9 ตุลาคม 2561

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) : พึงชนะความชั่วด้วยความดี

ผมมีโอกาสเข้าไปทำงานในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) (  Internal Security Operations Command : ISOC)  ในตำแหน่ง นักวิชาการประจำสำนักงานเลขาธิการ กอ.รมน. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 หน่วยงานนี้ตั้งอยู่บริเวณสวนรื่นฤดี กรุงเทพมหานคร ผมเดินทางเข้าไปเป็นครั้งแรก รู้สึกว่าเป็นหน่วยงานที่ใหญ่มาก มีคนทำงาน ทั้งทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และพนักงานต่างๆ เดินกันขวักไขว่อยู่มากมาย แลดูเป็นคนเก่งทั้งนั้นเลย อย่างน้อยมีไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ผมรู้สึกตัวเอง เล็กลง เกือบรีบไปเลย  สายงานต่างๆ ใน กอ.รมน.แลดูสลับซับซ้อน ซึ่งผมยังไม่ค่อยเข้าใจนัก คงต้องเรียนรู้การทำงาน อีกนาน...



หน่วยงานนี้ ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผอ.รมน. 

กอ.รมน.ทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการบูรณาการ อำนวยการ และกำกับดูแลการปฏิบัติงานเพื่อ ป้องกัน ควบคุม แก้ไข และฟื้นฟูสถานการณ์ที่เป็นภัย  หรือ อาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข ทำลาย หรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ ให้กลับสู่สภาวะปกติเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ 

กอ.รมน.มีโครงสร้างและส่วนงานต่างๆ 12 ส่วนงาน คือ
  1. กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร (กพร.)
  2. กลุ่มตรวจสอบภายใน (กตน.)
  3. สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง (สนย.)
  4. สำนักการข่าว (สขว.)
  5. สำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ (สมท.)
  6. สำนักบริหารงานบุคคล (สบค.)
  7. สำนักบริหารงานทั่วไป (สบป.)
  8. สำนักงบประมาณและการเงิน (สปง.)
  9. ศูนย์ติดตามสถานการณ์ (ศตส.)
  10. ศูนย์ประสานการปฏิบัติ มี 5 ศูนย์
  11. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค (กอ.รมน.ภาค) ครบทั้ง 4 ภาค และส่วนแยก
  12. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัด (กอ.รมน.จังหวัด) ครบทั้ง 77 จังหวัด



สัญลักษณ์ของ กอ.รมน.


1.ภายในกรอบสามเหลี่ยม พื้นเป็นเครื่องหมายของธงชาติไทย
2.ตราภายในประกอบด้วย เครื่องหมาย อันแสดงถึงการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันระหว่าง พลเรือน ตำรวจ ทหาร ได้แก่
  • ครุฑ หมายถึง พลเรือน ซึ่งรวมทั้งข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน
  • โล่  หมายถึง ตำรวจ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
  • กงจักร หมายถึง ทหารบก
  • สมอ หมายถึง ทหารเรือ
  • ปีก หมายถึง ทหารอากาศ
3.สีพื้นภายในวงกลม
  • สีเหลือง หมายถึง พลเรือน
  • สีเลือดหมู หมายถึง ตำรวจ
  • สีแดง หมายถึง ทหารทั้งสามเหล่าทัพ
4.พุทธภาษิต "อสาธุ สาธุนา ชิเน" หมายถึง คำเตือนให้ยึดมั่นเป็นหลักปฏิบัติทางธรรมว่า "พึงชนะความชั่วด้วยความดี" 

คำขวัญ ค่านิยมของ กอ.รมน.
มุ่งมั่นบูรณาการ ประสานงานเป็นเลิศ เชิดชูคุณธรรม ผู้นำความมั่นคง ดำรงความสามัคคี

*********************

28 พฤศจิกายน 2559

ผมอึดอัด ขอเขียนอีกครั้งครับ

ผมเคยปฏิบัติงานที่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 และถูกปรับย้ายออกในสมัยผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่งเมื่อ 31 มี.ค.2559 เหตุเพราะขัดแย้งเรื่องนโยบายที่สำคัญ วันนี้..ผู้บังคับบัญชาฯ ท่านนั้นย้ายไปแล้ว แต่ผมยังคงถูกรับเชิญให้เดินสายเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของทุ่นระเบิดในประเทศไทยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานรุ่นใหม่ฟังทั่วประเทศ เพื่อความเข้าใจและมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

เรื่องราวเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมอึดอัด มันยังรบกวนจิตใจของผมอยู่ เรื่องราวเหล่านี้ผมเคยนำเสนอให้ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องฟังมาโดยตลอด หลายยุคหลายสมัย แต่ถึงวันนี้ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด นั้นคือเรื่องราวของ "ระยะเวลาในอนุสัญญาออตตาวา ที่ประเทศไทยจะสิ้นสุดตามที่ให้สัญญาไว้ในวันที่ 1 พ.ย.2561 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเหลืออีกเพียง 2 ปี"  ผมอยากให้ผู้ที่มีอำนาจ ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันรับรู้และตัดสินใจในเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติ  ผมจึงขอเขียนบทความเรื่องนี้อีกครั้ง เผื่อจะสื่อไปถึงท่านเหล่านั้นได้บ้าง



อนุสัญญาออตตาวา
ประเทศไทยไปลงนามในอนุสัญญาในเวทีโลกว่าด้วยห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรือที่เรียกสั้นๆ อนุสัญญาออตตาวา  โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2542 เป็นต้นมา โดยพันธสัญญาข้อหนึ่งที่สำคัญและประเทศไทยทำไม่สำเร็จคือ 

"ต้องค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่ตกค้างจากสงครามและการสู้รบวาระต่างๆ ที่ยังคงฝังอยู่ในแผ่นดินไทยให้หมดสิ้นภายในวันที่ 30 เม.ย.2552"  (ภายใน 10 ปีหลังเริ่มสัญญา)

แต่เมื่อถึงวันที่ 30 เม.ย.2552 พื้นที่อันตรายที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดตกค้าง ที่บันทึกไว้จำนวน 2,556.7 ตร.กม.ในพื้นที่ 24 จังหวัด ประเทศไทยดำเนินการค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดได้เพียง 2,000 กว่าตร.กม. ยังคงเหลือพื้นอันตรายต้องสงสัยฯ ตกค้าง เหลืออยู่อีก 528.2 ตร.กม.

ประเทศไทยจึงอนุมัติต่อที่ประชุมรัฐภาคีต่างๆ เพื่อขอขยายระยะเวลาค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่อันตรายฯ ที่เหลืออยู่จำนวน 528.2 ตร.กม. ต่อไปอีก 9 ปีครึ่ง (หมดเขตถึงวันที่ 1 พ.ย.2561)

เหตุผลที่ประเทศไทยดำเนินการล่าช้า
ประเทศไทยอ้างเหตุผลที่ดำเนินการล่าช้า  ไม่สำเร็จตามระยะเวลา ต่อที่ประชุมในครั้งนั้น ว่า 
  1. การสำรวจของ Landmine Impact Survey เมื่อปี 2543-2544 เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น ทำให้มีความคลาดเคลื่อนและมีพื้นที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิดสูงกว่าความเป็นจริง (2,557 ตร.กม.) ซึ่งทำให้ไทยเสียเวลาเก็บกู้  
  2. วิธีการที่ไทยใช้ในการเก็บกู้คือการเก็บกู้แบบปกติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาเพราะต้องระมัดระวังสูงและใช้งบประมาณมาก
  3. สภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทุ่นระเบิดซึ่งยากและใช้เวลาในการเข้าถึงและจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์เครื่องจักรที่เหมาะสม เช่น ป่าทึบ ทิวเขาที่มีความลาดชันสูง และสภาพอากาศที่ไม่สามารถทำงานได้ตลอดทั้งปี
  4. งบประมาณที่จำกัด และความช่วยเหลือจากต่างประเทศมีไม่มากนัก
คาดว่าหลังจากขอขยายระยะเวลา ไทยจะเหลือพื้นที่ทุ่นระเบิดประมาณ 528.2 ตร.กม. จากพื้นที่ที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิดทั้งหมด 2,557 ตร.กม. โดยจะให้ความสำคัญกับพื้นที่ซึ่งมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน พื้นที่ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม พื้นที่ซึ่งมีผลต่อสภาพแวดล้อมและนิเวศวิทยา และพื้นที่ซึ่งยังปักปันเขตแดนไม่แล้วเสร็จ ตามลำดับ และคาดว่าจะใช้งบประมาณ 17,435.5 ล้านบาท ทั้งจากรัฐบาลไทย และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

แผนการใช้งบประมาณ
ประเทศไทยเสนอแผนการใช้งบประมาณใน 9 ปีครึ่งข้างหน้า ดังภาพด้านล่างนี้


ตามแผน : ในปี ค.ศ.2010-2018 ประเทศไทยวางแผนหางบประมาณมาใช้ในการดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดทั้งสิ้น 15,973.90 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากรัฐบาล 11,500 ล้านบาท และเงินบริจาคจากต่างชาติ 4,473.90 ล้านบาท 

แต่ในความเป็นจริง กลับตรงกันข้าม : รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระบิดให้แก่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ผ่านกระทรวงกลาโหม) เพียง 566.9 ล้านบาท (ถึงปี ค.ศ.2017) ส่วนเงินบริจาคจากต่างประเทศ มีน้อยมาก และไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ 

TIME LINE ของประเทศไทย
ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2559 ประเทศไทยยังคงเหลือพื้นทีอันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดฯ อีก 422.60 ตร.กม.ครอบคลุมพื้นที่ 13 จังหวัด ซึ่งเหลือเวลาอีก 2 ปี 2 เดือน จะสิ้นสุดเวลาที่สัญญาไว้




จากสถิติที่ผ่านมาภายใต้ทรัพยากรและเครื่องมือในปัจจุบัน ประเทศไทยปรับลดพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดฯ ได้ปีละ 30-35 ตร.กม. หากวิเคราะห์แล้ว สถานะปัจจุบัน ประเทศไทยมีความล่อแหลมต่อการผิดสัญญาอีกครั้ง


ผู้มีอำนาจต้องตัดสินใจ
ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในที่ประชุมรัฐภาคี ประเทศที่ประสงค์ขอต่ออนุสัญญาฯ ต้องเสนอคำขอล่วงหน้าหนึ่งปี ก่อนสิ้นสุดสัญญา ดังนั้นหากประเทศไทย จะตัดสินใจขอต่อหรือไม่ต่ออนุสัญญาฯ  อีกครั้ง นั้น ต้องเสนอในปี พ.ศ.2560 (ค.ศ.2017) นั่นหมายถึง ผู้ที่มีอำนาจโดยแท้จริง คือ  คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (National Mine Action Committee : NMAC) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ต้องมีมติเห็นชอบด้วยและจะต้องตัดสินใจว่า "จะเอากันอย่างไร" ไม่ใช่การตัดสินใจของผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ หรือผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ คนใดคนหนึ่ง 



และหากคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ( NMAC) มีมติตัดสินใจไม่ต่อสัญญา ก็ต้องมีมาตรการลงมาเพิ่มเติมว่า แล้วจะทำกันอย่างไรต่อไปให้สำเร็จตามสัญญา  อันที่จริงๆ เรื่องนี้ผมเคยนำเสนอมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 แล้วว่า "จะต่อหรือไม่ต่อ ต้องมีความชัดเจน" (ดังภาพที่แสดงด้านล่าง)  แต่ไม่มีผู้บริหารท่านใดให้ความสนใจ ทุกคนมาอยู่ชั่วพักชั่วยามแล้วก็จากไป  จนถึงวันนี้อาจจะต้องเร่งรีบดำเนินการมากขึ้น


จะใช้เหตุผลใดในการขอต่อสัญญา
หากประเทศไทยจะขอต่อสัญญาที่เป็นครั้งที่ 2 ต้องตอบคำถามมากมาย เพื่อให้ตัวเองไม่เสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือในรัฐภาคี เพราะแผนที่เคยเสนอไว้ในการต่อสัญญาครั้งที่ 1  ประเทศไทยไม่เคยได้ทำตามแผนเลย เหมือนการขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ เหมือนเด็กดื้อ ที่ทำการบ้านไม่เสร็จเป็นครั้งที่ 2 แล้วจะเอาเหตุผลอะไรไปอ้างครู  

หากประเทศไทย ปฏิบัติงานเก็บกู้ทุ่นระเบิดฯ ไม่แล้วเสร็จตามอนุสัญญาออตตาวาที่ให้ไว้อีกครั้ง ก็คงไม่เป็นไร รัฐภาคีทั้งหลายก็คงไม่ลงมติให้จับกุมประเทศไทยไปลงโทษ เข้าคุกเข้าตาราง แต่อย่างใด  แต่ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากค่าความน่าเชื่อถือและค่าความเชื่อมั่นต่อสังคมโลก ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออนุสัญญาฯ อีกหลายฉบับที่เข้าร่วมอยู่แล้ว และอีกหลายฉบับที่กำลังจะตามมา

ฤา..เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของประเทศไทยที่เคยสร้างสมไว้ในอดีต จะถูกทำลายลงในยุคผู้นำปัจจุบันของประเทศไทย  ช่วยกันเถอะครับ หันมาดูข้อเท็จจริง และช่วยกันแก้ไขเสียที ก่อนที่จะสายเกินไป

********************************
ชาติชยา ศึกษิต : 28 พ.ย.2559

คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ( NMAC) (ตามโครงสร้าง)

28 มีนาคม 2559

หนังสือเล่มสีส้ม

หลังจากอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) มีผลบังคับใช้แล้ว การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย (Land Impact Survey : LIS) อย่างเป็นทางการได้เริ่มขึ้นในเดือน พ.ค.2543 โดยศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ (Survey Action Center : SAC) เป็นผู้ปฏิบัติการสำรวจ มีองค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (Norwegian People’s Aid : NPA) เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการสำรวจ การสำรวจเสร็จสิ้นในเดือน มิ.ย.2545 

ผลการสำรวจ
ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (UXO) จำนวน 933 แห่ง ชุมชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากภัยทุ่นระเบิดจำนวนทั้งสิ้น 530 หมู่บ้าน แยกเป็นหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 297 หมู่บ้าน ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา 139 หมู่บ้าน ตามแนวชายแดนไทย-ลาว 90 หมู่บ้าน และตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย 4 หมู่บ้าน รวมขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 2,556.7 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ใน 24 จังหวัด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของราษฎรจำนวน 503,682 คน

หนังสือเล่มสีส้ม

หนังสือเล่มสีส้ม : โจทย์ของประเทศไทย
พื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดจำนวน 2556.7 ตร.กม.ใน 24 จังหวัด ที่ถูกรายงานไว้ในหนังสือการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเะทศไทย (Landmind Impact Survey Kingdom of Thailand) ซึ่งผมมักจะเรียกเขาว่า "หนังสือเล่มสีส้ม"  ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ประเทศไทยต้องดำเนินการค้นหาเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดในพื้นที่ดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อน 1 พ.ค.2552 ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาออตตาวา แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เสร็จ จำต้องขอต่ออนุสัญญาฯ ไปอีก โดยการขอต่อสัญญางวดใหม่นี้ ประเทศไทยขอถึงวันที่ 1 พ.ย.2561 นับจากปัจจุบันเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีเศษๆ และมีแนวโน้มว่ากำลังจะไม่เสร็จอีก

กำลังจะถูกทิ้ง
หนังสือเล่มสีส้มนี้ จัดพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องราวรายละเอียดเกี่ยวกับผลการสำรวจ ความเป็นมาและวิธีการที่ใช้ การรายงานผลกระทบจากทุ่นระเบิดของประเทศไทยโดยละเอียด มีการจัดทำเป็นซีดีรอมแนบไว้ด้วย 

ตอนผมเข้ามาทำงานในศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิด (TMAC) ใหม่ๆ ประมาณปลายปี 2555 กำลังมีการจัดระเบียบภายในหน่วยงาน โดย เจ้าหน้าที่ทั้งหลายพยายามกำจัดหนังสือเก่าๆ  สิ่งของ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ที่ชำรุดและไม่จำเป็นแล้ว บ้างก็นำไปทิ้ง บ้างก็นำไปขาย เพื่อให้เกิดความสะอาดของหน่วยงาน  ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรมากนัก ผมพบหนังสือเล่มนี้กำลังจะถูกนำไปทิ้ง โดยไม่มีใครใส่ใจ ผมจึงแอบเก็บมาไว้ศึกษา จนกระทั่งปัจจุบันผมยังใช้เป็นคัมภีร์หลักประกอบการบรรยาย การปฏิบัติงาน และศึกษาภูมิหลังเรื่องราวของทุ่นระเบิดในประเทศไทยมาโดยตลอด

ปัจจุบัน "หนังสือเล่มสีส้ม" นี้  เหลืออยู่นับจำนวนเล่มได้  
ทีมสำรวจ LIS เมื่อปี พ.ศ.2543-2545

ดร.กาย โรดส์ คนที่ 4 จากซ้าย

ดร.กาย โรดส์ ผู้นำโครงการ
ผู้นำโครงการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดและกระสุนตกค้างที่ยังไม่ระเบิดในประเทศไทย ขณะนั้น คือ ดร.กาย โรดส์ จากองค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (NPA) ที่เหลือจะประกอบด้วย ผู้ช่วยผู้นำโครงการ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการข้อมูล ผู้บริหารฝ่ายการเงิน การบริหาร การจัดซื้อ และคณะสำรวจจำนวน 4 ชุด ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภาคสนามมากกว่า 50 คน รวมทั้งหมดแล้วเป็นผู้บริหารชาวต่างประเทศ 4 คน ที่เหลือเป็นคนไทย จำนวนประมาณ 80 คน

ขอลายเซ็น
ในโอกาสที่นาย Stefano Toscano เอกอัครราชฑูตและผู้อำนวยการศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการเก็บกู้ทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมแห่งนครเจนีวา (Geneva International Centre for Humanitarian Deming-GICHD) พร้อมด้วย Dr.Guy Rhodes ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของ GIHD  ได้มาเยี่ยมชมการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของประเทศไทย เป็นครั้งแรกในพื้นที่ จ.สุรินทร์ และ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 13-15 ธ.ค.2558 ผมได้เข้าร่วมให้การต้อนในครั้งนั้นด้วย  จึงมีโอกาสได้พบกับ ดร.กาย โรดส์ เป็นครั้งแรกเช่นกัน

ผมนำ "หนังสือเล่มสีส้ม" ติดตัวไปด้วย เพื่อถือโอกาสขอลายเซ็นตัวจริง เสียงจริง จาก ดร.กาย โรดส์ ผู้นำโครงการฯ เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เสียเลย ท่านรู้สึกดีใจมาก และผมก็รู้สึกดีใจเช่นกัน



ปัจจุบัน ผมยังใช้ "หนังสือเล่มสีส้ม" นี้ เป็นคัมภีร์หลักในปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทยตลอดมา 


************************
ชาติชยา ศึกษิต : 29 มี.ค.2559