2 ตุลาคม 2556

หนึ่งปีครึ่ง..ที่ศูนย์ปฎิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ


ผมจากกรมการทหารช่างหน่วยต้นสังกัดของผม ที่ จ.ราชบุรี  มาปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้าส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เขตดอนเมือง กทม. ตั้งแต่ 1 ต.ค.2555 ครบหนึ่งปี เมื่อ 30 ก.ย.2556 แต่ถ้ารวมอีก 6 เดือนก่อนหน้านั้น (ซึ่งผมไม่ได้เป็นหัวหน้าส่วนฯ) ก็รวมเป็นหนึ่งปีครึ่งพอดี

ชีวิตการปฎิบัติงานที่นี่...ผมถือว่าโชคดีที่ได้มีโอกาสเดินทางไปในหลายๆ จังหวัด ตั้งแต่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ น่าน ตาก อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ สระแก้ว เรื่อยลงมาถึงจันทบุรี และตราด รวมตลอดปีแล้วต้องเดินทางลงภาคสนามกว่า 20 ครั้งๆ ละ 4-5 วัน  

ผมได้รับประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับวิถีการดำรงชีวิต  ประเพณี วัฒนธรรม ของคนพื้นถิ่นตามขอบแนวชายแดนทั้งลาว พม่า และกัมพูชา จำนวนมาก หลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายภาษา รวมทั้งได้เห็นถึงปัญหาความล้มเหลวของการบริหารจัดการภาคราชการอีกจำนวนมากเช่นกัน  เห็นแม้กระทั่งความเลวร้ายของข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ ที่จ้องแต่เอาประโยชน์เข้าส่วนตนและพรรคพวกอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะกล้าทำได้  ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดการศึกษา ขาดปัญญาเพียงพอที่จะช่วยเหลือตนเอง เอาแต่แบมือขอ มีเลือกตั้งก็รับเงิน มีเหตุร้ายก็ขอเงินเยียวยา ข้าวกล้าก็รอแต่การจำนำ สถาบันครอบครัวแตกแยก เป็นหนี้เป็นสิน นายทุนกลายเป็นเจ้าของที่ดินทำกินเกือบทั้งหมด ตาสี ยายสา ได้แค่รับจ้างทำนา ในผืนนาที่เคยเป็นของตัวเอง ยายใจ ก็รับจ้างเก็บลำใย นายใสก็รับจ้างกรีดยาง..ฯ ผมเห็นมาเช่นนั้นจริงจริง



ลูกหลานของแรงงานชาวกัมพูชา ที่ตามพ่อแม่เข้ามารับจ้างในประเทศไทย


ใจของผมรู้สึกหดหู่  ที่ประเทศไทยของเรามีคนเก่งๆ อยู่มากมาย แต่กลับไม่สามารถสร้างปัญญาให้กับประชาชนคนไทยได้ หากถามย้อนกลับมาว่า "เพราะการศึกษาที่ล้มเหลว ใช่หรือไม่" ผมคิดว่าไม่ไช่ เพราะการศึกษาเป็นแค่ส่วนหนึ่งในเสี้ยวชีวิต เท่านั้น ชีวิตของคนๆ หนึ่งจะเป็นอย่างไร ไม่ได้อยู่ที่การศึกษา ขึ้นอยู่กับการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพ เลี้ยงปาก เลี้ยงท้องของตัวเอง กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เขาอาศัยอยู่

คนไทยมักถูกปลูกฝังให้เป็นผู้รับจ้าง..เพราะเราคำนึงถึงแต่การลงทุนของชาวต่างชาติ มากกว่าการลงทุนของคนในชาติ
คนไทยถูกปลูกฝังให้เป็นผู้ซื้อใช้..เพราะเราไม่สามารถผลิตอะไรใช้ได้ด้วยตนเอง
คนไทยถูกปลูกฝังให้เป็นผู้รับความช่วยเหลือ..มากกว่าช่วยเหลือตนเอง
คนไทยถูกปลูกฝังให้มีเจ้านาย(คุ้มหัว) ..มากกว่าเป็นนายของตัวเอง
..ฯลฯ..



ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ มีภารกิจต้องทำให้พื้นที่ 530.8 ตารางกิโลเมตร ใน 18 จังหวัดของประเทศไทยที่ถูกระบุว่ายังมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยต้องให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2561  ตามพันธะในอนุสัญญาออตตาวา ที่ให้ไว้กับนานาประเทศ ในปีงบประมาณ 2556 นี้พวกเราทำกันอย่างเต็มกำลังแล้ว ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด จำเขี่ย  พวกเราทำได้แค่เพียง  28.5 ตร.กม. ยังคงเหลืออีก 502.3 ตารางกิโลเมตร ที่ยังคงท้าทายให้พวกเราคนกู้ระเบิดยังคงต้องเสียสละทำงานกันต่อไป   


ข้าราชการทหารทุกเหล่าทัพ ที่มาปฏิบัติงานในศูนย์ปฏฺิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ และหน่วยปฎิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม 1-4 (นปท.1-4) จะถูกขอตัวมาช่วยราชการแบบปีต่อปี หากปีนั้นปฏิบัติงานไม่ดี ไม่บรรลุผล ก็ต้องจบภารกิจ และหาคนดีมีฝีมือคนใหม่มาทดแทนในปีต่อไป

ที่กล่าวมานั้นคือ อุดมคติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มิเป็นเช่นนั้น "คนดีมีฝีมือกลับอยู่ไม่ได้ มักถูกส่งกลับ คนที่เหลืออยู่มักจะเป็นคนประจบสอพลอ ถูกเลี้ยงไว้เพื่อทำประโยชน์ให้เจ้านายบางคน  คนพวกนี้มักทำตัวเป็นจิ้งจกเปลี่ยนสีอยู่ร่ำไป  ส่วนคนมาใหม่ก็มีแต่เส้นแต่สาย มาเพื่ออยากลองหรือแค่เป็นเพียงทางผ่านเพื่อเอาสิทธิบางประการ พอครบปีแล้วก็จากไป"

ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีความสำคัญ สามารถทำประโยชน์ให้แก่ผืนแผ่นดินไทยได้อย่างชัดเจนเห็นได้เป็นรูปธรรม หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีคุณค่า มีความดีงามอยู่ในตัวของมันเอง  แต่คนที่มาอยู่ต่างหากที่ทำไม่ดี จนทำให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ต้องเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียงตามไปด้วย 

ตลอดหนึ่งปีที่ผมลงปฏิบัติงานภาคสนาม ผมมักจะพูดกับเพื่อนพี่น้องชาว นปท.ทั้งหลายว่า  
"งานของพวกเรา เหมือนกับการปิดทองหลังองค์พระปฏิมา ไม่ค่อยมีคนได้รู้ได้เห็น ทั้งๆ ที่เป็นงานในระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมแห่งชาติ (National Mine Action Committee : NMAC) แต่กลับไม่มีใครให้ความสนใจ คนส่วนใหญ่แทบไม่มีใครรู้จักหน่วยงานของพวกเราด้วยซ้ำไป

แต่พวกเราต้องเชื่อในหลวงของพวกเรา พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัส เมื่อปี พ.ศ.2510 ว่า
"...ที่ให้ปิดทองหลังพระ ก็เพื่อเตือนตัวเองว่า การทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร หรือประกาศให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่ เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว..."

เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2556 ในวันที่ 30 ก.ย.2556 และเริ่มทำงานใหม่ปีงบประมาณ 2557 ในวันที่ 1 ต.ค.2556  หลายคน...อาจไม่ได้ปิดทองหลังพระองค์เดียวกันกับผมอีก...แต่ไม่ว่าพวกเธอจะไปอยู่ที่ไหน..ก็ขอให้หมั่นปิดทองอยู่เสมอ ถึงแม้จะเป็นการปิดทองหลังพระอีกองค์ก็ตาม....

ผมมีความเชื่อว่า "วันหนึ่งข้างหน้า..พระทุกองค์จะงามทั้งองค์พร้อมกัน..ทั่วทั้งแผ่นดิน" ด้วยมือของพวกเรา






















**********************
ชาติชยา ศึกษิต : 2 ก.ย.2556

ดูรายละเอีดเพิ่มเติม http://www.facebook.com/CoED-TMAC