5 มิถุนายน 2557

เสียงพวกเราดังไม่พอ รอเพียงผีเสื้อขยับปีก


ผมมาทำงานที่ศูนย์ปฏิบัติทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ซึ่งอีกไม่กี่วันก็จะครบ 2 ปีแล้ว ผมรู้สึกว่าการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมที่ TMAC รับผิดชอบอยู่นี้เป็นภารกิจที่สำคัญไม่แพ้ภารกิจอื่นใด เพราะมันเกี่ยวข้องกับความไม่ปลอดภัยในชีวิตของราษฎรที่เข้าไปใช้พื้นที่ที่ยังคงมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่จากผลพวงของการสู้รบในสมัยก่อน บางรายเหยียบทุ่นระเบิดถึงขั้นเสียชีวิต บางรายก็ขาขาด แขนขาดกลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิตก็มี



ประเทศไทยเราไปลงนามท่ามกลางประชาคมโลกในอนุสัญญาออตตาวาฯ สาระสำคัญง่ายๆ ก็คือ ประเทศไทยต้องเก็บกู้ทุ่นระเบิดตกค้างเหล่านี้ให้หมดไปจากแผ่นดินไทยนั้นเอง โดยลงนามเริ่มสัญญา พ.ศ.2542 และต้องเก็บทุ่นระเบิดให้หมดสิ้นในปี พ.ศ.2552 จนแล้วจนรอด ประเทศไทยทำไม่เสร็จต้องบากหน้าไปขอต่อสัญญาในที่ประชุม ในที่ประชุมก็อนุญาตให้ต่อสัญญาได้ แต่ต้องเก็บทุ่นระเบิดให้หมดภายในปี พ.ศ.2561 และแนวโน้มขณะนี้ ผมมีความเห็นว่า "ถึงปี 2561 ประเทศไทยก็ไม่มีวันเก็บกู้ทุ่นระเบิดได้หมด เพราะทรัพยากรและงบประมาณที่ได้รับอยู่ในขณะนี้ไม่เพียงพอที่จะทำเช่นนั้นได้ ยังไงๆ ก็คงต้องบากหน้าไปต่อสัญญาอีกเป็นครั้งที่ 2 อย่างแน่แท้ เพียงแต่ประเทศไทยจะหาข้อแก้ตัวอย่างไรให้สมเหตุสมผล"  

Time Line ประเทศไทย

เสียงพวกเรา ดังไม่พอ
ตลอดเกือบ 2 ปีมานี้ ผมเห็นว่า TMAC พยายามจะนำเสนอปัญหาเหล่านี้ให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบได้รับทราบถึงปัญหาว่า "หากงบประมาณและทรัพยากรยังคงเท่าเดิมเช่นนี้ เราไม่มีวันเก็บกู้ทุ่นระเบิดได้เสร็จสิ้นตามอนุสัญญาฯ แน่นอน"  ผู้แทนหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามร่วมมือกันอาทิ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ฯลฯ ปรากฏว่า "เสียงของพวกเรา...ยังดังไม่พอ"




การทำงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทยนี้ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมแห่งชาติ (NMAC) มี รมว.กห.และ ผบ.ทหารสูงสุด เป็นรองประธานฯ คณะกรรมการประกอบด้วยข้าราชการตำแหน่งระดับปลัดกระทรวง อธิบดีกรมและเลขาธิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ได้ทั้งสิ้น แต่จนแล้วจนรอด เราก็ไม่มีโอกาสที่จะเสนอปัญหาให้คณะกรรมการชุดนี้ทราบแต่อย่างใด   

การประชุมระดับคณะกรรมการ NMAC เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนในสมัยนายชวน หลีกภัย, พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร, นายสมชาย วงสวัสดิ์, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เคยมีการประชุมกันเลย 
"รู้สึกเศร้า เสียงพวกเรา..ยังแผ่วเบาเกินไป" 

ผีเสื้อขยับปีก 
(The Butterfly Effect)
การบรรยายของ ศาสตราจารย์ เอ็ดเวิร์ด เลอลอง ในสมาคม Advancement of Science ของอเมริกา ที่ Washington, D.C (พ.ศ.2515) เรื่อง “การกระพือปีกของผีเสื้อในประเทศบราซิลก่อให้เกิดพายุทอนาโดในรัฐเท็กซัสได้ หรือไม่” ก่อให้เกิดเป็น ทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก (The Butterfly Effect) ในความหมายของคนทั่วไปอาจหมายถึง เรื่องเล็กๆ เช่น การที่ผีเสื้อกระพือปีกสามารถก่อให้ เกิดเรื่องใหญ่ๆที่ไม่คาดคิดในระยะทางไกลๆได้ (คล้ายๆ กับ การเด็ดดอกไม้กระเทือนถึงดวงดาว) 

หากพวกเราทุกคนที่เป็นผู้ปฏิบัติงานทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมพร้อมทั้งครอบครัว วงศาคณาญาติ เพื่อนสนิทมิตรสหายที่รายล้อมอยู่รอบตัวเราหรือใครก็ตามที่ได้รับทราบเรื่องราวของพวกเรา หากได้ช่วยกันขยับปีกแล้ว ผมคิดว่าเรื่องราวปัญหาที่กล่าวมานี้ คงจะถึงหูผู้มีอำนาจอย่างแน่นอน 

เราไม่ได้ของบประมาณเพื่อตัวเราเอง  เราไม่อยากขอต่อเวลาออกไปอีก
ไม่เช่นนั้นชีวิตราษฎรไทย ก็ยังคงเสี่ยงภัยอยู่กับทุ่นระเบิดอีกไม่รู้กี่ปี
เราไม่อยากเห็นคนไทยต้องมาเสียชีวิตหรือพิการจากทุ่นระเบิดอีกต่อไป
ทุ่นระเบิดควรหมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทยในปี พ.ศ.2561 ตามสัญญา

******************************************