5 มีนาคม 2557

เจ้าหญิงไดอานากับพระกรณียกิจ "การต่อต้านทุ่นระเบิด"


ผมเคยเห็นภาพของเจ้าหญิงไดอานา เกี่ยวกับการต่อต้านทุ่นระเบิด บ่อยครั้งในนิตยสาร และเว็บไซต์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทุ่นระเบิด  จึงพยายามค้นหาเรื่องราวของพระองค์ท่านในพระกรณียกิจเกี่ยวกับทุ่นระเบิดนี้ มาเผยแพร่ในบล็อกนี้อีกทางหนึ่งเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบถึงความตั้งใจและความเสียสละของพระองค์  


ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Diana, Princess of Wales) มีพระนามเต็มว่า ไดอานา ฟรานเซส (สกุลเดิม สเปนเซอร์) ประสูติเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 ที่เมืองแซนดริงแฮม ประเทศอังกฤษ และ สิ้นพระชนม์ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นพระชายาพระองค์แรกของเจ้าชายชาลส์แห่งเวลส์ จากการอภิเษกสมรสเมื่อปี พ.ศ. 2524 และได้หย่าร้างเมื่อปี พ.ศ. 2539 พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศ"เจ้าหญิงแห่งเวลส์" เป็นพระองค์ที่ 9 ของอังกฤษ สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปนิยมขนานพระนามว่า "เจ้าหญิงไดอานา"

เจ้าหญิงไดอานาได้เป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษจากการอภิเษกสมรสกับเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ เมื่อ 29 กรกฎาคม 2524  ต่อมา เจ้าหญิงไดอานาได้ให้กำเนิดพระโอรสทั้งสองพระองค์คือ เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี รัชทายาทลำดับที่สองและสามแห่งราชบัลลังก์อังกฤษและ 16 เครือจักรภพ 

เจ้าหญิงไดอานาเป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลกตั้งแต่ทรงหมั้นกับเจ้าชายแห่งเวลส์ในปี พ.ศ. 2524 จนกระทั่งการสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2540  จากการเป็นพระชายาองค์แรกของเจ้าชายแห่งเวลส์ ทำให้ เจ้าหญิงไดอานาเป็นที่จดจำจากการแต่งกาย แฟชั่น งานด้านการกุศลและเป็นบุคคลสาธารณะในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 พระองค์เคยรณรงค์การต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิด  และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของโรงพยาบาลเด็ก เกรท ออร์มันด์ สตรีระหว่างปี 2532 ถึง 2538  พระกรณียกิจของพระองค์ได้รับความสนใจจากทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งยังทรงเป็นผู้นำแฟชั่น เป็นสัญลักษณ์แห่งความงาม ความหวังของผู้ป่วยโรคเอดส์  ตลอดทั้งพระชนม์ชีพพระองค์เป็นผู้ที่ถูกถ่ายรูปมากที่สุดคนหนึ่งในโลกราวกับนักแสดงที่มีชื่อเสียง

พระกรณียกิจด้านการต่อต้านทุ่นระเบิด
เดือนมกราคม พ.ศ.2540 ภาพเจ้าหญิงไดอานาเยือนพื้นที่อันตรายที่มีทุ่นระเบิด ในชุดหน้ากากป้องกันสะเก็ดระเบิดและถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก การรณรงค์ต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิดของเจ้าหญิงฯ ถูกวิจารณ์ว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป และต่อมาในเดือนสิงหาคม 2540 ก่อนที่เจ้าหญิงฯ จะเสียชีวิตไม่กี่วัน เจ้าหญิงไดอานาเดินทางไปประเทศบอสเนีย และได้เยี่ยมเยียนผู้พิการซึ่งรอดชีวิตจากการเหยียบทุ่นระเบิดในกรุงซาราเจโว เจ้าหญิงไดอานาให้ความสนใจในเรื่องทุ่นระเบิดเพราะทุ่นระเบิดที่ตกค้างอยู่ สร้างความสูญเสียและอันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้คนและเด็กๆ ถึงแม้ว่าสงครามจะได้ยุติลงไปนานแล้วก็ตาม

เจ้าหญิงไดอานามีอิทธิพลต่อการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-personnel Mines and on Their Destruction) หรืออนุสัญญาออตตาวา 

แม้ว่าการลงนามเพื่อเป็นภาคีอนุสัญญาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะเกิดขึ้นหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ตาม การเข้าร่วมอนุสัญญาออตตาวา และร่างพระราชบัญญัติการต่อต้านทุ่นระเบิดฉบับที่ 2 ก็ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาอังกฤษ นายโรบิน คุก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษในขณะนั้น กล่าวสุนทรพจน์ต่อความทุ่มเทของเจ้าหญิงไดอานาในการรณรงค์นี้ว่า

