16 ตุลาคม 2561

ศาลศักดิ์สิทธิ์ ภายใน กอ.รมน. สวนรื่นฤดี

ภายใน กอ.รมน.บริเวณสวนรื่นฤดี มีศาลศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 2 ศาล คือ ศาลที่มีมาแต่ตั้งเดิมขณะเป็นพระตำหนักสวนรื่นฤดี คือ ศาลท่านท้าวกุเวรธิราช (ศาลเจ้าพ่อหนูเผือก) และอีกศาลสร้างขึ้นภายหลัง คือ ศาลท้าววสุเทพเทพารักษ์ ทั้งสองศาลเป็นที่เคารพสักการะของผู้ที่ทำงาน ภายใน กอ.รมน. โดยมีความเชื่อว่า หากบูชาแล้วจะมีความร่มเย็นเป็นสุข ได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น ส่วนบุคคลทั่วไป ก็มักจะมาบนบานศาลกล่าวเพื่อให้สอบบรรจุเขารับราชการหรือเข้าทำงานตำแหน่งต่างๆ ได้ 

ด้านหน้า คือ  ศาลวสุเทพเทพารักษ์ 
ด้านหลัง คือ ศาลท่านท้าวกุเวรธิราช (ศาลเจ้าพ่อหนูเผือก) 

ศาลท่านท้าวกุเวรธิราช (ศาลเจ้าพ่อหนูเผือก)
ประวัติความเป็นมากล่าวว่า แต่เดิมศาลท่านท้าวกุเวรธิราช หรือเจ้าพ่อหนูเผือก ไม่ได้ตั้งอยู่ที่สวนรื่นฤดีแห่งนี้ เป็นศาลขนาดใหญ่ที่มีผู้คนเคารพสักการะจำนวนมาก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยตั้งอยู่ที่บริเวณ "บ้านนรสิงห์"  ซึ่งปัจจุบันคือ ทำเนียบรัฐบาล  

บ้านนรสิงห์
ทำเนียบรัฐบาล เดิมชื่อ “บ้านนรสิงห์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ พลเอก พลเรือเอก มหาเสวกเอก จางวางเอก เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถวายงานใกล้ชิด โปรดให้เป็นหัวหน้าห้องพระบรรทม นั่งร่วมโต๊ะเสวย ทั้งมื้อกลางวัน และกลางคืน ตลอดรัชกาล และตามเสด็จโดยลำพัง เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย

ชื่อบ้านนรสิงห์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า เป็นชื่อพระราชทานหรือเจ้าของบ้านตั้งขึ้นเอง คาดว่าเนื่องจากเจ้าพระยารามราฆพ เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมมหรสพ ซึ่งมีตราเป็นรูปนรสิงห์ อันเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์อวตารลงมาปราบยักษ์หิรัณยกศิปุ แต่เดิม เคยมีรูปปั้นนรสิงห์เต็มตัว ตั้งอยู่กลางสนามหญ้าหน้าตึกไกรสร (ตึกไทยคู่ฟ้า) ปัจจุบันไม่ทราบว่าเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ใด

บ้านนรสิงห์ ปัจจุบัน คือ ทำเนียบรัฐบาล
ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2484 เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้าน ได้มีหนังสือถึง นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอขายบ้านนรสิงห์ให้แก่รัฐบาล ในราคา 2,000,000 บาท เพราะเห็นว่าใหญ่โตเกินฐานะ และเสียค่าบำรุงรักษาสูง แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ซื้อ แต่หลักฐานบางแห่งระบุว่า จริงๆ แล้ว เจ้าพระยารามราฆพ มิได้อยากขายบ้านนรสิงห์   รัฐบาลอยากได้บ้านนรสิงห์ไว้เป็นที่ทำการรัฐบาลและรับแขกบ้านแขกเมือง จึงบังคับให้ เจ้าพระยารามราฆพขาย โดยรัฐบาลอ้างเหตุผลว่ากลัวทหารญี่ปุ่นจะมาขอเช่าเป็นกองบัญชาการเพื่อทำสงครามมหาเอเซียบูรพา  (ทัั้งๆ ที่ขณะนั้น ญี่ปุ่นยังไม่ยกพลขึ้นบกในประเทศไทย แต่อย่างใด) 

จนกระทั่งต่อมาถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2484 ปีเดียวกัน จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เห็นควรให้รัฐบาลไทยซื้อบ้านนรสิงห์ไว้ เพื่อเป็นสถานที่รับรองแขกเมือง  ในที่สุด จึงได้ตกลงซื้อขายกันในราคา 1,000,000 บาท โดยจ่ายเงินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้แก่เจ้าพระยารามราฆพ แล้วมอบบ้านนรสิงห์ให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล โดยให้ใช้เป็นที่ตั้งทำเนียบรัฐบาล และเป็นสถานที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ศาลท่านท้าวกุเวรธิราช (ศาลเจ้าพ่อหนูเผือก)

ย้ายศาลเจ้าพ่อหนูเผือกมาตำหนักสวนรื่นฤดี
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งเป็นพระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เคยประทับอยู่ที่ "บ้านนรสิงห์" ตอนพระองค์ฯ ท่าน ทรงถวายงานในกรมมหรสพ อนุมานได้ว่าหลังจากที่ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี สร้างพระตำหนักสวนรื่นฤดีเสร็จแล้ว เมื่อ พ.ศ.2477 และต่อมาทรงทราบเรื่องว่า บ้านนรสิงห์ ถูกขายให้รัฐบาล ในปี พ.ศ.2484  พระนางเจ้าสุวัทนาฯ จึงได้โปรดอัญเชิญให้ย้าย ศาลท่านท้าวกุเวรธิราช (ศาลเจ้าพ่อหนูเผือก) จากบ้านนรสิงห์ มาประดิษฐานไว้ที่พระตำหนักสวนรื่นฤดี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  ดังประวัติสังเขป ที่จารึกไว้ด้านหลังศาล


ประวัติ ศาลท่านท้าวกุเวรธิราช (ศาลเจ้าพ่อหนูเผือก)
ที่จารึกไว้ด้านหลังศาล
บูรณะครั้งสุดท้าย 10 ก.ย.2550
ศาลวสุเทพเทพารักษ์
ศาลท้าววสุเทพเทพารักษ์ เป็นศาลที่เปรียบเสมือนเจ้าที่ผู้ดูแล ปกป้อง และคุ้มครองบริเวณสวนรื่นฤดี คำว่า  เทพารักษ์ หมายถึง เทวดาที่ดูแลรักษาที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หากเทวดานั้นอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ จะเรียกว่า รุกขเทวดา หากเทวดานั้น อาศัยอยู่ตามบ้านเรือนจะเรียกว่า "พระภูมิ" 

ศาลวสุเทพเทพารักษ์

ท่านใดประสงค์ที่จะมาไหว้บูชา เคารพสักการะ และขอพร สามารถมาได้ในเวลาราชการ ดอกไม้ ธูปเทียน มีให้บริการที่บริเวณศาล


ป้าแดง เจ้าหน้าที่ที่คอยให้บริการ ดอกไม้ ธูปเทียน
คำอธิฐานบูชา ท่านท้าวกุเวรธิราช
อิติสุขะโต อะระหังพุทโธ  นะโมพุทธายะ ปะฐะวีคงคา ท่านท้าวกุเวรธิราช นะมามิหัง

คำอธิฐานบูชา ท่านท้าววสุเทพเทพารักษ์
อิติสุขะโต อะระหังพุทโธ  นะโมพุทธายะ ปะฐะวีคงคา ท่านท้าววสุเทพเทพารักษ์ นะมามิหัง

*******************************
ที่มาข้อมูล

  • https://th.wikipedia.org/wiki/พระนางเจ้าสุวัทนา_พระวรราชเทวี
  • https://th.wikipedia.org/wiki/ทำเนียบรัฐบาลไทย
  • https://th.wikipedia.org/wiki/เทพารักษ์
  • https://www.silpa-mag.com/club/miscellaneous/article_7714

12 ตุลาคม 2561

พระตำหนักสวนรื่นฤดี ภายใน กอ.รมน.

ผมมาทำงานในกองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)  เมื่อ 2 ต.ค.2561 กอ.รมน. ตั้งอยู่ภายในบริเวณสวนรื่นฤดี และยังมีพระตำหนักเพชรรัตน์  ตั้งตะหง่านอยู่ให้เห็นด้วย ผมถามคนที่ทำงานอยู่ก่อนเกี่ยวกับเรื่องความเป็นมาของคำว่า "สวนรื่นฤดี" และ "พระตำหนักเพชรรัตน์" ก็ได้รับคำตอบแบบกว้างๆ จึงตัดสินใจลองสืบค้นข้อมูลดู หลังจากทราบเรื่องราวความเป็นมาแล้ว ผมรู้สึกภูมิใจว่าผมได้มีโอกาสทำงานในสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์ไทยเลยทีเดียว          

ภาพถ่ายพระตำหนักสวนรื่นฤดี  เมื่อปี พ.ศ.2477
พระราชธิดา องค์เดียวของรัชกาลที่ 6
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นพระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระนามเดิมว่า เครือแก้ว อภัยวงศ์ เป็นบุตรีของพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) กับคุณเล็ก บุนนาค พระองค์ได้ประสูติการพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2468  คือ สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี แต่หลังจากประสูติพระเจ้าลูกเธอได้เพียงหนึ่งวัน รัชกาลที่ 6 พระราชสวามีก็เสด็จสวรรคตลงในวันต่อมาคือ วันที่ 25 พ.ย.2468    

ย้ายที่ประทับหลายแห่ง
หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ขึ้นครองราชย์ มีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองหลายครั้ง เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และกบฏบวรเดช ทำให้พระนางเจ้าสุวัทนาฯ และสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ ต้องทรงย้ายที่ประทับอยู่ตลอดเวลา เช่น ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง, พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต, ตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา, พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวีในสวนสุนันทา และพระตำหนักเขียว วังสระปทุม

พระตำหนักสวนรื่นฤดี
ต่อมาในปี พ.ศ.2475 พระนางเจ้าสุวัทนาฯ จึงได้ทรงโปรดให้สร้างตำหนักใหม่ขึ้นเป็นส่วนพระองค์ บนที่ดิน 15 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา บริเวณหัวมุมถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัย ซึ่งเป็นที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่คราวอภิเษกสมรส  ตำหนักแห่งนี้ มีมีนายหมิว อภัยวงศ์ เป็นสถาปนิก และพลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ (แอบ รักตะประจิต) เป็นวิศวกร พระตำหนักสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2477  พระองค์ฯ ทรงพระราชทานนามว่า "พระตำหนักสวนรื่นฤดี"  

พระนางเจ้าสุวัทนาฯ กับพระราชธิดาที่พระตำหนักสวนรื่นฤดี ในสมันรัชกาลที่ 7

องค์ตำหนักเป็นตึกสองชั้นครึ่ง สร้างด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ผสมอเมริกัน สง่างามด้วยรูปทรงเรียบทันสมัย หลังคาเป็นทรงปั้นหยาลาดชัน มีอัฒจันทร์กว้างขึ้นสู่มุขด้านหน้า เหนือขึ้นไปเป็นระเบียงทึบมีคิ้วคอนกรีตต่อเนื่องกับคิ้วที่ผนังรอบอาคาร มีพระแกลกว้างโดยรอบและมีช่องแสงรูปวงกลม คิ้ว คาน และพระแกลสีอ่อนตัดกับตำหนักสีเข้ม

พระตำหนักสวนรื่นฤดีแห่งนี้ เป็นที่สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ ได้ทรงพระอักษรตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยพระอาจารย์พิเศษจากโรงเรียนราชินีต่อมาได้เสด็จไปทรงพระอักษร ณ โรงเรียนราชินี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แล้วทรงลาออกมาทรงพระอักษรกับมิสซิสเดวีส์ อดีตครูโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย และนางสาวศรีนาถ สุทธะสินธุ (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ) ตลอดทั้งยังทรงเรียนเปียโนกับมิสเซดี้อีกด้วย  

สวนรื่นฤดี เป็นตำหนักที่ร่มรื่นสวยงาม ประกอบด้วยสวนผลไม้ นานาชนิด เช่น มะม่วง ชมพู่ ขนุน มะปราง ฯลฯ  และมีสระสรงน้ำ(สระว่ายน้ำ) สำหรับเสด็จลงสรงน้ำเป็นประจำด้วย

เมื่อ สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ มีพระชนมายุ 12 พรรษา พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงสังเกตได้ว่าพระอนามัยของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ มีลักษณะพิเศษ เช่น ทรงมีความสามารถด้านการคำนวณ การจดจำทิศทาง และความสนใจจดจ่อต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวที่ผิดแผกจากเด็กสามัญทั่วไป จึงทรงพาสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ ไปทรงศึกษาต่อและประทับรักษาพระองค์ยังประเทศอังกฤษ

ขายให้กองทัพบก
เมื่อเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2482-2488) ขณะที่ทรงประทับยังสหราชอาณาจักร ได้เสด็จลี้ภัยไปที่แคว้นเวลล์ เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไบรตันแล้ว ทรงซื้อพระตำหนักใหม่ ซึ่งความอัตคัตขัดสนก็บังเกิดขึ้น เพราะต้องชุบเลี้ยงบรรดาข้าหลวง และเลี้ยงต้อนรับคนไทยที่ไปเฝ้ายังตำหนัก ในปี  พ.ศ.2498 จึงทรงขายพระตำหนักสวนรื่นฤดีแก่กองทัพบกในราคา 9,000,000 บาทเพื่อทรงนำเงินไปใช้สอยระหว่างสงคราม และพระราชทานเงินบางส่วนสมทบทุนสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 

สภาพพระตำหนักสวนรื่นฤดี ในปัจจุบัน ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นพระตำหนักเพชรรัตน์
ปัจจุบันพระตำหนักสวนรื่นฤดี เปลี่ยนชื่อเป็น "พระตำหนักเพชรรัตน์" (ไม่มีหลักฐานว่าเปลี่ยนชื่อเมื่อใด) กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2540 ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา พื้นที่ที่เหลือใช้เป็นที่ทำงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)  สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 


เขตที่ดินโบราณสถานพระตำหนักเพชรรัตน์ ประกาศเมื่อ 10 ก.ย.2540

*************************************

ที่มาข้อมูล
https://th.wikipedia.org/wiki/พระนางเจ้าสุวัทนา_พระวรราชเทวี
https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ_เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา_สิริโสภาพัณณวดี
https://th.wikipedia.org/wiki/พระตำหนักสวนรื่นฤดี
https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

11 ตุลาคม 2561

ศาลเจ้าแม่สุนันทา

บริเวณแผนกที่พักแรม กองกิจการสโมสร กรมสวัสดิการทหารบก เป็นห้องพักของผมและเพื่อนๆ ที่มาจากต่างจังหวัดในขณะที่มาปฏิบัติงานในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรุงเทพฯ ที่พักแห่งนี้อยู่ในซอยตรงข้ามกับหอสมุดแห่งชาติ ไม่ห่างจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเท่าใดนัก บริเวณด้านหน้าที่พักมีศาลอยู่ศาลหนึ่งชื่อว่า  "ศาลเจ้าแม่สุนันทา" ซึ่งมีผู้คนมาเคารพสักการะ นำน้ำแดงมาถวายเพื่อขอพรกันเป็นจำนวนมาก ผมได้เข้าไปอ่านป้ายที่เขียนอธิบายไว้หน้าศาล สรุปคือ เป็นศาลของ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระนางเรือล่ม นั่นเอง    



พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พระนางเรือล่ม)
(คัดลอกมาจากป้ายที่เขียนไว้หน้าศาล)
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกพระนามว่า "พระนางเรือล่ม" มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์" เป็นพระราชธิดาในพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2403 เป็นพระเจ้าลูกเธอรุ่นเล็ก ลำดับที่ 50 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์ โดยรับราชการฝ่ายในเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 


พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงมีพระอุปนิสัยแข็งแกร่งเด็ดขาด แต่ด้วยพระสิริโฉม รวมทั้งพระอัธยาศัยที่สุภาพ เรียบร้อย และสงบเสงี่ยม ทำให้พระองค์เป็นที่น่านับถือในพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร และทรงเป็นที่สนิทเสน่หาในพระราชสวามียิ่งนัก

เมื่อวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการแต่งเรือพระที่นั่งเพื่อเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน พร้อมพระมเหสีทุกพระองค์ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และข้าราชบริพาร โดยก่อนวันเสด็จพระราชดำเนินนั้น พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงพระสุบิน (ฝัน) ว่า พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพระดำเนินข้ามสะพานแห่งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพลัดตกน้ำลงไป พระองค์สามารถคว้าพระหัตถ์ไว้ได้ แต่พระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ก็ลื่นหลุดจากพระหัตถ์ของพระองค์ไป พระองค์ทรงคว้าพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอจนทรงตกลงไปในน้ำด้วยกัน ทั้ง 2 พระองค์ ถึงแม้พระองค์จะทรงหวั่นพระทัย แต่ก็มิได้ทรงกราบบังคมทูลให้พระราชสวามีทรงทราบ และได้ตามเสด็จฯ ประพาสพระราชวังบางประอิน ตามพระราชประสงค์

ในวันเสด็จฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เคลื่อนขบวนเรือต่างๆ ออกไปก่อนในเวลาประมาณ 2 โมงเช้า โดยพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ประทับบนเรือเก๋งกุดัน โดยมีเรือปานมารุตซึ่งเป็นเรือกลไฟจูงเรือพระประเทียบ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จพระราชกิจถึงจะเสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งโสภาณภควีตามไป 


เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาดนั้น จมื่นทิพเสมากับปลัดวังซ้าย ลงมากราบทูลว่า "เรือพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้น ล่มลงที่บางพูด องค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ และพระชนนีสิ้นพระชนม์"  

โดยในขณะที่เรือล่มนั้น พระยามหามนตรี ได้ออกคำสั่งห้ามผู้ใดลงไปช่วยเหลือด้วยการขัดต่อกฏมณเฑียรบาลที่ห้ามมิให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล

พระนางเธอพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่ม ณ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี พระธิดา และพระราชบุตรในพระครรภ์ ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาอีกด้วย ระหว่างการตามเสด็จพระราชสวามีแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังบางปะอิน

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ ทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี" ดำรงพระฐานันดรศักดิ์พระอัครมเหสีพระองค์แรก ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเนื่องจากเหตุการณ์ที่ทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สิ้นพระชนม์นี้ ทำให้มหาชนถวายพระนามว่า "พระนางเรือล่ม"

*************************