6 กุมภาพันธ์ 2558

ยุทธการบ้านชำราก กับทุ่นระเบิดที่รอการเก็บกู้



ปีนี้..มีแนวโน้มว่า ผมคงจะได้เกี่ยวข้องกับอนุสรณ์สถานแห่งการสู้รบหลายแห่งแน่ครับ 

หลังจากปลายปีที่แล้ว พวกเราไปเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้ อบต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ที่เนิน 500 สมรภูมิช่องบก สามเหลี่ยมมรกต เพื่อเตรียมการจัดทำอนุสรณ์สถานแห่งการสู้รบ มาต้นปีนี้ ผมก็ได้รับการเชื้อเชิญให้เดินทางไปสำรวจที่ "ยุทธการบ้านชำราก"  อ.เมือง จ.ตราด อีกครั้ง เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558 ที่ผ่านมา


หนังสือที่เทศบาล ต.ชำราก จัดพิมพ์เผยแพร่ในรูปแบบการ์ตูน
ยุทธการบ้านชำราก
ยุทธการบ้านชำรากเป็นการรบช่วงเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่วัน ระหว่างทหารเวียดนาม กับ กองทัพเรือไทย โดยกำลังรบหลักคือทหารนาวิกโยธิน เสริมกำลังทางอากาศโดยกองทัพอากาศไทย เหตุการณ์เริ่มขึ้นหลังสงกรานต์เพียงไม่กี่วัน โดยเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2528 กองทัพเวียดนามได้ปฏิบัติการโจมตีกวาดล้างกองกำลังเขมรแดง ซึ่งมีฐานที่มั่นตามแนวชายแดนบริเวณเทือกเขาบรรทัด 

ด้วยกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหารเวียดนามที่เหนือกว่า กองกำลังเขมรแดง แตกพ่ายหนีถอยร่นเข้ามาในเขตแดนประเทศไทย กองกำลังทหารเวียดนามรุกไล่ติดตามเขมรแดงเข้ามา และตั้งฐานที่มั่นอยู่บนเทือกเขาบรรทัดในเขตแดนประเทศไทยตรงข้ามกับบ้านชำราก นี้เอง

อีก 8 วันต่อมา ในวันที่ 28 เม.ย.2528 ปืนใหญ่สนามของนาวิกโยธินไทย เริ่มยิงทำลายฐานที่มั่นของทหารเวียดนามที่อยู่บนยอดเขาเป็นวันแรก ต่อมาจึงเริ่มใช้กำลังจากกองพันทหารราบนาวิกโยธิน กองร้อยอาสาสมัครทหารพราน และกองร้อยตำรวจตระเวณชายแดน สนธิกำลังเดินทางด้วยเท้าเข้าตีกองกำลังทหารเวียดนามอย่างต่อเนื่องเป็นระลอก ตั้งแต่วันที่ 1,4,5,9,10,14 และจนกระทั่งในวันที่ 18 พ.ค.2528 เวลา 10:50 น. ทหารไทยสามารถยึดที่หมายได้ ผลักดันทหารเวียดนามให้พ้นจากเขตแดนไทยได้สำเร็จ

การรบครั้งนี้ ทหารไทยเสียชีวิต จำนวน 9 นาย บาดเจ็บ 63 นาย และป่วยจากไข้มาลาเรียจำนวน 584 นาย ส่วนทหารเวียดนาม พบศพจำนวน 17 ศพ และทราบข่าวว่ามีผู้บาดเจ็บจำนวนมากเช่นกัน (เหตุการณ์โดยละเอียดสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ต่างๆ)

อนุสรณ์สถานการสู้รบ "ยุทธการบ้านชำราก"
นายประมวล มุสิกรัตน์ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลชำราก และกำนันตำบลชำราก ได้พาผมขึ้นไปดูพื้นที่ที่เคยสู้รบในสมัยนั้น ซึ่งอยู่บนยอดเขาบรรทัดติดเขตแดนไทย ท่านนายกฯ และกำนัน พยายามผลักดันที่จะสร้าง "อนุสรณ์สถานการสู้รบยุทธการบ้านชำราก" ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของลูกหลานบ้านชำราก และอนุชนรุ่นหลัง พร้อมทั้งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของทหารกล้าที่เสียสละแม้ชีพตัวเองเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินของไทย ยุทธการบ้านชำราก เปรียบเสมือน ความรัก ความสมัครสมานสามัคคี และความรักในบ้านเกิดเมืองนอนของคนไทยทุกคน


อนุสรณ์ฯ ที่ถูกทิ้งร้างเหมือนไม่มีคนดูแล
ป้ายชื่อทหารผู้เสียชีวิต ถูกวางอยู่บนแท่น สภาพเก่าแทบมองไม่เห็น

