10 พฤศจิกายน 2558

การเดินทาง 24,469 กิโลเมตร

ผมบันทึกการเดินทางของผมไว้ใน GPS คู่ใจมาโดยตลอด สำหรับในปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.2557-ก.ย.2558) ที่ผ่านมานี้พอจะสรุปได้ว่า ผมและเพื่อนร่วมงาน ได้เดินทางไปราชการเพื่อ "ตรวจสอบและประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย"  รวมระยะทางแล้ว 24,469 กิโลเมตร ความสูงจากระดับน้ำทะเลที่เคยขึ้นสูงสุด คือ 2,534 เมตร

การเดินทางในครั้งนี้ พวกเราเหยียบย่ำผืนแผ่นดินของราชอาณาจักรไทยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา ครอบคลุมทั้งภาคเหนือ   ภาคอิสาน ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก รวมแล้วเกินกว่า 12 จังหวัด ซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง เพื่อพิสูจน์ทราบว่า "ทุ่นระเบิดที่เคยถูกฝังไว้จากการสู้รบในอดีต ได้ถูกหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม (นปท.) ที่ 1-4 และหน่วยงานเก็บกู้ทุ่นระเบิดภาคเอกชน (NGO) ค้นหา เก็บกู้ และทำลายมันหมดสิ้นแล้ว จริงหรือปล่าว!" ก่อนที่จะส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่ราษฎรเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

สิ่งที่ผมพบ....
การเดินทาง คือ การเรียนรู้ของชีวิต น่าจะเป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง การเดินทางครั้งนี้ ผมได้พบเห็นเรื่องราวมากมายหลายประการ เล่าให้ฟังอาจไม่รู้จบ จึงขอนำเรื่องราวบางส่วนที่ไปพบเห็นมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

ความเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่
เจ้าหน้าที่ของ นปท.1-4 และ NGO ที่ปฏิบัติงานค้นหา เก็บกู้ และทำลายทุ่นระเบิด ต้องเผชิญกับความเสี่ยงภัยในชีวิตอยู่เสมอในขณะที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่เพื่อทำการแกะลอยหาเจ้าทุ่นระเบิด ซึ่งมันพร้อมที่ฆ่าชีวิตผู้คนไม่เลือกหน้าได้ตลอดเวลา ท่ามกลางสภาพภูมิประเทศที่ทุรกันดาร ห่างไกล ไม่มีเส้นทางหรือถนนเข้าถึง บางพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน สลับกับป่ารกทึบ  แม้ว่าแต่ละคนจะได้รับค่าเสี่ยงอันตรายตอบแทนเป็นพิเศษก็ตาม แต่ในทุกๆ ครั้งที่ออกปฏิบัติงาน ความกลัวก็ยังคงครอบงำและฝังอยู่ในรากลึกของจิตใจตลอดเวลา ส่วนบุคคลพลเรือนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของ NGO ยิ่งต้องนับถือ ได้แค่เงินตอบแทนเดือนละหมื่นกว่าบาท  ไม่มีค่าเสี่ยงภัยอันตรายเพิ่มเติมแต่อย่างใด แม้แต่เงินค่าประกันอุบัติเหตุจากภัยจากทุ่นระเบิดโดยตรงก็ยังไม่มีด้วยซ้ำไป
#ผู้ปิดทองหลังองค์พระจริงๆ  


ทุ่นระเบิดที่ค้นพบ
ในปีงบประมาณ 2558 พวก HDO THAILAND (เหล่าผู้คนที่ปฏิบัติการค้นหา เก็บกู้ และทำลายทุ่นระเบิดในประเทศไทย) ทั้งหลาย ทั้ง นปท.1-4, สมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย(TDA) และ มูลนิธิถนนแห่งสันติภาพ (PRO) ค้นพบในปีนี้ รวมกันแล้วเป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (AP) จำนวน 5,861 ทุ่น ทุ่นระเบิดดักรถถัง (AT) 23 ทุ่น ลูกระเบิดที่ไม่ระเบิด (UXO) 3,905 นัด และ กับระเบิดแสวงเครื่อง (IED) 70 ชุด
#เรื่องราวของทุ่นระเบิดที่ตกค้างอยู่ในแผ่นดินไทยยังมีอยู่จริงครับ! พวกเราพิสูจน์ให้เห็นแล้ว




ทดสอบจิตใจและร่างกาย
พื้นที่อันตรายที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด ที่ผมไปเยือนมาในปีนี้ มีความยากลำบากขั้นเทพเลยครับ  บางพื้นที่ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ แล้วเดินทางต่อไปด้วยเท้า บุกป่าฝ่าดง มีทั้งป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่ารกทึบ บางพื้นที่ต้องฝ่าทั้งลำห้วย ลำธารและสายน้ำ  บางพื้นที่ใช้เวลาเดินทางด้วยเท้าเข้าพื้นที่นานกว่า 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือต้องเดินบนสันดอยที่สูงชัน ความสูงจากระดับนำทะเลที่ผมขึ้นสูงสุดคือ 2,534 เมตรจากระดับน้ำทะเล  

ผมและทีมงานเดินทางไปตรวจสอบเพื่อประเมินผลพื้นที่ใช้เวลาแค่หนึ่งวัน กลับมาขาแข็งก็ปวดเมื่อย ระบมไปทั้งตัวอยู่หลายวัน สงสารแต่เจ้าหน้าที่ นปท.และ NGO  ครับ!  ที่ต้องเดินทางเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ยากลำบากเหล่านี้เป็นเวลาแรมเดือน กว่าจะค้นหาทุ่นระเบิดได้พบ บางพื้นที่ถึงขั้นต้องนอนพักค้างแรมบนยอดดอย 3-4 วัน เพราะเดินทางไป-กลับไม่ไหว นับว่าเป็นการทำงานที่ต้องมีความอดทนขั้นสูงสุด ร่างกายต้องมีความพร้อมสมบูรณ์ นอกจากนั้นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการค้นหา เก็บกู้ และทำลายทุ่นระเบิดอีกด้วย 
#HDO THAILAND จึงถือว่าเป็นผู้ที่มีความอดทน เสียสละสูง และต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับทุ่นระเบิด  มีความเป็นมืออาชีพ เพราะงานที่ทำจะประมาทไม่ได้ หากพลาดมันเหมายถึงชีวิตของตัวเอง  






วิถีชีวิตและเรื่องราวสองข้างทาง
การเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ที่ผ่านมา ผมถือว่าโชคดีที่ได้พบเรื่องราวของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ประเพณีและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่ชาวเขาเผ่าต่างๆ ชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน แรงงานต่างด้าว กองกำลังทหารเมียนมาร์ ว้า ไทยใหญ่ พบเห็นตั้งแต่ชาวชนบทยันชาวเมือง ทำให้รู้สึกว่าคนไทยยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก หลายคนขาดแม้โอกาสที่จะดำรงชีวิตให้ผาสุกได้ แต่หลายคนกลับมีโอกาสเพียบพร้อม ในแต่ละแห่งแต่ละพื้นที่ได้ลองลิ้มชิมรสอาหารพื้นเมืองที่แตกต่างกันไป ได้แวะเทียวสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ได้นอนบ้านพัก รีสอร์ท โรงแรม ตั้งไม่มีดาวยันห้าดาว ได้แวะซื้อของฝากของที่ระลึกเกือบทุกจังหวัด ปั๊มน้ำมันทุกปั๊ม ร้านอาหารสองข้างทาง ถูกบันทึกเอาไว้หมดใน GPS คู่ใจของผม
#ช่างเป็นช่วงเวลาที่สวยงามจริงๆ




ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด
ในปีนี้ ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ถึง 15 คน มีทั้งชาวไทย ชาวกะเหรี่ยง และชาวกัมพูชา ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่พิการขาขาดจากการเหยียบทุ่นระเบิด ผมและคณะได้ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบตามสมควร ชีวิตคนบางคนรันทดยิ่งกว่าละครอีกครับ  เล่นเอาผมน้ำตาซึมเลย... 

การเยี่ยมผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในปีนี้ "กองทุน HDO THAILAND เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด" ได้มอบเงินดำรงชีพยามจำเป็นให้พวกเขาเหล่านี้รวมแล้วถึง 18,520 บาท ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ 
#รู้สึกได้บุญในกิจกรรมนี้มาก



เรื่องราวการเดินทาง 1 ปี  24,469 กิโลเมตรของผมนี้ ยังคงมีเรื่องราวอีกมากมายที่ไม่สามารถเล่าได้จบในที่นี้ แต่ความทรงจำดีดีทั้งหมดที่มีกับเพื่อนร่วมงานทุกคน ร่วมทั้งพี่น้อง HDO ทั้งหลายยังอยู่ในใจของผมตลอดไป 
#นึกถึงทีไร ก็รู้สึกมีความสุขทุกที 

ในปีนี้ ผมได้รับการย้ายมาดำรงตำแหน่ง หัวหน้าส่วนนโยบายและแผน ของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ผมรู้สึกใจหายครับ เพราะผมคงไม่ได้เดินทางแบบเดิมอีกแล้ว คงไม่ได้สัมผัสกับขุนเขา แมกไม้ สายน้ำ ผู้คน และพี่น้อง HDO THAILAND อย่างที่ผมชอบอีกต่อไป คงต้องวุ่นวายอยู่กับงานหนังสือและพิธีกรรมต่างๆ ที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายและแผนของผู้บังคับบัญชาชั้นสูงต่อไป
#รู้สึกใจหายครับ


*********************



26 สิงหาคม 2558

พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดแห่งชาติ(ไทย) ..ความฝันที่อาจเป็นจริง

ผมได้มีโอกาสมาทำงานที่ศูนย์ปฎิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) จะครบสามปีครึ่งในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้  หน้าที่ส่วนหนึ่งของผม คือ การตรวจสอบและประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด หรือที่เรียกว่า การควบคุมคุณภาพ (Quaility Control : QC) ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ที่มีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ จากผลพวงของการสู้รบในอดีตที่ผ่านมา อาทิ  สงครามระหว่างเขมรแดงและเวียดนาม ความขัดแย้งของพรรคคอมมิวนิสต์ การสู้รบของชนกลุ่มน้อย และสงครามโลกครั้งที่ 2  เป็นต้น




ในการปฏิบัติงาน ผมได้มีโอกาสพบเห็นทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (UXO ) จำนวนมากที่ฝังอยู่ตามแนวชายแดน  มีทั้งทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ทุ่นระเบิดดักรถถัง ส่วน UXO ก็จะเป็นพวก กระสุนปืนใหญ่ กระสุนเครื่องยิงลูกระเบิด จรวด กระสุนปืนเล็ก ระเบิดขว้าง ระเบิดแสวงเครื่อง(IED) ฯลฯ เป็นต้น หลังจากที่หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมต่างๆ เก็บกู้ทุ่นระเบิดและ UXO เหล่านี้ได้แล้ว ก็จะนำมาทำลายทิ้ง  ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีในอนุสัญญาห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้เมื่อ 15 ปีก่อน

ในอนุสัญญาออตตาวาที่กล่าวมา จะครอบคลุมเฉพาะการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุุคคล เท่านั้น  ส่วนทุ่นระเบิดดักรถถังและ UXO ไม่จำเป็นต้องทำลายก็ได้ และทุ่นระเบิดสังหารบุคคลดังกล่าวก็สามารถแบ่งบางส่วนไว้ฝึกศึกษาก็ได้ ตามจำนวนที่เหมาะสม

ทุ่นระเบิดตกค้างที่พบในประเทศไทย  ส่วนใหญ่เป็นทุ่นระเบิดที่ผลิตจากประเทศจีน เวียดนาม รัสเซีย และอเมริกา นำมาวางไว้ในประเทศไทยตามวาระการสู้รบต่างๆ ตามแนวชายแดนของประเทศไทย

ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดของประเทศเวียดนาม และประเทศกัมพูชา ทั้งสองประเทศจัดสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์คล้ายกัน คือเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของทุ่นระเบิด ประวัติการสู้รบและสงครามต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศของเขา และมุ่งหวังเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงความโหดร้ายของสงครามในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการทุ่นระเบิดอยู่จำนวนหลายแห่ง

พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดเวียดนาม

พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดของท้องถิ่น ที่ จ.เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา

ห้องนิทรรศการทุ่นระเบิดและ UXO ของ CMAC UNIT4 ประเทศกัมพูชา

ส่วนในประเทศไทย มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดเหมือนกัน แต่ส่วนใหญเป็นของหน่วยทหาร เช่น กรมการทหารช่าง กรมสรรพาวุธทหารบก เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้ใหญ่โตอันใด ไม่ได้มีการจัดสร้างอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นแค่ห้องนิทรรศการของหน่วยเท่านั้น

ส่วนที่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ซึ่งดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดมานานกว่า 15 ปี พบทุ่นระเบิดและ UXO จำนวนมาก แต่ที่นี่ก็มีเพียงห้องนิทรรศการเล็กๆ ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ ทั้งๆ ที่หน่วยงานนี้น่าจะเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องผลักดันให้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดแห่งชาติ ด้วยซ้ำไป

ผมเคยเสนอเรื่องราวของการสร้าง "พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดแห่งชาติ" ทั้งในส่วนที่เป็นอาคารสถานที่ รูปแบบ และพิพิธภัณฑ์ในสนามทุ่นระเบิดที่พบจริง แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทุกคนก็เห็นว่าดี แต่ก็ไม่เคยมีใครต่อยอดให้เรื่องราวนี้ไปสู่ความสำเร็จเลย 

ผมเสียดายทุ่นระเบิดและ UXO ที่เราต้องทำลายทิ้งทั้งหมด โดยไม่เก็บไว้บ้างเพื่อจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้เหมือนประเทศอื่นๆ เขา

เขาบอกว่า "คนไทยไม่ชอบเก็บ ไม่ชอบเขียน ไม่ชอบบันทึกเรื่องราวของตัวเองเอาไว้  จะค้นคว้าอะไรในอดีตของตัวเองก็ต้องใช้เอกสารของชาวต่างชาติมาอ้างอิงอยู่ร่ำไป"  เห็นทีจะจริงตามที่เขาบอกครับ

ผมเขียนบทความนี้เพียงมุ่งหวังว่า เผื่อมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจบารมีมาอ่านเข้า จะได้ช่วยกันผลักดันให้มีการจัดสร้าง "พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดแห่งชาติ" ของประเทศไทยเราบ้าง เพื่อบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับทุ่นระเบิดและ UXO ของเราเอาไว้ อย่างที่ประเทศเพื่อนบ้านเขาทำกัน

****************************
จุฑาคเชน : 25 ส.ค.2558



10 สิงหาคม 2558

ปีนี้..ผมเองก็คงเอาตัวไม่รอด (ลาก่อน TMAC ที่ผมรัก)

ขณะที่เขียนบทความนี้ เหลือเวลาที่ผมจะทำงานที่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) อีก 51 วัน ก็จะสิ้นสุดคำสั่งช่วยราชการประจำปีงบประมาณ 2558 คือ 30 ก.ย.2558

ผมเริ่มมาทำงานที่ TMAC ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.2555 ในตำแหน่ง ประจำศูนย์ฯ  ฝึกฝนวิชาอยู่  6 เดือนต่อมาผมจึงได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็น "หัวหน้าส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล" ในวันที่ 1 ต.ค.2555  จนกระทั่งถึงปัจจุบัน  รวมระยะเวลาปฎิบัติงานที่นี่เเล้วประมาณ 3 ปีครึ่ง 



กำลังพลที่ปฏิบัติงาน ณ  TMAC นี้ เป็นการช่วยราชการแบบปีต่อปี (ตามปีงบประมาณ)  ดังนั้นเมื่อใกล้ถึงปีงบประมาณใหม่ ประมาณต้นเดือน ส.ค. ของทุกปี ผู้บังคับบัญชาระดับบริหาร ก็จะมีการพิจารณาประเมินกันใหม่ว่า "ใครควรอยู่ ใครควรกลับ และใครควรมา"  โดยส่วนใหญ่ที่ผ่านมาจะมีขั้นตอนการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
  1. กำลังพลเดิมที่ประสงค์จะอยู่ปฏิบัติงานต่อ ให้เขียนใบสมัครไว้ 
  2. กำลังพลที่ไม่ประสงค์อยู่ต่อก็ถือว่าจบภารกิจ แล้วเปิดตำแหน่งนั้นๆ เพื่อบรรจุคนใหม่
  3. กำลังพลที่สมัครอยู่ต่อตามข้อ 1 จะถูกพิจารณาแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
    1. กำลังพลที่มีความรู้ความสามารถในการทำงาน มีความประพฤติดี และหน่วยต้นสังกัดยินยอม จะได้อยู่ต่อและเตรียมวางแผนปฏิบัติงานในปีต่อไป
    2. กำลังพลที่ขาดความรู้ความสามารถในการทำงานหรือมีความประพฤติไม่ดี พวกนี้ก็จะส่งคืนหน่วยต้นสังกัดไป
  4. หลังจากนั้นจึงเปิดรับสมัครกำลังพลใหม่จากทุกหน่วย (โดยการสมัคร) ดำเนินการคัดเลือกตามคุณสมบัติที่ต้องการแล้วพิจารณาบรรจุลงในตำแหน่งที่ว่างจากข้อ 2 และ 3/2
  5. TMAC ทำเรื่องขอตัวผู้ที่จะบรรจุใหม่ ทั้งหมดไปยังหน่วยต้นสังกัด
  6. หากหน่วยต้นสังกัดตอบมาไม่ขัดข้องก็สามารถบรรจุเพื่อทำงานในปีต่อไปได้เลย 
เหตุผลที่ต้องดำเนินการเช่นนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นหลักประกันว่า "ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ต้องสามารถปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมได้อย่างต่อเนื่องอย่างมืออาชีพ ถึงแม้จะมีการสับเปลี่ยนกำลังพลก็ตาม กำลังพลเก่าต้องมีห้วงที่จะเวลาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กำลังพลใหม่ ก่อนที่จะมีการสับเปลี่ยนกำลังพลในปีต่อไป"

ปีนี้...ผมเองก็คงเอาตัวไม่รอด
การบรรจุกำลังพลใหม่ปีงบประมาณ 2559 ที่จะถึงนี้ (ตั้งแต่ 1 ต.ค.2558 เป็นต้นไป)  มีนโยบายใหม่จากผู้บริหาร โดย TMAC ได้ออกประกาศรับสมัครกำลังพลที่จะบรรจุใหม่แบบโอเพ่นจากทุกเหล่าทัพ (กองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ) เพื่อมุ่งหวังจะได้คนที่มี่ประสิทธิภาพมาปฏิบัติงาน  

ส่วนกำลังพลที่ปฏิบัติงานใน TMAC ณ ปัจจุบัน หากใครอยากอยู่ต่อ ให้กลับไปเขียนใบสมัครที่หน่วยต้นสังกัดของตนเอง แล้วให้หน่วยต้นสังกัดพิจารณาคัดกรองส่งรายชื่อมา ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติจะเป็นผู้พิจารณาขั้นสุดท้ายเอง โดยไม่มีการจำกัดโควต้า นอกจากนั้นทุกคนที่เขียนใบสมัครจะต้องระบุด้วยว่า จะสมัครปฏิบัติงานในตำแหน่งใด ของ TMAC 

ยกตัวอย่าง... 
ผมเอง ตำแหน่งปัจจุบัน หัวหน้าส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล ปีที่ผ่านมา ผมเขียนใบสมัครที่ TMAC แล้ว TMAC ขอตัวไปยังกองทัพบก กองทัพบกถามไปยังกรมการทหารช่าง หากต้นสังกัดทุกหน่วยไม่ขัดข้อง ผมก็ได้ทำงานต่อที่ TMAC

แต่ปีนี้ ผมจะต้องกลับไปกรอกใบสมัครที่ "กรมการทหารช่าง" จ.ราชบุรี ต้นสังกัดของผม หลังจากนั้น กรมการทหารช่างจะพิจารณาคัดกรองแล้วส่งต่อมายังกองทัพบก ต่อจากนั้น "กองทัพบก"  ก็จะพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครจากหน่วยต่างๆ จากทั่วกองทัพบก คัดกรองอีกชั้นส่งมายังศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ กระบวนการทั้งหมดนี้ กองทัพบกต้องส่งรายชื่อผู้สมัครที่คัดกรองแล้ว ถึง TMAC ภายใน 31 ส.ค.2558 (เหลือเวลาอีก 21 วัน)

"แค่หน่วยกรมการทหารช่าง และกองทัพบก ก็อาจจะไม่ให้ตัวผมมาแล้ว จะไปคาดหวังอะไรกับการแข่งขันจากผู้สมัครทั่วกองทัพไทย แล้วตัวผมเองก็ไม่รู้จะไปวิ่งเต้นเส้นสายกับใครอีกด้วย"

หากมีผู้สมัครตำแหน่ง "หัวหน้าส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล" สัก 5 คน ถามว่าผู้บริหารจะพิจารณาคัดเลือกอย่างไร?

ผมไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นคนเก่งกาจอะไร ใครๆ ก็สามารถทำงานในตำแหน่งนี้ได้ แต่บางตำแหน่งที่ TMAC นี้ ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ บวกกับประสบการณ์ที่สั่งสมมาเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิด การสับเปลี่ยนตำแหน่งโดยไม่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้แก่กัน นับว่าเป็นเรื่องอันตรายต่อองค์กร   

อีกตัวอย่าง...
ลูกน้องมือดีด้านทุ่นระเบิดของผม  ปัจจุบัน ตำแหน่งเสมียนตรวจค้นและทำลาย ต้องกลับไปเขียนใบสมัครที่ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ (นพค.) ซึ่งเป็นหน่วยต้นสังกัดที่ จ.อุบลราชธานี ต้องพยายามให้หน่วยต้นสังกัดคัดกรองให้เสนอชื่อตัวเองขึ้นมาถึงหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาจะรวบรวมรายชื่อจากหน่วยขึ้นตรงของตัวเองทั้งหมดคัดกรองอีกครั้ง ส่งมาถึงศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ

"แล้วลูกน้องมือดีของผม จะเดินทางมาถึงดวงดาวไหมเนี่ย" 

แล้วเราจะทำอย่างไร?
หากเราจะขอลูกสาวใคร มาเป็นสะใภ้ให้ลูกเรา เราต้องมีการดูตัวและจองตัวกันไว้ก่อน แล้วจึงสู่ขอไปทางพ่อตา แต่หากเราให้พ่อตา "พิจารณาส่งลูกสาวมาเอง" เขาอาจจะส่งลูกสาวคนไหนมาก็ได้ เกิดขี้ริ้วขี้เหร่ ไม่ใช่คนที่เราต้องการ และทำงานอะไรไม่เป็นเลย แล้วเราจะทำอย่างไร?

