28 พฤษภาคม 2556

Voice of Life (เสียงแห่งชีวิต)

ผมไปอ่านพบบทความนี้ในหนังสือเรื่อง "การฟื้นฟูปราสาท สด๊ก ก๊อก ธม" ซึ่งจัดทำโดย องค์กรพันธมิตรแห่งประเทศญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการกู้ระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (Japan Alliance for Humanitarian Demining Support : JAHDS)  เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2547 เลยคิดว่าน่าจะนำมาเผยแพร่ในบล็อกนี้อีกทางหนึ่ง  เพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงผลกระทบของทุ่นระเบิดที่ตกค้างจากสงครามและการสู้รบในสมัยก่อนที่ยังไม่ได้ถูกเก็บกู้ออกไป  มันทำลายชีวิตมุนษย์ไม่เลือกหน้า ไม่เลือกว่าเด็กหรือผู้ใหญ่  และปัจจุบันยังมีทุ่นระเบิดเหล่านี้หลงเหลืออยู่ในประเทศไทยอีกประมาณ 18 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดตามแนวชายแดนระหว่างไทย  ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์    


Voice of Life (เสียงแห่งชีวิต)
ทัศนียภาพของทุ่งนาและหมู่บ้านที่อยู่รอบๆ ปราสาท สด๊ก ก๊อก ธม ดูเงียบสงบ ผู้คนที่นั่นใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ใครบ้างเลยจะคิดว่าที่แห่งนี้มีเรื่องราวน่าเศร้าเกิดขึ้นมากมาย? จากทุ่นระเบิดเพียงชิ้นเดียว ที่ถูกฝังไว้ใต้ดิน สามารถทำลายชีวิตผู้คนอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว และที่แห่งนี้ ที่มีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายมากมาย

ระหว่างการทำงานในไร่นาหรือเล่นกับเพื่อนหลังกลับจากโรงเรียน  หากพวกเขาโชคร้ายเหยียบทุ่นระเบิดเข้า  ถ้าไม่สูญเสียขาหนึ่งข้างก็สูญเสียทั้งสองข้าง มีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ด้วยหรือ?

เด็กชายเมธี  อายุ 7 ขวบ รำพึงให้ฟังว่า "ผมอยากไปโรงเรียน...."

"ปีที่แล้ว ขณะที่ผมกลับจากโรงเรียน ได้แวะเล่นกับเพื่อนที่สวน  ทันใดนั้น ผมก็ได้ยินเสียงดังมาก จากนั้นไม่รู้สึกตัวอีกเลย สิ่งต่อมาที่รู้ก็คือ มีผู้ใหญ่หลายคนมาอยู่ตรงหน้า"

ในตอนนั้น  เมธีสูญเสียขาทั้งสองข้าง แม้ว่าเขาจะสามารถเดินได้ด้วยขาเทียม แต่ก็ไม่อาจไปโรงเรียนได้อีก เพราะที่บ้านไม่มีใครพาเขาไปได้  แม่ก็ยุ่งอยู่กับการทำงานในไร่นาและพ่อก็เข้าไปทำงานในเมือง

ความปวดร้าวทางกายได้เลือนหายไปแล้ว 
แต่สิ่งที่เขาสูญเสียไปตลอดกาล มันช่างยากที่จะลบเลือน


****************************
ที่มาข้อมูล
องค์กรพันธมิตรแห่งประเทศญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการกู้ระเบิดเพื่อมนุษยธรรม. (2547). Voice of Life (เสียงแห่งชีวิต).  การฟื้นฟูปราสาท สด๊ก ก๊อก ธม. กรุงเทพฯ : เชอิอูน (ประเทศไทย).

20 พฤษภาคม 2556

ใครควรรับผิดชอบ?

เหตุการณ์จำลองนี้ดัดแปลงมาจาก Allen Prak, J.D.,Managing Partner (Cambodia) (9 May 2013) เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในประเทศไทย 

จอห์นและแคทเธอรีน เป็นนักท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ทั้งสองคนชอบเที่ยวในชนบทห่างไกล ไปตามหมู่บ้านตามแนวชายแดนของประเทศต่างๆ ทั้งสองเคยประสบอุบัติเหตุจากทุ่นระเบิดที่ตกค้างจากการสู้รบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกมาแล้วถึง 2 ครั้ง ทำให้ขาข้างขวาของจอห์นและขาข้างซ้ายของแคทเธอรีนต้องขาด กลายเป็นคนพิการใส่ขาเทียมจนถึงทุกวันนี้ แต่จอห์นและแคทเธอรีน ก็ยังชอบท่องเที่ยวอยู่เช่นเดิม 

เมื่อกลางเดือน มกราคม พ.ศ. 2555 จอห์นและแคทเธอรีน ต้องการมาเที่ยวในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขต อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ติดกับชายแดนประเทศกัมพูชา หมู่บ้านแห่งนี้ ทางรถยนต์เข้าไปไม่ถึง ไกด์ที่พามาแนะนำและวางแผนว่า ต้องใช้เกวียนเป็นพาหนะเดินทางผ่านทุ่งนาถึงจะถึงหมู่บ้านแห่งนี้ จอห์นและแคทเธอรีนถามว่าพื้นที่นี้ปลอดภัยหรือไม่ กลัวว่าจะมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ อาจเกิดอันตรายเหมือนประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาถึง 2 ครั้ง

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มาของภาพ masscomm35
ไกด์ตอบว่าพื้นที่แห่งนี้สมัยก่อนมีการสู้รบ และมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ แต่ทางหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 ได้ดำเนินการเก็บกู้และกวาดล้างไปหมดแล้ว และศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติก็ประกาศรับรองเป็นพื้นที่ปลอดภัยและส่งมอบพื้นที่ให้กับประชาชนในหมู่บ้านใช้ประโยชน์เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน จึงขอยืนยันว่า "พื้นที่นี้ ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด" ผู้ใหญ่บ้านและคนขับเกวียน ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านก็ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้นจริง และทุ่งนาที่จะเดินทางผ่านนี้ ได้ผ่านการทำนามาแล้วถึง 4 ฤดูกาล จึงมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัย 

จอห์นและแคทเธอรีนยอมเชื่อ จึงได้ตัดสินใจเดินทางด้วยเกวียนผ่านทุ่งนาแห่งนั้น 
ทันใดนั้น ล้อเกวียนวิ่งไปเหยียบบนรากไม้ของต้นไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง ทำให้ UXO ที่ฝังอยู่ใต้รากไม้เกิดระเบิดขึ้น 
จอห์น, แคทเธอรีน, ไกด์ และคนขับเกวียน ได้รับบาดเจ็บสาหัส 

แบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่มถกแถลงกันโดยอิสระ (15 นาที) 
  • กลุ่มที่ 1 จอห์นและแคทเธอรีน ผู้บาดเจ็บ ต้องการฟ้องร้องผู้รับผิดชอบได้แก่ หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3, ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ และผู้ใหญ่บ้าน พวกเขาควรจะฟ้องร้องด้วยข้อหาอะไรบ้าง 
  • กลุ่มที่ 2 ถ้าคุณเป็นผู้บังคับหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 คุณจะปกป้องตัวเองให้พ้นผิดจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร 
  • กลุ่มที่ 3 ถ้าคุณเป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ คุณจะปกป้องตัวเองให้พ้นจากความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร 
  • กลุ่มที่ 4 ถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่บ้าน คุณจะแก้ตัวเรื่องนี้ว่าอย่างไร และจะป้องกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต 

แต่ละกลุ่มนำเสนอ 5 นาที ????? 

เหตุการณ์นี้ปรับปรุงและดัดแปลงมาจากการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านความรับผิดชอบการดำเนินงาน   ด้านทุ่นระเบิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Regional Mine Action Liability Workshop for South East Asia) เมื่อวันที่ 8-10 พ.ค.2556 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมซันเวย์ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ผมตั้งใจนำมาเผยแพร่เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย  ได้ลองคิดทบทวนและไตร่ตรองดูว่า เหตุการณ์ดังกล่าว "ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ" ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้มีการถกแถลงกันในที่ประชุมแต่ก็ไม่มีข้อสรุปโดยแน่ชัด เพราะบริบทของแต่ละประเทศทั้งลาว ไทย กัมพูชา พม่า และเวียดนาม มีความแตกต่างกัน ทั้งทางกฏหมาย โครงสร้างอำนาจ ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ และการจัดองค์กร 

ผมอยากให้ทุกคนที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย ลองถกแถลงกันดู ครับ เผื่ออาจจะได้แนวคิดดีดี แล้ววันหนึ่ง ผมจะบรรยายเรื่อง "ความรับผิดชอบ" นี้ให้ฟังอีกครั้งเมื่อมีโอกาสได้พบกัน 
















************************** 
ชาติชยา ศึกษิต : 20 พ.ค.2556 

13 พฤษภาคม 2556

มุมหนึ่งในพนมเปญ


ผมได้มีโอกาสมากรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เป็นครั้งแรก มาประชุมเรื่อง "Regional Mine Action Liability Workshop for South East Asia" ประชุม 3 วันเต็ม ระหว่างวันที่ 8-10 พ.ค.2556 เดินทางไปวันที่ 7 และกลับวันที่ 11 ด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ประชุมตั้งแต่ 09:00-17:00 ทุกวัน ชีวิตช่วงกลางวันเลยไม่ได้ไปเที่ยวไหน อยู่แต่ในโรงแรมซันเวย์ โรงแรมระดับห้าดาว ตั้งอยู่ตรงข้ามสถานเอกอัครข้าราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศกัมพูชา ก็ดีครับ...มีห้องพักและอาหารอย่างดีครบ 3 มื้อ ประหยัด ไม่ค่อยได้ใช้เงิน 

ผีข้างสถานฑูตฯ 
หน้าโรงแรมฯ มีเกาะกลางถนนขนาดใหญ่กั้นอยู่ระหว่างโรงแรมฯ และสถานฑูตฯ จัดสร้างเป็นสวนสาธารณะให้ผู้คนมาพักผ่อน พอยามเย็นใกล้โพล้เพล้ ผู้คนก็เริ่มมากัน ผมเห็นว่ามันน่าแปลก เพราะผู้คนที่มาส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงวัยรุ่น แต่งตัวโชว์เนื้อหนังมังสา บางก็โป๋มาก ผิวดำ ผิวขาวสลับกันไป เสื้อผ้าที่ใส่ก็เป็นแบบคุณภาพถูก ซื้อหาได้ตามตลาดนัดทั่วไป นั่งอยู่ตามม้านั่ง เหมือนกำลังรอใครสักคน 
สวนสาธารณะหน้าโรงแรม
ฝั่งตรงข้ามคือสถานฑูตสหรัฐอเมริกา

ผมพยายามถามพนักงานโรงแรมว่า "ผู้หญิงเหล่านี้เขามาทำไม?" (จริงๆ แล้วผมก็พอเดาออก ว่าที่สวนสาธารณะแห่งนี้น่าจะเป็นย่านขายบริการทางเพศแน่เลย แต่ไม่กล้าคิดไปเอง) พวกเธอก็พยายามเหลี่ยงไม่ตอบคำถามตรงๆ เธอคงกลัวเสียภาพลักษณ์ผู้หญิงในเมืองหลวงของเธอแน่เลย ในที่สุดผมก็ได้คำตอบจากคนขับรถตุ๊กๆ หน้าโรงแรมที่คอยบริการนักท่องเที่ยวว่า ที่สวนสาธารณะแห่งนี้ คือ แหล่งที่ผู้หญิงวัยรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากบ้านนอก ครอบครัวยากจน ขี้เกียจเรียนหนังสือ ใจแตก หวังมาขายบริการทางเพศในเมืองหลวง เพื่อหาเงินไปเที่ยว ไปดื่ม ไปซื้อยา ขายบริการครั้งละไม่แพง ผมถามต่อว่า "แล้วตำรวจรู้ไหม" เขาตอบว่า "รู้ครับ แต่ไม่เห็นทำอะไร" หลังที่ฟังจบ ผมนึกถึง "ผีใต้ต้นมะขาม" ที่สนามหลวง กรุงเทพฯ บ้านเรา ในอดีตทันที ผมจึงเรียกผู้หญิงเหล่านี้ว่า "ผีข้างสถานฑูตฯ" เพื่อให้ฟังดูดีหน่อย

จริงๆ แล้ว ก็น่าสงสารเด็กผู้หญิงเหล่านี้น่ะครับ คงไม่มีใครอยากเป็นเช่นนี้ 
คงต้องโทษ "สังคมของกรุงพนมเปญ ที่นำพาชีวิตของพวกเธอให้เป็นอย่างนี้เอง" 

ใช้เงินสองสกุล 
ก่อนมามีคนแนะนำว่าให้แลกเงินไทยเป็นเงินดอลล่าร์เลย เพราะที่พนมเปญเขานิยมใช้เงินดอลล่าร์กัน ผมเลยแลกที่สนามบินสุวรรณภูมิบ้านเรา จริงอย่างเขาว่า ที่พนมเปญนี้รับเงินสองสกุลจริงๆ คือ เงินดอลล่าร์ของสหรัฐอเมริกา และเงินเรียล (Riel) ซึ่งเป็นเงินของกัมพูชาเอง แต่ดูเหมือนว่า ร้านค้าส่วนใหญ่จะชอบรับเงินดอลล่าร์มากกว่าเงินเรียลอาจเป็นเพราะค่าของเงินก็ได้ เรื่องนี้ผมไม่เข้าใจเหตุผลเท่าใดนัก คงต้องถามนักเศรษฐศาสตร์การเงิน แม้แต่ที่ร้านสะดวกซื้อ(คล้าย 7 eleven ของเรา) ยังมีหน้าจอคอมพิวเตอร์สำหรับคิดเงินเป็น 2 หน้าคือ ครึ่งจอด้านซ้ายเป็นเงินดอลล่าร์ ครึ่งจอด้านขวาเป็นเงินเรียล 

ค่าของเงินตอนนั้น เงินเรียลประมาณ 4,000 เรียล เท่ากับ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ (29 บาทไทย) เวลาจ่ายเงินจ่ายเป็นดอลล่าร์ แต่พอทอนเงิน เขาจะทอนมาเป็นเรียล ระหว่างที่อยู่ผมมีเงินเรียลเป็นหมื่นเรียวเต็มกระเป๋าสตางค์เลยครับ ในบางครั้งก็ต้องจ่ายเงินดอลล่าร์ผสมกับเงินเรียลด้วย หากราคาค่าของที่เป็นเศษไม่ถึงดอลล่าร์ เล่นเอางง นับไม่ถูกเหมือนกัน 

ผมถามว่า "ทำไม แบงค์เรียล ไม่มีรูปพระมหากษัตริย์พิมพ์อยู่ในแบงค์เหมือนแบงค์ของไทยและชาติอื่นๆ" เขาตอบว่าหากมีรูปพระมหากษัตริย์ต้องเป็นแบงค์ 5,000 เรียลขึ้นไป ผมพยายามรวมรวบเงินเรียลขอแลกแบงค์ 5,000 เรียลจากร้านค้าต่างๆ หลายร้านเลยทีเดียว กลับไม่มีให้แลก ก็รู้สึกฉงนใจอยู่เหมือนกัน ว่าเป็นเพราะอะไร? 

ภาษามือ 
โรงแรมที่ผมไปพักนี้ เป็นโรงแรมระดับห้าดาว การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษภายในโรงแรมจึงไม่เป็นปัญหา พนักงานสามารถพูดภาษาอังกฤษได้เข้าใจ แต่พอออกนอกโรงแรมแล้ว ลำบากครับ แทบสื่อสารไม่รู้เรื่อง เพราะคนพนมเปญยังพูดและฟังภาษาอังกฤษพื้นฐานสำหรับนักท่องเที่ยวไม่ออก พูดแต่ภาษาของเขา ไม่ว่าจะเป็นรถตุ๊กๆ รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้า เล่นต้องใช้ภาษามือเป็นหลัก กว่าจะเข้าใจกันได้ถึงกับเหนื่อยเลยครับ นี่ถ้าเป็นภาษาลาวยังพอเข้าใจได้บ้าง แต่ภาษาเขมรนี้ ฟังไม่ออก เดาไม่ได้เลยจริงๆ 

ตลาดกลาง (Central market) 
หากมาพนมเปญ จะหาซื้อของฝากของที่ระลึก บอกรถตุ๊กๆ รับจ้างได้เลยครับ ให้พาไปที่ Central Market เป็นตลาดขนาดใหญ่ มีสินค้าครบเกือบทุกชนิด หากเทียบง่ายๆ กับบ้านเรา ก็คือ เอาตลาดต่างๆ มารวมกันคือ ปากคลองตลาด โบ้เบ้ พาหุรัด บ้านหม้อ พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ฯลฯ สินค้าอีกประเภทหนึ่งที่มีให้ซื้อหามาก คือ ไม้แกะสลัก เป็นรูปพระ เทวรูป เทวดา สัตว์ต่างๆ เครื่องทองเหลือง เครื่องเงิน ส่วนพวกเครื่องประดับก็จะเป็นทองคำ เงินและพลอย เดินชอบปิ้งที่นี่..เขาบอกให้ระมัดระวัง ยังมีพวกชกชิงวิ่งลาวล้วงกระเป๋าแอบแฝงอยู่ 


Central Market
ริเวอร์ไซต์ ย่านบันเทิง 
เมืองพนมเปญนี้ มีแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำโขงช่วงนี้เป็นตอนปลายก่อนออกสู่ทะเล เทียบได้กับแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างกรุงเทพฯ บ้านเรา ที่ถนนสายหลักริมแม่น้ำโขงในยามค่ำคืนตลอดแนว เป็นแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีของชาวต่างชาติ เหมือนแถวพัฒพงษ์และพัทยาบ้านเรา มีอบายมุขครบทุกชนิด ดูแล้วก็เหมือนเมืองหลวงทั่วไป ที่ต้องมีย่านบันเทิงไว้บริการนักท่องเที่ยวอย่างนี้เกือบทุกเมือง 


ถนนริมแม่น้ำโขง  แหล่งย่านบันเทิง
พนมเปญ..วันนี้ ในความเห็นของผม หากเทียบความเจริญแล้วก็ประมาณ จ.เชียงใหม่ของประเทศไทยเรา อาจจะน้อยกว่าด้วยซ้ำ แต่การวางผังเมืองเขาดีมาก เป็นถนนสายหลัก สายรอง เป็นบล็อกสี่เหลี่ยมมีระเบียบเชื่อมโยงถึงกัน ความสะอาดไม่ค่อยดีเท่าไหร่ สะอาดเฉพาะถนนสายหลัก ส่วนถนนสายรอง ตามตรอก ซอกซอย ยังแลดูสกปรก ทั้งขยะและสิ่งปฏิกูลต่างๆ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับไม่น่าไว้วางใจ ชาวต่างชาติที่มาที่นี้ สังเกตุว่าส่วนใหญ่มาลงทุนทำธุรกิจ ประชุม หรือสัมมนามากกว่ามาท่องเที่ยวโดยตรง โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นและเกาหลี มีมากกว่าชาติอื่น เพราะเห็นได้ถึงกิจการศูนย์การค้า อสังหาริมทรัพย์ และห้างขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ เป็นของทั้งสองประเทศนี้เกือบทั้งนั้น รถยนต์ที่ใช้กันในพนมเปญนี้ ส่วนใหญ่ยี่ห้อโตโยต้า และฮุนไดเป็นหลักครับ 


รถตุ๊กตุ๊ก รับจ้างในพนมเปญ
พนมเปญ กำลังหอมหวน นักลงทุนชาวต่างชาติกำลังรุมตอม แสวงหาผลประโยชน์ และทำการสูบเลือดชาวกัมพูชาในทุกรูปแบบ เพื่อให้ตัวเองเป็นเจ้าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ หากกัมพูชา ไม่ตั้งสติเตรียมรับมือให้ดี วันหนึ่งอาจจะคล้ายประเทศไทยบ้านเราในขณะนี้ ที่ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเช่นกัน กิจการเกือบทุกอย่างอยู่ในมือชาวต่างชาติ นายทุน และนักการเมืองแทบทั้งสิ้น 


Cambodia




















******************** 

ชาติชาย คเชนชล 
13 พ.ค.2556