28 พฤษภาคม 2558

การตัดสินใจครั้งสำคัญ

การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย เริ่มมาจากการที่ประเทศไทยตัดสินใจเข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วย “การห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล” หรือเรียกสั้นๆ ว่าอนุสัญญาออตตาวา เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2540 ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา และต่อมาได้ส่งมอบสัตยาบรรณสารต่อเลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2541 ส่งผลให้อนุสัญญาฯ ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2542 เป็นต้นมา



พันธกรณีหลักที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาออตตาวาที่สำคัญ พอสรุปได้ ดังนี้
  1. ประเทศไทยจะไม่ใช้ พัฒนา ผลิต ครอบครอง สะสม หรือโอน ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และจะไม่ช่วยเหลือส่งเสริม ให้รัฐใดดำเนินการดังกล่าว 
  2. ประเทศไทยต้องทำลายทุ่นระเบิดในคลังให้หมดสิ้นภายในวันที่ 30 เม.ย.2546 (ภายในเวลา 4 ปี นับจากอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้)
  3. ประเทศไทยต้องทำลายทุ่นระเบิดที่ยังตกค้างอยู่ภายในดินแดนของราชอาณาจักรไทยภายในวันที่ 30 เม.ย.2552 (ภายในเวลา 10 ปี นับจากอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้)
  4. ดำเนินการจัดทำขอบเขตของพื้นที่อันตรายที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด พร้อมติดป้ายแจ้งเตือน เพื่อป้องกันไม่ให้ราษฎรเข้าไปใช้พื้นที่ ซึ่งอาจเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบทุ่นระเบิดได้
  5. ดำเนินการแจ้งเตือนและให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากทุ่นระเบิด เพื่อลดจำนวนการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตเกี่ยวกับทุ่นระเบิด
  6. การช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยจากทุ่นระเบิด
  7. ประเทศไทยจะต้องดำเนินมาตรการตามกฎหมาย ด้านบริหารและอื่นๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามกิจกรรมที่ต้องห้ามภายใต้อนุสัญญาฯ
คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (National Mine Action Committee : NMAC) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ โดยตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติตามพันธกรณีหลักของอนุสัญญาฯ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) เป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นตามพันธกรณี

ในพันธกรณีสำคัญในข้อที่ 3 “ประเทศไทยต้องทำลายทุ่นระเบิดที่ยังตกค้างอยู่ภายในดินแดนของราชอาณาจักรไทยภายในวันที่ 30 เม.ย.2552” ถือเป็นพันธกรณีสำคัญที่ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบระยะเวลา การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย (Landmine Impact Survey : LIS) โดย องค์การความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (Norwegian People’s Aid : NPA) ระหว่างปี พ.ศ.2543-2544 ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด จำนวน 2,557 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 24 จังหวัดตามแนวชายแดนไทย จนกระทั่งถึงวันที่ 30 เม.ย.2552 ซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดอนุสัญญาฯ ประเทศไทยเก็บกู้พื้นที่ทุ่นระเบิดได้เพียง 2,028.80 ตร.กม. คงเหลือพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดอยู่อีก 528.2 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 18 จังหวัด 

ประเทศไทยขอขยายระยะเวลาต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ที่เหลือดังกล่าว ต่ออีก 9 ปีครึ่ง คือ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2552 ถึง 1 พ.ย.2561 โดยอ้างเหตุผลที่สำคัญดังนี้
  1. การสำรวจของ Landmine Impact Survey เมื่อปี 2543-2544 เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น ทำให้มีความคลาดเคลื่อนและมีพื้นที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิดสูงกว่าความเป็นจริง (2,557 ตร.กม.) ซึ่งทำให้ไทยเสียเวลาเก็บกู้ 
  2. วิธีการที่ไทยใช้ในการเก็บกู้คือการเก็บกู้แบบปกติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาเพราะต้องระมัดระวังสูงและใช้งบประมาณมาก
  3. สภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทุ่นระเบิดซึ่งยากและใช้เวลาในการเข้าถึงและจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์เครื่องจักรที่เหมาะสม เช่น ป่าทึบ ทิวเขาที่มีความลาดชันสูง และสภาพอากาศที่ไม่สามารถทำงานได้ตลอดทั้งปี
  4. งบประมาณที่จำกัด และ 
  5. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศมีไม่มากนัก

