19 กุมภาพันธ์ 2559

พบสรรพาวุธระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในรอบ 15 ปี

วันที่ 23 มิ.ย.2558 หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 2 (นปท.2) ของกองทัพเรือ ตรวจพบสรรพาวุธระเบิดที่ถูกละทิ้ง (Abandoned Explosive Ordnance : AXO) จำนวนกว่า 5,000 รายการ บริเวณเทือกเขาบรรทัด บ.หนองรี ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด นับเป็นการพบเศษขยะสงครามครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา



ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) เมื่อปี พ.ศ.2542 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติได้เริ่มค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในผืนแผ่นดินไทยมาตั้งแต่ปี 2543 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ไม่เคยตรวจพบสรรพาวุธระเบิดที่ถูกละทิ้ง (AXO) มากมายเท่าครั้งนี้  AXO ที่พบ รวมแล้ว 5,299 รายการ ประกอบด้วย
  1. ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล Type 69 ของจีน จำนวน 2,700 ทุ่น
  2. ลูก ค.ขนาด 61 มม. จำนวน  1,600 ลูก
  3. ลูก ค.ขนาด 82 มม.จำนวน     582 ลูก
  4. ลูก ค.ขนาด 100 มม. จำนวน    80 ลูก
  5. กระสุนปืนไร้แรงสะท้อนท้อยหลัง (ปรส.) ขนาด 75 มม.จำนวน 80 นัด
  6. หัวกระสุนต่อต้านรถถัง ขนาด 75 มม. จำนวน 14 นัด
  7. กระสุนต่อต้านรถถัง ขนาด 75 มม.จำนวน 175 นัด
  8. กระสุนอาก้า-47 (AK-47) จำนวน 30 กล่อง
  9. ลังบรรจุกระสุน 12.7 จำนวน 70 ลัง    


จากการวิเคราะห์ AXO ที่พบแล้ว สรุปได้ว่าเป็นของกองทัพเขมรแดง ที่ต้องหนีจากการไล่ล่าของกองทัพเวียดนาม เข้ามาพักพิงอยู่ในราชอาณาจักรไทย ประมาณปี พ.ศ.2528 พื้นที่แห่งนี้น่าจะเป็นที่ตั้งฐานของกองทัพเขมรแดงในสมัยนั้น และเมื่อถอนตัวไปแล้ว ก็ได้ละทิ้งสรรพาวุธระเบิดเหล่านี้เอาไว้ 




หากเป็นเช่นนี้จริง แสดงว่า AXO เหล่านี้ ถูกกองทับถมอยู่บนผืนแผ่นดินไทยมานานเกือบ 30 ปี หากแต่ไม่มีใครพบ จนกระทั่ง นปท.2 มาตรวจพบในวันที่ 23 มิ.ย.2558

การทำลาย AXO
การทำลาย AXO ที่พบ จำเป็นต้องใช้ดินระเบิด ชนวน และอุปกรณ์ประกอบการจุดจำนวนมาก  เจ้าหน้าที่ EOD ของ นปท.2 เคยประมาณว่าจะต้องใช้ ดินระเบิด TNT จำนวน 1,420 ปอนด์ ฝักแคระเบิด  1,788 ฟุต ฝักแคเวลา 667 ฟุต ตัวจุดชนวน M60 จำนวน 29 ชุด และเชื้อปะทุ จำนวน 29 ดอก ต้องทยอยทำลายรวมแล้ว 29 ครั้ง ฟังแล้วนับเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสเอาการ เพราะที่กล่าวมาต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติคงไม่มีแน่นอน และหากไม่สามารถทำลายในพื้นที่ที่ตรวจพบได้ ก็มีความเสี่ยงต่อการเคลื่อนย้าย AXO ดังกล่าวมายังพื้นที่ทำลายที่กำหนดไว้






พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ไทย)
ตามพันธกรณีในอนุสัญญาห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ จะครอบคลุมเฉพาะการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุุคคล เท่านั้น ส่วนทุ่นระเบิดดักรถถัง และ UXO ไม่จำเป็นต้องทำลายก็ได้ และทุ่นระเบิดสังหารบุคคลดังกล่าวก็สามารถแบ่งบางส่วนไว้ฝึกศึกษาได้ ตามจำนวนที่เหมาะสม

AXO ที่พบดังกล่าว จึงสามารถเก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดได้ คงทำลายเฉพาะ TYPE 69 ที่เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคล มีคำถามว่า ทำไมต้องเก็บเป็นพิพิธภัณฑ์? ลองอ่านบทความที่ผมเคยเขียนไว้ เรื่อง "พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดแห่งชาติ(ไทย) ..ความฝันที่อาจเป็นจริง" (อ่านรายละเอียด) ดูนะครับ ก็จะเข้าใจว่าทำไม

ผมยังยืนยันอยู่ว่า AXO ที่พบควรทำให้ปลอดภัยแล้วเก็บเอาไว้ รอนำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ซึ่งไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่) แต่ก็ดีกว่าจะทำลายมันทิ้งไป โดยไม่ได้มีนัยสำคัญใดๆ เลย เสียดายครับ....

พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดเวียดนาม


*****************

ชาติชาย คเชนชล : 19 ก.พ.2559  

3 กุมภาพันธ์ 2559

บางมุมของเมืองพูเน่ สาธารณรัฐอินเดีย

ผมได้มีโอกาสเป็น 1 ใน 11 คนที่เป็นตัวแทนของกองทัพไทยไปร่วมประชุมการเตรียมการฝึกการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม และการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ ที่เมืองพูเน่  สาธารณรัฐอินเดีย ระหว่างวันที่ 11-15 ม.ค.2559  ที่ผ่านมา งานนี้มีผู้แทนจากกองทัพชาติต่างๆเข้าร่วมการประชุมถึง 17 ชาติ (รวมไทยด้วย)






เมืองพูเน่ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของประเทศอินเดีย ตามภาพที่เห็นครับ พวกเราต้องเดินทางโดยเครื่องบิน 2 ต่อ จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังท่าอากาศยานอินทิรา คานธี และบินต่อไปยังสนามบินเมืองพูเน่ (PUNE) ที่นั่นเวลาช้ากว่าประเทศไทยบ้านเรา 1 ชั่วโมงครึ่ง ผมเข้าพักที่โรงแรมประมาณ 4 ดาวชื่อ ST LAURN Hotel ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใจกลางมืองพูเน่  

ห้ามถ่ายภาพ
พวกที่ชอบถ่ายภาพสวยๆ ตามสนามบินที่ได้ไปเยือนเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก หรือแชร์ตามโซเซียลเน็ตเวิร์คต่างๆ  ขอโทษครับ!  ที่ท่าอากาศยานอินทิรา คานธี และสนามบินเมืองพูเน่ นี้ ห้ายถ่ายภาพโดยเด็ดขาดเลยครับ เผลอๆ ถูกจับยึดกล้องทันที  แม้แต่เมื่อเข้าน่านฟ้าเมืองนิวเดลีและเมืองพูเน่ ก็ยังห้ามเลยนะครับ งานนี้พวกชอบ Selfy อดใจไว้ก่อนก็จะดี 

เมืองพูเน่แห่งนี้ เป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของอินเดีย หากเทียบก็คล้ายๆ กับโคราชบ้านเรา เมืองนี้เป็นแหล่งรวมของสถาบันการศึกษาชั้นนำหลากหลายแขนง รวมทั้งเป็นแหล่งการศึกษาของกองทัพอินเดียด้วย แต่เมืองนี้ค่อนข้างสกปรก มีขยะประเภทต่างๆ มองให้เห็นเกลื่อนกลาดอยู่ทั่วทั้งเมือง ผู้คนมีหลากหลายชนชั้นวรรณะ ตั้งแต่อภิมหาร่ำรวยจนถึงคนร่อนเร่พเนจร ยาจกขอทาน เมืองนี้กำลังมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ทั้งตึกราม บ้านช่อง บ้านจัดสรร คอนโดมิเดียม ห้างสรรพสินค้า ผุดขึ้นให้เห็นมากมายหลายแห่ง ทำให้แลดูระเกะระกะไปหมด




เมืองแห่งเสียงแตร
ช่วงเวลาเย็นประมาณ 17:00-19:00 น.เป็นช่วงเวลาเร่งด่วน การจราจรหนาแน่นมาก  เสียงบีบแตรจากรถยนต์ รถเมล์  รถแท๊กซี่ รถตุ๊กๆ รถมอร์เตอร์ไซต์ ที่วิ่งอยู่บนท้องถนน  ดังขรมไปหมด เสียงบีบแตรขอทางกันไม่ขาดสาย ปี๊ป ป๊าบ ปี๊บ ป๊าบ จนน่ารำคาญ เอะอะอะไรก็บีบแตรไว้ก่อน ถ้าเป็นบ้านเราคงต้องทะเลาะกันบ้างแหละว่า มึงจะบีบแตรทำไม แต่ที่นั่นถือเป็นเรื่องปกติ








เสี่ยงที่สุดคือการข้ามถนน
ตอนเย็นผมและเพื่อนๆ ออกเดินสำรวจภูมิประเทศกัน เผอิญตรงกับช่วงเวลาเร่งด่วนพอดี เชื่อไหมครับ! การข้ามถนนที่นี่ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก แม้จะข้ามตรงทางม้าลายก็ตาม เพราะไม่มีใครคิดชะลอรถหรือคิดจะหยุดรถให้ แถมยังถูกบีบแตรไล่อีก กว่าจะข้ามถนนได้ ต้องตั้งท่ากันนานมาก

คิดถึงอาหารไทย
โรงแรมที่พวกเราพัก มีอาหารเช้าให้ ขอโทษเถอะครับ มีแต่อาหารอินเดียทั้งนั้น นึกว่าจะมีอาหารฝรั่งปนบ้างแบบโรงแรมทั่วไป เช่น ใส้กรอก เบคอน ไข่ดาว ไม่มีเลยครับ! ทุกเช้าพวกเราต้องเลือกอาหารอินเดียที่รสชาติพอที่พวกเราจะกินได้ซึ่งหายากมาก  ส่วนตอนเย็นต้องหาอาหารกินเอง พวกเราเลยตะเวนออกไปนอกโรงแรม ยิ่งแล้วใหญ่ มีแต่อาหารรถเข็นสองข้างทาง แลดูรู้สึกว่าไม่น่ากินเอาเสียเลย เสี่ยงต่อการท้องเสีย หากจะกินก็คงต้องกินร้านอาหารฝรั่งที่มีอยู่บ้าง เช่น Black Canyon พิซซ่า หรือ ใส้กรอกเยอรมัน แต่ก็แพงมาก

ในที่สุดพวกเราจึงตัดสินใจบากหน้ากลับมากินบุฟเฟ่ที่โรงแรมตามเดิม โดยเสียค่าหัวละ หัวละ 499 รูปีอินเดีย (ประมาณ 300 บาท) ดีกว่าครับ เชื่อถือได้ไม่ต้องเสี่ยงต่อการท้องเสีย เพียงแต่ต้องพยายามเลือกอาหารที่เราพอจะกินได้นั่นเอง

อยู่ที่นี่ 4 วัน สรุปได้ว่า อาหารอินเดียที่พอจะกินได้ คือ ข้าวบด ไข่ต้มจิ้มเกลือ หรือไข่กวน (ซึ่งวันแรกๆ ที่โรงแรมไม่มีรายการเหล่านี้เลย มีช่วงวันหลังๆ สงสัยกุ๊กคงได้ยินที่พวกเราบ่นแน่เลย)

ใครไปอินเดียอย่าลืม หาเมนูประเภทน้ำพริกเผา น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลาย่าง ข้าวกระป๋อง หรือพวกมาม่า ไวไว ติดไปบ้างก็จะดีครับ ไม่งั้นแย่แน่....


ข้าวบด ไข่ต้มจิ้มเกลือ


ไข่กวน
 
ไม่มีร้านสะดวกซื้อ ไม่มีน้ำแข็ง 
ร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมงแบบบ้านเรา ที่เมืองพูเน่นี้ไม่มีเลยครับ อย่าได้หาเลย ร้านขายของโชว์ห่วยก็หายากมาก ที่นี่ไม่มีน้ำแข็งขาย หากใครอยากจะกินน้ำแข็งต้องทำเอาเองจากตู้เย็น หากจะกินเบียร์หรือน้ำอัดลมเย็นๆ ต้องซื้อจากร้านที่เขาแช่ตู้เย็นเอาไว้ หรือไม่ก็ซื้อมาแช่ไว้ในตู้เย็นที่ห้องพัก ร้านอาหารทุกร้านที่นี่ ไม่มีเบียร์หรือเหล้าขาย ดังนั้นพวกที่คิดจะไปนั่งจิบเบียร์เย็นๆ ตามร้านอาหาร  อย่าได้หวังครับ เพราะเขาห้ามขาย  

รถตุ๊กๆ 
อย่านึกว่ารถตุ๊กๆ จะมีเฉพาะในประเทศไทย ที่เมืองพูเน่นี้ มีเยอะมาก แถมติดมิเตอร์ด้วย แต่ไม่ค่อยเปิด จะใช้การต่อรองราคาเป็นหลัก เวลาต่อรองควรให้เจ้าหน้าที่โรงแรมเขาต่อรองราคาให้ เพราะเขาจะพูดภาษาท้องถิ่นกันเอง หากเราไปพูดภาษาอังกฤษกับคนขับรถตุ๊กๆ โดยตรง เขาจะฟังไม่ออก และมีโอกาสเสี่ยงต่อการโก่งราคาได้ 

ผมได้มีโอกาสนั่งรถตุ๊กๆ ไปหาซื้อของฝากในตลาดแห่งหนึ่ง ไม่รู้ว่าชื่ออะไร รถขับรถตุ๊กๆ พาไป ไม่มีอะไรเลยครับ ที่พูเน่นี้ ไม่มีแหล่งขายของที่ระลึก หากจะซื้อต้องซื้อที่นิวเดลี  ขาจะกลับโรงแรม ผมยื่นนามบัตรของโรงแรม (ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ) ให้รถตุ๊กๆ แถวนั้นพากลับ ปรากฏว่า คนขับรถตุ๊กๆ อ่านภาษาอังกฤษไม่ออก  พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ คุยกันไม่รู้เรื่อง ถามคนแถวนั้นก็ไม่มีใครรู้เรื่องหรือเข้าใจพวกเรา คนขับรถตุ๊กๆ ที่พามาส่งก็กลับไปแล้ว พวกเราตัดสินใจเดินหาตำรวจอินเดียแถวนั้น ตำรวจท่านนั้นก็พูดและฟังภาษาอังกฤษไม่ค่อยรู้เรื่องอีก กว่าจะเข้าใจกันและพาพวกเรากลับโรงแรมได้ เล่นเอาเกือบมืด  

พอถึงโรงแรม ผมแนะนำกับเจ้าหน้าที่โรงแรมฯ ว่า 
คราวหลังพิมพ์นามบัตร ภาษาที่รถตุ๊กๆ เขาอ่านออก น่าจะดีนะ       




ตำรวจอินเดีย

บรรยายกาศทั่วไปในเมืองพูเน่




รถตุ๊กๆ


ร้านอาหารยามเช้า (เหมือนร้านขายโจ๊กและกาแฟบ้านเรา)

นักเรียนมัธยมปลาย

นักเรียนมัธยมปลาย

นักเรียนมัธยมปลาย


นักเรียนมัธยมปลาย

รถตุ๊กๆ ยานหานะยอดนิยม

มอร์เตอร์ไซต์ ยานพาหนะหลักของชาวเมืองพูเน่ แต่ไม่มีมอร์เตอไซต์รับจ้าง
ที่เมืองพูเน่ นี้ ผมว่าอีกไม่เกิน 10 ปี น่าจะเป็นเมืองที่น่าจับตามองทั้งทางด้านการศึกษาในรูปแบบต่างๆ และด้านการท่องเที่ยว  แต่ตอนนี้ใครจะไปเที่ยวก่อน ก็คงต้องเตรียมตัวให้ดี อย่างที่ผมได้นำเรื่องราวบางมุมที่ผมพบเห็นมาเล่าสู่กันฟัง

***************************
พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์
15 ก.พ.2559