25 มีนาคม 2555

อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล

อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
(อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล)


ข้อมูล/ภูมิหลัง
  1. ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-personnel landmine) หมายถึงทุ่นระเบิดที่ได้รับการออกแบบให้ระเบิดเมื่อบุคคลปรากฏตัวเข้าใกล้หรือสัมผัส โดยไม่มีการเจาะจงเป้าหมาย และจะทำให้บุคคลหนึ่งหรือมากกว่า บาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต เป็นอาวุธที่มักใช้ในการสู้รบเพื่อการป้องกันตน
  2. ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจำนวน 82 ประเทศทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งจากผลการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลขั้นที่ 1 ของไทย (Thailand Landmine Level-one Impact Survey) ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลรวมทั้งสิ้น 2,556.7 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 531 ชุมชน 185 ตำบล 84 อำเภอ ใน 27 จังหวัด ซึ่งมีพื้นที่ติดหรืออยู่ใกล้ชายแดนและมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 504,303 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้ง การยังชีพของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม
  3. โดยที่ไทยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และเห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน ไทยจึงได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรืออนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-personnel Mines and on Their Destruction หรือ Mine Ban Convention) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักด้านมนุษยธรรมในการแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และลดจำนวนผู้ประสบภัยทุ่นระเบิด
  4. ไทยลงนามในอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 เป็นรัฐภาคีลำดับที่ 53 และเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นรัฐภาคี และได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 และรัฐบาลไทยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) ขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2542 เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในประเทศไทยและเพื่อรองรับการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ทั้งนี้ ศทช. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมยุทธการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม จนถึงปัจจุบัน อนุสัญญาฯ มีรัฐภาคีจำนวนทั้งสิ้น 156 ประเทศ สำหรับอาเซียนมี 6 ประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ คือ ไทย กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และอินโดนีเซีย ขณะที่ สิงคโปร์ พม่า ลาว และเวียดนามยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ

สาระสำคัญของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิด
อนุสัญญาฯ ได้กำหนดพันธกรณีหลัก 5 ประการ เพื่อให้รัฐภาคีทุกประเทศต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ
  1. การเก็บกู้ทุ่นระเบิด อนุสัญญาฯ กำหนดให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐภาคีที่ต้องเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่ตกค้างอยู่ใต้ดินให้หมดไป เพื่อประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดได้พัฒนาพื้นที่ทำกินและพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่ตนเอง ทั้งนี้ รัฐภาคีจะต้องเก็บกู้ให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปีของการมีผลบังคับใช้ของอนุสัญญาฯ กับรัฐภาคีนั้นๆ 
  2. การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด อนุสัญญาฯ ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ประสบภัยส่วนมากเป็นประชาชนทั่วไปที่ได้รับเคราะห์จากการวางทุ่นระเบิดในอดีต ทั้งนี้ อนุสัญญาฯ กำหนดให้รัฐภาคีมีบูรณาการการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยของตนเอง อาทิ ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉิน การฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและจิตใจ เป็นต้น 
  3. การทำลายทุ่นระเบิดในคลัง อนุสัญญาฯ กำหนดให้รัฐภาคีทำลายทุ่นระเบิดที่เก็บอยู่ในคลังทั้งหมดภายใน 4 ปีของการมีผลบังคับใช้ของอนุสัญญาฯ กับรัฐภาคีนั้นๆ 
  4. การให้ความรู้และแจ้งเตือนเกี่ยวกับอันตรายและวิธีป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล เพื่อลดจำนวนผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด อนุสัญญาฯ ส่งเสริมให้รัฐภาคีให้ความรู้และแจ้งเตือนเกี่ยวกับอันตรายของทุ่นระเบิดและวิธีป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดแก่ประชาชน 
  5. การสนับสนุนความเป็นสากลของอนุสัญญาฯ รัฐภาคีมีความประสงค์ที่จะให้อนุสัญญาฯ นี้มีเป็นสากลโดยให้มีประเทศลงนามให้มากที่สุด

การดำเนินการตามพันธกรณีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดของไทย
  1. การเก็บกู้ทุ่นระเบิด การเก็บกู้ทุ่นระเบิดในประเทศไทยมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเป็นภารกิจที่ต้องใช้เวลา เพราะเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ มีความเสี่ยง ใช้งบประมาณสูง และพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพ ภูมิประเทศที่ยากต่อการเข้าถึง ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน และมีองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) สนับสนุนในบางพื้นที่ จนถึงปัจจุบัน ไทยเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลไปแล้วคิดเป็นพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 2,003 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 78 ของพื้นที่ซึ่งคาดว่ามีทุ่นระเบิดทั้งหมด และได้มีการส่งมอบเพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่ทำกิน แหล่งท่องเที่ยว และสาธารณประโยชน์อื่นๆ ทั้งนี้ ประมาณการว่าการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ซึ่งเหลืออยู่จะแล้วเสร็จได้ภายในปี 2561 ตามที่ไทยมีพันธกรณีในกรอบอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หากได้รับงบประมาณและการสนับสนุนอย่างพอเพียง
  2. การทำลายทุ่นระเบิดที่เก็บสะสมในคลังอาวุธ ไทยได้ทำลายทุ่นระเบิดที่เก็บสะสมในคลังอาวุธที่มีอยู่จำนวน 337,725 ทุ่น จนหมดสิ้นตามพันธกรณีอนุสัญญาฯ แล้วเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2546
  3. การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด จากการสำรวจ ณ เดือนเมษายน 2552 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดที่ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 1,252 ราย จังหวัดที่มีผู้ประสบภัยมากที่สุดคือ จังหวัดสระแก้ว ในภาพรวมการดำเนินงานด้านช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดของไทยมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล โดยครอบคลุมตั้งแต่ช่วงการแจ้งเตือนภัย การให้บริการทางการแพทย์ที่ทั่วถึงตั้งแต่การช่วยเหลือฉุกเฉินและบริการต่อเนื่อง การฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย การให้สวัสดิการในเบื้องต้น รวมทั้งการฝึกอาชีพเพื่อให้สามารถกลับสู่การดำรงชีพในสังคมได้ โดยมีกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้พิการรองรับ หน่วยงานหลักที่ดำเนินการคือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ รวมทั้ง NGOs ที่เกี่ยวข้อง โดยมีแผนแม่บทการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดปี 2550-2554 เป็นกรอบรองรับการดำเนินงาน ในปัจจุบัน จำนวนผู้ประสบภัยรายใหม่ลดลงในแต่ละปีเพราะประชาชนเริ่มตระหนักถึงภัยของทุ่นระเบิด และได้เริ่มมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลของผู้ประสบภัยและกรอบแผนปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ อย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรมเพื่อให้การดำเนินงานในด้านนี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  4. การให้ความรู้และแจ้งเตือนเกี่ยวกับอันตรายและวิธีป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติและ NGOs ต่างๆ มีบทบาทอย่างต่อเนื่องและแข็งขันในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายและวิธีป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Mine Risk Education – MRE) โดยเน้นตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และชายแดนไทย-พม่า ในปัจจุบันมีจำนวนผู้ได้รับการอบรม MRE จำนวนมากกว่า 500,000 คน ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำแผนแม่บทการให้ความรู้และแจ้งเตือนภัยจากทุ่นระเบิด พ.ศ. 2550-2554 เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานในภาพรวมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย
งานด้านทุ่นระเบิดมีมิติที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ อย่างหลากหลาย ทั้งด้านความมั่นคง สาธารณสุข การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การประชาสัมพันธ์ หน่วยงานระดับท้องถิ่น โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นกลไกประสานนโยบายและการดำเนินงาน และศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงาน โดยกระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทสนับสนุนในภาพรวม

นอกจากนี้ มีองค์การพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการเรื่องนี้จากนวนมาก เช่น มูลนิธิ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มูลนิธิลุ่มน้ำโขงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิถนนแห่งสันติภาพ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ฯลฯ

ความร่วมมือกับต่างประเทศ
ไทยมีนโยบายสนับสนุนความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดเพื่อส่งเสริมบทบาทในด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะด้านการผลิตขาเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย ซึ่งหน่วยงานไทยมีขีดความสามารถ ที่ผ่านมา NGOs เช่น มูลนิธิขาเทียมฯ มูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้จัดการฝึกอบรมช่างทำขาเทียม และการจัดบริการหน่วยเคลื่อนที่เพื่อผลิตและแจกขาเทียม แก่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม รวมทั้งให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน เช่น กัมพูชา พม่า ในด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิด ที่ผ่านมา ไทยมีความร่วมมือกับต่างประเทศไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นความช่วยเหลือทางเทคนิคและอุปกรณ์ เช่น จากสหรัฐฯ และแคนาดา และความช่วยเหลือที่ผ่าน NGO เช่น ญี่ปุ่น ปัจจุบัน ไทยได้รับความช่วยเหลือจากแหล่งต่างๆ มากขึ้น เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการเก็บกู้ทุ่นระเบิด เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือแก่มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน (MOM) ภายใต้กองทุน Japan-ASEAN Integration Fund สำหรับดำเนินโครงการสำรวจเพื่อลดพื้นที่ทุ่นระเบิดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และความร่วมมือกับ United Nations Development Programme (UNDP) และ Norwegian People’s Aid (NPA) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและสนับสนุนการดำเนินงานการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ

อื่นๆ
วันที่ 4 เมษายน ของทุกปีเป็นวันที่สหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันทุ่นระเบิดสากล (International Day for Mine Awareness and Assistance in Mine Action) เพื่อสร้างความตระหนักและประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนทั่วไปรับทราบเกี่ยวกับปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่มีอยู่ในหลายประเทศเพื่อระดมความช่วยเหลือจากนานาชาติในการร่วมขจัดปัญหาทุ่นระเบิดให้หมดสิ้นอย่างเร่งด่วน


****************************************
ที่มา: กองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ กรมองค์การระหว่างประเทศ (12 พฤษภาคม 2553)

ไม่มีความคิดเห็น: