28 พฤศจิกายน 2559

ผมอึดอัด ขอเขียนอีกครั้งครับ

ผมเคยปฏิบัติงานที่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 และถูกปรับย้ายออกในสมัยผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่งเมื่อ 31 มี.ค.2559 เหตุเพราะขัดแย้งเรื่องนโยบายที่สำคัญ วันนี้..ผู้บังคับบัญชาฯ ท่านนั้นย้ายไปแล้ว แต่ผมยังคงถูกรับเชิญให้เดินสายเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของทุ่นระเบิดในประเทศไทยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานรุ่นใหม่ฟังทั่วประเทศ เพื่อความเข้าใจและมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

เรื่องราวเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมอึดอัด มันยังรบกวนจิตใจของผมอยู่ เรื่องราวเหล่านี้ผมเคยนำเสนอให้ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องฟังมาโดยตลอด หลายยุคหลายสมัย แต่ถึงวันนี้ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด นั้นคือเรื่องราวของ "ระยะเวลาในอนุสัญญาออตตาวา ที่ประเทศไทยจะสิ้นสุดตามที่ให้สัญญาไว้ในวันที่ 1 พ.ย.2561 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเหลืออีกเพียง 2 ปี"  ผมอยากให้ผู้ที่มีอำนาจ ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันรับรู้และตัดสินใจในเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติ  ผมจึงขอเขียนบทความเรื่องนี้อีกครั้ง เผื่อจะสื่อไปถึงท่านเหล่านั้นได้บ้าง



อนุสัญญาออตตาวา
ประเทศไทยไปลงนามในอนุสัญญาในเวทีโลกว่าด้วยห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรือที่เรียกสั้นๆ อนุสัญญาออตตาวา  โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2542 เป็นต้นมา โดยพันธสัญญาข้อหนึ่งที่สำคัญและประเทศไทยทำไม่สำเร็จคือ 

"ต้องค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่ตกค้างจากสงครามและการสู้รบวาระต่างๆ ที่ยังคงฝังอยู่ในแผ่นดินไทยให้หมดสิ้นภายในวันที่ 30 เม.ย.2552"  (ภายใน 10 ปีหลังเริ่มสัญญา)

แต่เมื่อถึงวันที่ 30 เม.ย.2552 พื้นที่อันตรายที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดตกค้าง ที่บันทึกไว้จำนวน 2,556.7 ตร.กม.ในพื้นที่ 24 จังหวัด ประเทศไทยดำเนินการค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดได้เพียง 2,000 กว่าตร.กม. ยังคงเหลือพื้นอันตรายต้องสงสัยฯ ตกค้าง เหลืออยู่อีก 528.2 ตร.กม.

ประเทศไทยจึงอนุมัติต่อที่ประชุมรัฐภาคีต่างๆ เพื่อขอขยายระยะเวลาค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่อันตรายฯ ที่เหลืออยู่จำนวน 528.2 ตร.กม. ต่อไปอีก 9 ปีครึ่ง (หมดเขตถึงวันที่ 1 พ.ย.2561)

เหตุผลที่ประเทศไทยดำเนินการล่าช้า
ประเทศไทยอ้างเหตุผลที่ดำเนินการล่าช้า  ไม่สำเร็จตามระยะเวลา ต่อที่ประชุมในครั้งนั้น ว่า 
  1. การสำรวจของ Landmine Impact Survey เมื่อปี 2543-2544 เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น ทำให้มีความคลาดเคลื่อนและมีพื้นที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิดสูงกว่าความเป็นจริง (2,557 ตร.กม.) ซึ่งทำให้ไทยเสียเวลาเก็บกู้  
  2. วิธีการที่ไทยใช้ในการเก็บกู้คือการเก็บกู้แบบปกติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาเพราะต้องระมัดระวังสูงและใช้งบประมาณมาก
  3. สภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทุ่นระเบิดซึ่งยากและใช้เวลาในการเข้าถึงและจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์เครื่องจักรที่เหมาะสม เช่น ป่าทึบ ทิวเขาที่มีความลาดชันสูง และสภาพอากาศที่ไม่สามารถทำงานได้ตลอดทั้งปี
  4. งบประมาณที่จำกัด และความช่วยเหลือจากต่างประเทศมีไม่มากนัก
คาดว่าหลังจากขอขยายระยะเวลา ไทยจะเหลือพื้นที่ทุ่นระเบิดประมาณ 528.2 ตร.กม. จากพื้นที่ที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิดทั้งหมด 2,557 ตร.กม. โดยจะให้ความสำคัญกับพื้นที่ซึ่งมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน พื้นที่ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม พื้นที่ซึ่งมีผลต่อสภาพแวดล้อมและนิเวศวิทยา และพื้นที่ซึ่งยังปักปันเขตแดนไม่แล้วเสร็จ ตามลำดับ และคาดว่าจะใช้งบประมาณ 17,435.5 ล้านบาท ทั้งจากรัฐบาลไทย และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

แผนการใช้งบประมาณ
ประเทศไทยเสนอแผนการใช้งบประมาณใน 9 ปีครึ่งข้างหน้า ดังภาพด้านล่างนี้


ตามแผน : ในปี ค.ศ.2010-2018 ประเทศไทยวางแผนหางบประมาณมาใช้ในการดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดทั้งสิ้น 15,973.90 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากรัฐบาล 11,500 ล้านบาท และเงินบริจาคจากต่างชาติ 4,473.90 ล้านบาท 

แต่ในความเป็นจริง กลับตรงกันข้าม : รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระบิดให้แก่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ผ่านกระทรวงกลาโหม) เพียง 566.9 ล้านบาท (ถึงปี ค.ศ.2017) ส่วนเงินบริจาคจากต่างประเทศ มีน้อยมาก และไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ 

TIME LINE ของประเทศไทย
ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2559 ประเทศไทยยังคงเหลือพื้นทีอันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดฯ อีก 422.60 ตร.กม.ครอบคลุมพื้นที่ 13 จังหวัด ซึ่งเหลือเวลาอีก 2 ปี 2 เดือน จะสิ้นสุดเวลาที่สัญญาไว้




จากสถิติที่ผ่านมาภายใต้ทรัพยากรและเครื่องมือในปัจจุบัน ประเทศไทยปรับลดพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดฯ ได้ปีละ 30-35 ตร.กม. หากวิเคราะห์แล้ว สถานะปัจจุบัน ประเทศไทยมีความล่อแหลมต่อการผิดสัญญาอีกครั้ง


ผู้มีอำนาจต้องตัดสินใจ
ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในที่ประชุมรัฐภาคี ประเทศที่ประสงค์ขอต่ออนุสัญญาฯ ต้องเสนอคำขอล่วงหน้าหนึ่งปี ก่อนสิ้นสุดสัญญา ดังนั้นหากประเทศไทย จะตัดสินใจขอต่อหรือไม่ต่ออนุสัญญาฯ  อีกครั้ง นั้น ต้องเสนอในปี พ.ศ.2560 (ค.ศ.2017) นั่นหมายถึง ผู้ที่มีอำนาจโดยแท้จริง คือ  คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (National Mine Action Committee : NMAC) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ต้องมีมติเห็นชอบด้วยและจะต้องตัดสินใจว่า "จะเอากันอย่างไร" ไม่ใช่การตัดสินใจของผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ หรือผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ คนใดคนหนึ่ง 



และหากคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ( NMAC) มีมติตัดสินใจไม่ต่อสัญญา ก็ต้องมีมาตรการลงมาเพิ่มเติมว่า แล้วจะทำกันอย่างไรต่อไปให้สำเร็จตามสัญญา  อันที่จริงๆ เรื่องนี้ผมเคยนำเสนอมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 แล้วว่า "จะต่อหรือไม่ต่อ ต้องมีความชัดเจน" (ดังภาพที่แสดงด้านล่าง)  แต่ไม่มีผู้บริหารท่านใดให้ความสนใจ ทุกคนมาอยู่ชั่วพักชั่วยามแล้วก็จากไป  จนถึงวันนี้อาจจะต้องเร่งรีบดำเนินการมากขึ้น


จะใช้เหตุผลใดในการขอต่อสัญญา
หากประเทศไทยจะขอต่อสัญญาที่เป็นครั้งที่ 2 ต้องตอบคำถามมากมาย เพื่อให้ตัวเองไม่เสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือในรัฐภาคี เพราะแผนที่เคยเสนอไว้ในการต่อสัญญาครั้งที่ 1  ประเทศไทยไม่เคยได้ทำตามแผนเลย เหมือนการขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ เหมือนเด็กดื้อ ที่ทำการบ้านไม่เสร็จเป็นครั้งที่ 2 แล้วจะเอาเหตุผลอะไรไปอ้างครู  

หากประเทศไทย ปฏิบัติงานเก็บกู้ทุ่นระเบิดฯ ไม่แล้วเสร็จตามอนุสัญญาออตตาวาที่ให้ไว้อีกครั้ง ก็คงไม่เป็นไร รัฐภาคีทั้งหลายก็คงไม่ลงมติให้จับกุมประเทศไทยไปลงโทษ เข้าคุกเข้าตาราง แต่อย่างใด  แต่ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากค่าความน่าเชื่อถือและค่าความเชื่อมั่นต่อสังคมโลก ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออนุสัญญาฯ อีกหลายฉบับที่เข้าร่วมอยู่แล้ว และอีกหลายฉบับที่กำลังจะตามมา

ฤา..เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของประเทศไทยที่เคยสร้างสมไว้ในอดีต จะถูกทำลายลงในยุคผู้นำปัจจุบันของประเทศไทย  ช่วยกันเถอะครับ หันมาดูข้อเท็จจริง และช่วยกันแก้ไขเสียที ก่อนที่จะสายเกินไป

********************************
ชาติชยา ศึกษิต : 28 พ.ย.2559

คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ( NMAC) (ตามโครงสร้าง)

28 มีนาคม 2559

หนังสือเล่มสีส้ม

หลังจากอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) มีผลบังคับใช้แล้ว การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย (Land Impact Survey : LIS) อย่างเป็นทางการได้เริ่มขึ้นในเดือน พ.ค.2543 โดยศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ (Survey Action Center : SAC) เป็นผู้ปฏิบัติการสำรวจ มีองค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (Norwegian People’s Aid : NPA) เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการสำรวจ การสำรวจเสร็จสิ้นในเดือน มิ.ย.2545 

ผลการสำรวจ
ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (UXO) จำนวน 933 แห่ง ชุมชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากภัยทุ่นระเบิดจำนวนทั้งสิ้น 530 หมู่บ้าน แยกเป็นหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 297 หมู่บ้าน ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา 139 หมู่บ้าน ตามแนวชายแดนไทย-ลาว 90 หมู่บ้าน และตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย 4 หมู่บ้าน รวมขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 2,556.7 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ใน 24 จังหวัด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของราษฎรจำนวน 503,682 คน

หนังสือเล่มสีส้ม

หนังสือเล่มสีส้ม : โจทย์ของประเทศไทย
พื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดจำนวน 2556.7 ตร.กม.ใน 24 จังหวัด ที่ถูกรายงานไว้ในหนังสือการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเะทศไทย (Landmind Impact Survey Kingdom of Thailand) ซึ่งผมมักจะเรียกเขาว่า "หนังสือเล่มสีส้ม"  ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ประเทศไทยต้องดำเนินการค้นหาเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดในพื้นที่ดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อน 1 พ.ค.2552 ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาออตตาวา แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เสร็จ จำต้องขอต่ออนุสัญญาฯ ไปอีก โดยการขอต่อสัญญางวดใหม่นี้ ประเทศไทยขอถึงวันที่ 1 พ.ย.2561 นับจากปัจจุบันเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีเศษๆ และมีแนวโน้มว่ากำลังจะไม่เสร็จอีก

กำลังจะถูกทิ้ง
หนังสือเล่มสีส้มนี้ จัดพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องราวรายละเอียดเกี่ยวกับผลการสำรวจ ความเป็นมาและวิธีการที่ใช้ การรายงานผลกระทบจากทุ่นระเบิดของประเทศไทยโดยละเอียด มีการจัดทำเป็นซีดีรอมแนบไว้ด้วย 

ตอนผมเข้ามาทำงานในศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิด (TMAC) ใหม่ๆ ประมาณปลายปี 2555 กำลังมีการจัดระเบียบภายในหน่วยงาน โดย เจ้าหน้าที่ทั้งหลายพยายามกำจัดหนังสือเก่าๆ  สิ่งของ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ที่ชำรุดและไม่จำเป็นแล้ว บ้างก็นำไปทิ้ง บ้างก็นำไปขาย เพื่อให้เกิดความสะอาดของหน่วยงาน  ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรมากนัก ผมพบหนังสือเล่มนี้กำลังจะถูกนำไปทิ้ง โดยไม่มีใครใส่ใจ ผมจึงแอบเก็บมาไว้ศึกษา จนกระทั่งปัจจุบันผมยังใช้เป็นคัมภีร์หลักประกอบการบรรยาย การปฏิบัติงาน และศึกษาภูมิหลังเรื่องราวของทุ่นระเบิดในประเทศไทยมาโดยตลอด

ปัจจุบัน "หนังสือเล่มสีส้ม" นี้  เหลืออยู่นับจำนวนเล่มได้  
ทีมสำรวจ LIS เมื่อปี พ.ศ.2543-2545

ดร.กาย โรดส์ คนที่ 4 จากซ้าย

ดร.กาย โรดส์ ผู้นำโครงการ
ผู้นำโครงการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดและกระสุนตกค้างที่ยังไม่ระเบิดในประเทศไทย ขณะนั้น คือ ดร.กาย โรดส์ จากองค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (NPA) ที่เหลือจะประกอบด้วย ผู้ช่วยผู้นำโครงการ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการข้อมูล ผู้บริหารฝ่ายการเงิน การบริหาร การจัดซื้อ และคณะสำรวจจำนวน 4 ชุด ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภาคสนามมากกว่า 50 คน รวมทั้งหมดแล้วเป็นผู้บริหารชาวต่างประเทศ 4 คน ที่เหลือเป็นคนไทย จำนวนประมาณ 80 คน

ขอลายเซ็น
ในโอกาสที่นาย Stefano Toscano เอกอัครราชฑูตและผู้อำนวยการศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการเก็บกู้ทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมแห่งนครเจนีวา (Geneva International Centre for Humanitarian Deming-GICHD) พร้อมด้วย Dr.Guy Rhodes ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของ GIHD  ได้มาเยี่ยมชมการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของประเทศไทย เป็นครั้งแรกในพื้นที่ จ.สุรินทร์ และ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 13-15 ธ.ค.2558 ผมได้เข้าร่วมให้การต้อนในครั้งนั้นด้วย  จึงมีโอกาสได้พบกับ ดร.กาย โรดส์ เป็นครั้งแรกเช่นกัน

ผมนำ "หนังสือเล่มสีส้ม" ติดตัวไปด้วย เพื่อถือโอกาสขอลายเซ็นตัวจริง เสียงจริง จาก ดร.กาย โรดส์ ผู้นำโครงการฯ เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เสียเลย ท่านรู้สึกดีใจมาก และผมก็รู้สึกดีใจเช่นกัน



ปัจจุบัน ผมยังใช้ "หนังสือเล่มสีส้ม" นี้ เป็นคัมภีร์หลักในปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทยตลอดมา 


************************
ชาติชยา ศึกษิต : 29 มี.ค.2559

18 มีนาคม 2559

เฮง รัตนา กับงานการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมไทย-กัมพูชา

ผมได้มีโอกาสเห็นการทำงานของ ฯพณฯ เฮง รัตนา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (H.E.HENG Ratana, Director of the cambodian Mine Action Centre : CMAC) จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2559 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสเตชั่นวัน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

ครั้งแรกเรื่องการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันในพื้นที่เขตปลอดทหารชั่วคราว PDZ
ตอนนั้น วันที่ 31 ส.ค.2555  เฮง รัตนา ที่ปรึกษานายฮุนเซน นำพาทีมจากศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (CMAC) มาประชุมเรื่อง "การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมในพื้นที่ปลอดทหารชั่วคราว" (Provisional Demilitarized Zone ; PDZ)  ABCD ตามคำสั่งศาลโลก กับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติของไทย (TMAC) ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของกองทัพไทย ณ ห้องประชุมกรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย 


การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากผลการหารือของคณะทำงานร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 2 (2nd Meeting of the Joint Working Group : JWG) เรื่องการปฎิบัติตามคำสั่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศลงวันที่ 18 ก.ค.2554 ระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย.2555 ณ กรุงพนมเปญ โดยกัมพูชาต้องการให้มี "การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชา" ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยต่อคณะสังเกตการณ์ร่วมและเกิดความสะดวกในการดำเนินการตามขั้นตอนของการปรับกำลังต่อไป ผลพลอยได้ก็คือความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ นักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ปฏิบัติงานอยู่

ครั้งที่สอง : การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ
การหารือครั้งนี้สืบเนื่องมาจากผลการประชุมของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 10 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อ 24 ธ.ค.57 

“ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบตามที่จะสนับสนุนความร่วมมือในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมระหว่างศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) และศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา(CMAC) โดยที่ประชุมรับทราบข้อเสนอที่จะร่วมมือในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดน เพื่อให้การดำเนินการตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประสบผลสำเร็จ”



ต่อมาในวันที่ 21-23 ม.ค.2558 จึงเกิดการประชุมร่วมครั้งแรกระหว่าง TMAC กับ CMAC ณ โรงแรมอินโดจีน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยใช้ชื่อการประชุมว่า "The Thai-Cambodian Demining Cooperation Meeting" ซึ่งครั้งนี้ผมไม่ได้เข้าร่วมคณะ



ผลการหารือสรุปได้ว่า
  1. ทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะปฏิบัติงานตามแนวทางของรัฐบาลทั้งสองประเทศ ในเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
  2. CMAC เห็นว่าควรรอให้รัฐบาลทั้งสองตัดสินใจในเรื่องพื้นที่ที่จะดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วม แล้วจึงเริ่มเจรจาลงรายละเอียด (ที่ไหน อย่างไร กำลังพล ฯลฯ)
  3. CMAC เห็นว่าการดำเนินการเรื่องงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเก็บกู้ทุ่นระเบิดสามารถดำเนินการได้ทันที  (การเก็บกู้ฯ ควรรอให้รัฐบาลทั้งสองเป็นผู้กำหนด)
  4. CMAC เสนอให้มีการพบกันอีก ทั้งในระดับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติของทั้งสองฝ่าย เพื่อดำเนินการปรึกษาหารือในรายละเอียด และติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม
ครัั้งที่ 3 : เก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วม บ้านป่าไร่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ 
วันที่ 14 มี.ค.2559 ฯพณฯ เฮง รัตนา ในฐานะผู้แทนรัฐบาลกัมพูชาและผู้อำนวยการศูนย์ปฏฺิบัติการทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (CMAC) และคณะ ขอเข้าพบผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรไทย (TMAC) เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการ เรื่อง แนวทางการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมไทย-กัมพูชา บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษ บ้านป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.กัมพูชา ตามนโยบายรัฐบาลทั้งสองประเทศ ณ โรงแรมสเตชั่นวัน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว  สรุปผลการหารือได้ ดังนี้
  1. ทั้งสองฝ่ายเห็นควรมีการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันระหว่าง TMAC กับ CMAC 
  2. การกำหนดขอบเขตพื้นที่เก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันให้คณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา  เป็นผู้กำหนด
  3. การแบ่งพื้นที่การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมบริเวณ บ.ป่าไร่ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ 
    1. พื้นที่ที่ชัดเจนในเรื่องเขตแดนแล้ว แต่ละฝ่ายจัดเจ้าหน้าที่เก็บกู้เอง 
    2. ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ชัดเจนเรื่องเขตแดนให้จัดเจ้าหน้าที่เก็บกู้ร่วมกัน
  4. การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเก็บกู้ทุ่นระเบิดสามารถดำเนินการได้ทันที โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน 
  5. หากมีโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดร่วมกันตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จากผู้บริจาค ทาง TMAC ยินดีให้ CMAC เป็นเจ้าของโครงการ 




เฮง รัตนา บุคคลที่น่าจับตามอง
เฮง รัตนา ถือว่าเป็นลูกหม้อของ CMAC เคยทำงานในตำแหน่ง ผู้จัดการด้านประกันคุณภาพ (QA Manager) ไต่เต้าขึ้นมาเป็นหัวหน้าสำนักเลขานุการ เป็นรองผู้อำนวยการ CMAC และจนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้อำนวยการ CMAC  ในปี 2551

ปัจจุบัน CMAC เป็นองค์กรอิสระ มีประเทศที่เป็นผู้บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในประเทศกัมพูชามากกว่า 14 ประเทศ และองค์กรของสหประชาชนชาติ,  NGO ปฏิบัติงานร่วมกันมากกว่า 20 แห่ง ซึ่งหากเทียบกันแล้ว  เขาเหนือกว่า  TMAC ของไทยมาก

ใน 3 ครั้งที่มีการเจรจากัน เฮง รัตนา ยังคงเป็น ผอ.CMAC ในฐานะ หน.คณะเจรจา มาโดยตลอด แตกต่างกับประเทศไทย ทึ่ ผอ.TMAC เป็นคนละคนกัน  เฮง รัตนา มีลักษณะของนักการฑูต การเจรจาทุกครั้งมักเป็นฝ่ายได้เปรียบไทยเสมอ และมักจะมีวาระซ่อนเร้น ที่จะทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบในอนาคต 


ความเชี่ยวชาญในงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม และความเป็นนักการฑูต ของ เฮง รัตนา นี้เอง ที่ฝ่ายไทยต้องระมัดระวัง  อย่าได้เพลี่ยงพล้ำเป็นอันขาด ไม่งั้นฝ่ายไทยอาจจะเสียแผ่นดินอีกครั้งได้ ดั่งเช่นกรณีเขาพระวิหาร ที่ทุกคนต่างทราบดี

*************************
ชาติชาย คเขนชล : 18 มี.ค.2559

19 กุมภาพันธ์ 2559

พบสรรพาวุธระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในรอบ 15 ปี

วันที่ 23 มิ.ย.2558 หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 2 (นปท.2) ของกองทัพเรือ ตรวจพบสรรพาวุธระเบิดที่ถูกละทิ้ง (Abandoned Explosive Ordnance : AXO) จำนวนกว่า 5,000 รายการ บริเวณเทือกเขาบรรทัด บ.หนองรี ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด นับเป็นการพบเศษขยะสงครามครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา



ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) เมื่อปี พ.ศ.2542 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติได้เริ่มค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในผืนแผ่นดินไทยมาตั้งแต่ปี 2543 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ไม่เคยตรวจพบสรรพาวุธระเบิดที่ถูกละทิ้ง (AXO) มากมายเท่าครั้งนี้  AXO ที่พบ รวมแล้ว 5,299 รายการ ประกอบด้วย
  1. ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล Type 69 ของจีน จำนวน 2,700 ทุ่น
  2. ลูก ค.ขนาด 61 มม. จำนวน  1,600 ลูก
  3. ลูก ค.ขนาด 82 มม.จำนวน     582 ลูก
  4. ลูก ค.ขนาด 100 มม. จำนวน    80 ลูก
  5. กระสุนปืนไร้แรงสะท้อนท้อยหลัง (ปรส.) ขนาด 75 มม.จำนวน 80 นัด
  6. หัวกระสุนต่อต้านรถถัง ขนาด 75 มม. จำนวน 14 นัด
  7. กระสุนต่อต้านรถถัง ขนาด 75 มม.จำนวน 175 นัด
  8. กระสุนอาก้า-47 (AK-47) จำนวน 30 กล่อง
  9. ลังบรรจุกระสุน 12.7 จำนวน 70 ลัง    


จากการวิเคราะห์ AXO ที่พบแล้ว สรุปได้ว่าเป็นของกองทัพเขมรแดง ที่ต้องหนีจากการไล่ล่าของกองทัพเวียดนาม เข้ามาพักพิงอยู่ในราชอาณาจักรไทย ประมาณปี พ.ศ.2528 พื้นที่แห่งนี้น่าจะเป็นที่ตั้งฐานของกองทัพเขมรแดงในสมัยนั้น และเมื่อถอนตัวไปแล้ว ก็ได้ละทิ้งสรรพาวุธระเบิดเหล่านี้เอาไว้ 




หากเป็นเช่นนี้จริง แสดงว่า AXO เหล่านี้ ถูกกองทับถมอยู่บนผืนแผ่นดินไทยมานานเกือบ 30 ปี หากแต่ไม่มีใครพบ จนกระทั่ง นปท.2 มาตรวจพบในวันที่ 23 มิ.ย.2558

การทำลาย AXO
การทำลาย AXO ที่พบ จำเป็นต้องใช้ดินระเบิด ชนวน และอุปกรณ์ประกอบการจุดจำนวนมาก  เจ้าหน้าที่ EOD ของ นปท.2 เคยประมาณว่าจะต้องใช้ ดินระเบิด TNT จำนวน 1,420 ปอนด์ ฝักแคระเบิด  1,788 ฟุต ฝักแคเวลา 667 ฟุต ตัวจุดชนวน M60 จำนวน 29 ชุด และเชื้อปะทุ จำนวน 29 ดอก ต้องทยอยทำลายรวมแล้ว 29 ครั้ง ฟังแล้วนับเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสเอาการ เพราะที่กล่าวมาต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติคงไม่มีแน่นอน และหากไม่สามารถทำลายในพื้นที่ที่ตรวจพบได้ ก็มีความเสี่ยงต่อการเคลื่อนย้าย AXO ดังกล่าวมายังพื้นที่ทำลายที่กำหนดไว้






พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ไทย)
ตามพันธกรณีในอนุสัญญาห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ จะครอบคลุมเฉพาะการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุุคคล เท่านั้น ส่วนทุ่นระเบิดดักรถถัง และ UXO ไม่จำเป็นต้องทำลายก็ได้ และทุ่นระเบิดสังหารบุคคลดังกล่าวก็สามารถแบ่งบางส่วนไว้ฝึกศึกษาได้ ตามจำนวนที่เหมาะสม

AXO ที่พบดังกล่าว จึงสามารถเก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดได้ คงทำลายเฉพาะ TYPE 69 ที่เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคล มีคำถามว่า ทำไมต้องเก็บเป็นพิพิธภัณฑ์? ลองอ่านบทความที่ผมเคยเขียนไว้ เรื่อง "พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดแห่งชาติ(ไทย) ..ความฝันที่อาจเป็นจริง" (อ่านรายละเอียด) ดูนะครับ ก็จะเข้าใจว่าทำไม

ผมยังยืนยันอยู่ว่า AXO ที่พบควรทำให้ปลอดภัยแล้วเก็บเอาไว้ รอนำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ซึ่งไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่) แต่ก็ดีกว่าจะทำลายมันทิ้งไป โดยไม่ได้มีนัยสำคัญใดๆ เลย เสียดายครับ....

พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดเวียดนาม


*****************

ชาติชาย คเชนชล : 19 ก.พ.2559  

3 กุมภาพันธ์ 2559

บางมุมของเมืองพูเน่ สาธารณรัฐอินเดีย

ผมได้มีโอกาสเป็น 1 ใน 11 คนที่เป็นตัวแทนของกองทัพไทยไปร่วมประชุมการเตรียมการฝึกการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม และการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ ที่เมืองพูเน่  สาธารณรัฐอินเดีย ระหว่างวันที่ 11-15 ม.ค.2559  ที่ผ่านมา งานนี้มีผู้แทนจากกองทัพชาติต่างๆเข้าร่วมการประชุมถึง 17 ชาติ (รวมไทยด้วย)






เมืองพูเน่ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของประเทศอินเดีย ตามภาพที่เห็นครับ พวกเราต้องเดินทางโดยเครื่องบิน 2 ต่อ จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังท่าอากาศยานอินทิรา คานธี และบินต่อไปยังสนามบินเมืองพูเน่ (PUNE) ที่นั่นเวลาช้ากว่าประเทศไทยบ้านเรา 1 ชั่วโมงครึ่ง ผมเข้าพักที่โรงแรมประมาณ 4 ดาวชื่อ ST LAURN Hotel ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใจกลางมืองพูเน่  

ห้ามถ่ายภาพ
พวกที่ชอบถ่ายภาพสวยๆ ตามสนามบินที่ได้ไปเยือนเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก หรือแชร์ตามโซเซียลเน็ตเวิร์คต่างๆ  ขอโทษครับ!  ที่ท่าอากาศยานอินทิรา คานธี และสนามบินเมืองพูเน่ นี้ ห้ายถ่ายภาพโดยเด็ดขาดเลยครับ เผลอๆ ถูกจับยึดกล้องทันที  แม้แต่เมื่อเข้าน่านฟ้าเมืองนิวเดลีและเมืองพูเน่ ก็ยังห้ามเลยนะครับ งานนี้พวกชอบ Selfy อดใจไว้ก่อนก็จะดี 

เมืองพูเน่แห่งนี้ เป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของอินเดีย หากเทียบก็คล้ายๆ กับโคราชบ้านเรา เมืองนี้เป็นแหล่งรวมของสถาบันการศึกษาชั้นนำหลากหลายแขนง รวมทั้งเป็นแหล่งการศึกษาของกองทัพอินเดียด้วย แต่เมืองนี้ค่อนข้างสกปรก มีขยะประเภทต่างๆ มองให้เห็นเกลื่อนกลาดอยู่ทั่วทั้งเมือง ผู้คนมีหลากหลายชนชั้นวรรณะ ตั้งแต่อภิมหาร่ำรวยจนถึงคนร่อนเร่พเนจร ยาจกขอทาน เมืองนี้กำลังมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ทั้งตึกราม บ้านช่อง บ้านจัดสรร คอนโดมิเดียม ห้างสรรพสินค้า ผุดขึ้นให้เห็นมากมายหลายแห่ง ทำให้แลดูระเกะระกะไปหมด




เมืองแห่งเสียงแตร
ช่วงเวลาเย็นประมาณ 17:00-19:00 น.เป็นช่วงเวลาเร่งด่วน การจราจรหนาแน่นมาก  เสียงบีบแตรจากรถยนต์ รถเมล์  รถแท๊กซี่ รถตุ๊กๆ รถมอร์เตอร์ไซต์ ที่วิ่งอยู่บนท้องถนน  ดังขรมไปหมด เสียงบีบแตรขอทางกันไม่ขาดสาย ปี๊ป ป๊าบ ปี๊บ ป๊าบ จนน่ารำคาญ เอะอะอะไรก็บีบแตรไว้ก่อน ถ้าเป็นบ้านเราคงต้องทะเลาะกันบ้างแหละว่า มึงจะบีบแตรทำไม แต่ที่นั่นถือเป็นเรื่องปกติ








เสี่ยงที่สุดคือการข้ามถนน
ตอนเย็นผมและเพื่อนๆ ออกเดินสำรวจภูมิประเทศกัน เผอิญตรงกับช่วงเวลาเร่งด่วนพอดี เชื่อไหมครับ! การข้ามถนนที่นี่ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก แม้จะข้ามตรงทางม้าลายก็ตาม เพราะไม่มีใครคิดชะลอรถหรือคิดจะหยุดรถให้ แถมยังถูกบีบแตรไล่อีก กว่าจะข้ามถนนได้ ต้องตั้งท่ากันนานมาก

คิดถึงอาหารไทย
โรงแรมที่พวกเราพัก มีอาหารเช้าให้ ขอโทษเถอะครับ มีแต่อาหารอินเดียทั้งนั้น นึกว่าจะมีอาหารฝรั่งปนบ้างแบบโรงแรมทั่วไป เช่น ใส้กรอก เบคอน ไข่ดาว ไม่มีเลยครับ! ทุกเช้าพวกเราต้องเลือกอาหารอินเดียที่รสชาติพอที่พวกเราจะกินได้ซึ่งหายากมาก  ส่วนตอนเย็นต้องหาอาหารกินเอง พวกเราเลยตะเวนออกไปนอกโรงแรม ยิ่งแล้วใหญ่ มีแต่อาหารรถเข็นสองข้างทาง แลดูรู้สึกว่าไม่น่ากินเอาเสียเลย เสี่ยงต่อการท้องเสีย หากจะกินก็คงต้องกินร้านอาหารฝรั่งที่มีอยู่บ้าง เช่น Black Canyon พิซซ่า หรือ ใส้กรอกเยอรมัน แต่ก็แพงมาก

ในที่สุดพวกเราจึงตัดสินใจบากหน้ากลับมากินบุฟเฟ่ที่โรงแรมตามเดิม โดยเสียค่าหัวละ หัวละ 499 รูปีอินเดีย (ประมาณ 300 บาท) ดีกว่าครับ เชื่อถือได้ไม่ต้องเสี่ยงต่อการท้องเสีย เพียงแต่ต้องพยายามเลือกอาหารที่เราพอจะกินได้นั่นเอง

อยู่ที่นี่ 4 วัน สรุปได้ว่า อาหารอินเดียที่พอจะกินได้ คือ ข้าวบด ไข่ต้มจิ้มเกลือ หรือไข่กวน (ซึ่งวันแรกๆ ที่โรงแรมไม่มีรายการเหล่านี้เลย มีช่วงวันหลังๆ สงสัยกุ๊กคงได้ยินที่พวกเราบ่นแน่เลย)

ใครไปอินเดียอย่าลืม หาเมนูประเภทน้ำพริกเผา น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลาย่าง ข้าวกระป๋อง หรือพวกมาม่า ไวไว ติดไปบ้างก็จะดีครับ ไม่งั้นแย่แน่....


ข้าวบด ไข่ต้มจิ้มเกลือ


ไข่กวน
 
ไม่มีร้านสะดวกซื้อ ไม่มีน้ำแข็ง 
ร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมงแบบบ้านเรา ที่เมืองพูเน่นี้ไม่มีเลยครับ อย่าได้หาเลย ร้านขายของโชว์ห่วยก็หายากมาก ที่นี่ไม่มีน้ำแข็งขาย หากใครอยากจะกินน้ำแข็งต้องทำเอาเองจากตู้เย็น หากจะกินเบียร์หรือน้ำอัดลมเย็นๆ ต้องซื้อจากร้านที่เขาแช่ตู้เย็นเอาไว้ หรือไม่ก็ซื้อมาแช่ไว้ในตู้เย็นที่ห้องพัก ร้านอาหารทุกร้านที่นี่ ไม่มีเบียร์หรือเหล้าขาย ดังนั้นพวกที่คิดจะไปนั่งจิบเบียร์เย็นๆ ตามร้านอาหาร  อย่าได้หวังครับ เพราะเขาห้ามขาย  

รถตุ๊กๆ 
อย่านึกว่ารถตุ๊กๆ จะมีเฉพาะในประเทศไทย ที่เมืองพูเน่นี้ มีเยอะมาก แถมติดมิเตอร์ด้วย แต่ไม่ค่อยเปิด จะใช้การต่อรองราคาเป็นหลัก เวลาต่อรองควรให้เจ้าหน้าที่โรงแรมเขาต่อรองราคาให้ เพราะเขาจะพูดภาษาท้องถิ่นกันเอง หากเราไปพูดภาษาอังกฤษกับคนขับรถตุ๊กๆ โดยตรง เขาจะฟังไม่ออก และมีโอกาสเสี่ยงต่อการโก่งราคาได้ 

ผมได้มีโอกาสนั่งรถตุ๊กๆ ไปหาซื้อของฝากในตลาดแห่งหนึ่ง ไม่รู้ว่าชื่ออะไร รถขับรถตุ๊กๆ พาไป ไม่มีอะไรเลยครับ ที่พูเน่นี้ ไม่มีแหล่งขายของที่ระลึก หากจะซื้อต้องซื้อที่นิวเดลี  ขาจะกลับโรงแรม ผมยื่นนามบัตรของโรงแรม (ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ) ให้รถตุ๊กๆ แถวนั้นพากลับ ปรากฏว่า คนขับรถตุ๊กๆ อ่านภาษาอังกฤษไม่ออก  พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ คุยกันไม่รู้เรื่อง ถามคนแถวนั้นก็ไม่มีใครรู้เรื่องหรือเข้าใจพวกเรา คนขับรถตุ๊กๆ ที่พามาส่งก็กลับไปแล้ว พวกเราตัดสินใจเดินหาตำรวจอินเดียแถวนั้น ตำรวจท่านนั้นก็พูดและฟังภาษาอังกฤษไม่ค่อยรู้เรื่องอีก กว่าจะเข้าใจกันและพาพวกเรากลับโรงแรมได้ เล่นเอาเกือบมืด  

พอถึงโรงแรม ผมแนะนำกับเจ้าหน้าที่โรงแรมฯ ว่า 
คราวหลังพิมพ์นามบัตร ภาษาที่รถตุ๊กๆ เขาอ่านออก น่าจะดีนะ       




ตำรวจอินเดีย

บรรยายกาศทั่วไปในเมืองพูเน่




รถตุ๊กๆ


ร้านอาหารยามเช้า (เหมือนร้านขายโจ๊กและกาแฟบ้านเรา)

นักเรียนมัธยมปลาย

นักเรียนมัธยมปลาย

นักเรียนมัธยมปลาย


นักเรียนมัธยมปลาย

รถตุ๊กๆ ยานหานะยอดนิยม

มอร์เตอร์ไซต์ ยานพาหนะหลักของชาวเมืองพูเน่ แต่ไม่มีมอร์เตอไซต์รับจ้าง
ที่เมืองพูเน่ นี้ ผมว่าอีกไม่เกิน 10 ปี น่าจะเป็นเมืองที่น่าจับตามองทั้งทางด้านการศึกษาในรูปแบบต่างๆ และด้านการท่องเที่ยว  แต่ตอนนี้ใครจะไปเที่ยวก่อน ก็คงต้องเตรียมตัวให้ดี อย่างที่ผมได้นำเรื่องราวบางมุมที่ผมพบเห็นมาเล่าสู่กันฟัง

***************************
พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์
15 ก.พ.2559