20 มีนาคม 2557

4 เมษายน.."วันทุ่นระเบิดสากล" กับผู้ประสบภัยในประเทศไทย


"Declares that 4 April of each year shall be officially proclaimed and observed as International Day for Mine Awareness and Assistance in Mine Action."
มติที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2548



4 เมษายน ของทุกปี เป็นวันระหว่างประเทศสำหรับการให้ความรู้เกี่ยวกับทุ่นระเบิดและการให้ความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิด  ในปี 2557 ที่จะถึงนี้ องค์การสหประชาชาติยังคงใช้แคมเปญ  "ขอยืมขาของคุณหน่อยนะ" (Lend your Leg) เช่นเดิม ในการรณรงค์เพื่อแสดงการสนับสนุนและเห็นอกเห็นใจแก่ผู้รอดชีวิตที่ประสบภัยจากทุ่นระเบิด


ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย
ประเทศไทยมีทุ่นระเบิดตกค้างจากผลการสู้รบตามแนวชายแดนเมื่อ 20-30 ปีก่อน จากคู่ขัดแย้งที่แตกต่างกันทั้งทหารญวน เขมร  พรรคคอมมิวนิสต์ กองกำลังชนกลุ่มน้อย และกองกำลังของทหารไทยเราเองที่ทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติ ทุ่นระเบิดตกค้างเหล่านี้ ศูนย์ปฎิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติดำเนินการค้นหา เก็บกู้และทำลายมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 จนกระทั่งปัจจุบัน ยังคงเหลือพื้นที่ที่สงสัยว่ายังมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่อีกประมาณเกือบ 500 ตร.กม.ครอบคลุมพื้นที่ 18 จังหวัดตามแนวชายแดน



ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในห้วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2552-2556)    
ในรอบ 5 ปี (พ.ศ.2552-2556) ราษฎรไทยเกิดอุบัติเหตุจากการเหยียบทุ่นระเบิดในพื้นที่ 9 จังหวัด โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ จ.ศรีสะเกษ เกิดขึ้นถึง 24 ครั้ง บาดเจ็บและพิการ 34 คน และเสียชีวิต 2 คน รองลงมาคือ จ.สระแก้ว เกิด 8 ครั้ง (พิการ 8 คน เสียชีวิต 5 คน) จ.จันทบุรี เกิด 7 ครั้ง (พิการ 14 คน เสียชีวิต 1 คน) จ.อุบลราชธานี เกิด 5 ครั้ง (พิการ 5 คน) จ.สุรินทร์  เกิด 4 ครั้ง (พิการ 6 คน) จ.ตราด เกิด 4 ครั้ง (พิการ 5 คน) จ.บุรีรัมย์ เกิด 3 ครั้ง (พิการ 3 คน) จ.ตาก เกิด 1 ครั้ง (พิการ 4 คน) และ จ.กาญจนบุรี เกิด 1 ครั้ง (พิการ 1 คน)

สรุปในห้วงปี พ.ศ.2552-2556 เกิดอุบัติเหตุจากการเหยียบทุ่นระเบิดในประเทศไทยขึ้น จำนวน 57 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 8 คน และกลายเป็นผู้พิการถึง 80 คน

ติดตามคุณภาพชีวิตผู้พิการจากทุ่นระเบิด
ในปีนี้ ผมได้มีโอกาสทำงานด้านการติดตามคุณภาพชีวิตของผู้พิการที่รอดชีวิตการเหยียบทุ่นระเบิดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามถึงสารทุกข์สุกดิบ ความเป็นอยู่ และติดตามสอบถามถึงความช่วยเหลือต่างๆ ที่เขาสมควรได้รับตามกฏหมายว่าครบถ้วนทั่วถึงหรือไม่ 

ผู้พิการส่วนใหญ่ได้รับการช่วยเหลือตามกฏหมาย ทั้งเบี้ยผู้พิการ การช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล ด้านการใส่ขาเทียม ด้านการฝึกสอนอาชีพ ด้านเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเพื่อลงทุน ด้านการศึกษา ฯลฯ  มีความต้องการบางอย่างที่ผมพบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเหมือนๆ กันก็คือ ความสามารถในการหารายได้ของเขาลดลง ผู้พิการเหล่านี้จึงมีฐานะค่อนข้างยากจน สิ่งที่เขามักต้องการตรงกันก็คือ "ขอทุนการศึกษาให้ลูก" กลัวลูกเรียนหนังสือไม่จบ เพราะเขาไม่สามารถทำมาหากินได้เหมือนเดิม..

ผู้พิการท่านหนึ่ง อยู่บ้านไม้เก่าๆ คนเดียวตามลำพัง อายุมากเป็นโรคความดันโลหิตสูงและอีกหลายโรค ภรรยาก็แยกทางกันไปนานแล้ว ไม่มีเรือกสวนไร่นาสำหรับทำกิน  มีอาชีพรับจ้างทั่วไป บางครั้งก็มีคนจ้าง บ้างครั้งก็ไม่มีคนจ้าง รายได้จึงไม่แน่นอน ลูกสาวคนเดียวของเขากำลังเรียนเป็นนางพยาบาลอยู่ที่วิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่ง  เขากล่าวกับผมด้วยน้ำตาซึมว่า "ผมกลัวไม่มีเงินส่งลูกสาวเรียนให้จบ อย่างอื่นผมไม่กลัวครับ"      


"ผมกลัวไม่มีเงินส่งลูกสาวเรียนให้จบ"

หลังจากเหยียบทุ่นระเบิดพิการแล้ว เกิดอาการทางประสาทตามมา
พี่น้องบอกว่าแต่ก่อนเขาไปคนดี ขยันทำมาหากิน เป็นที่รักใคร่ของคนในหมู่บ้าน
วันนี้ "เขาต้องการการรักษาอาการทางโรคประสาท"
Lend Your Leg

Lend Your Leg

Lend Your Leg

Lend Your Leg


ทุกครั้งที่ผมไปเยี่ยมบ้านผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดเหล่านี้ ผมและคณะไม่มีสิ่งของใดๆ ไปช่วยเหลือเกื้อกูลอะไรเขามากมายนัก แต่สิ่งที่ผมได้พบและสัมผัสทุกครั้งก็คือ "แววตาแห่งความตื้นตันของเขา เหมือนเขาอยากจะขอบคุณพวกเราที่ยังไม่ลืมเขา" 

กิจกรรม "วันทุ่นระเบิดสากล" ที่จะถึงอีกครั้งในวันที่ 4 เม.ย.2557 นี้ นอกจากกิจกรรมพับขากางเกงถ่ายรูป ทำลายทุ่นระเบิด วาดภาพระบายสี แสดงนิทรรศการแล้ว ผมอยากให้มี "กิจกรรมเยี่ยมบ้านผู้ประสบภัย" เพิ่มขึ้นอีกกิจกรรมหนึ่ง ผมเชื่อว่าจะเป็นกิจกรรมที่สามารถรณรงค์ให้ยุติการใช้ทุ่นระเบิดและแสดงความเห็นอกเห็นใจแก่ผู้รอดชีวิตที่ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ได้เป็นอย่างดี

**********************************
ชาติชยา ศึกษิต : 20 มี.ค.2557  

5 มีนาคม 2557

เจ้าหญิงไดอานากับพระกรณียกิจ "การต่อต้านทุ่นระเบิด"


ผมเคยเห็นภาพของเจ้าหญิงไดอานา เกี่ยวกับการต่อต้านทุ่นระเบิด บ่อยครั้งในนิตยสาร และเว็บไซต์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทุ่นระเบิด  จึงพยายามค้นหาเรื่องราวของพระองค์ท่านในพระกรณียกิจเกี่ยวกับทุ่นระเบิดนี้ มาเผยแพร่ในบล็อกนี้อีกทางหนึ่งเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบถึงความตั้งใจและความเสียสละของพระองค์  


ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Diana, Princess of Wales) มีพระนามเต็มว่า ไดอานา ฟรานเซส (สกุลเดิม สเปนเซอร์) ประสูติเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 ที่เมืองแซนดริงแฮม ประเทศอังกฤษ และ สิ้นพระชนม์ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นพระชายาพระองค์แรกของเจ้าชายชาลส์แห่งเวลส์ จากการอภิเษกสมรสเมื่อปี พ.ศ. 2524 และได้หย่าร้างเมื่อปี พ.ศ. 2539 พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศ"เจ้าหญิงแห่งเวลส์" เป็นพระองค์ที่ 9 ของอังกฤษ สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปนิยมขนานพระนามว่า "เจ้าหญิงไดอานา"

เจ้าหญิงไดอานาได้เป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษจากการอภิเษกสมรสกับเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ เมื่อ 29 กรกฎาคม 2524  ต่อมา เจ้าหญิงไดอานาได้ให้กำเนิดพระโอรสทั้งสองพระองค์คือ เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี รัชทายาทลำดับที่สองและสามแห่งราชบัลลังก์อังกฤษและ 16 เครือจักรภพ 

เจ้าหญิงไดอานาเป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลกตั้งแต่ทรงหมั้นกับเจ้าชายแห่งเวลส์ในปี พ.ศ. 2524 จนกระทั่งการสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2540  จากการเป็นพระชายาองค์แรกของเจ้าชายแห่งเวลส์ ทำให้ เจ้าหญิงไดอานาเป็นที่จดจำจากการแต่งกาย แฟชั่น งานด้านการกุศลและเป็นบุคคลสาธารณะในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 พระองค์เคยรณรงค์การต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิด  และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของโรงพยาบาลเด็ก เกรท ออร์มันด์ สตรีระหว่างปี 2532 ถึง 2538  พระกรณียกิจของพระองค์ได้รับความสนใจจากทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งยังทรงเป็นผู้นำแฟชั่น เป็นสัญลักษณ์แห่งความงาม ความหวังของผู้ป่วยโรคเอดส์  ตลอดทั้งพระชนม์ชีพพระองค์เป็นผู้ที่ถูกถ่ายรูปมากที่สุดคนหนึ่งในโลกราวกับนักแสดงที่มีชื่อเสียง

พระกรณียกิจด้านการต่อต้านทุ่นระเบิด
เดือนมกราคม พ.ศ.2540 ภาพเจ้าหญิงไดอานาเยือนพื้นที่อันตรายที่มีทุ่นระเบิด ในชุดหน้ากากป้องกันสะเก็ดระเบิดและถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก การรณรงค์ต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิดของเจ้าหญิงฯ ถูกวิจารณ์ว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป และต่อมาในเดือนสิงหาคม 2540 ก่อนที่เจ้าหญิงฯ จะเสียชีวิตไม่กี่วัน เจ้าหญิงไดอานาเดินทางไปประเทศบอสเนีย และได้เยี่ยมเยียนผู้พิการซึ่งรอดชีวิตจากการเหยียบทุ่นระเบิดในกรุงซาราเจโว เจ้าหญิงไดอานาให้ความสนใจในเรื่องทุ่นระเบิดเพราะทุ่นระเบิดที่ตกค้างอยู่ สร้างความสูญเสียและอันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้คนและเด็กๆ ถึงแม้ว่าสงครามจะได้ยุติลงไปนานแล้วก็ตาม

เจ้าหญิงไดอานามีอิทธิพลต่อการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-personnel Mines and on Their Destruction) หรืออนุสัญญาออตตาวา 

แม้ว่าการลงนามเพื่อเป็นภาคีอนุสัญญาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะเกิดขึ้นหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ตาม การเข้าร่วมอนุสัญญาออตตาวา และร่างพระราชบัญญัติการต่อต้านทุ่นระเบิดฉบับที่ 2 ก็ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาอังกฤษ นายโรบิน คุก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษในขณะนั้น กล่าวสุนทรพจน์ต่อความทุ่มเทของเจ้าหญิงไดอานาในการรณรงค์นี้ว่า

"เหล่าสมาชิกผู้ทรงเกียรติทั้งหลายคงทราบว่าเบื้องหลังแรงผลักดันการร่างพระราชบัญญัตินี้มาจากพระอุปถัมภ์ของเจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ที่พิสูจน์ให้เราเห็นถึงความสูญเสียจากการใช้ทุ่นระเบิด วิธีการที่ดีที่สุดในการระลึกถึงภารกิจนี้ของพระองค์รวมทั้งเอ็นจีโอที่ได้รณรงค์ต่อต้านทุ่นระเบิด นั่นก็คือการผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้และเปิดหนทางสู่การหยุดการใช้ทุ่นระเบิดทั่วโลก" 





องค์การสหประชาชาติได้ขอร้องประเทศที่ผลิตทุ่นระเบิดและกับระเบิดจำนวนหลายประเทศ อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย เกาหลีเหนือ ปากีสถาน และรัสเซีย ให้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาออตตาวา เพื่อมิให้มีการผลิตและนำไปใช้ตามที่เจ้าหญิงไดอานาได้ทรงรณรงค์ไว้ 

คาโรล เบลลามี ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ เคยกล่าวว่า "ทุ่นระเบิดยังคงเป็นสิ่งล่อใจที่อันตรายสำหรับเด็ก เพราะธรรมชาติของเด็กจะอยากรู้อยากเห็นและเล่นสนุก ทุ่นระเบิดทำให้เด็กผู้ไร้เดียงสา ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้"

องค์อุปถัมภ์แห่งประเทศไทย
ในการปฏิบัติการเกี่ยวกับทุ่นระเบิดในประเทศไทยตามอนุสัญญาออตตาวา มีศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center : TMAC) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก โดยมี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.2543 เป็นต้นมา แต่หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันพุธที่ 2 ม.ค.2551  ทาง TMAC ก็ขาดองค์อุปถัมภ์มาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้    


อนาคตประเทศไทยกับการทำลายทุ่นระเบิด
ในปัจจุบันประเทศไทยยังมีพื้นที่ที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่อีกเกือบ 500 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 18 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี  ศรีสะเกษ ตราด สุรินทร์ เชียงใหม่ พิษณุโลก บุรีรัมย์ สระแก้ว ตาก พะเยา ชุมพร จันทบุรี แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ น่าน ยะลา เชียงราย และนครศรีธรรมราช ซึ่งประเทศไทยต้องเก็บกู้และทำลายให้หมดในปี พ.ศ.2561 ตามที่ให้สัญญาไว้ในอนุสัญญาออตตาวา


แต่ปัจจุบันการเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดในประเทศไทย กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณจากรัฐบาลมาใช้ในภารกิจนี้อย่างจำกัดจำเขี่ย รัฐบาลไม่ได้ให้ความใส่ใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งๆ นี้ นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมแห่งชาติ  (National Mine Action Committee : NMAC)  งบประมาณที่ได้รับในแต่ละปีมีแนวโน้มลดลง  ทั้งๆ ที่เป็นพันธสัญญาของชาติ  หน่วยงาน NGO ต่างๆ  ที่เคยได้รับเงินบริจาคจากชาวต่างชาติให้เข้ามาช่วยเหลือการเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดในประเทศไทยก็เริ่มลดน้อยถอยลง เหลือเพียงไม่กี่องค์กร  แนวโน้มประเทศไทยคงไม่สามารถเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดให้หมดไปตามพันธะในอนุสัญญาออตตาวา อย่างแน่นอน

สานต่อปณิธาน
สิ่งที่อยากให้เพื่อนพี่น้องทุ่นระเบิดที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันจงภูมิใจ  ก็คือ บุคคลสำคัญของโลกในระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ล้วนให้ความสำคัญ ออกมาช่วยรณรงค์การต่อต้านการผลิต และการใช้ทุ่นระเบิด พยายามทำลายทุ่นระเบิดที่เหลืออยู่ให้หมดสิ้นไป เพื่อความสงบ สันติ ของมวลมนุษยชาติ ไม่ได้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต พิการ หรือบาดเจ็บ จากความอำมหิตของทุ่นระเบิดอีกต่อไป

เพื่อนพี่น้องที่กำลังเก็บกู้และทำลายทุ่นระบิดทั้งหลาย...
ถึงแม้พวกเราอาจเป็นเพียงองคาพยพเล็กๆ ที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ ก็ขอให้จงภูมิใจว่า
"ดวงพระวิญญาณของเจ้าหญิงไดอานาและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์   คงทรงชื่นชมพวกเราและคงทรงรับรู้ด้วยว่าพวกเรากำลังสานต่อปณิธานของพระองค์ท่านทั้งสองอยู่ โดยไม่ย่อท้อแต่อย่างใด"





******************************
ชาติชยา ศึกษิต : 5 มี.ค.2557

ที่มา 

4 มีนาคม 2557

ตลาดชายแดนช่องอานม้า

วันที่ 26 ก.พ.2557 ผมได้มีโอกาสแวะข้ามแดนเข้าเยี่ยมชมตลาดการค้าชายแดนในประเทศกัมพูชา บริเวณช่องอานม้า ต.สีวิเชียร อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นตลาดชายแดนที่กำลังจะเติบโตอีกแห่งหนึ่งระหว่างไทยกับกัมพูชา


ตลาดชายแดนประเทศกัมพูชา (ช่องอานมา)
ดูแผนที่ตำแหน่ง
ที่นี่...มีสินค้าหลากลาย ตั้งแต่พืช ผัก ผลไม้ กบ เขียด แมลง และสัตว์ป่าแปลกๆ หลายชนิด ตลอดจนถึงเครื่องทองเหลือง ไม้แกะสลัก ของเก่า ของบูชา  สินค้าไอที  เครื่องดื่ม บุหรี่ต่างประเทศหลากหลายยี่ห้อ รวมทั้งสินค้าประเภทยาชูกำลังต่างๆ คล้ายกับโรงเกลือใน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว แม่ค้าที่นี่เป็นคนกัมพูชา บางคนก็พูดภาษาไทยได้ มีอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ที่จุดนี้ประชาชนทั้งไทยและกัมพูชาเป็นมิตรกันดี 


ค้างคาวแม่ไก่, อีเห็น

ตะกวด

บ่าง


กบ,เขียด

กบ,เขียด
เขียด

ไม้แกะสลัก

ครกไม้

พืช, ผัก

ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า เม่น, หนังเสือ

ปิ่นโตไม้

เครื่องทองเหลือง, ของเก่า,ของบูชา

บุหรี่ต่างประเทศหลากหลายยี่ห้อ

ยาชูกำลัง ซ้ายสุดเม็ดละ 50 บาท กินแล้ว ใหญ่ ยาว ทน
(แม่ค้าบอกสรรพคุณ 20 นาทีออกฤทธิ์) 
สินค้าไอที

อนุสาวรีย์ยืนขี่ม้าถือทวนหันหน้ามาทางฝั่งไทย สันนิษฐานว่าจะเป็น "พระยาละแวก" (ถ้าผิดขออภัยด้วยนะครับ) เพราะผมอ่านภาษาเขมรที่เขียนกำกับไว้ไม่ออก ถามพ่อค้าแม่ค้าก็ไม่รู้เรื่อง แต่เห็นแล้วก็รู้สึกเจ็บใจที่ในอดีตพระยาละแวกนี้ทำร้ายต่อกรุงศรีอยุธยาไว้มากนัก แต่ก็เป็นแค่อดีต... ปัจจุบันก็ขออย่าให้เกิดเหตุเช่นนี้อีกก็แล้วกัน 




      
ข้าวของที่นี่ราคาไม่แพง พอหาซื้อได้ ส่วนสัตว์หน้าตาแปลกๆ  ตามที่กล่าวมา นับว่าขายดีเพราะมีคนไทยนิยมซื้อไปทำกินกันเพราะเชื่อว่าเป็นของดี เพิ่มพละกำลังและบำรุงร่างกายได้ ซึ่งในส่วนตัวแล้ว สัตว์บางชนิดที่ผมเห็นขายกันอยู่นี้ อยู่ในการควบคุมตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือไซเตส ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีอยู่ด้วย

เห็นแล้วน่าสงสารสัตว์พวกนั้นจริงๆ ครับ...
หากมนุษย์ไม่หยุดกิน สัตว์พวกนี้ก็จะถูกฆ่าเรื่อยๆ 
เพื่อมาสนองตัณหาความอยากของมนุษย์เช่นพวกเรา...   


****************************************
ชาติชยา ศึกษิต : 4 มี.ค.2557

3 มีนาคม 2557

ทองคำเขียวแห่งสยามประเทศ


ซากของไม้พะยูงที่ถูกตัดทิ้งไว้

เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2557 ผมและคณะได้เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดที่บริเวณผืนป่า ต.บักดอง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ขณะที่เดินตรวจพื้นที่ผมพบกับซากของไม้พะยูงที่ถูกตัดทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าพนมดงรักที่ร่วมเดินทางด้วย เล่าให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้เขาเรียกไม้พะยูงว่า "ทองคำเขียว"  

ความเชื่อในไม้พะยูง

  • เชื่อว่าพยุงไม่ให้ชีวิตตกต่ำ “พะยูง” เป็นไม้เนื้อแข็ง มีความเชื่อว่าบ้านใดปลูกไว้ประจำบ้าน จะทำใ้ห้บุคคลในบ้านมีแต่ความเจริญ มีฐานะดีขึ้น ช่วยไม่ให้ชีวิตตกต่ำ เพราะพยุงคือการประคับประคองให้คงอยู่ ให้มั่นคงหรือการยกให้สูงขึ้น
  • เป็นไม้มงคล 9 ชนิด คนไทยจัด ลำดับ ” พะยูง” ให้อยู่ใน 9 ชนิดไม้มงคลที่ควรปลูกไว้ในบ้าน ซึ่งประกอบด้วย ชัยพฤกษ์, ราชพฤกษ์, ทองหลวง, ไผ่สีสุก, กันเกรา, ทรงบาดาล, สัก, พะยูง และ ขนุน 
เริ่มแพงเพราะพระราชวังต้องห้าม 
แต่ก่อนไม้พะยูงไม่ค่อยมีใครสนใจมากนัก จนกระทั่งเมื่อมีการนำเข้าไม้พะยูงไปปรับปรุงซ่อมแซมพระราชวังต้องห้ามต่างๆ ของประเทศจีนในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี พ.ศ.2551 เนื่องจากเชื่อว่าเป็นไม้มงคล มีความสวยงามด้วยเนื้อไม้สีแดงสด ยิ่งเปียกน้ำยิ่งสวย  นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ราคาไม้พะยูงจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ 

ต่อมา  ผู้มีฐานะจึงมีความนิยมคล้อยตามนำไม้พะยูงไปสร้างบ้านและแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับบ้าน เครื่องเรือน เครื่องใช้ เครื่องดนตรี เพราะเชื่อว่าจะผู้ที่มีอำนาจบารมีเท่านั้นจะได้ครอบครองไม้พะยูง จนกระทั่งมีการพัฒนาต่อยอดแกะสลักเป็นวัตถุมงคล เช่น ปี่เซียะ เทพเจ้า ฮก ลก ซิ่ว ฯลฯ ในเวลาต่อมา

ไม่มีบารมีจริงครอบครองไม้พะยูงไม่ได้
เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าฯ เล่าประสบการณ์เพิ่มเติมว่า "ผมเห็นคนที่เอาไม้พะยูงไปปลูกบ้าน มักมีอันเป็นไปเกือบทุกคน  เพราะหากคนที่ไม่มีบารมีจริง จะไม่สามารถครอบครองไม้พะยูงได้"  


เดี๋ยวนี้ ตอไม้พะยูงก็เอา ตอนี้ตีราคาแล้วขายได้ 100,000 บาท

ทองคำเขียวแห่งสยามประเทศ
เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก เล่าต่อว่า วันนี้ไม้พะยูงได้รับการขนานนามว่า "ทองคำเขียว" หรือ "อัญมณีต้น" เนื่องจากมีราคาแพงมาก การลักลอบตัดไม้พะยูง จึงมีความคุ้มค่าที่จะเสี่ยง เดี๋ยวนี้ขายกันเป็นกิโลกรัม ขายต้นน้ำกิโลกรัมละ 30-35 บาท พอไปถึงปลายน้ำ ราคาพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 800-850 บาท ด้วยเหตุนี้กระบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงจึงมีความคุ้มค่าที่จะเสี่ยงต่อการกระทำผิด และปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบวิธีการขนย้ายหลากหลายมากขึ้น จนเจ้าหน้าที่ยากจะตรวจสอบและจับกุม


ท่อนในมือผมนี้ น่าจะขายที่ปลายน้ำได้ประมาณ 2,400 บาท (ประมาณ 3 กิโลกรัม)
จากราคาที่ซื้อต้นน้ำ เพียง 90 บาท
ในปัจจุบันไม้พะยูงถือว่าเหลือเฉพาะในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก ซึ่งยังเป็นแหล่งไม้พะยูงที่สมบูรณ์ บรรดาประเทศลาว ประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนาม ที่เคยมีก็หมดไปแล้วเช่นกัน ที่เหลืออยู่บ้างมีจำนวนน้อย เพราะสามารถควบคุมปราบปราบในส่วนที่เหลือได้ 

ไม้พะยูงที่เหลืออยู่ในผืนป่าของประเทศไทยในขณะนี้ ถือว่าเป็น "ทองคำเขียวแห่งสยามประเทศ" เพราะบางต้นมีอายุตั้งแต่คราวที่ประเทศไทยยังใช้ชื่อประเทศสยามอยู่เลย ดังนั้นพวกเราควรหันมาช่วยกันปกป้องและรักษามันไว้ หันมาเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามกระบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงนี่เสียที 

วอนไปยังรัฐบาล นักการเมือง ผู้มีอิทธิพล ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง อย่าปากว่าตาขยิบ หลับตาข้างเดียว รับสินบาทคาดสินบน ทำเป็นมองไม่เห็นปัญหาเหล่านี้อีกต่อไป หันมาช่วยกันรีบแก้ไข ก่อนที่สยามประเทศจะไม่มีไม้พะยูงให้ได้เชยชม        


ของกลาง(เพียงบางส่วน) ที่ยึดได้ ยังไม่รู้ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
หากจะประมูล ใครจะมาประมูล ยังเป็นปัญหาอยู่
หากผู้ประมูลจะเอาไปขายต่อ จะผิดกฏหมายหรือไม่ 

************************************
ชาติชยา ศึกษิต : 4 มี.ค.2557

อ้างอิง
  • สาระน่ารู้. (2556). ไม้พะยูงใช้ทําอะไร ทำไมถึงมีราคาแพงมาก. http://www.สาระน่ารู้ดีดี.com  [2557 มี.ค.3]
  • เดลินิวส์. (2556). วิกฤติ..ไม้พะยูงผืนป่าตะวันออก ตัวการใหญ่คือใคร? ปราบอย่างไรก็ไม่หมด!. http://www.dailynews.co.th [2557 มี.ค.3]