9 ธันวาคม 2557

แผ่นดินของใคร


ผมเดินไปไม่มีกี่ก้าว  รอบตัวผมเต็มไปด้วยทหารกัมพูชา  ผมไม่เข้าใจว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในแผ่นดินของเรา


เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2557 หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 1 (นปท.1) ได้จัดกำลังเข้าปฏฺิบัติการค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดนในเขตพื้นที่ จ.สระแก้ว บริเวณ บ.หนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง ขนาดพื้นที่ 150,000 ตร.ม. พบแนวทุ่นระเบิด PMN จำนวนมากกว่า 100 ทุ่น ซึ่งเป็นการค้นหาและแกะรอยเบื้องต้นเท่านั้น แต่จำเป็นต้องหยุดปฏิบัติงาน เพราะทหารกัมพูชาที่อยู่ฝั่งตรงข้ามถืออาวุธเข้ามาแล้วสั่งให้ นปท.1 หยุดทำงาน ทั้งๆ ที่ตรงนั้นคือแผ่นดินไทย

แนวทุ่นระเบิด PMN ที่วางไว้ในเขตแผ่นดินไทย

เมื่อทราบข่าวจากเพื่อนพี่น้อง HDO : นปท.1  ว่ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น  ผมและคณะ จึงพยายามหาโอกาสเดินทางไปยังพื้นที่ในทันทีที่ทำได้   ผมเดินทางไปถึงพื้นที่ บ.หนองจาน ในบ่ายวันที่ 2 ธ.ค.2557 (ก่อนที่จะไปบรรยายต่อที่ จ.สุรินทร์ ในวันที่ 3 ธ.ค.2557)  ที่นั้นผมได้พบกับเพื่อนพี่น้อง HDO นปท.1 เกือบทุกคน และที่แปลกใจคือชาวบ้านอีกกว่า 10 คน มารอพบผมเพื่อร้องเรียนปัญหาเรื่องที่ทำกิน  

ทำไร่ทำนามาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย
ชาววบ้านร้องเรียนว่า พื้นที่ที่เคยมีทุ่นระเบิดนี้ เคยเป็นที่ทำไร่ทำนามาตั้งแต่สมัยครั้งปู่ย่าตายาย มีเอกสารหลักฐานพร้อมซึ่งออกโดยทางราชการ พอมีสงครามระหว่างเวียดนามกับเขมรแดงก็หยุดทำ แต่พอสงครามเลิก "ทหารเขมรก็อ้างว่าเป็นพื้นที่ของเขา ห้ามเข้าไปทำกิน"  ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงมาร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากเรา

ชาวบ้านเจ้าของที่ดินมารอร้องเรียนกับผมเรื่องทหารกัมพูชา ไม่ให้เข้าไปทำกิน


ซึ่งพื้นที่ บ.หนองจาน ที่ นปท.1 กำลังเก็บกู้ทุ่นระเบิดอยู่นี้  หากเป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ชาวบ้านก็สามารถเข้าไปทำมาหากินได้ แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น ทหารกัมพูชามาสั่งให้พวกเราหยุดทำ เขาเหล่านั้นบอกว่า "แนวลวดหนาม คือแนวเขตแดนของกัมพูชา" ห้ามล้ำแดนเข้าไปเด็ดขาด



แนวลวดหนามแห่งความอัปยศ    
สมัยก่อนครั้งปู่ยาตายายที่ทำไร่ทำนากันได้ เพราะชาวบ้านไทย-เขมร ในพื้นที่นั้นล้วนเกี่ยวข้องดองกัน รู้กันดีว่า ตรงไหนคือเขตเขมร ตรงไหนคือเขตไทย  พอต่อมาหลังจากการสู้รบของเขมรแดงและเวียดนาม ทางกองกำลังบูรพาจึงสั่งให้มีการขึงแนวรั้วลวดหนาม 5 เส้น เสาทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาวจากไหนถึงไหนไม่ทราบได้ โดยขึงเรียบตามแนวชายแดน (แต่ไม่ติดแนวชายแดน) โดยขึงแนวลวดหนามถัดต่อลงมาจากถนนคึกฤทธิ์ (ถนนศรีเพ็ญในปัจจุบัน) จากคำบอกเล่าของชาวบ้านบอกว่าสร้างไว้ประมาณปี พ.ศ.2530-2531 ก่อนที่จะมีการลาดยางถนนศรีเพ็ญ

ผมไม่ทราบว่าวัตถุประสงค์การสร้างแนวลวดหนาม 5 เส้น ว่าสร้างไว้เพื่ออะไร สร้างไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เขมรแดงเข้ามารุกรานราษฎรไทย หรือ ป้องกันไม่ให้ราษฎรไทย ออกไปทำมาหากินในที่ดินของตัวเอง 

แต่ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือ

ทหารกัมพูชาใช้อ้างสิทธิ์ว่า แนวหลวดหนามนี้แหละคือ เส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา   

ซากเสารั้วลวดหนามสูง 5 เส้น ซึ่งหักพังหมดแล้ว
ส่วนลวดหนามถูกขโมยไปขายตั้งแต่เริ่มสร้าง

ข้ามแนวลวดหนามไม่ได้ 

รู้หรือไม่รู้
ปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิ์เหล่านี้ ตลอดแนวชายแดน จ.สระแก้ว มีจำนวนมาก  ถามว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองเรารู้หรือไม่ ผมว่ารู้ แต่ไม่ยอมทำอะไรกันมากกว่า อ้างแต่เรื่องหน้าตาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปล่อยให้ทหารตัวเล็กตัวน้อยของทั้งสองประเทศแก้ไขกันเอง แต่ทหารตัวน้อยของกัมพูชาเขาแน่กว่า ถือปืนออกมาขับไล่ทหารไทยและราษฎรไทย ให้ออกจากแผ่นดินไทยได้

ทหารไทยก็ได้แต่รายงาน รอผู้ใหญ่สั่ง
คงรอไปเถอะ รอจนกระทั่งวันหนึ่ง กัมพูชาจะบอกว่า
แนวถนนศรีเพ็ญ คือแนวแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา

ผมว่าเรื่องนี้ ต้องเอาจริงเอาจังกันแล้ว ทะเลาะกันตั้งแต่เริ่มแรกเสียดีกว่า จะมาทะเลาะกันภายหลัง ผมไม่อยากเดินในแผ่นดินไทย แต่มีทหารเขมรมาคอยขับไล่ผม...ได้โปรดเถอะครับ   


ขบวนทหารกัมพูชาเดินตามผม
**********************************
ชาติชยา ศึกษิต : 9 ธ.ค.2557



1 ตุลาคม 2557

SMART TMAC (นายเท่ ทีแม็ค)


ผมเขียนบทความนี้ ในวันที่ 1 ต.ค.2557 ซึ่งเป็นวันแรกในการเริ่มต้นปฏิบัติงานในศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ในปีงบประมาณ 2558 และนับเป็นปีที่ 3 ของผมที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ TMAC นี้อีก 1 ปี  


ผมได้อ่านประกาศของกองบัญชาการกองทัพไทย เรื่อง สมรรถหลัก (Core Competency) ของกองบัญชาการกองทัพไทย  ซึ่งพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2557 เรื่องกำหนดสมรรถนะหลักให้กำลังพลยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน โดยใช้คำย่อว่า SMART ประกอบด้วย 5 ด้าน ดังนี้
  1. S (Sacrifice) : เสียสละ หมายถึง ทุ่มเททำงานให้บรรลุผลสำเร็จอย่างเต็มกำลังความสามารถ  พร้อมและเต็มใจที่จะสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากไม่ว่าภารกิจนั้นจะเป็นสิ่งที่ยาก เสี่ยงอันตราย หรือไม่มีผลประโยชน์ตอบแทน
  2. M (Moral) : มีคุณธรรม หมายถึง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ซื่อตรงต่อหน้าที่ มีสัจจะรักษาคำพูด ไว้วางใจได้ ประพฤติปฏฺบัติตนอยู่ในกรอบของกฏ ระเบียบ แบบธรรมเนียม และจรรยาบรรณของการเป็นทหารอาชีพ มุ่งมั่นรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมทั้งกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง
  3. A (Accountability) : ดำรงความถูกต้องพร้อมรับผิด หมายถึง มุ่งมั่นรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการให้มีความถูกต้องตามระเบียบแบบแผนและหลักการด้วยความโปร่งใส โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการ และพร้อมรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ และการตัดสินใจของตนเองทั้งทางบวกและทางลบ พร้อมและยินดีให้ตรวจสอบการกระทำหรือผลงานของตนเอง
  4. R (Result oriented) : มุ่งมั่นในผลสัมฤทธิ์ หมายถึง เข้าใจถึงเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงาน พร้อมมุ่งมั่นปฏิบัติราชการให้เกิดผลสำเร็จอย่างดีที่สุด โดยพยายามพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถเพื่อสร้างสรรค์พัฒนากระบวนการทำงานให้ผลงานบรรลุผลสำเร็จยิ่งกว่าเป้าหมายหรือมาตรฐานที่กำหนด
  5. T (Teamwork) : ร่วมคิดทำงานเป็นทีม หมายถึง ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยปฏิบัติตนได้สอดคล้องตามบทบาทหน้าที่ของการเป็นสมาชิกที่ดีของทีม ยอมรับฟังความคิดเห็นหรือคำวิจารณ์ และวิธีการทำงานที่หลากหลาย สามารถประสานการทำงานระหว่างสมาชิกในทีมได้เป็นอย่างดี พร้อมมีส่วนร่วมในทีมอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้ผลงานของทีมบรรลุเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน
"SMART" ที่ท่านพลเอก ธนะศักดิ์ฯ ได้ให้แนวทางไว้ตามที่กล่าวมา ในความเห็นส่วนตัวแล้วเป็นสิ่งที่ดีมาก หากกำลังพลในกองบัญชาการกองทัพไทยได้พยามยามพัฒนาตนเองให้เป็นไปตามสมรรถนะหลักได้แล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมากมายมหาศาล แต่ตอนนี้ ท่านฯ เกษียณไปแล้ว คำว่า "SMART" จึงไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง แม้แต่ใน TMAC นี้เองก็ตาม  กำลังพลคงเฝ้ารอแต่นโยบายของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ท่านใหม่ ว่าจะมีแนวทางออกมาอย่างไร....

ปัจจุบันมีการนำคำว่า "SMART" มาใช้กันอย่างแพร่หลาย  เช่น Smart Police, Smart Phone, Smart Mobile, Smart TV, Smart Office เป็นต้น ผมมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับกำลังพลของกองบัญชาการทหารสูงสุดที่มาช่วยราชการใน TMAC นี้เกือบ 3 ปีแล้ว รู้สึกว่า "หลายคนไม่มี คำว่า SMART ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเลย ตกทุกสมรรถนะ" ด้วยเหตุนี้กระมัง ที่ท่านพลเอกธนะศักดิ์ฯ จึงต้องออกประกาศไว้ให้กำลังพลทุกคนพยายามทำ ก่อนที่ท่านจะเกษียณ


SMART TMAC (นายเท่ ทีแม็ค)
กำลังพลที่ปฏิบัติงานใน TMAC ปีงบประมาณ 2558 นี้ ส่วนใหญ่เป็นกำลังพลเดิมจากปีที่แล้ว มันทำให้ผมรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ "หลายคนที่ไม่ควรอยู่กลับได้อยู่ หลายคนที่ควรอยู่ กลับไม่ได้อยู่" ที่ผมกล้าพูดอย่างนี้ก็เพราะผมเห็นได้ชัดจากความประพฤติและผลการปฏิบัติงานในปีที่ผ่านมา 

"ปีที่แล้ว เรามีเรือ 50 ฝีพาย แต่คนในเรือเอาเท้าราน้ำไปเสียครึ่ง พวกเราฝีพายกล้า..เหนื่อยมาก กว่าเรือของเราจะไปถึงจุดหมายปลายทาง และในปีนี้ก็เช่นกัน คนที่เอาเท้าราน้ำเหล่านั้น ก็ยังคงอยู่ ฝีพายที่เหลือเดิมๆ ก็คงต้องเหนื่อยกันมากขึ้นอีก  ถึงจะพาเรือลำนี้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้อีกครั้ง" 

เอาละ หากเรายังมีคนเดิมที่เอาเท้าราน้ำอยู่ เราก็ควรพยายามพูดคุยกับเขา ให้เขาเลิกเอาเท้าราน้ำ หันมาช่วยกันพายเรือให้ได้ ผมอยากให้ทุกคนมีความเป็น "SMART TMAC" สมาร์ทของผมนี้ไม่มีคำย่อภาษาอังกฤษใดๆ แต่เป็นภาษาไทยตรงๆ เลย คือ เท่ หล่อ หรืออาจเรียกได้ว่า "นายเท่ ทีแม็ค" 

คุณลักษณะพึงประสงค์ของนายเท่ ทีแม็ค (SMART TMAC) 
ผมอยากให้กำลังพลใน TMAC มีคุณลักษณะพึงประสงค์ ใน 3 ด้าน ดังนี้
  1. ทุกคนต้องมีความรู้ (Knowledge) หมายถึง ทุกคนที่ปฏิบัติงานใน TMAC ต้องมีความรู้เรื่องการปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมในประเทศไทย รู้ว่าใครทำอะไร ที่ไหน แล้วทำกันอย่างไร ทุกคนต้องรู้ว่าตนเองเป็นฟันเฟืองตัวไหน มีหน้าที่อะไร ที่จะช่วยหมุนปั่นขับเคลื่อนการปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย   
  2. ทุกคนต้องมีความเป็นมืออาชีพ (Professional) หมายถึง ทุกคนต้องพร้อมปฏิบัติงานได้หนักกว่ากำลังพลทั่วไป 2 เท่า มีความสามารถในการแก้ปัญหาเร็วกว่ากำลังพลทั่วไป 2 เท่า และมีผลงานมากกว่ากำลังพลทั่วไป 2 เท่า อย่างนี้เขาถึงจะเรียกว่าเป็นมืออาชีพ (สามยกกำลังสอง) 
  3. ทุกคนต้องมีความภูมิใจในองค์กร (Pround) หมายถึง ทุกคนควรศึกษาประวัติที่ผ่านมาขององค์กรว่า คนทำงานในอดีตเขาทำงานอะไรกันบ้าง เขาต้องเหนื่อยยากและเสี่ยงอันตรายอย่างไร ผลงานที่ยิ่งใหญ่ในอดีตของ TMAC มีอะไรบ้าง พยายามค้นหาเรื่องราวย้อนกลับไป หากเป็นเช่นนี้ได้ ทุกคนก็จะเกิดความภูมิใจในองค์กร เมื่อทุกคนเกิดความภูมิใจ ก็จะก่อให้เกิดความรักความสามัคคี และเกิดความหวงแหนในชื่อเสียงขององค์กร หันมาตั้งใจทำงานเพื่อรักษาชื่อเสียงขององค์กรต่อไป   
ทุกคนที่มาปฏฺิบัติงานใน TMAC ควรมีลักษณะพึงประสงค์เช่นนี้  ผืนธงชาติไทยและอาร์มของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ที่ติดอยู่บนไหล่เธอทั้งสองข้าง จึงจะมีคุณค่าเพียงพอสำหรับเธอ อย่ามาเป็นเหลือบเกาะกิน TMAC เพื่อรับสิทธิแค่วันทวีคูณและรับค่าเลี้ยงดูไปวันๆ มันเป็นการเอาเปรียบกำลังพลอื่นๆ ที่เขาไม่มีโอกาส  

ไม่ว่าเธอจะถูกเลือกมา หรือเธอวิ่งเต้นมา
เมื่อเธอมาอยู่ตรงนี้ อย่าทำตัวเป็น "ผีเน่า โลงผุ"
กินเงินของแผ่นดิน และประชาชน ไปวันๆ หนึ่ง
เธอจงเปลี่ยนสันดาน เอาอุดมการณ์มาใส่ตัวเอง
****************************************
ชาติชยา ศึกษิต : 1 ก.ย.2557

22 กันยายน 2557

12 วันสามพันห้าร้อยกิโลเมตร จากเหนือสู่ปลายแหลมตะวันออก


การเดินทางครั้งสุดท้ายของพวกเราก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2557 นี้ ผมรู้สึกว่ามันตรากตรำและเหนื่อยล้าพอสมควร ผมรู้สึกหมดเรี่ยวหมดแรงโดยไม่รู้ตัว   


12 วันสามพันห้าร้อยกิโลเมตร จากเหนือสู่ปลายแหลมตะวันออก


คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลพพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด (QC/QA Team) ของเราออกเดินทางจากศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ(TMAC) ดอนเมือง ในเช้าวันจันทร์ที่ 8 ก.ย.2557 โดยมีจุดหมายปลายทางคือ ชมพูภูคารีสอร์ท ที่พักแรม ณ อ.ปัว จ.น่าน กว่าจะถึงก็พลบค่ำพอดี 

เช้าวันรุ่งขึ้นพวกเราเดินทางเข้าตรวจสอบและประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดของหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 4 (นปท.4) บริเวณ บ.ห้วยแกลบ ต.ชนแดน อ.สองแคว จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่สุดท้ายของปีงบประมาณ 2557 วันนั้นพวกเราเดินกันบนภูเขากันเกือบค่อนวัน ต่อจากนั้นช่วงบ่ายก็เดินทางต่อไปเยี่ยมผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดจำนวน 1 คน คือ นางหลอม กันทะ อายุ 68 ปี อยู่ บ.สะเกิน ต.ยอด อ.สองแคว จ.น่าน 

ที่น่าน พวกเราเดินภูเขาเกือบค่อนวัน
ชีวิตคุณแม่หลอม กันทะ น่าเศร้ายิ่งกว่าละคร

เหยียบทุ่นระเบิดขาขาด ผัวทิ้ง ลูกตาย
ชีวิตคุณแม่หลอม กันทะ น่าเศร้านัก เป็นชีวิตที่โดดเดี่ยวเดียวดาย หลังเหยียบทุ่นระเบิดขาขาดทั้งสองข้าง ผัวก็ทิ้งแกไปตั้งแต่ลูก 2 คนยังเล็ก  แกเฝ้าเลี้ยงดูลูกสาวลูกชายแต่เพียงลำพัง วิบากกรรมไม่จบสิ้น ไม่นานลูกชายและลูกสาวทั้งสองคนก็มาจากแกไปอีกตั้งแต่อายุยังน้อย ทิ้งให้แกผจญอยู่ในโลกของความเงียบเหงา แกเล่าให้ฟังว่า ตอนลูกชายตาย แกต้องขายนาผืนสุดท้ายที่มีอยู่ 4 ไร่ มาทำศพให้ลูกชายซึ่งแกรักมาก แม้จนวันนี้..แกไม่มีที่ดินทำกินแม้สักผืนเดียว บ้านที่อยู่หลังนี้ ทางราชการก็สร้างให้ตามโครงการอยู่ดีมีสุข ยังดีที่แกมีลูกเก็บ (ลูกเลี้ยง) อยู่คนหนึ่ง ซึ่งส่งเงินให้แกใช้บ้าง แต่ก็ไม่แน่ไม่นอน เพราะมีอาชีพรับจ้างเหมือนกัน บางทีปีหนึ่งก็มาเยี่ยมแกสักครั้ง แต่บางปีก็ไม่มาเลย 

ความที่มีร่างกายพิการผสมกับความหว้าเหว่เงียบเหงาจากการสูญเสียสิ่งที่แสนรัก ทำให้บางครั้งขณะที่ผมสนทนากับแก ผมแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ลำคอตีบตันเสียงผมสั่นเครือ ด้วยความสงสารและสมเพชเวทนาในชะตาชีวิตของแก  

วันนั้น..พวกเราช่วยกันเรี่ยไรเงินคนละเล็กละน้อยได้ 3,000 บาท มอบให้แกไว้ประทังชีวิต แกขอบอกขอบใจให้ศีลให้พรพวกเรา..ท่ามกลางหยาดน้ำตาของแก... (ดูภาพ)

มุ่งสู่อิสานใต้
เช้าวันพุธที่ 10 ก.ย.2557 พวกเราออกเดินทางต่อลงมาทางภาคอิสานตอนใต้ จุดมุ่งหมายคือ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อฝึกอบรมการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมให้แก่คณะผู้แทนจากประเทศเมียนมาร์ จำนวน 10 คน ในวันทีี 12-14 ก.ย.2557

2 วันเต็มจากน่านสู่ศรีสะเกษ
พวกเราลัดเลาะผ่าน ตัวเมืองน่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ มาค้างคืนที่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ในวันแรก เอาแค่นี้พอครับเพราะพวกเราไม่อยากเดินทางกลางคืนมันอันตราย รวมการเดินทางในวันนี้เกือบ 700 กม.

เช้าวันต่อมา คณะเราออกเดินทางแต่เช้าจากชุมแพ ลงมาตัวเมืองขอนแก่น ผ่านร้อยเอ็ด มหาสารคาม ถึงจุดหมายปลายทาง คือ สวัสดีรีสอร์ท อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ก็พลบค่ำของวันพฤหัสบดีที่ 11 ก.ย.2557 พอดี

มิงกะลาบา คำยา (ภาษาพม่า แปลว่า สวัสดีครับ)

คณะของเรากับหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) ได้ร่วมกันฝึกอบรมการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมให้แก่คณะผู้แทนจากประเทศเมียนมาร์ โดยผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการฝึก การฝึกประกอบด้วย การบรรยายการปรับลดพื้นที่ด้วยวิธี Land release การใช้ GPS ในการค้นหาและทำเครื่องหมายหมุดหลักฐานต่างๆ การเจาะช่อง การแกะรอยทุ่นระเบิด การทำลายทุ่นระเบิด การสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นยังพาคณะผู้แทนจากเมียนมาร์ไปทัศนศึกษาบริเวณผามออีแดง และเขาพระวิหารอีกด้วย (ดูภาพ1, ดูภาพ2, ดูภาพ3, ดูภาพ4, ดูภาพ5, ดูภาพ6)


ฝึกอบบรมให้ผู้แทนจากประเทศเมียนมาร์ (ผ่านล่าม)








ปิดการอบรมรับประกาศนียบัตร

จากศรีสะเกษ สู่ ตราด..ปลายแหลมตะวันออก
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการฝึกให้ผู้แทนเมียนมาร์แล้ว เช้าวันจันทร์ที่ 15 ก.ย.2557 พวกเราออกเดินทางจากศรีสะเกษ ผ่าน จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี ถึงที่พักโรงแรมตราดเซ็นเตอร์ก็เกือบค่ำ รวมระยะทางวันนี้ กว่า 500 กิโลเมตร

หาที่ซักผ้า

เจ็ดวันมาแล้ว พวกเรายังไม่ได้ซักผ้าสักชิ้น เพราะหาที่ซักไม่ได้ โดยเฉพาะชุดปฏิบัติงาน QC ของพวกเรา ซึ่งมีเพียงชุดเดียว (ได้รับแจกแค่นี้ครับ)  พวกเราแลดูสกปรกมอมแมมมาก  ที่โรงแรมตราดนี้ก็มีบริการซักผ้า แต่ต้องส่งซักตั้งแต่เช้า แต่ตอนนี้ค่ำแล้ว...ไม่ทัน  ทนใส่หน่อยนะ    


ป่าเมืองตราด
วันที่ 16-18 ก.ย.2557 คณะของเราทำการตรวจสอบและประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดของหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 2 (นปท.2)  ในพื้นที่ จ.ตราด จำนวน 3 วันเต็ม ที่นี่ขึ้นชื่อว่า "เมืองฝนแปดแดดสี่" และตอนนี้เป็นฤดูฝนพอดี พวกเราจึงต้องผจญกับน้ำฝนและน้ำป่าตลอดทั้งวัน  เสื้อผ้ารองเท้าไม่เคยแห้ง เจ้าทากตัวน้อยที่คอยดูดเลือดก็มากมายเหลือเกิน ทุกวันพอกลับมาถึงโรงแรมต้องรีบนำเสื้อผ้ารองเท้าตากพัดลมแอร์เพื่อเตรียมสวมใส่ในวันรุ่งขึ้น

เสื้อผ้าชุด QC พวกเราสกปรกมอมแมมและเหม็นมาก...เลอะเทอะเปอะเปลื้อนไปด้วยดินโคลน จนแขกที่มาพักโรงแรมมองพวกเราแปลกๆ และในที่สุดผมก็ไม่ได้ซักเสื้อผ้าสักชิ้นเลย 

จนกระทั่งเช้าวันศุกร์ที่ 19 ก.ย.2557 เสร็จภารกิจพวกเราจึงเดินทางกลับสู่ TMAC






เจ้าทากตัวน้อยที่คอยดูดเลือดก็มากมายเหลือเกิน


การเดินทางเพื่อปฏิบัติงานห้วงสุดท้ายก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2557 (30 ก.ย.2557) ครั้งนี้ รวม 12 วัน ระยะทางในการเดินทางจากกรุงเทพ-น่าน-ศรีสะเกษ-ตราด-กรุงเทพฯ รวมแล้วกว่าสามพันห้าร้อยกิโลเมตร  ถึงแม้พวกเราจะเหนื่อย แต่ผมรู้ว่ามีคนเหนื่อยกว่าเรามากมายนัก ก็คือเพื่อนพี่น้องคนหาระเบิดแห่ง นปท.ทุกคน ในการทำงานแต่ละพื้นที่ พวกเขาต้องบุกป่า ฝ่าดง ฝ่าน้ำ ฝ่าฝน ค้นหาระเบิดกันอยู่เป็นแรมเดือน พวกเราเพียงแค่เดินไปตรวจไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ยังเหนื่อยถึงเพียงนี้ 

ขอคารวะพี่น้อง นปท.ทุกคนด้วยใจจริงครับ

***********************************   
ชาติชยา ศึกษิต : 23 ก.ย.2557

15 กันยายน 2557

สามเหลี่ยมมรกต (The Emerald Triangle)


น้ำสีเขียวเข้มดุจดั่งสีของมรกตในอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนบน ผนวกกับป่าไม้ที่ยังคงความเขียวขจีอุดมสมบูรณ์ ในพื้นที่ กว่า 12 ตร.กม.ระหว่างรอยต่อของประเทศไทย ลาวและกัมพูชา จึงเป็นที่มาของนามว่า "สามเหลี่ยมมรกต" (The Emerald Triangle)


บนเนิน 500 ด้านหลังคือบริเวณสามเหลี่ยมมรกต

สามเหลี่ยมมรกต หรือช่องบก ตั้งอยู่ที่ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เป็นพื้นที่ที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง 3 ชาติ คือ ไทย สปป.ลาว และกัมพูชา พื้นที่ส่วนที่อยู่ในประเทศไทย คือ เขตอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี พื้นที่ในเขตประเทศลาว คือ แขวงจำปาสัก ส่วนพื้นที่ในประเทศกัมพูชา คือ จ.พระวิหาร

