20 มีนาคม 2557

4 เมษายน.."วันทุ่นระเบิดสากล" กับผู้ประสบภัยในประเทศไทย


"Declares that 4 April of each year shall be officially proclaimed and observed as International Day for Mine Awareness and Assistance in Mine Action."
มติที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2548



4 เมษายน ของทุกปี เป็นวันระหว่างประเทศสำหรับการให้ความรู้เกี่ยวกับทุ่นระเบิดและการให้ความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิด  ในปี 2557 ที่จะถึงนี้ องค์การสหประชาชาติยังคงใช้แคมเปญ  "ขอยืมขาของคุณหน่อยนะ" (Lend your Leg) เช่นเดิม ในการรณรงค์เพื่อแสดงการสนับสนุนและเห็นอกเห็นใจแก่ผู้รอดชีวิตที่ประสบภัยจากทุ่นระเบิด


ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย
ประเทศไทยมีทุ่นระเบิดตกค้างจากผลการสู้รบตามแนวชายแดนเมื่อ 20-30 ปีก่อน จากคู่ขัดแย้งที่แตกต่างกันทั้งทหารญวน เขมร  พรรคคอมมิวนิสต์ กองกำลังชนกลุ่มน้อย และกองกำลังของทหารไทยเราเองที่ทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติ ทุ่นระเบิดตกค้างเหล่านี้ ศูนย์ปฎิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติดำเนินการค้นหา เก็บกู้และทำลายมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 จนกระทั่งปัจจุบัน ยังคงเหลือพื้นที่ที่สงสัยว่ายังมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่อีกประมาณเกือบ 500 ตร.กม.ครอบคลุมพื้นที่ 18 จังหวัดตามแนวชายแดน



ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในห้วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2552-2556)    
ในรอบ 5 ปี (พ.ศ.2552-2556) ราษฎรไทยเกิดอุบัติเหตุจากการเหยียบทุ่นระเบิดในพื้นที่ 9 จังหวัด โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ จ.ศรีสะเกษ เกิดขึ้นถึง 24 ครั้ง บาดเจ็บและพิการ 34 คน และเสียชีวิต 2 คน รองลงมาคือ จ.สระแก้ว เกิด 8 ครั้ง (พิการ 8 คน เสียชีวิต 5 คน) จ.จันทบุรี เกิด 7 ครั้ง (พิการ 14 คน เสียชีวิต 1 คน) จ.อุบลราชธานี เกิด 5 ครั้ง (พิการ 5 คน) จ.สุรินทร์  เกิด 4 ครั้ง (พิการ 6 คน) จ.ตราด เกิด 4 ครั้ง (พิการ 5 คน) จ.บุรีรัมย์ เกิด 3 ครั้ง (พิการ 3 คน) จ.ตาก เกิด 1 ครั้ง (พิการ 4 คน) และ จ.กาญจนบุรี เกิด 1 ครั้ง (พิการ 1 คน)

สรุปในห้วงปี พ.ศ.2552-2556 เกิดอุบัติเหตุจากการเหยียบทุ่นระเบิดในประเทศไทยขึ้น จำนวน 57 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 8 คน และกลายเป็นผู้พิการถึง 80 คน

ติดตามคุณภาพชีวิตผู้พิการจากทุ่นระเบิด
ในปีนี้ ผมได้มีโอกาสทำงานด้านการติดตามคุณภาพชีวิตของผู้พิการที่รอดชีวิตการเหยียบทุ่นระเบิดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามถึงสารทุกข์สุกดิบ ความเป็นอยู่ และติดตามสอบถามถึงความช่วยเหลือต่างๆ ที่เขาสมควรได้รับตามกฏหมายว่าครบถ้วนทั่วถึงหรือไม่ 

ผู้พิการส่วนใหญ่ได้รับการช่วยเหลือตามกฏหมาย ทั้งเบี้ยผู้พิการ การช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล ด้านการใส่ขาเทียม ด้านการฝึกสอนอาชีพ ด้านเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเพื่อลงทุน ด้านการศึกษา ฯลฯ  มีความต้องการบางอย่างที่ผมพบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเหมือนๆ กันก็คือ ความสามารถในการหารายได้ของเขาลดลง ผู้พิการเหล่านี้จึงมีฐานะค่อนข้างยากจน สิ่งที่เขามักต้องการตรงกันก็คือ "ขอทุนการศึกษาให้ลูก" กลัวลูกเรียนหนังสือไม่จบ เพราะเขาไม่สามารถทำมาหากินได้เหมือนเดิม..

ผู้พิการท่านหนึ่ง อยู่บ้านไม้เก่าๆ คนเดียวตามลำพัง อายุมากเป็นโรคความดันโลหิตสูงและอีกหลายโรค ภรรยาก็แยกทางกันไปนานแล้ว ไม่มีเรือกสวนไร่นาสำหรับทำกิน  มีอาชีพรับจ้างทั่วไป บางครั้งก็มีคนจ้าง บ้างครั้งก็ไม่มีคนจ้าง รายได้จึงไม่แน่นอน ลูกสาวคนเดียวของเขากำลังเรียนเป็นนางพยาบาลอยู่ที่วิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่ง  เขากล่าวกับผมด้วยน้ำตาซึมว่า "ผมกลัวไม่มีเงินส่งลูกสาวเรียนให้จบ อย่างอื่นผมไม่กลัวครับ"      


"ผมกลัวไม่มีเงินส่งลูกสาวเรียนให้จบ"

หลังจากเหยียบทุ่นระเบิดพิการแล้ว เกิดอาการทางประสาทตามมา
พี่น้องบอกว่าแต่ก่อนเขาไปคนดี ขยันทำมาหากิน เป็นที่รักใคร่ของคนในหมู่บ้าน
วันนี้ "เขาต้องการการรักษาอาการทางโรคประสาท"
Lend Your Leg

Lend Your Leg

Lend Your Leg

Lend Your Leg


ทุกครั้งที่ผมไปเยี่ยมบ้านผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดเหล่านี้ ผมและคณะไม่มีสิ่งของใดๆ ไปช่วยเหลือเกื้อกูลอะไรเขามากมายนัก แต่สิ่งที่ผมได้พบและสัมผัสทุกครั้งก็คือ "แววตาแห่งความตื้นตันของเขา เหมือนเขาอยากจะขอบคุณพวกเราที่ยังไม่ลืมเขา" 

กิจกรรม "วันทุ่นระเบิดสากล" ที่จะถึงอีกครั้งในวันที่ 4 เม.ย.2557 นี้ นอกจากกิจกรรมพับขากางเกงถ่ายรูป ทำลายทุ่นระเบิด วาดภาพระบายสี แสดงนิทรรศการแล้ว ผมอยากให้มี "กิจกรรมเยี่ยมบ้านผู้ประสบภัย" เพิ่มขึ้นอีกกิจกรรมหนึ่ง ผมเชื่อว่าจะเป็นกิจกรรมที่สามารถรณรงค์ให้ยุติการใช้ทุ่นระเบิดและแสดงความเห็นอกเห็นใจแก่ผู้รอดชีวิตที่ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ได้เป็นอย่างดี

**********************************
ชาติชยา ศึกษิต : 20 มี.ค.2557  

ไม่มีความคิดเห็น: