28 มีนาคม 2559

หนังสือเล่มสีส้ม

หลังจากอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) มีผลบังคับใช้แล้ว การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย (Land Impact Survey : LIS) อย่างเป็นทางการได้เริ่มขึ้นในเดือน พ.ค.2543 โดยศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ (Survey Action Center : SAC) เป็นผู้ปฏิบัติการสำรวจ มีองค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (Norwegian People’s Aid : NPA) เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการสำรวจ การสำรวจเสร็จสิ้นในเดือน มิ.ย.2545 

ผลการสำรวจ
ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (UXO) จำนวน 933 แห่ง ชุมชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากภัยทุ่นระเบิดจำนวนทั้งสิ้น 530 หมู่บ้าน แยกเป็นหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 297 หมู่บ้าน ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา 139 หมู่บ้าน ตามแนวชายแดนไทย-ลาว 90 หมู่บ้าน และตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย 4 หมู่บ้าน รวมขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 2,556.7 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ใน 24 จังหวัด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของราษฎรจำนวน 503,682 คน

หนังสือเล่มสีส้ม

หนังสือเล่มสีส้ม : โจทย์ของประเทศไทย
พื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดจำนวน 2556.7 ตร.กม.ใน 24 จังหวัด ที่ถูกรายงานไว้ในหนังสือการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเะทศไทย (Landmind Impact Survey Kingdom of Thailand) ซึ่งผมมักจะเรียกเขาว่า "หนังสือเล่มสีส้ม"  ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ประเทศไทยต้องดำเนินการค้นหาเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดในพื้นที่ดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อน 1 พ.ค.2552 ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาออตตาวา แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เสร็จ จำต้องขอต่ออนุสัญญาฯ ไปอีก โดยการขอต่อสัญญางวดใหม่นี้ ประเทศไทยขอถึงวันที่ 1 พ.ย.2561 นับจากปัจจุบันเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีเศษๆ และมีแนวโน้มว่ากำลังจะไม่เสร็จอีก

กำลังจะถูกทิ้ง
หนังสือเล่มสีส้มนี้ จัดพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องราวรายละเอียดเกี่ยวกับผลการสำรวจ ความเป็นมาและวิธีการที่ใช้ การรายงานผลกระทบจากทุ่นระเบิดของประเทศไทยโดยละเอียด มีการจัดทำเป็นซีดีรอมแนบไว้ด้วย 

ตอนผมเข้ามาทำงานในศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิด (TMAC) ใหม่ๆ ประมาณปลายปี 2555 กำลังมีการจัดระเบียบภายในหน่วยงาน โดย เจ้าหน้าที่ทั้งหลายพยายามกำจัดหนังสือเก่าๆ  สิ่งของ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ที่ชำรุดและไม่จำเป็นแล้ว บ้างก็นำไปทิ้ง บ้างก็นำไปขาย เพื่อให้เกิดความสะอาดของหน่วยงาน  ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรมากนัก ผมพบหนังสือเล่มนี้กำลังจะถูกนำไปทิ้ง โดยไม่มีใครใส่ใจ ผมจึงแอบเก็บมาไว้ศึกษา จนกระทั่งปัจจุบันผมยังใช้เป็นคัมภีร์หลักประกอบการบรรยาย การปฏิบัติงาน และศึกษาภูมิหลังเรื่องราวของทุ่นระเบิดในประเทศไทยมาโดยตลอด

ปัจจุบัน "หนังสือเล่มสีส้ม" นี้  เหลืออยู่นับจำนวนเล่มได้  
ทีมสำรวจ LIS เมื่อปี พ.ศ.2543-2545

ดร.กาย โรดส์ คนที่ 4 จากซ้าย

ดร.กาย โรดส์ ผู้นำโครงการ
ผู้นำโครงการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดและกระสุนตกค้างที่ยังไม่ระเบิดในประเทศไทย ขณะนั้น คือ ดร.กาย โรดส์ จากองค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (NPA) ที่เหลือจะประกอบด้วย ผู้ช่วยผู้นำโครงการ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการข้อมูล ผู้บริหารฝ่ายการเงิน การบริหาร การจัดซื้อ และคณะสำรวจจำนวน 4 ชุด ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภาคสนามมากกว่า 50 คน รวมทั้งหมดแล้วเป็นผู้บริหารชาวต่างประเทศ 4 คน ที่เหลือเป็นคนไทย จำนวนประมาณ 80 คน

ขอลายเซ็น
ในโอกาสที่นาย Stefano Toscano เอกอัครราชฑูตและผู้อำนวยการศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการเก็บกู้ทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมแห่งนครเจนีวา (Geneva International Centre for Humanitarian Deming-GICHD) พร้อมด้วย Dr.Guy Rhodes ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของ GIHD  ได้มาเยี่ยมชมการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของประเทศไทย เป็นครั้งแรกในพื้นที่ จ.สุรินทร์ และ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 13-15 ธ.ค.2558 ผมได้เข้าร่วมให้การต้อนในครั้งนั้นด้วย  จึงมีโอกาสได้พบกับ ดร.กาย โรดส์ เป็นครั้งแรกเช่นกัน

ผมนำ "หนังสือเล่มสีส้ม" ติดตัวไปด้วย เพื่อถือโอกาสขอลายเซ็นตัวจริง เสียงจริง จาก ดร.กาย โรดส์ ผู้นำโครงการฯ เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เสียเลย ท่านรู้สึกดีใจมาก และผมก็รู้สึกดีใจเช่นกัน



ปัจจุบัน ผมยังใช้ "หนังสือเล่มสีส้ม" นี้ เป็นคัมภีร์หลักในปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทยตลอดมา 


************************
ชาติชยา ศึกษิต : 29 มี.ค.2559

18 มีนาคม 2559

เฮง รัตนา กับงานการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมไทย-กัมพูชา

ผมได้มีโอกาสเห็นการทำงานของ ฯพณฯ เฮง รัตนา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (H.E.HENG Ratana, Director of the cambodian Mine Action Centre : CMAC) จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2559 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสเตชั่นวัน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

ครั้งแรกเรื่องการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันในพื้นที่เขตปลอดทหารชั่วคราว PDZ
ตอนนั้น วันที่ 31 ส.ค.2555  เฮง รัตนา ที่ปรึกษานายฮุนเซน นำพาทีมจากศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (CMAC) มาประชุมเรื่อง "การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมในพื้นที่ปลอดทหารชั่วคราว" (Provisional Demilitarized Zone ; PDZ)  ABCD ตามคำสั่งศาลโลก กับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติของไทย (TMAC) ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของกองทัพไทย ณ ห้องประชุมกรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย 


การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากผลการหารือของคณะทำงานร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 2 (2nd Meeting of the Joint Working Group : JWG) เรื่องการปฎิบัติตามคำสั่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศลงวันที่ 18 ก.ค.2554 ระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย.2555 ณ กรุงพนมเปญ โดยกัมพูชาต้องการให้มี "การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชา" ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยต่อคณะสังเกตการณ์ร่วมและเกิดความสะดวกในการดำเนินการตามขั้นตอนของการปรับกำลังต่อไป ผลพลอยได้ก็คือความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ นักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ปฏิบัติงานอยู่

ครั้งที่สอง : การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ
การหารือครั้งนี้สืบเนื่องมาจากผลการประชุมของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 10 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อ 24 ธ.ค.57 

“ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบตามที่จะสนับสนุนความร่วมมือในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมระหว่างศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) และศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา(CMAC) โดยที่ประชุมรับทราบข้อเสนอที่จะร่วมมือในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดน เพื่อให้การดำเนินการตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประสบผลสำเร็จ”



ต่อมาในวันที่ 21-23 ม.ค.2558 จึงเกิดการประชุมร่วมครั้งแรกระหว่าง TMAC กับ CMAC ณ โรงแรมอินโดจีน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยใช้ชื่อการประชุมว่า "The Thai-Cambodian Demining Cooperation Meeting" ซึ่งครั้งนี้ผมไม่ได้เข้าร่วมคณะ



ผลการหารือสรุปได้ว่า
  1. ทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะปฏิบัติงานตามแนวทางของรัฐบาลทั้งสองประเทศ ในเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
  2. CMAC เห็นว่าควรรอให้รัฐบาลทั้งสองตัดสินใจในเรื่องพื้นที่ที่จะดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วม แล้วจึงเริ่มเจรจาลงรายละเอียด (ที่ไหน อย่างไร กำลังพล ฯลฯ)
  3. CMAC เห็นว่าการดำเนินการเรื่องงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเก็บกู้ทุ่นระเบิดสามารถดำเนินการได้ทันที  (การเก็บกู้ฯ ควรรอให้รัฐบาลทั้งสองเป็นผู้กำหนด)
  4. CMAC เสนอให้มีการพบกันอีก ทั้งในระดับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติของทั้งสองฝ่าย เพื่อดำเนินการปรึกษาหารือในรายละเอียด และติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม
ครัั้งที่ 3 : เก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วม บ้านป่าไร่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ 
วันที่ 14 มี.ค.2559 ฯพณฯ เฮง รัตนา ในฐานะผู้แทนรัฐบาลกัมพูชาและผู้อำนวยการศูนย์ปฏฺิบัติการทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (CMAC) และคณะ ขอเข้าพบผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรไทย (TMAC) เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการ เรื่อง แนวทางการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมไทย-กัมพูชา บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษ บ้านป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.กัมพูชา ตามนโยบายรัฐบาลทั้งสองประเทศ ณ โรงแรมสเตชั่นวัน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว  สรุปผลการหารือได้ ดังนี้
  1. ทั้งสองฝ่ายเห็นควรมีการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันระหว่าง TMAC กับ CMAC 
  2. การกำหนดขอบเขตพื้นที่เก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันให้คณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา  เป็นผู้กำหนด
  3. การแบ่งพื้นที่การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมบริเวณ บ.ป่าไร่ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ 
    1. พื้นที่ที่ชัดเจนในเรื่องเขตแดนแล้ว แต่ละฝ่ายจัดเจ้าหน้าที่เก็บกู้เอง 
    2. ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ชัดเจนเรื่องเขตแดนให้จัดเจ้าหน้าที่เก็บกู้ร่วมกัน
  4. การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเก็บกู้ทุ่นระเบิดสามารถดำเนินการได้ทันที โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน 
  5. หากมีโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดร่วมกันตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จากผู้บริจาค ทาง TMAC ยินดีให้ CMAC เป็นเจ้าของโครงการ 




เฮง รัตนา บุคคลที่น่าจับตามอง
เฮง รัตนา ถือว่าเป็นลูกหม้อของ CMAC เคยทำงานในตำแหน่ง ผู้จัดการด้านประกันคุณภาพ (QA Manager) ไต่เต้าขึ้นมาเป็นหัวหน้าสำนักเลขานุการ เป็นรองผู้อำนวยการ CMAC และจนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้อำนวยการ CMAC  ในปี 2551

ปัจจุบัน CMAC เป็นองค์กรอิสระ มีประเทศที่เป็นผู้บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในประเทศกัมพูชามากกว่า 14 ประเทศ และองค์กรของสหประชาชนชาติ,  NGO ปฏิบัติงานร่วมกันมากกว่า 20 แห่ง ซึ่งหากเทียบกันแล้ว  เขาเหนือกว่า  TMAC ของไทยมาก

ใน 3 ครั้งที่มีการเจรจากัน เฮง รัตนา ยังคงเป็น ผอ.CMAC ในฐานะ หน.คณะเจรจา มาโดยตลอด แตกต่างกับประเทศไทย ทึ่ ผอ.TMAC เป็นคนละคนกัน  เฮง รัตนา มีลักษณะของนักการฑูต การเจรจาทุกครั้งมักเป็นฝ่ายได้เปรียบไทยเสมอ และมักจะมีวาระซ่อนเร้น ที่จะทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบในอนาคต 


ความเชี่ยวชาญในงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม และความเป็นนักการฑูต ของ เฮง รัตนา นี้เอง ที่ฝ่ายไทยต้องระมัดระวัง  อย่าได้เพลี่ยงพล้ำเป็นอันขาด ไม่งั้นฝ่ายไทยอาจจะเสียแผ่นดินอีกครั้งได้ ดั่งเช่นกรณีเขาพระวิหาร ที่ทุกคนต่างทราบดี

*************************
ชาติชาย คเขนชล : 18 มี.ค.2559