เมื่อวันอังคารที่ 2 ก.ย.2557 ผมและทีมงาน ได้ไปปฏิบัติงานการตรวจสอบและประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด บริเวณ บ.แปดอุ้ม ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี หลังจากเสร็จภารกิจแล้ว ท่านนายก อบต.โดมประดิษฐ์ ได้ขอร้องให้ผมเดินทางไปกับท่าน เพื่อชมพื้นที่บริเวณ เนิน 500 และพื้นที่สามเหลี่ยมมรกต ท่านบอกว่ามีเรื่องที่จะขอร้องให้ผมช่วย ผมตอบว่า "ยินดีครับ..ถ้าผมช่วยได้"

ผมต้องนั่งรถขับเคลื่อน 4 ล้อของ อบต. โดมประดิษฐ์ ไปยังเนิน 500 เนื่องสภาพเส้นทางค่อนข้างยำ่แย่เอาการเลยทีเดียว และยิ่งเป็นฤดูุฝนด้วยแล้ว รถตู้ของเราหมดสิทธิ์




เส้นทางขึ้นสู่เนิน 500 สภาพหนักหนาสาหัสเอาการ
ต้องรถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น

วีรกรรมทหารกล้าที่กำลังถูกลืม
หลายคนคงเคยได้ยินการรบที่ช่องบก หรือสมรภูมิรบช่องบก ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2528- ธันวาคม 2530 เป็นสงครามระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพเวียดนาม โดยกองทัพเวียดนามได้เข้ามายึดภูมิประเทศทางทหารที่สำคัญในดินแดนไทย เช่น เนิน 500 เนิน 408  เนิน 382 เนิน 496 และเนิน 495 เพื่อทำการผลักดันกองกำลังเขมรแดง การรบในครั้งนั้น ทหารไทยผู้กล้าต้องพลีชีพเพื่อปกป้กป้องแผ่นดินเอาไว้ถึง 109 คน บาดเจ็บอีก 664 นาย ส่วนทหารเวียดนาม และเขมรแดง ก็สูญเสียเป็นจำนวนมากเช่นกัน เล่ากันว่ารวมกันแล้ว ทั้งทหารไทย เวียดนาม และเขมรแดง เสียชีวิตที่สมรภูมิแห่งนี้ ไม่ตำกว่า 1,000 คน



เนิน 500 เป็นเนินสำคัญที่สุด ใครยึดได้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การรบชนะได้ เพราะสามารถตรวจการและชี้เป้าการยิงปืนใหญ่ได้ดีที่สุด บนเนิน 500 นี้ เต็มไปด้วยร่องรอยของการสู้รบสมัยนั้น เช่น บังเกอร์ หลุมบุคคล คูเลต ลูก ค. อาร์พีจี กระสุนปืนใหญ่ กระสุนปืนเล็ก ลูกระเบิดขว้าง เป็นต้น 





ภาพ UXO ที่มองเห็นเกลื่อนกลาดบนเนิน 500
ท่านรองนายก อบต.โดมประดิษฐ์ เล่าให้ฟังว่า ในทุกๆ ปี ช่วงหลังปีใหม่ ญาติของทหารผู้เสียชีวิตจะขึ้นมาทำบุญอุทิศส่วนกุศล รวมนักท่องเที่ยวด้วยแล้ว ปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ท่ามกลางพื้นที่ที่ยังเต็มไปด้วยทุ่นระเบิด และสรรพวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (UXO)  ผมเห็นพื้นที่เนิน 500 แล้ว รู้สึกสังเวชใจ มีร่องรอยของความพยายามที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์การสู้รบและพิพิธภัณฑ์สงคราม แต่ไม่สำเร็จ

เนิน 500 ยังคงเป็นแค่เนินแห่งความสูญเสียของวีรชนที่ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง 
มีแค่เพียงญาติผู้สูญเสียเท่านั้นที่ยังคงจดจำและรำลึกถึง

บริเวณหน้าฐานอนุพงศ์


อนุสรณ์วีรกรรม จ.ส.อ.สมชาย แก้วประดิษฐ์ บนยอดเนิน 500
เขาน่าจะถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นอนุสรณ์ของความเสียสละของทหารกล้า และเพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ ดังเช่น ห้วยโกร๋น หรือเขาค้อ เป็นต้น

อยากให้กู้ระเบิด
ที่เนิน 500 และพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมมรกตแห่งนี้ ในฐานข้อมูลของศูนย์ปฎิบัติการแห่งชาติ (TMAC) ระบุว่ายังคงเป็นพื้นที่อันตรายที่ได้รับยืนยันว่ามีทุ่นระเบิดอยู่ ยังไม่เคยมีการเข้าไปค้นหาเก็บกู้ทำลาย เพื่อทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยเลย ด้วยเหตุนี้ ท่านนายก อบต.โดมประดิษฐ์ จึงตั้งใจพาผมไปดู เพื่อขอร้องให้ TMAC ได้ช่วยเข้าไปดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อให้เป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต เพราะทุกวันนี้ ไม่มีใครกล้าเข้าไป

ศาลารวมใจ
ศาลารวมใจหรือศาลาตรีมุข เป็นศาลาที่ชาวไทย ลาว และกัมพูชา ได้ร่วมกันสร้างขึ้น ณ จุดกึ่งกลางสามเหลี่ยมมรกต เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ มิตรภาพ และเพื่อการเชื่อมโยงไปสู่ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในอนาคต สภาพศาลาในปัจจุบันถูกทิ้งให้ชำรุดทรุดโทรม ขาดการดูแล นายก อบต.ฯ เล่าให้ฟังว่า ชาวไทย ลาว และกัมพูชา จะนัดกันมากินข้าวร่วมกันที่ศาลาแห่งนี้เดือนละ 1 ครั้ง แต่พอมี คสช. ก็เลิกไปเพราะเขาห้ามชาวไทย ส่วนชาวลาวและกัมพูชาก็มารอเก้อไป..


ภาพศาลารวมใจหรือศาลาตรีมุข
ที่ชำรุดทรุดโทรม ขาดการดูแล
ถ่ายภาพร่วมกันกับนายก อบต.โดมประดิษฐ์ รองนายก อบต.ฯ
และทหารกัมพูชาและลาว (ผู้ชายแต่งชุดพลเรือน) ที่ศาลารวมใจ

ความฝันร่วมกัน 3 ชาติ
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับองค์กรการท่องเที่ยวโลก (WTO) ได้ดำเนินการสำรวจสามเหลี่ยมมรกต ความฝันร่วม 3 ชาติ พบว่าการพัฒนาพื้นที่ต้องใช้งบลงทุนมหาศาล เพราะบริเวณนี้ยังเต็มไปด้วยทุ่นระเบิดนับล้านลูก การปักปันเขตแดนที่ยังไม่แล้วเสร็จ โครงการสนามกอล์ฟ 3 ประเทศ รีสอร์ตเชิงนิเวศ ศูนย์วัฒนธรรม 3 ชาติ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์สงครามและการสู้รบ ล้วนต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลทั้งสิ้น และยังเสี่ยงต่อการต่อต้านของกลุ่มอนุรักษ์นิยมอีกด้วย

แต่ก่อนที่จะไปถึงฝัน สิ่งสำคัญตอนนี้ก็คือ "สามเหลี่ยมมรกตต้องปลอดจากทุ่นระเบิด" ดังนั้น TMAC จึงควรสั่งหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เข้าดำเนินการเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดในพื้นที่แห่งนี้เป็นลำดับแรก อย่าปล่อยให้ทุ่นระเบิดกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ อีกต่อไป

บนเนิน 500 ด้านหลังคือสามเหลี่ยมมรกต

ในความเห็นส่วนตัวผมแล่้ว พื้นที่สามเหลี่ยมมรกต (ช่องบก) แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่อีกแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยว และด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถ้าทุกคน ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานของทั้ง 3 ประเทศ หันมาร่วมกันพัฒนาอย่างจริงจังโดยไม่มีวาระอื่นๆ ซ่อนเร้น หากเป็นเช่นนี้แล้ว "ความฝันของ นายก อบต.โดมประดิษฐ์ น่าจะเป็นจริง"

30 สิงหาคม 2557

ย้อนอดีตเนิน 491


แนวชายแดนไทย-พม่า ด่านทัพต้นไทร (เนิน 491)
เป็นชื่อเรียกพื้นที่รอยต่อระหว่างพรมแดนไทยและสหภาพเมียนม่าร์ ตั้งอยู่ในเขต ต.รับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร  สถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของชุมพร โดยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 รัฐบาลทหารพม่าได้นำกำลังเข้าปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงที่ฐานถ้ำดิน โดยทหารพม่ายึดพื้นที่บริเวณรอบเนิน 491 เป็นฐานตั้งยิง  ซึ่งถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศไทย ภายหลังทหารพม่าปราบปรามกะเหรี่ยงได้สำเร็จ ก็ยังมิถอนกำลังออกไปจากเนิน 491 จึงเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ  ต่อมารัฐบาลได้ใช้ยุทธวิธีทางการทูตเจรจาจนกองทหารพม่ายินยอมและถอนกำลังออกไป  เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2535


พื้นที่บริเวณโดยรอบเนิน 491

ความตอนหนึ่งจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2535 ซึ่งได้อัญเชิญไปจารึกไว้ ณ จุดยุทธศาสตร์เนิน 491  ความว่า

"...ที่จริง ถ้าทั้งสองฝ่ายถอย แล้วก็ต่างคนต่างยิงปืนใหญ่ใส่กันบน "สี่เก้าหนึ่ง" นั้นให้เหลือ "สี่เก้าศูนย์" ก็หมดเรื่องไป หมดเรื่องไม่ต้องทำอะไร แต่ใครก็อย่าไปยืนบนนั้น จะเป็นไทยหรือพม่าอย่ายืนบนนั้น เพราะว่าทั้งสองฝ่ายจะยิงปืนใหญ่ใส่ อันนี้เป็นข้อตกลงที่ทำได้แล้วเป็นการดี..."


ปัจจุบันจังหวัดชุมพรกำลังพัฒนาเนิน 491 ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทางประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ของไทย 


เนิน 491 ยังคงต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่
จากผลการสำรวจขององค์กรชาวต่างชาติ เมื่อปี พ.ศ.2543 พบว่าพื้นที่ด้านเหนือและด้านใต้ของเนิน 491 เลาะตามแนวชายแดนนั้น ยังคงมีทุ่นระเบิดและสรรพวุธระเบิดที่ไม่ระเบิด (UXO) ตกค้างอยู่ จากผลพวงของการสู้รับ เมื่อสมัยปี พ.ศ.2535 กินพื้นที่ประมาณเกือบ 7 ตารางกิโลเมตร


พื้นที่สีแดง คือ พื้นที่ต้องสงสัยว่ายังมีทุ่นระเบิดและ UXO ตกค้างอยู่
กินพื้นที่เกือบ 7 ตารางกิโลเมตร
ครั้งแรกที่กลับไป
ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ไม่เคยดำเนินการใดๆ กับพื้นที่เนิน 491 นี้เลย ผมและทีมงานได้รับมอบหมายให้ลงไปสำรวจเป็นครั้งแรก  ในมือมีเพียงแค่เอกสารที่สำรวจไว้เมื่อปี พ.ศ.2543 เท่านั้น 