TMAC อาจจะกลายเป็นสูญญากาศไปสักพัก เหมือนมือใหม่หัดขับ 
หลังจากตั้งหลักได้แล้ว ก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม... 

ลาก่อน TMAC ที่ผมรัก...
ลาก่อน HDO THAILAND...


















**********************
จุฑาคเชน : 10 ส.ค.2558

28 กรกฎาคม 2558

อยากได้จริงๆ ครับ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี

พวกเรามีหน้าที่เกี่ยวกับการค้นหา  เก็บกู้  และทำลายทุ่นระเบิดที่ยังคงฝังอยู่ในผืนแผ่นดินไทยซึ่งเกิดจากการสู้รบในอดีต  เจ้าทุ่นระเบิดเหล่านี้พร้อมที่จะคร่าชีวิตเหยื่อที่ไปเหยียบมันได้ตลอดเวลา  พวกเราทำงานภายใต้ความรับผิดชอบของ "ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย"  



พวกเราค้นหาทุ่นระเบิดในแผ่นดินไทย มาตั้งแต่ พ.ศ.2543 จนกระทั่งปัจจุบัน เกือบ 15 ปีแล้ว ตั้งแต่มีพื้นที่อันตรายที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดฝังอยู่ 2,556.7 ตารางกิโลเมตร  ครอบคลุม 23 จังหวัด ปัจจุบันคงเหลือพื้นที่ 476.10 ตร.กม. ครอบคลุม 17 จังหวัด         



พื้นที่อันตรายที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดที่เหลืออยู่นี้  ล้วนเป็นพื้นที่ที่ยากลำบากเกือบทั้งสิ้น อยู่เลาะตามขอบแนวชายแดนของประเทศเมียนมาร์  ลาว และกัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน การเดินทางเข้าถึงพื้นที่ต้องสงสัยฯ ต้องเดินด้วยเท้าซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก บางพื้นที่ต้องนอนพักค้างแรมในพื้นที่ เพื่อรอการสำรวจทางกายภาพในวันรุ่งขึ้น



อยากได้โดรนช่วยสำรวจทางมุมสูง
ในการปฏิบัติงานจริง พวกเราอยากได้โดรนเพื่อบินสำรวจพื้นที่ต้องสงสัยฯ ในมุมสูง (อยากได้มากๆ ครับ) แล้วนำภาพมาวิเคราะห์พื้นที่ต้องสงสัยนั้นๆ ว่า มันมีทุ่นระเบิดอยู่จริงหรือไม่ หากมีมันควรจะถูกฝังเอาไว้ตรงไหน 

มันจะช่วยให้พวกเราสามารถค้นหาเป้าหมายได้เร็วขึ้น 
ที่สำคัญมันจะช่วยให้เราปลอดภัยมากขึ้น...เช่นกัน




อด!ครับ
ผมเคยเสนอให้ทางราชการจัดซื้อโดรน เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยค้นหาทุ่นระเบิด ตอนนี้ราคาเครื่องก็ไม่แพงเท่าใดนัก อย่าง PHANTOM 3 PROFESSIONAL เครื่องนี้ ราคา 47,000 บาท ฯลฯ
สรุปว่า "อดครับ ทางราชการไม่มีงบประมาณพอ"       

ครั้นผมจะหันไปหาใครสักคนที่มีเงินเหลือเฟือ และพร้อมที่จะบริจาคให้ ก็กลัวผู้บังคับบัญชาจะตำหนิว่าเสียศักดิ์ศรีของข้าราชการ เรื่องมันก็เป็นอย่างนี้แหละครับ



อยากได้จริงๆ ครับ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี 
ฝันของพวกเราก็หยุดลง ด้วยประการฉะนี้ แล...

******************* 
ป.ล. หากความต้องการนี้ทราบถึงผู้ใหญ่ใจดีท่านใด อยากจะช่วยงานการค้นหาทุ่นระเบิดในประเทศไทย อย่าบริจาคเป็นเงินนะครับ ใช้เงินไปซื้อโดรนมาบริจาคเลยจะเหมาะสมกว่า  

   

28 พฤษภาคม 2558

การตัดสินใจครั้งสำคัญ

การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย เริ่มมาจากการที่ประเทศไทยตัดสินใจเข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วย “การห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล” หรือเรียกสั้นๆ ว่าอนุสัญญาออตตาวา เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2540 ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา และต่อมาได้ส่งมอบสัตยาบรรณสารต่อเลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2541 ส่งผลให้อนุสัญญาฯ ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2542 เป็นต้นมา



พันธกรณีหลักที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาออตตาวาที่สำคัญ พอสรุปได้ ดังนี้
  1. ประเทศไทยจะไม่ใช้ พัฒนา ผลิต ครอบครอง สะสม หรือโอน ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และจะไม่ช่วยเหลือส่งเสริม ให้รัฐใดดำเนินการดังกล่าว 
  2. ประเทศไทยต้องทำลายทุ่นระเบิดในคลังให้หมดสิ้นภายในวันที่ 30 เม.ย.2546 (ภายในเวลา 4 ปี นับจากอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้)
  3. ประเทศไทยต้องทำลายทุ่นระเบิดที่ยังตกค้างอยู่ภายในดินแดนของราชอาณาจักรไทยภายในวันที่ 30 เม.ย.2552 (ภายในเวลา 10 ปี นับจากอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้)
  4. ดำเนินการจัดทำขอบเขตของพื้นที่อันตรายที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด พร้อมติดป้ายแจ้งเตือน เพื่อป้องกันไม่ให้ราษฎรเข้าไปใช้พื้นที่ ซึ่งอาจเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบทุ่นระเบิดได้
  5. ดำเนินการแจ้งเตือนและให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากทุ่นระเบิด เพื่อลดจำนวนการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตเกี่ยวกับทุ่นระเบิด
  6. การช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยจากทุ่นระเบิด
  7. ประเทศไทยจะต้องดำเนินมาตรการตามกฎหมาย ด้านบริหารและอื่นๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามกิจกรรมที่ต้องห้ามภายใต้อนุสัญญาฯ
คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (National Mine Action Committee : NMAC) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ โดยตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติตามพันธกรณีหลักของอนุสัญญาฯ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) เป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นตามพันธกรณี

ในพันธกรณีสำคัญในข้อที่ 3 “ประเทศไทยต้องทำลายทุ่นระเบิดที่ยังตกค้างอยู่ภายในดินแดนของราชอาณาจักรไทยภายในวันที่ 30 เม.ย.2552” ถือเป็นพันธกรณีสำคัญที่ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบระยะเวลา การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย (Landmine Impact Survey : LIS) โดย องค์การความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (Norwegian People’s Aid : NPA) ระหว่างปี พ.ศ.2543-2544 ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด จำนวน 2,557 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 24 จังหวัดตามแนวชายแดนไทย จนกระทั่งถึงวันที่ 30 เม.ย.2552 ซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดอนุสัญญาฯ ประเทศไทยเก็บกู้พื้นที่ทุ่นระเบิดได้เพียง 2,028.80 ตร.กม. คงเหลือพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดอยู่อีก 528.2 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 18 จังหวัด 

ประเทศไทยขอขยายระยะเวลาต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ที่เหลือดังกล่าว ต่ออีก 9 ปีครึ่ง คือ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2552 ถึง 1 พ.ย.2561 โดยอ้างเหตุผลที่สำคัญดังนี้
  1. การสำรวจของ Landmine Impact Survey เมื่อปี 2543-2544 เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น ทำให้มีความคลาดเคลื่อนและมีพื้นที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิดสูงกว่าความเป็นจริง (2,557 ตร.กม.) ซึ่งทำให้ไทยเสียเวลาเก็บกู้ 
  2. วิธีการที่ไทยใช้ในการเก็บกู้คือการเก็บกู้แบบปกติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาเพราะต้องระมัดระวังสูงและใช้งบประมาณมาก
  3. สภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทุ่นระเบิดซึ่งยากและใช้เวลาในการเข้าถึงและจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์เครื่องจักรที่เหมาะสม เช่น ป่าทึบ ทิวเขาที่มีความลาดชันสูง และสภาพอากาศที่ไม่สามารถทำงานได้ตลอดทั้งปี
  4. งบประมาณที่จำกัด และ 
  5. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศมีไม่มากนัก

ประเทศไทยได้เสนอแผนการดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ที่เหลือจำนวน 528.2 ตร.กม. ให้แล้วเสร็จภายใน 9 ปีครึ่งต่อที่ประชุมรัฐภาคี โดยจะเก็บกู้พื้นที่ทุ่นระเบิดให้ได้เฉลี่ยปีละ 40-60 ตร.กม. มีแผนการใช้งบประมาณทั้งสิ้น 17,435.55 ล้านบาท โดยรัฐบาลไทยจะสนับสนุนงบประมาณให้ ศทช. จำนวน 12,500 ล้านบาท และมีแผนขอรับเงินบริจาคและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ จำนวน 4,935 ล้านบาท


แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ในห้วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2553-พ.ศ.2557) รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ ศทช. เพียง 355.67 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.85 ของแผนที่วางไว้ ประกอบกับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศมีจำนวนน้อยมากไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่เหลือเวลาอีก 4 ปีเศษ ก่อนสิ้นสุดกรอบเวลาที่ขอขยายไว้ (1 พ.ย.2561) ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2557 ประเทศไทยยังคงมีพื้นที่ทุ่นระเบิดเหลืออยู่อีกจำนวน 476.10 ตร.กม.ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด 


เดิมประเทศไทยใช้วิธีการปรับลดพื้นที่สนามทุ่นระเบิด (Mine Field : MF) ด้วยวิธีกวาดล้าง (Clearance) และนำกระบวนการกำหนดพื้นที่ตั้งสนามทุ่นระเบิด (Locating Minefield Procedure : LMP) เพื่อหาพื้นที่สนามทุ่นระเบิดที่แท้จริงมาใช้ ในปี พ.ศ.2550-2552 และต่อมาในปี พ.ศ.2555 ประเทศไทยได้นำวิธีการปรับลดพื้นที่อันตรายที่ได้รับยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (Confirmed Hazardous Area : CHA) ด้วยวิธีการปลดปล่อยพื้นที่ (Land Release) มาใช้แทนวิธีการกวาดล้าง และนำวิธีการยกเลิกพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด (Suspect Hazardous Area :SHA) ด้วยการสำรวจตามหลักฐาน (Evidenced-Base Survey : EBS) มาใช้ในกลางปี พ.ศ.2558 ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองวิธี แม้จะได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าใช้งบประมาณและทรัพยากรน้อย ไม่สิ้นเปลืองเวลา และได้พื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดจำนวนมาก ก็ตาม แต่ภายใต้งบประมาณและทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดในปัจจุบัน ศทช. สามารถปรับลดพื้นที่อันตรายจากทุ่นระเบิดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้เฉลี่ยเพียงปีละ 30 ตร.กม. ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่า ประเทศไทยจะไม่สามารถเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ทุ่นระเบิดที่เหลืออยู่นี้ได้แล้วเสร็จทัน ในวันที่ 1 พ.ย.2561 ตามที่ได้สัญญาไว้

ประเทศไทยจำเป็นต้องตัดสินใจตั้งแต่บัดนี้ว่า จะขอขยายระยะเวลาต่อเป็นครั้งที่ 2 หรือจะหาวิธีการดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่สัญญาไว้ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 3 ปีครึ่ง ซึ่งการตัดสินใจเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (NMAC) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ โดยตำแหน่ง 

การตัดสินใจครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางบวกและทางลบ โดยมีเกียรติภูมิ ศักดิ์ศรี และภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นเดิมพัน

************************
ชาติชยา ศึกษิต : 28 พ.ค.2558

28 เมษายน 2558

คืนความสุขให้ชาวกะเหรี่ยง

ชาวกะเหรี่ยงนิยมสร้างเจดีย์ไว้บนยอดเขาที่สูงที่สุด ในบริเวณหมู่บ้านและพื้นที่ที่อาศัยทำมาหากินอยู่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีไหว้เจดีย์ตามความเชื่อ ซึ่งรายละเอียดความเป็นมาเรื่องนี้ ผมไม่ทราบชัดเจนนัก คงต้องถามผู้เชียวชาญด้านกะเหรี่ยงดู

ผมและคณะได้มีโอกาสเดินทางไปตรวจสอบและประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก ปลายเดือนมกราคม 2558 และอีกครั้ง หลังสงกรานต์ คือ 20-24 เม.ย.2558 ปรากฏว่าที่ด้านหลังศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านนุกะโถวา ม.2 ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก ติดแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ นี้  มีเจดีย์เล็กๆ สร้างอยู่บนยอดเขาสูงสุดด้านหลังศูนย์การเรียนรู้ฯ ห่างไปประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงแถวนั้นเรียกกันว่า  "เจดีย์ขาว"  แต่ชาวกะเหรี่ยงไม่สามารถขึ้นไปประกอบพิธีไหว้เจดีย์ได้ นานมากว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากมีกับระเบิดถูกฝังอยู่บนนั้นจำนวนมาก  ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการสู้รบของกลุ่มติดอาวุธชาวกะเหรี่ยง (KNU)  กับทหารรัฐบาลเมียนมาร์ ตามรอยตะเข็บชายแดนไทย


แผนที่แสดงที่ตั้งของเจดีย์ขาว ความสูงจากระดับน้ำทะเล 970 เมตร

พื้นที่แห่งนี้ ถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของประเทศไทย ว่า
เป็นพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่

สร้างเจดีย์ใหม่ทดแทน
หลังจากที่ชาวกะเหรี่ยงไม่สามารถขึ้นไปสักการะเจดีย์ขาวได้ จึงสร้างเจดีย์ใหม่ขึ้น หลังศูนย์การเรียนรู้ฯ บริเวณเนินเขาด้านล่าง เพื่อใช้ประกอบพิธีเซ่นไหว้ทดแทนเจดีย์ขาวเดิม ตามประเพณีและความเชื่อของตน  


เจดีย์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ด้านหลังศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา
แทนเจดีย์ขาว ที่อยู่บนยอดเขา

การค้นหาทุ่นระเบิด เก็บกู้ และทำลาย
หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 4 และองค์การความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (NPA) ได้จัดกำลังคนเข้าดำเนินการค้นหาทุ่นระเบิด บริเวณพื้นที่ด้านหลังเจดีย์ขาว ขนาดพื้นที่ 41,417 ตร.ม. (25 ไร่เศษ) ระหว่างวันที่ 2 ก.พ.2558 - 20 มี.ค.2558 พบกับระเบิดแสวงเครื่องจำนวน 51 ชุด ทุ่นระเบิด TYPE58 จำนวน 1 ทุ่น และสรรพาวุธที่ยังไม่ระเบิดจำนวนหนึ่ง  ได้ดำเนินการเก็บกู้และทำลายเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2558

การทำลายกับระเบิดที่เก็บกู้ได้ 
เจดีย์ขาวกลับคืนสู่ความปลอดภัย
วันที่ 21 เม.ย.2558 ผมพร้อมด้วยกำนันอภิสิทธิ์ ชีพละไม กำนัน ต.แม่จัน พนักงานเทศบาล ต.แม่จัน คณะครูจากศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา เจ้าหน้าที่อาสา พร้อมราษฎรชาวกะเหรี่ยงในบริเวณนั้น ร่วมกันเป็นสักขีพยาน เดินทางขึ้นไปตรวจสอบพื้นที่บริเวณเจดีย์ขาว ดังกล่าวเพื่อความมั่นใจ พวกเราเดินทางร่วมกัน ระยะทางไปและกลับรวมกว่า 3 กิโลเมตร

เดินทางขึ้นเขาจากเจดีย์ใหม่ด้านล่าง ไปยังเจดีย์ขาวบนยอดเขา
รวมระยะทางไป-กลับ กว่า 3 กิโลเมตร


เจดีย์ขาว แต่เมื่อขึ้นไปถึง องค์เจดีย์กลับเป็นสีเหลืองทอง

"ปลอดภัย ครับ...รู้สึกดีใจ ที่ชาวบ้านจะได้ขึ้นมาไหว้เจดีย์ขาวสักที"
กำนันอภิสิทธิ์ฯ

"ตั้งแต่หนูมาเป็นครูที่นี่ 10 ปีแล้ว ไม่เคยขึ้นมาบนนี้เลยค่ะ นี่เป็นครั้งแรก" 
ครูอุปะพร พินิจกุล ครูอาสาศูนย์เรียนรู้ชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง"  

พวกเราถ่ายภาพเป็นที่ระลึกบริเวณเจดีย์ขาว
ที่ไม่มีใครเคยขึ้นมา นานกว่า 10 ปีแล้ว
ผมแอบรู้สึกอิ่มเอิบใจ แทนพี่น้อง HDO ทุกคน
ที่พวกเราสามารถคืนความสุขให้ชาวกะเหรี่ยงแห่ง ต.แม่จัน ได้สำเร็จ
วันนี้ "เจดีย์ขาว" จะกลับมาคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นธูป ควันเทียน
แห่งความศรัทธาของชาวกะเหรี่ยงอีกครั้งหนึ่ง

********************
ชาติชยา ศึกษิต : 28 เม.ย.2558

6 กุมภาพันธ์ 2558

ยุทธการบ้านชำราก กับทุ่นระเบิดที่รอการเก็บกู้



ปีนี้..มีแนวโน้มว่า ผมคงจะได้เกี่ยวข้องกับอนุสรณ์สถานแห่งการสู้รบหลายแห่งแน่ครับ 

หลังจากปลายปีที่แล้ว พวกเราไปเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้ อบต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ที่เนิน 500 สมรภูมิช่องบก สามเหลี่ยมมรกต เพื่อเตรียมการจัดทำอนุสรณ์สถานแห่งการสู้รบ มาต้นปีนี้ ผมก็ได้รับการเชื้อเชิญให้เดินทางไปสำรวจที่ "ยุทธการบ้านชำราก"  อ.เมือง จ.ตราด อีกครั้ง เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558 ที่ผ่านมา


หนังสือที่เทศบาล ต.ชำราก จัดพิมพ์เผยแพร่ในรูปแบบการ์ตูน
ยุทธการบ้านชำราก
ยุทธการบ้านชำรากเป็นการรบช่วงเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่วัน ระหว่างทหารเวียดนาม กับ กองทัพเรือไทย โดยกำลังรบหลักคือทหารนาวิกโยธิน เสริมกำลังทางอากาศโดยกองทัพอากาศไทย เหตุการณ์เริ่มขึ้นหลังสงกรานต์เพียงไม่กี่วัน โดยเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2528 กองทัพเวียดนามได้ปฏิบัติการโจมตีกวาดล้างกองกำลังเขมรแดง ซึ่งมีฐานที่มั่นตามแนวชายแดนบริเวณเทือกเขาบรรทัด 

ด้วยกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหารเวียดนามที่เหนือกว่า กองกำลังเขมรแดง แตกพ่ายหนีถอยร่นเข้ามาในเขตแดนประเทศไทย กองกำลังทหารเวียดนามรุกไล่ติดตามเขมรแดงเข้ามา และตั้งฐานที่มั่นอยู่บนเทือกเขาบรรทัดในเขตแดนประเทศไทยตรงข้ามกับบ้านชำราก นี้เอง

อีก 8 วันต่อมา ในวันที่ 28 เม.ย.2528 ปืนใหญ่สนามของนาวิกโยธินไทย เริ่มยิงทำลายฐานที่มั่นของทหารเวียดนามที่อยู่บนยอดเขาเป็นวันแรก ต่อมาจึงเริ่มใช้กำลังจากกองพันทหารราบนาวิกโยธิน กองร้อยอาสาสมัครทหารพราน และกองร้อยตำรวจตระเวณชายแดน สนธิกำลังเดินทางด้วยเท้าเข้าตีกองกำลังทหารเวียดนามอย่างต่อเนื่องเป็นระลอก ตั้งแต่วันที่ 1,4,5,9,10,14 และจนกระทั่งในวันที่ 18 พ.ค.2528 เวลา 10:50 น. ทหารไทยสามารถยึดที่หมายได้ ผลักดันทหารเวียดนามให้พ้นจากเขตแดนไทยได้สำเร็จ

การรบครั้งนี้ ทหารไทยเสียชีวิต จำนวน 9 นาย บาดเจ็บ 63 นาย และป่วยจากไข้มาลาเรียจำนวน 584 นาย ส่วนทหารเวียดนาม พบศพจำนวน 17 ศพ และทราบข่าวว่ามีผู้บาดเจ็บจำนวนมากเช่นกัน (เหตุการณ์โดยละเอียดสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ต่างๆ)

อนุสรณ์สถานการสู้รบ "ยุทธการบ้านชำราก"
นายประมวล มุสิกรัตน์ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลชำราก และกำนันตำบลชำราก ได้พาผมขึ้นไปดูพื้นที่ที่เคยสู้รบในสมัยนั้น ซึ่งอยู่บนยอดเขาบรรทัดติดเขตแดนไทย ท่านนายกฯ และกำนัน พยายามผลักดันที่จะสร้าง "อนุสรณ์สถานการสู้รบยุทธการบ้านชำราก" ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของลูกหลานบ้านชำราก และอนุชนรุ่นหลัง พร้อมทั้งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของทหารกล้าที่เสียสละแม้ชีพตัวเองเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินของไทย ยุทธการบ้านชำราก เปรียบเสมือน ความรัก ความสมัครสมานสามัคคี และความรักในบ้านเกิดเมืองนอนของคนไทยทุกคน


อนุสรณ์ฯ ที่ถูกทิ้งร้างเหมือนไม่มีคนดูแล
ป้ายชื่อทหารผู้เสียชีวิต ถูกวางอยู่บนแท่น สภาพเก่าแทบมองไม่เห็น

เดินสำรวจรอบๆ พื้นที่การสู้รบยุทธการบ้านชำราก
หารือกับนายกเทศมนตรีเทศบาล ต.ชำราก และกำนัน ต.ชำราก
บนศาลาจุดชมวิว
เส้นทางขึ้นยุทธการชำราก ห่างจากฐานทหารพรานบ้านชำรากประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นทางลูกรัง บางช่วงเหลือแต่หินกรวดลอยๆ ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น หากเป็นหน้าฝนคงจะขึ้นไม่ได้เลยครับ ที่บนนั้นมีร่องรอยของการสู้รบอยู่เช่น หลุมบุคคล และแนวคูเลตยาวโดยรอบฐาน มีสิ่งก่อสร้างขึ้นภายหลังที่มองเห็นได้คือ ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อนุสรณ์แห่งการสู้รบ และจุดชมวิว แต่ทุกอย่างเหมือนขาดการดูแลเท่าที่ควร มีร่องรอยของที่พักของทหารพรานซึ่งรกร้าง ทราบว่าแต่ก่อนฐานทหารพรานเคยตั้งฐานอยู่บนนี้ แต่เพราะบนนั้นไม่มีน้ำไม่มีไฟ เส้นทางเข้าถึงพื้นที่ก็ยากลำบาก ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์นำเสบียงไปส่ง ปัจจุบันทหารพรานจึงย้ายฐานลงไปอยู่บริเวณพื้นราบด้านล่างแทน


ท่านกำนันฯ ตั้งใจใส่เสื้อตัวนี้มาให้ผมดูครับ
ยุทธการบ้านชำราก 29 ปี แห่งความภาคภูมิใจ

ทุ่นระเบิดยังถูกฝังอยู่ รอเวลาเก็บกู้
พื้นที่ยุทธการบ้านชำรากนี้ ถูกสำรวจโดยศูนย์ปฎิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เมื่อปี 2545 ระบุว่าเป็นพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด (SHA) คาดว่าในพื้นที่นี้ยังมีทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (AP) ถูกฝังอยู่ประมาณกว่า 138,200 ทุ่น และประเภทกระสุนปืนใหญ่ ลูก ค. จรวด ที่ยังไม่ระเบิดอีกประมาณ กว่า 1,000 นัด ครอบคลุมพื้นที่ 10 ตร.กม.เศษ หรือประมาณ 6,250 ไร่ อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 2 (กองทัพเรือ) แต่ยังไม่เคยมีการเข้าปฏิบัติการค้นหา เก็บกู้ และทำลายทุ่นระเบิดเลย

พื้นที่อนุสรณ์สถานการสู้รบยุทธการบ้านชำรากนี้ ยังคงเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย หากมีการเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สงครามหรือแหล่งท่องเที่ยวแล้ว อาจจะเกิดอันตรายต่อ นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไปได้


พื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด
บริเวณยุทธการบ้านชำราก ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด
กินพื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตรเศษ
ด้วยเหตุนี้เอง ท่านนายกฯ จึงอยากให้พวกเราได้เข้าไปค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในบริเวณดังกล่าว โดยในขั้นต้นเอาเฉพาะพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างและพื้นที่โดยรอบบางส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน ท่านนายกฯ เล่าต่อให้ฟังว่า ตอนนี้ ทาง อบจ.ตราด ได้เขียนโครงการเสนอไปยังกระทรวงท่องเที่ยวฯ แล้ว แต่ไม่รู้จะได้งบประมาณมาจัดทำโครงการหรือปล่าว 

ทุ่นระเบิด อุปสรรคในการพัฒนา
ที่เนิน 500 สมรภูมิช่องบก จ.อุบลราชธานี และยุทธการบ้านชำราก จ.ตราด นี้ มีลักษณะคล้ายกัน คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบพยายามจะสร้างเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการสู้รบเพื่อเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ และรำลึกถึงวีรกรรมของทหารกล้า แต่ในพื้นที่ยังเต็มไปด้วยทุ่นระเบิดและลูกระเบิดด้านอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมีการเก็บกู้แล้ว พื้นที่ก็จะปลอดภัยไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนา

แต่ผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไม? ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ จึงไม่จัดเป็นความเร่งด่วนลำดับต้นๆ ในการเข้าปฏิบัติงาน คงปล่อยล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันนี้ นับเป็นเวลากว่า 13 ปีแล้ว หรือหากกองกำลังทหารที่ดูแลพื้นที่อยู่ กล่าวอ้างว่า ที่ไม่เก็บกู้ทุ่นระเบิดเพราะจะใช้พื้นที่เป็นฉากขัดขวางเพื่อความมั่นคงตามแนวชายแดน ดูเหมือนว่าจะไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย เพราะปัจจุบันนี้ลักษณะของการสู้รบแบบแย่งยึดพื้นที่แบบสมัยก่อนคงไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว

คณะสำรวจถ่ายภาพร่วมกัน


ชาวบ้านตั้งใจจะสร้างอนุสรณ์ให้แก่วีรกรรมทหารกล้าของกองทัพ

แต่กองทัพเองกลับไม่สนใจใยดีที่จะช่วยสนับสนุนชาวบ้าน
ผมแอบตั้งคำถามอยู่ในใจว่า "เพราะเหตุใด"

*********************************
ชาติชยา ศึกษิต : 6 ก.พ.2558

8 มกราคม 2558

รูปปั้นจ่าสมชาย : ก้าวแรกของอนุสรณ์สถานแห่งการสู้รบที่สมรภูมิช่องบก


ต่อจาก สามเหลี่ยมมรกต (The Emerald Triangle)


......การรบที่ช่องบก หรือสมรภูมิรบช่องบก ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2528- ธันวาคม 2530 เป็นสงครามระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพเวียดนาม โดยกองทัพเวียดนามได้เข้ามายึดภูมิประเทศทางทหารที่สำคัญในดินแดนไทย เช่น เนิน 500 เนิน 408 เนิน 382 เนิน 496 และเนิน 495 เพื่อทำการผลักดันกองกำลังเขมรแดง การรบในครั้งนั้น ทหารไทยผู้กล้าต้องพลีชีพเพื่อปกป้องแผ่นดินเอาไว้ถึง 109 คน บาดเจ็บอีก 664 นาย  ส่วนทหารเวียดนาม และเขมรแดง ก็สูญเสียเป็นจำนวนมากเช่นกัน เล่ากันว่ารวมกันแล้ว ทั้งทหารไทย เวียดนาม และเขมรแดง เสียชีวิตที่สมรภูมิแห่งนี้ ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน....

ชื่นชม...ในความตั้งใจ
ผมเคยไปที่เนิน 500 มาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2557 และวันที่ 23 ธ.ค.2557 ทั้งสองครั้งผมได้พบกับ นางวาสนา คำโส นายก อบต.โดมประดิษฐ์  ผู้ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะจัดทำโครงการย้อนรอยเขตแดนไทยในสมรภูมิช่องบก ณ บริเวณเนิน 500 แห่งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกและตระหนักในคุณค่าของประวัติศาสตร์การสู้รบ และร่วมรำลึกถึงความกล้าหาญของทหารไทย  และในทุกๆ ปีก็จะเปิดโอกาสให้ญาติทหารผู้เสียชีวิตได้ขึ้นมาร่วมทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตด้วยเป็นประจำ โดยใช้งบประมาณ ซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก ของ อบต.โดมประดิษฐ์ ซึ่งในปีนี้กำหนดงานทำบุญ เมื่อวันที่ 6-7 ม.ค.2558 ที่ผ่านมา

การไปครั้งแรก  นายก อบต.ฯ พาผมไปดูที่เนิน 500 สถานที่จัดงานทำบุญ และขอร้องให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ได้ช่วยเก็บกู้ทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (UXO) ที่ยังตกค้างอยู่บริเวณเนิน 500 จำนวนมาก เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ญาติของทหารผู้เสียชีวิตและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานทำบุญประจำปี หลังจากนั้นต่อมาทาง TMAC  จึงได้มอบหมายใน นปท.3 เป็นผู้ดำเนินการเก็บกู้ฯ  
การไปครั้งที่สอง ผมไปตรวจความคืบหน้าการเก็บกู้ทุ่นระเบิดฯ ของ นปท.3 ก่อนถึงวันงานทำบุญ


บรรยากาศการทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารผู้เสียชีวิต
บนเนิน 500 ประจำปี 2558 (ุ7 ม.ค.2558)



อยากมีอนุสาวรีย์...
ระหว่างที่เดินตรวจสอบพื้นที่อยู่ด้วยกันนั้น นายกวาสนาฯ กล่าวขึ้นมาลอยๆ ว่า "อยากมีอนุสาวรีย์ของ จ.ส.อ.สมชาย แก้วประดิษฐ์ ตั้งอยู่ตรงแท่นหินเดิมเพื่อใช้เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงเหตุการณ์การสู้รบในอดีต"  ในใจผมเห็นด้วย แต่ผมตอบท่านไปว่า  "เรื่องนี้ควรให้ทางกองทัพภาคที่ 2 เขาเป็นผู้ริเริ่มดีกว่า เพราะเขาเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ จ.ส.อ.สมชายฯ เขาน่าจะเป็นผู้สร้างให้ และทาง อบต.ก็คงจะไม่มีงบประมาณมาก่อสร้างแน่ ทางกองทัพภาคเป็นหน่วยงานใหญ่ มีศักยภาพ เขาน่าจะหางบประมาณมาใช้ในการก่อสร้างได้ง่ายกว่า"  หลังจากนั้นเราก็หยุดคุยกันในเรื่องนี้ 

วีรกรรมของ จ.ส.อ.สมชาย แก้วประดิษฐ์
อนุสรณ์ของ จ.ส.อ.สมชาย แก้วประดิษฐ์ นี้ แต่เดิมยังไม่มีรูปปั้น เป็นเพียงแผ่นหินที่เขียนเหตุการณ์โดยสังเขปเอาไว้ ด้วยสีน้ำมันสีขาว ซึ่งค่อนข้างซีดจางและลบเลือนไปแล้วบางส่วน พอที่จะจับใจความได้ ดังนี้

อนุสรณ์วีรกรรม จ.ส.อ.สมชาย แก้วประดิษฐ์ บนยอดเนิน 500 เดิมที่ยังไม่มีรูปปั้น
"วีรกรรม จ.ส.อ.สมชาย  แก้วประดิษฐ์ ตำแหน่ง รอง ผบ.มว.ปล.ที่ 1 ร้อย ร.2341 ปฏิบัติตามแผนยุทธการเผด็จศึก กองทัพภาคที่ 2  เมื่อ 28 มิ.ย.30 มว.ปล.ที่ 1 ภายใต้การนำของ จ.ส.อ.สมชายฯ ได้รับคำสั่งให้เข้าตีข้าศึก ณ เนิน 500 ฐานตั้งรับข้าศึก ขณะปีนป่ายหน้าผาเพื่อทำการแทรกซึม บริเวณพิกัด VA 2XXX61 (จุดตรวจการณ์ปัจจุบัน)  จ.ส.อ.สมชายฯ ได้นำกำลังเข้าต่อสู้อย่างกล้าหาญ แต่ได้ถูกอาวุธของฝ่ายตรงข้ามนานาชนิด ระดมยิงอย่างหนัก เป็นเหตุให้ จ.ส.อ.สมชายฯ เสียชีวิตในทันที

วีรกรรมของ จ.ส.อ.สมชายฯ ในครั้งนี้ เป็นการกระทำที่สมเกียรติ สมศักดิ์ศรี ของชายชาติทหารอย่างแท้จริง จึงสมควรได้รับการสดุดีไว้ ณ ที่นี้"


จากคำบอกเล่าเพิ่มเติม กล่าวว่า ศพ จ.ส.อ.สมชายฯ ถูกทหารเวียดนามแขวนเอาไว้ ณ จุดนี้ เพื่อล่อให้ทหารไทยมาแย่งศพคืนไป พอทหารไทยขึ้นมาก็ระดมยิงใส่ เล่าต่อกันว่า กว่าจะนำศพของ จ.ส.อ.สมชายฯ กลับลงมาได้ มีทหารไทยได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์แย่งศพครั้งนี้ จำนวนมาก  

รูปปั้น จ.ส.อ.สมชาย : ก้าวแรกของอนุสรณ์สถานฯ
บ่ายวันที่ 6 ม.ค.2558 เพื่อน HDO นปท.3 ส่งภาพรูปปั้น จ.ส.อ.สมชายฯ ที่เนิน 500 มาให้ผมดูทางไลน์ ผมรู้สึกประหลาดใจ พร้อมทั้งรู้สึกชื่นชมถึงความตั้งใจจริงของท่าน นายกวาสนา คำโส และต่อมาในวันทำบุญ วันที่ 7 ม.ค.2557 ท่านนายกฯ ก็ส่งรูปภาพมาให้ผมดูทางไลน์อีกหลายภาพ และท่านนายกฯ ยังพิมพ์ข้อความอีกว่า  



"รูปปั้นจำลองจ่าสมชาย พร้อมลูกน้องอีก 2 คน รวมเป็น 3 คน เสร็จเฉพาะรูปปั้นจ่าสมชาย รูปปั้นลูกน้องจ่าสมชายฯ อีก 2 คน ยังไม่เสร็จกำลังปั้นอยู่...ปั้นเพื่อเป็นแรงจูงใจ ให้ลูกหลานและนักท่องเที่ยวได้เห็น ให้มีจิตสำนึกรำลึกถึงบุญคุณทหารกล้าเหล่านั้น อยากจะสร้างอนุสาวรีย์ แต่งบมีน้อยก็เลยได้แค่รูปปั้นก่อน"  


นางวาสนา คำโส นายก อบต.โดมประดิษฐ์
กำลังอำนวยการติดตั้งรูปปั้น จ.ส.อ.สมชาย แก้วประดิษฐ์ ที่ เนิน 500 


รูปปั้นจ่าสมชาย แก้วประดิษฐ์
 : ก้าวแรกของอนุสรณ์สถานแห่งการสู้รบที่สมรภูมิช่องบก

เห็นความตั้งใจจริงของ นายกวาสนาฯ แล้ว ผมรู้สึกอายตัวเอง ในฐานะที่ผมก็เป็นทหารคนหนึ่ง  แทบไม่สามารถช่วยอะไรเธอได้เลย ผมควรที่จะทำอะไรได้มากกว่านี้ แต่เสียงของพวกเราคงเบาเกินไป  ความฝัน ความหวัง ที่จะเกิดพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การสู้รบหรืออนุสรณ์สถานแห่งการสู้รบที่สมรภูมิช่องบก นี้ คงลางเลือนเหลือเกิน ลำพัง นายก อบต.ตัวเล็กๆ คงไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ 

หวังว่า รูปปั้นของ จ.ส.อ.สมชาย แก้วประดิษฐ์ และลูกน้องอีก 2 คน ที่สร้างขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกฝ่าย หันมาช่วยกันรำลึกประวัติศาสตร์ ช่วยกันต่อยอด จัดสร้าง  "อนุสรณ์สถานแห่งการสู้รบที่สมรภูมิช่องบก" แห่งนี้  เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจ ปลูกจิตสำนึกให้คนรุ่นหลัง และใครก็ตามที่ได้มาพบเห็น ตระหนักถึงพิษภัยของสงครามที่่ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง และร่วมรำลึกถึงวีรกรรมของทหารกล้า ที่เสียสละแม้ชีวิตตนเองจะหาไม่ ก็เพียงเพื่อให้ชาติ ให้แผ่นดินไทย ดำรงคงอยู่เพื่อลูกเพื่อหลานสืบไป 

มิได้หวังว่าจะเป็นวีรบุรุษ...แต่ก็สุดจะเห็นชาติพินาศสลาย


ที่มาของภาพ http://www.nco125.com/webboard-view/1306261687.html

******************************
ชาติชยา ศึกษิต : 8 ม.ค.2558