30 กรกฎาคม 2556

ตามหาเมธี ตอนที่ 1

ผมเผอิญได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า "ฟื้นฟูปราสาทสด๊ก ก๊อก ธม"  (The Sadok Kok Thom Ruins Revived) จัดทำโดย  องค์กรพันธมิตรแห่งประเทศญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการกู้ระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (Japan Alliance for Humanitarian Demining Support : JAHDS)    พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2547 โดยจัดพิมพ์เป็น 3 ภาษา คือ ไทย ญี่ปุ่น และอังกฤษ เพื่อเป็นที่ระลึกหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ "เก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดบริเวณปราสาทสด๊ก ก๊อก ธม"  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการ "Japan NGO-Support Grant Cooperation" อันเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กร JAHDS, ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) และมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จนสามารถคืนพื้นที่ปลอดภัยบริเวณปราสาทฯ ให้แก่ประชาชน จากทุ่นระเบิดที่ตกค้างจากการสู้รบในสมัยอดีต และยังสามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งโบราณสถานที่สำคัญที่มีคุณค่าของผืนแผ่นดินไทย สามารถฟื้นฟูเป็นแหล่งศึกษาโบราณคดีและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสระแก้วได้อีกแห่งหนึ่ง

หนังสือ "ฟื้นฟูปราสาท สด๊ก ก๊อก ธม"

เมธี...ผู้เคราะร้าย
ในหนังสือเล่มดังกล่าวมีบทความหนึ่งใช้ชื่อว่า "เสียงแห่งชีวิต" (Voice of life) เป็นเรื่องราวของ ด.ช.เมธี  เย็นควร อายุ 7 ปี  ซึ่งเหยียบทุ่นระเบิดบริเวณสวนใกล้บ้านของเขา ขาขาดทั้งสองข้าง 



หลังจากเขาต้องกลายเป็นคนพิการ เมธีก็ไม่ได้ไปโรงเรียน
เมธี เคยรำพึงให้ฟังว่า "ผมอยากไปโรงเรียน..." แต่เมธีก็ไม่ได้ไป ถึงแม้เขาจะสามารถเดินได้อีกครั้งด้วยขาเทียมแล้วก็ตาม เพราะที่บ้านไม่มีใครพาเขาไปโรงเรียนได้ แม่ก็ยุ่งอยู่กับการทำงานในไร่นา และพ่อของเขาก็ต้องไปทำงานในเมือง 

เรื่องราวของเมธี ทำให้ผมรู้สึกสนใจว่า "ป่านนี้ชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไรบ้าง"  ผมจึงได้โพสต์เรื่องราวของเมธีลงในเฟสบุ๊ค  เผื่อจะมีใครพอทราบบ้าง (ดูรายละเอียด) ได้ผลครับ มีผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ได้เข้ามาแจ้งข่าวสารเพิ่มเติม คือ


คุณอ้น "เมธีอยู่กับยาย ทีหลังยายเลี้ยงไม่ไหว เมธีได้ไปเรียนที่โรงเรียนมหาไถ่ ที่ดีมากๆ สำหรับคนพิการ อยู่ที่พัทยาค่ะ โดยพี่อ๋า เจอาร์เอส (องค์การที่น้องชมพู่ทำงานอยู่) ซึ่งเป็นคนดูแลงานด้านทุ่นระเบิดตอนนั้นเป็นคนคอยดูแลเมธีอยู่สม่ำเสมอค่ะ แต่ไม่ได้ข่าวหลายปีแล้ว คิดว่าคงสบายดี เพราะถ้าไม่สบายคงได้ข่าวบ้าง" 

คุณชมพู่ "ตามข่าวให้แล้วค่ะ ได้สอบถามไปยังพี่อ๋า อดีตเจ้าหน้าที่ JRS และ Landmine Monitor Researcher คนแรกของไทยค่ะ ข่าวล่าสุดคือ น้องเมธีเรียนอยู่ที่โรงเรียนพระมหาไถ่ พัทยา และถูกส่งไปฝึกเป็นนักบาสคนพิการค่ะ พี่อ๋าเป็นคนพาน้องไปส่งเรียนที่โรงเรียนพระมหาไถ่ พัทยาเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว รายละเอียดอื่น ๆ ต้องโทรไปสอบถามเพิ่มเติมที่โรงเรียนนะคะ"


นอกจากนั้น ยังมีเพื่อนๆ  ในเฟสบุ๊ค หลายท่าน ให้กำลังใจ และจะคอยเฝ้าติดตามข่าวของเมธีด้วย...
การ "ตามหาเมธี" จึงเกิดขึ้น ซึ่งผมก็อยากรู้เช่นกันว่า...

"ชีวิตเด็กน้อยๆ ที่ต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างตั้งแต่อายุเพียง 6 ขวบ เขาจะต่อสู้ชีวิตได้อย่างไร มีใครคอยช่วยเหลือและให้กำลังใจเขาอยู่บ้าง   ป่านนี้ เมธี..คงน่าจะอายุ 17 ปี แล้ว การเยียวยาช่วยเหลือจากรัฐบาลแก่ผู้ที่ประสบภัยจากทุ่นระเบิด (ที่ตกค้างจากพิษภัยของสงครามในสมัยก่อน) ยังคงช่วยเหลือเขาอยู่หรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ไฟไหม้ฟาง" 

เรื่องราวเหล่านี้ ผมและลูกน้องทุกคน จะพยายามตามหาเมธีให้พบ...เพื่อนำมาเล่าสู่กันฟัง
...เราอาจจะได้ฟังเรื่องราวที่ดีๆ...จากน้องเมธีได้บ้าง ไม่มากก็น้อย....

ติดตามเรื่องราวผ่านเฟสบุ๊ค
*****************************************
ชาติชยา  ศึกษิต : 30 ก.ค.2556

ติดตาม ตามหาเมธี ตอนที่ 2  

1 กรกฎาคม 2556

พื้นที่ทับซ้อนดอยลาง กับ การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วม ไทย-เมียนม่าร์

เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2556 ผมได้มีโอกาสได้ไปตรวจสอบและประเมินพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด บริเวณช่องทางสันต้นดู่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ติดแนวชายแดนประเทศเมียนม่าร์ จึงได้พบว่าตามแนวชายแดนนี้ ยังมีปัญหารอให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายได้ช่วยแก้ไขอีกหลายเรื่อง  ซึ่งปัญหาเหล่านี้ มีมาตั้งแต่อดีต แม้กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จ



ถัดออกไปทางตะวันตกของช่องทางสันต้นดู่ มีพื้นที่ทับซ้อนที่ยังถกเถียงกันอยู่ ขนาดประมาณ 32 ตร.กม.เรียกชื่อพื้นที่นี้ว่า "พื้นที่ทับซ้อนดอยลาง" เหตุเพราะว่าประเทศไทยและประเทศเมียนม่าร์ ใช้แผนที่คนละฉบับ ดังแสดงไว้ในภาพด้านบน  พื้นที่แห่งนี้จึงตกลงกันไม่ได้ว่าเป็นพื้นที่ของประเทศเมียนม่าร์หรือของราชอาณาจักรไทย  ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหน่วยทหารทั้งของเมียนม่าร์ ว้า และทหารไทย ตั้งเผชิญหน้ากัน แต่ไม่มีความขัดแย้งใดๆ  มีความสัมพันธ์อันดี เพียงแต่รอเวลาว่าตัดสินว่า แผ่นดิน 32 ตร.กม.นี้จะเป็นของใคร

สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ที่ผมปฏิบัติงานอยู่ก็คือ พื้นที่ทับซ้อน 32 ตร.กม. แห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่ได้รับการยืนยันว่ามีอันตรายจากทุ่นระเบิดอยู่ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center: TMAC) ต้องเก็บกู้และกวาดล้างทุ่นระเบิดและทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2561 ตามพันธสัญญาที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ในอนุสัญญาออตตาวา ..แล้วทีนี้จะทำอย่างไรต่อไปดี..ปัญหาแนวชายแดนนี้คงไม่เสร็จสิ้นในเร็ววันนี้แน่นอน เพราะทั้งสองประเทศได้พยายามร่วมกันแก้ไขกันมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จ



พื้นที่ทับซ้อนดอยลาง

การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมระหว่างไทย-เมียนม่าร์
TMAC เป็นหน่วยงานปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม ไม่ถืออาวุธ ถือแต่เครื่องตรวจค้นทุ่นระเบิด มุ่งประโยชน์เพื่อมนุษยชาติเป็นสำคัญโดยไม่แบ่งเขตแดนและเชื้อชาติศาสนา ปฏิบัติงานภายใต้คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมแห่งชาติ (National Mine Action Committee: NMAC)  โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พื้นที่ดอยลางนี้ เป็นพื้นที่ทับซ้อน ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะอยู่ในเขตแดนของประเทศไทยหรือประเทศเมียนมาร์  วิธีการแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้ก็คือ "การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันระหว่างไทย-เมียนม่าร์" ซึ่งมีหนทางที่เป็นไปได้มากที่สุด หากรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย เห็นแก่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรทั้ง 2 ประเทศ ไม่ว่าจะเชื้อชาติใดก็ตาม


ที่ตั้งกำลังทหารของพม่าบริเวณพื้นที่ทับซ้อนดอยลาง

แต่วิธีการนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะพื้นที่แห่งนี้ เป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดและสิ่งของผิดกฏหมาย ที่สำคัญของเหล่าผู้ทรงอิทธิพลทั้งหลาย ยากต่อการจับกุมและใช้กฏหมายบังคับ 

พื้นที่อันตรายจากทุ่นระเบิดคงไม่หมดไปจากประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2561 ตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมโลกอย่างแน่นอน เพราะพื้นที่ทับซ้อน เช่น ดอยลางนี้ ยังมีอยู่อีกหลายพื้นที่ตามแนวชายแดน..รอบประเทศไทย

*******************

ชาติชยา ศึกษิต : 30 มิ.ย.2556