เดินสำรวจรอบๆ พื้นที่การสู้รบยุทธการบ้านชำราก
หารือกับนายกเทศมนตรีเทศบาล ต.ชำราก และกำนัน ต.ชำราก
บนศาลาจุดชมวิว
เส้นทางขึ้นยุทธการชำราก ห่างจากฐานทหารพรานบ้านชำรากประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นทางลูกรัง บางช่วงเหลือแต่หินกรวดลอยๆ ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น หากเป็นหน้าฝนคงจะขึ้นไม่ได้เลยครับ ที่บนนั้นมีร่องรอยของการสู้รบอยู่เช่น หลุมบุคคล และแนวคูเลตยาวโดยรอบฐาน มีสิ่งก่อสร้างขึ้นภายหลังที่มองเห็นได้คือ ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อนุสรณ์แห่งการสู้รบ และจุดชมวิว แต่ทุกอย่างเหมือนขาดการดูแลเท่าที่ควร มีร่องรอยของที่พักของทหารพรานซึ่งรกร้าง ทราบว่าแต่ก่อนฐานทหารพรานเคยตั้งฐานอยู่บนนี้ แต่เพราะบนนั้นไม่มีน้ำไม่มีไฟ เส้นทางเข้าถึงพื้นที่ก็ยากลำบาก ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์นำเสบียงไปส่ง ปัจจุบันทหารพรานจึงย้ายฐานลงไปอยู่บริเวณพื้นราบด้านล่างแทน


ท่านกำนันฯ ตั้งใจใส่เสื้อตัวนี้มาให้ผมดูครับ
ยุทธการบ้านชำราก 29 ปี แห่งความภาคภูมิใจ

ทุ่นระเบิดยังถูกฝังอยู่ รอเวลาเก็บกู้
พื้นที่ยุทธการบ้านชำรากนี้ ถูกสำรวจโดยศูนย์ปฎิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เมื่อปี 2545 ระบุว่าเป็นพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด (SHA) คาดว่าในพื้นที่นี้ยังมีทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (AP) ถูกฝังอยู่ประมาณกว่า 138,200 ทุ่น และประเภทกระสุนปืนใหญ่ ลูก ค. จรวด ที่ยังไม่ระเบิดอีกประมาณ กว่า 1,000 นัด ครอบคลุมพื้นที่ 10 ตร.กม.เศษ หรือประมาณ 6,250 ไร่ อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 2 (กองทัพเรือ) แต่ยังไม่เคยมีการเข้าปฏิบัติการค้นหา เก็บกู้ และทำลายทุ่นระเบิดเลย

พื้นที่อนุสรณ์สถานการสู้รบยุทธการบ้านชำรากนี้ ยังคงเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย หากมีการเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สงครามหรือแหล่งท่องเที่ยวแล้ว อาจจะเกิดอันตรายต่อ นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไปได้


พื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด
บริเวณยุทธการบ้านชำราก ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด
กินพื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตรเศษ
ด้วยเหตุนี้เอง ท่านนายกฯ จึงอยากให้พวกเราได้เข้าไปค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในบริเวณดังกล่าว โดยในขั้นต้นเอาเฉพาะพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างและพื้นที่โดยรอบบางส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน ท่านนายกฯ เล่าต่อให้ฟังว่า ตอนนี้ ทาง อบจ.ตราด ได้เขียนโครงการเสนอไปยังกระทรวงท่องเที่ยวฯ แล้ว แต่ไม่รู้จะได้งบประมาณมาจัดทำโครงการหรือปล่าว 

ทุ่นระเบิด อุปสรรคในการพัฒนา
ที่เนิน 500 สมรภูมิช่องบก จ.อุบลราชธานี และยุทธการบ้านชำราก จ.ตราด นี้ มีลักษณะคล้ายกัน คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบพยายามจะสร้างเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการสู้รบเพื่อเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ และรำลึกถึงวีรกรรมของทหารกล้า แต่ในพื้นที่ยังเต็มไปด้วยทุ่นระเบิดและลูกระเบิดด้านอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมีการเก็บกู้แล้ว พื้นที่ก็จะปลอดภัยไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนา

แต่ผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไม? ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ จึงไม่จัดเป็นความเร่งด่วนลำดับต้นๆ ในการเข้าปฏิบัติงาน คงปล่อยล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันนี้ นับเป็นเวลากว่า 13 ปีแล้ว หรือหากกองกำลังทหารที่ดูแลพื้นที่อยู่ กล่าวอ้างว่า ที่ไม่เก็บกู้ทุ่นระเบิดเพราะจะใช้พื้นที่เป็นฉากขัดขวางเพื่อความมั่นคงตามแนวชายแดน ดูเหมือนว่าจะไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย เพราะปัจจุบันนี้ลักษณะของการสู้รบแบบแย่งยึดพื้นที่แบบสมัยก่อนคงไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว

คณะสำรวจถ่ายภาพร่วมกัน


ชาวบ้านตั้งใจจะสร้างอนุสรณ์ให้แก่วีรกรรมทหารกล้าของกองทัพ

แต่กองทัพเองกลับไม่สนใจใยดีที่จะช่วยสนับสนุนชาวบ้าน
ผมแอบตั้งคำถามอยู่ในใจว่า "เพราะเหตุใด"

*********************************
ชาติชยา ศึกษิต : 6 ก.พ.2558