หลังเสร็จภารกิจ "คืนความบริสุทธิ์" ให้กับ จ.นครศรีธรรมราชแล้ว พวกเราเดินทางกลับขึ้นมาชุมพร และ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ส.ค.2557 ผมและทีมงานได้มีโอกาสเข้าพบท่านรองนายอำเภอท่าแซะ  พร้อมด้วยข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และชาวบ้านที่เกี่ยวข้องอีกหลายท่าน  ผมได้เล่าเรื่องราวดังกล่าวให้ฟัง ซึ่งทุกท่านทราบเรื่องการรบเมื่อปี พ.ศ.2535 เป็นอย่างดี แต่ไม่เคยทราบเลยว่าพื้นที่เนิน 491 นี้ถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลระดับชาติว่า ยังเป็นพื้นที่อันตราย เป็นพื้นที่ที่ต้องสงสัยว่ายังมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ ควรแจ้งเตือนราษฎรไม่ให้เข้าไปใช้พื้นที่ซึ่งอาจเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้


พูดคุยหารือ ณ ที่ว่าการอำเภอท่าแซะ 

ไปไม่ถึงเนิน 491
หลังจากพูดคุยเสร็จ พวกเราได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่จริง ภายใต้การอำนวยความสะดวกและความคุ้มครองของปลัดอำเภอฝ่ายป้องกัน เจ้าหน้าที่ อส. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกำลังตำรวจตระเวนชายแดน ระหว่างทางพวกเราต้องเปลี่ยนไปนั่งรถขับเคลื่อนสี่ล้อที่ผู้ใหญ่บ้านจัดเตรียมไว้ให้ เพราะรถตู้ของเราเข้าไปไม่ได้ การเดินทางสำรวจพื้นที่สิื้นสุดที่ฐาน ต.ช.ด.ชุดเฝ้าระวังชายแดนที่ 4102 พวกเราไม่สามารถเดินทางต่อไปยังเนิน 491 ได้ เพราะสภาพเป็นป่ารกทึบ

หารือข้อมูลพื้นที่ และการแจ้งเตือนให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากทุ่นระเบิด
กับ
 ร.ต.ต.วิรัช ทองเทพ ครูใหญ่ โรงเรียน ตชด.บ้านสันตินิมิตร

เดินทางขึ้นฐาน ตชด.4102

UXO ที่พบระหว่างการปรับปรุงฐานของ ตชด.ฯ

เส้นทางที่จะไปเนิน 491 มีสภาพป่ารกทึบ เพราะเป็นฤดูฝน

วิเคราะห์พื้นที่การสู้รบ
ภาพร่างพื้นที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดบริเวณรอบเนิน 491


วันหนึ่งข้างหน้า เราจะกลับไป
หลังจากที่พวกเราวิเคราะห์พื้นที่การสู้รบเสร็จแล้ว พวกเราได้ร่วมกันเขียนภาพร่างคร่าวๆ ว่าพื้นที่ใดบ้างที่มีความสงสัยว่ายังมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่  ซึ่งส่วนใหญ่ยังสนับสนุนข้อมูลตามผลการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2543 แต่สิ่งที่ผมรู้สึกกังวลมากในขณะนี้คือ 

"ในพื้นที่ที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดแห่งนี้ ไม่เคยมีการติดป้ายแจ้งเตือนอันตรายหรือแสดงเส้นขอบเขตไว้เลยว่าพื้นที่เหล่านี้มีทุ่นระเบิด  ราษฎรไม่ควรเข้าไปใช้พื้นที่อาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้"

มอบป้ายแจ้งเตือนอันตรายจากวัตถุระเบิด
ให้ผู้ใหญ่บ้านและครูใหญ่ รร.ตชด.ฯ ไว้เป็นตัวอย่าง 

ผมได้มอบป้ายแจ้งเตือนอันตรายจากวัตถุระเบิด ซึ่งเหลือมาจากการปฏิบัติงานที่นครศรีธรรมราช เพียง 1 แผ่น ให้ผู้ใหญ่บ้านและครูใหญ่ รร.ตชด. ไว้เพื่อเป็นตัวอย่าง หลังจากผมถึง TMAC แล้ว ผมสัญญาว่าจะส่งมาป้ายมาให้อีกทางพัสดุไปรษณีย์ และหลังจากได้รับป้ายแล้ว วานให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยเป็นธุระติดตั้งให้ด้วย

ก่อนที่พวกเราจะกลับ
ผมรู้สึกได้ว่า...แววตาแห่งความกังวลบางอย่างเกิดขึ้นกับชาวชุมพรที่ร่วมสำรวจกับพวกเรา...
ผมจึงกล่าวว่า "ไม่เป็นไรครับ แล้วผมจะกลับมาอีก"
ผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่งกล่าวเป็นภาษาใต้จับความได้ว่า หากจะกลับมาปฏิบัติงาน ให้มาเดือนมกราคมปีหน้า เพราะฝนหยุดตกแล้ว เขาจะจัดเตรียมที่พักไว้ให้พวกเราทุกคน
ผมยิ้ม...แล้วตอบแบบไม่ค่อยเต็มปากเต็มคำว่า "ครับ.." 

วันหนึ่งข้างหน้า ผมจะกลับไป 
กลับไปเพื่อปลดปล่อยพื้นที่เนิน 491 ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย
แต่ผมไม่รู้ว่า เมื่อใด เท่านั้นเอง




ขอบคุณชาวชุมพรทุกคนที่ร่วมสำรวจกับพวกเรา

*******************
ชาติชยา ศึกษิต : 31 ส.ค.2557