห้าสิบ และหลังสิ้นสุดสงคราม ทหารไทยได้ผลักดันเขมรแดงกลับประเทศกัมพูชา เมื่อ พ.ศ.2528-2530 

เมื่อเดินขึ้นไปบนสันเขา ผมและคณะได้พบการลักลอบตัดไม้พยุง จำนวนมาก รอขนกลับไปยังฝั่งกัมพูชา ทั้งๆ ที่อยู่ในเขตแผ่นดินไทย ถามชาวบ้าน เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ทหารพราน ได้ความเหมือนเดิม คือ คนไทยชี้เป้า ชาวเขมรเข้ามาตัด มีกำลังติดอาวุธคุ้มกัน แล้วขนออกไป มีนักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพ่อค้าผู้ทรงอิทธิพลเป็นเจ้าของกิจการร่วมกันให้ท้ายอยู่เบื้องหลัง เจ้าหน้าที่ของไทยระดับปฏิบัติงานในพื้นที่ อึดอัดใจต่อการตัดไม้พยุงดังกล่าว แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ 

การตัดไม้พยุงแถวนี้จะแปรรูปในพื้นที่แล้วซอยเป็นไม้หน้า 4-7 นิ้ว ยาวท่อนละประมาณ 20-50 ซม. บางทีก็ตัดเป็นสี่เหลี่ยมรูปลูกเต๋าแล้วแต่ความสมบูรณ์ของเนื้อไม้ ตัดตอนกลางวัน แล้วเวลากลางคืนจะใช้ผู้หญิงเขมรมาแบกขนออกไปยังประเทศเขมร หากท่อนยาวมากจะใช้วิธีทิ้งลงหน้าผา แล้วไปขนต่อด้านล่าง 


ดูแผนที่และพิกัด



ผมคุยกับเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ท่านหนึ่ง บอกว่า "บางครั้งพวกเราก็ต้องใช้อาวุธปราบปรามพวกกองกำลังติดเขมรมันบ้าง เพราะมันก็ยิงเรา ทั้งๆ ที่มันมาขโมยไม้ในบ้านเรา มีการเสียชีวิตหลายศพ แต่เราพยายามไม่ให้เป็นข่าว เคยมีการตั้งค่าหัวไอ้พวกขโมยตัดไม้ไว้เหมือนกัน ราคาถึงหัวละ 5,000 บาท ก็ได้หลายศพอยู่ เงินค่าหัวไม่เคยลงมาถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเลย ถูกตัดตอนระหว่างกลางแถวเจ้านายข้างบนเสียหมด" 




ในคณะที่ร่วมเดินทางพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "พวกชาวเขมรนี้ ไว้ใจไม้ได้ เช้าคุยกันอย่าง พอเที่ยงไปแล้วก็เป็นอีกอย่าง" มันไม่เคยสนใจเรื่องกฏหมายระหว่างประเทศ มันไม่สนใจข้อตกลงกันระหว่างกองกำลังทั้ง 2 ฝ่าย มันอยากจะเข้ามาขโมยทรัพยากรในเขตบ้านเรา มันก็มา มันไม่สนข้อตกลงอะไรทั้งสิ้น เพราะเงินคือสิ่งที่มันต้องการ หากมันบอกว่าตรงไหนเป็นเขตแดนของมัน มันก็อพยพชาวบ้านเข้ามาปักหลักทำมาหากิน แต่พี่ไทยเราก็เป็นสุภาพบุรุษ ได้แต่ร้องเรียนและประท้วงทางเอกสาร  แล้วดันอพยพถอยร่นชาวบ้านไทยให้ออกมาจากแนวชายแดนอีก  ชาวบ้านจำใจต้องออกจากพื้นที่ที่เคยทำมาหากินมาแต่ครั้งปู่ย่าตาทวด  ปัจจุบันกลับกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่อันธพาลเขมรไล่คนไทยไม่ให้ทำกิน

















ผมยิ่งเดินทาง ก็ยิ่งพบเห็นแต่ความเสื่อมถอยของคนไทย  โดยเฉพาะข้าราชการของแผ่นดิน ที่กลายเป็นพวกของนักการเมืองและนักธุรกิจ ร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ของประเทศชาติเอาไปเป็นของส่วนตัว หากเป็นอย่างนี้ ประเทศชาติมีหวังล่มจมแน่

*************************
ชาติชยา  ศึกษิต : 7 เม.ย.2556