ประเทศไทยได้เสนอแผนการดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ที่เหลือจำนวน 528.2 ตร.กม. ให้แล้วเสร็จภายใน 9 ปีครึ่งต่อที่ประชุมรัฐภาคี โดยจะเก็บกู้พื้นที่ทุ่นระเบิดให้ได้เฉลี่ยปีละ 40-60 ตร.กม. มีแผนการใช้งบประมาณทั้งสิ้น 17,435.55 ล้านบาท โดยรัฐบาลไทยจะสนับสนุนงบประมาณให้ ศทช. จำนวน 12,500 ล้านบาท และมีแผนขอรับเงินบริจาคและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ จำนวน 4,935 ล้านบาท


แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ในห้วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2553-พ.ศ.2557) รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ ศทช. เพียง 355.67 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.85 ของแผนที่วางไว้ ประกอบกับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศมีจำนวนน้อยมากไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่เหลือเวลาอีก 4 ปีเศษ ก่อนสิ้นสุดกรอบเวลาที่ขอขยายไว้ (1 พ.ย.2561) ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2557 ประเทศไทยยังคงมีพื้นที่ทุ่นระเบิดเหลืออยู่อีกจำนวน 476.10 ตร.กม.ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด 


เดิมประเทศไทยใช้วิธีการปรับลดพื้นที่สนามทุ่นระเบิด (Mine Field : MF) ด้วยวิธีกวาดล้าง (Clearance) และนำกระบวนการกำหนดพื้นที่ตั้งสนามทุ่นระเบิด (Locating Minefield Procedure : LMP) เพื่อหาพื้นที่สนามทุ่นระเบิดที่แท้จริงมาใช้ ในปี พ.ศ.2550-2552 และต่อมาในปี พ.ศ.2555 ประเทศไทยได้นำวิธีการปรับลดพื้นที่อันตรายที่ได้รับยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (Confirmed Hazardous Area : CHA) ด้วยวิธีการปลดปล่อยพื้นที่ (Land Release) มาใช้แทนวิธีการกวาดล้าง และนำวิธีการยกเลิกพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด (Suspect Hazardous Area :SHA) ด้วยการสำรวจตามหลักฐาน (Evidenced-Base Survey : EBS) มาใช้ในกลางปี พ.ศ.2558 ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองวิธี แม้จะได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าใช้งบประมาณและทรัพยากรน้อย ไม่สิ้นเปลืองเวลา และได้พื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดจำนวนมาก ก็ตาม แต่ภายใต้งบประมาณและทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดในปัจจุบัน ศทช. สามารถปรับลดพื้นที่อันตรายจากทุ่นระเบิดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้เฉลี่ยเพียงปีละ 30 ตร.กม. ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่า ประเทศไทยจะไม่สามารถเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ทุ่นระเบิดที่เหลืออยู่นี้ได้แล้วเสร็จทัน ในวันที่ 1 พ.ย.2561 ตามที่ได้สัญญาไว้

ประเทศไทยจำเป็นต้องตัดสินใจตั้งแต่บัดนี้ว่า จะขอขยายระยะเวลาต่อเป็นครั้งที่ 2 หรือจะหาวิธีการดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่สัญญาไว้ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 3 ปีครึ่ง ซึ่งการตัดสินใจเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (NMAC) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ โดยตำแหน่ง 

การตัดสินใจครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางบวกและทางลบ โดยมีเกียรติภูมิ ศักดิ์ศรี และภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นเดิมพัน

************************
ชาติชยา ศึกษิต : 28 พ.ค.2558