"เหล่าสมาชิกผู้ทรงเกียรติทั้งหลายคงทราบว่าเบื้องหลังแรงผลักดันการร่างพระราชบัญญัตินี้มาจากพระอุปถัมภ์ของเจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ที่พิสูจน์ให้เราเห็นถึงความสูญเสียจากการใช้ทุ่นระเบิด วิธีการที่ดีที่สุดในการระลึกถึงภารกิจนี้ของพระองค์รวมทั้งเอ็นจีโอที่ได้รณรงค์ต่อต้านทุ่นระเบิด นั่นก็คือการผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้และเปิดหนทางสู่การหยุดการใช้ทุ่นระเบิดทั่วโลก" 





องค์การสหประชาชาติได้ขอร้องประเทศที่ผลิตทุ่นระเบิดและกับระเบิดจำนวนหลายประเทศ อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย เกาหลีเหนือ ปากีสถาน และรัสเซีย ให้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาออตตาวา เพื่อมิให้มีการผลิตและนำไปใช้ตามที่เจ้าหญิงไดอานาได้ทรงรณรงค์ไว้ 

คาโรล เบลลามี ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ เคยกล่าวว่า "ทุ่นระเบิดยังคงเป็นสิ่งล่อใจที่อันตรายสำหรับเด็ก เพราะธรรมชาติของเด็กจะอยากรู้อยากเห็นและเล่นสนุก ทุ่นระเบิดทำให้เด็กผู้ไร้เดียงสา ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้"

องค์อุปถัมภ์แห่งประเทศไทย
ในการปฏิบัติการเกี่ยวกับทุ่นระเบิดในประเทศไทยตามอนุสัญญาออตตาวา มีศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center : TMAC) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก โดยมี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.2543 เป็นต้นมา แต่หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันพุธที่ 2 ม.ค.2551  ทาง TMAC ก็ขาดองค์อุปถัมภ์มาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้    


อนาคตประเทศไทยกับการทำลายทุ่นระเบิด
ในปัจจุบันประเทศไทยยังมีพื้นที่ที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่อีกเกือบ 500 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 18 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี  ศรีสะเกษ ตราด สุรินทร์ เชียงใหม่ พิษณุโลก บุรีรัมย์ สระแก้ว ตาก พะเยา ชุมพร จันทบุรี แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ น่าน ยะลา เชียงราย และนครศรีธรรมราช ซึ่งประเทศไทยต้องเก็บกู้และทำลายให้หมดในปี พ.ศ.2561 ตามที่ให้สัญญาไว้ในอนุสัญญาออตตาวา


แต่ปัจจุบันการเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดในประเทศไทย กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณจากรัฐบาลมาใช้ในภารกิจนี้อย่างจำกัดจำเขี่ย รัฐบาลไม่ได้ให้ความใส่ใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งๆ นี้ นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมแห่งชาติ  (National Mine Action Committee : NMAC)  งบประมาณที่ได้รับในแต่ละปีมีแนวโน้มลดลง  ทั้งๆ ที่เป็นพันธสัญญาของชาติ  หน่วยงาน NGO ต่างๆ  ที่เคยได้รับเงินบริจาคจากชาวต่างชาติให้เข้ามาช่วยเหลือการเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดในประเทศไทยก็เริ่มลดน้อยถอยลง เหลือเพียงไม่กี่องค์กร  แนวโน้มประเทศไทยคงไม่สามารถเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดให้หมดไปตามพันธะในอนุสัญญาออตตาวา อย่างแน่นอน

สานต่อปณิธาน
สิ่งที่อยากให้เพื่อนพี่น้องทุ่นระเบิดที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันจงภูมิใจ  ก็คือ บุคคลสำคัญของโลกในระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ล้วนให้ความสำคัญ ออกมาช่วยรณรงค์การต่อต้านการผลิต และการใช้ทุ่นระเบิด พยายามทำลายทุ่นระเบิดที่เหลืออยู่ให้หมดสิ้นไป เพื่อความสงบ สันติ ของมวลมนุษยชาติ ไม่ได้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต พิการ หรือบาดเจ็บ จากความอำมหิตของทุ่นระเบิดอีกต่อไป

เพื่อนพี่น้องที่กำลังเก็บกู้และทำลายทุ่นระบิดทั้งหลาย...
ถึงแม้พวกเราอาจเป็นเพียงองคาพยพเล็กๆ ที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ ก็ขอให้จงภูมิใจว่า
"ดวงพระวิญญาณของเจ้าหญิงไดอานาและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์   คงทรงชื่นชมพวกเราและคงทรงรับรู้ด้วยว่าพวกเรากำลังสานต่อปณิธานของพระองค์ท่านทั้งสองอยู่ โดยไม่ย่อท้อแต่อย่างใด"





******************************
ชาติชยา ศึกษิต : 5 มี.ค.2557

ที่มา 

ไม่มีความคิดเห็น: