24 มิถุนายน 2556

ใช้ทุ่นระเบิดปกป้องป่าไม้..ความคิดที่ถูกหรือผิด

ผมทำงานในศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center : TMAC) มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบและประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด ที่ยังคงมีตกค้างอยู่ในประเทศไทยจากผลพวงการสู้รบตามแนวชายแดนในสมัยก่อน การดำเนินการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในประเทศไทยนี้ เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เรียกกันทั่วไปว่า "อนุสัญญาออตตาวา" โดยประเทศไทยต้องกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2561 หน่วยงานของผมทำงานภายใต้อำนาจของคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

เส้นทางเดินปลอดภัยขนาดกว้าง 1-2 ม.
หลังจากการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่

การดำเนินการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ วิธีการก็คือ การสุ่มเจาะเพื่อเปิดเส้นทางในพื้นที่กว้างประมาณ 1-2 เมตรเพื่อทำการตรวจค้นว่ามีทุ่นระเบิดหลงเหลืออยู่หรือไม่ หากพบก็จะทำการเก็บกู้และทำลายทิ้ง การสุ่มเจาะเพื่อเป็นตัวอย่าง จะเป็นไปตามกระบวนการปรับลดพื้นที่ด้วยวิธี Land release ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับและเป็นมาตรฐานใช้กันทั่วโลก โดยการสุ่มตัวอย่างจะต้องสุ่มให้ได้พื้นที่ปลอดภัยอย่างน้อยตั้งแต่ร้อยละ 5-40 ขึ้นไปของจำนวนพื้นที่ทั้งหมด แล้วแต่ความหนาแน่นของทุ่นระเบิดที่คาดว่าจะมี ดังนั้นในพื้นที่หลังจากการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดแล้ว จะก่อให้เกิดเส้นทางเดินขนาดกว้าง 1-2 เมตร โยงใยเต็มไปหมดคล้ายใยแมงมุม ซึ่งล้วนเป็นช่องทางเดินที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดแล้วทั้งสิ้น

ในพื้นที่ที่ระบุว่ายังมีสนามทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ ตามแนวชายแดนไทยและประเทศกัมพูชา ยังมีไม้พะยูงขึ้นอยู่จำนวนมาก มีการลักลอบตัดไม้พะยูงปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ ผู้ลักลอบตัดไม้ ไม่เกรงกลัวว่าจะเหยียบทุ่นระเบิดที่ยังตกค้างและมีอยู่ในพื้นที่ แต่ยังข้ามแดนเข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูงกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ยิ่งหลังจากหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม(นปท.) เข้าไปดำเนินการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ด้วยแล้ว ยิ่งก่อให้เกิดเส้นทางปลอดภัยจากทุ่นระเบิดอีกจำนวนหลายเส้นทาง ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น...

มีการกล่าวอยู่เสมอจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ว่า เส้นทางปลอดภัยจากการเก็บกู้และกวาดล้างทุ่นระเบิดที่ นปท. ดำเนินการ กลายเป็นเส้นทางที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกลักลอบตัดไม้พะยูง ให้เดินทางเข้ามาตัดไม้พะยูงและขนส่งได้ง่ายขึ้น  การตัดไม้พะยูงจึงมีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ ยากต่อการควบคุม จึงเกิดความเห็นที่ว่า "ควรใช้ทุ่นระเบิดปกป้องทรัพยากรป่าไม้เอาไว้ ไม่ควรเก็บกู้มันออกจากพื้นที่"

ร่องรอยตัดไม้พะยูง
ที่พบเป็นประจำขณะผมออก
ตรวจสอบและประเมินผล
พื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด
ผมว่าคำพูดเหล่านี้เป็นคำพูดที่ขาดความผิดชอบอย่างมาก..ไม้พะยูงมีการลักลอบตัดกันอยู่แล้วตามปรกติตามแนวชายแดน แม้จะยังไม่มีการเก็บกู้กวาดล้างทุ่นระเบิดก็ตาม เหตุเพราะเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ พ่อค้า และนักการเมือง ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ 

มีหรือ..ไม่รู้ว่าวันใดจะมีพวกลักลอบข้ามแดนเข้ามาตัดไม้พะยูงในเขตบ้านเรา แล้วชุดหาข่าวที่แฝงตัวอยู่ตามแนวชายแดนที่มีอยู่มากมาย ทำอะไรกันอยู่

ผู้รับผิดชอบพื้นที่มีการจัดชุดออกลาดตระเวนเฝ้าระวังพื้นที่บ่อยครั้งแค่ไหน หรือว่าไม่มีคน คนไม่พอ

นอกจากนั้น หลายหน่วยงานยังชอบอ้างว่าพื้นที่ป่าไม้ที่รับผิดชอบ เต็มไปด้วยอันตรายจากทุ่นระเบิด หากออกเดินลาดตระเวนแล้วเกรงว่าเจ้าหน้าที่จะได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบทุ่นระเบิด แต่พอพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดแล้ว กลับมาอ้างว่าเป็นการเอื้อต่อการเข้ามาลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอีก...ตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่...

ผมว่าปัญหาเหล่านี้ มันเป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่มากกว่า อย่าโทษคนเก็บกู้ทุ่นระเบิดอย่างพวกเราเลย ไม่ว่าจะท่านจะอยู่ในหน่วยงานใดก็ตามที่เป็นผู้ดูแลรักษาพื้นที่อยู่ ท่านรู้อยู่แก่ใจว่าไม้พะยูงมันอยู่ที่ไหน พิกัดตำแหน่งใด ขึ้นอยู่ที่ว่า ท่านตั้งใจรักษามันไว้ และตั้งใจปราบปราบผู้ลักลอบอย่างจริงจังหรือปล่าว หรือว่ามันมีอะไรปิดหูปิดตาอยู่ พวกท่านจึงมองไม่เห็น 

ผมว่าพอพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดแล้ว มีเส้นทางที่เปิดเอาไว้ให้เดินทางด้วยความปลอดภัย มันน่าจะทำให้เจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวณเฝ้าระวังพื้นที่ได้สะดวกและบ่อยครั้งขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่าเดิม และมีความปลอดภัยจากการบาดเจ็บจากการเหยียบทุ่นระเบิด..

ดังนั้น คำพูดที่กล่าวว่า "เส้นทางที่เปิดไว้กลายเป็นเส้นทางที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกลักลอบตัดไม้พะยูง ให้เดินทางเข้ามาตัดไม้พะยูงและขนส่งได้ง่ายขึ้น ยากต่อการควบคุม" จึงถือว่าเป็นคำพูดที่ขาดความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง


*************************
ชาติชยา ศึกษิต : 23 มิ.ย.2556

11 มิถุนายน 2556

ทำความสะอาด..อุบลราชธานี

ผลการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทยขององค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์ (Norwegian People's Aid : NPA และศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center : TMAC) เมื่อปี พ.ศ.2544 พบว่าในประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดที่ยังตกค้างและถูกฝังอยู่ จากผลพวงของการสู้รบตามแนวชายแดนในอดีตที่ผ่านมา จำนวนถึง 2,557 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 25 จังหวัด และหนึ่งในนั้นคือ จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีพื้นที่ที่คาดว่ายังมีทุ่นระเบิดตกค้างและฝังอยูุ่ถึง 131.62 ตารางกิโลเมตร  TMAC ได้เริ่มการปฏิบัติการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


พื้นที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิดตกค้างและฝังอยู่
ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จำนวน 131.62 ตร.กม.

ผมมาทำหน้าที่หัวหน้าส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผลของ TMAC เมื่อเดือนตุลาคม 2555 ผมรู้สึกแปลกใจว่า เวลาล่วงมาแล้วถึง 11 ปี แต่ในพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี ไม่เคยมีหน่วยงานใดเข้าไปดำเนินการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดอย่างเป็นจริงเป็นจังเลย มีเพียงแค่เข้าไปกวาดล้างและเก็บกู้พื้นที่บางส่วน ตอนก่อสร้างถนนเข้าสู่ช่องเม็กเท่านั้น  ในขณะที่จังหวัดต่างๆ มีการจัดหน่วยงานเข้าไปดำเนินงานกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิด และสามารถทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้วถึง 7 จังหวัด คงเหลือพื้นที่ที่มีดำเนินการกวาดล้างและเก็บกู้ฯ ในปัจจุบันสลับกันไปมาในแต่ละปีอยู่ 17 จังหวัด ส่วน จ.อุบลราชธานี เป็นจังหวัดเดียวที่ไม่ได้รับการเหลียวแลและไม่มีแผนที่จะเข้าไปดำเนินการ

ผมพยายามถามผู้บังคับบัญชาและผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคนในวงการทุ่นระเบิด ก็ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้อย่างชัดเจน 

"บ้างก็ว่าเป็นพื้นที่กันชนระหว่างไทย ลาวและกัมพูชา จึงไม่อยากเก็บกู้ระเบิดออก เอาไว้เป็นเครื่องกีดขวางป้องกันตามแนวชายแดน"

"บ้างก็ว่าเอาทุ่นระเบิดไว้ป้องกันทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่จากพวกลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและล่าสัตว์"

"บ้างก็ว่านายทุนและนักการเมืองไม่ยอมให้เข้าไป เกรงว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปรู้ความลับเรื่องการทำผิดกฏหมายและอิทธิพลเถื่อนตามแนวชายแดนฯลฯ"

จนบัดนี้ ผมก็ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงเลยว่า 
"เหตุผลที่ไม่กวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี มันคืออะไรแน่"

ทำความสะอาด..อุบลราชธานี
Cleanup  Ubonratchathani
อยู่ๆ เมื่อกลางเดือน พ.ค.2556 ทางองค์กรพัฒนาเอกชนชื่อว่า Anti-Personnel Landmines Detection Product Development :  APOPO  และมูลนิธิถนนเพื่อสันติภาพ (Peace Road Organization : PRO) ได้ขออนุญาตจากกองบัญชาการกองทัพไทย เข้าปฏิบัติการสำรวจพื้นที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิด ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานีด้วยวิธีการสำรวจที่ไม่่ใช่ทางเทคนิค ในพื้นที่ อ.นาจะหลวย และ อ.บุณฑริก จ..อุบลราชธานี  ซึ่งได้รับการอนุญาต และขณะเดียวกันหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) ก็เปลี่ยนแผนการปฏิบัติงานประจำปีเข้าไปกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี เช่นกัน 


นายตรีภพ ตรีมรรคา ผู้จัดการภาคสนาม APOPO-PRO
ชี้แจงการเข้าสำรวจพื้นที่สนามทุ่นระเบิด
ในที่ประชุมประจำเดือนของ อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี
วันที่ 4 มิ.ย.2556
เหตุการณ์นี้  ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการที่มีการเข้าปฏิบัติการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดอย่างเป็นจริงเป็นจังใน จ.อุบลราชธานี

ผมรู้สึกดีใจที่มีการเริ่มปฏิบัติการด้านการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดใน จ.อุบลราชธานี เสียที หลังจากที่สงสัยมานาน แต่ก็ยังไม่คลายสงสัยอยู่ดี ว่าการเข้าปฏิบัติงานใน จ.อุบลฯ ครั้งนี้เป็นไปอย่างกระทันหัน และก็ไม่รู้ว่าการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดใน จ.อุบลฯ นี้ จะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน 


ได้มีโอกาสสนทนาบอกเล่า
ถึงสถานการณ์พื้นที่ทุ่นระเบิดใน จ.อุบลราชธานี
กับนายปัญญา จินตะเวช ส.ส.อุบลราชธานี เขต 9 

ไม่มีหลักประกันได้ว่า พื้นที่ 131.62 ตารางกิโลเมตร ของ จ.อุบลราชธานี จะถูกกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้หมดเมื่อใด....หากวันหนึ่งข้างหน้า  APOPO-PRO ไม่มีเงินจากต่างชาติมาช่วยเหลือบริจาคให้ทำงานต่อ และกองบัญชากองทัพไทยไร้ซึ่งนโยบายโดยต่อเนื่อง... 

แต่สิ่งที่ผมกลัวที่สุดว่างานด้านกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดใน จ.อุบลฯ จะหยุดและสะดุดลง ก็เพราะนายทุน ข้าราชการ นักการเมือง และผู้มีอิทธิพล ที่เป็นเหลือบหากินอยู่กับสิ่งผิดกฏหมายตามแนวชายแดนของ จ.อุบลฯ จะเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้งานนี้..จบลง..

***************************************
ชาติชยา  ศึกษิต : 11 มิ.ย.2556