18 มีนาคม 2559

เฮง รัตนา กับงานการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมไทย-กัมพูชา

ผมได้มีโอกาสเห็นการทำงานของ ฯพณฯ เฮง รัตนา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (H.E.HENG Ratana, Director of the cambodian Mine Action Centre : CMAC) จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2559 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสเตชั่นวัน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

ครั้งแรกเรื่องการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันในพื้นที่เขตปลอดทหารชั่วคราว PDZ
ตอนนั้น วันที่ 31 ส.ค.2555  เฮง รัตนา ที่ปรึกษานายฮุนเซน นำพาทีมจากศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (CMAC) มาประชุมเรื่อง "การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมในพื้นที่ปลอดทหารชั่วคราว" (Provisional Demilitarized Zone ; PDZ)  ABCD ตามคำสั่งศาลโลก กับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติของไทย (TMAC) ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของกองทัพไทย ณ ห้องประชุมกรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย 


การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากผลการหารือของคณะทำงานร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 2 (2nd Meeting of the Joint Working Group : JWG) เรื่องการปฎิบัติตามคำสั่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศลงวันที่ 18 ก.ค.2554 ระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย.2555 ณ กรุงพนมเปญ โดยกัมพูชาต้องการให้มี "การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชา" ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยต่อคณะสังเกตการณ์ร่วมและเกิดความสะดวกในการดำเนินการตามขั้นตอนของการปรับกำลังต่อไป ผลพลอยได้ก็คือความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ นักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ปฏิบัติงานอยู่

ครั้งที่สอง : การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ
การหารือครั้งนี้สืบเนื่องมาจากผลการประชุมของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 10 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อ 24 ธ.ค.57 

“ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบตามที่จะสนับสนุนความร่วมมือในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมระหว่างศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) และศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา(CMAC) โดยที่ประชุมรับทราบข้อเสนอที่จะร่วมมือในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดน เพื่อให้การดำเนินการตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประสบผลสำเร็จ”



ต่อมาในวันที่ 21-23 ม.ค.2558 จึงเกิดการประชุมร่วมครั้งแรกระหว่าง TMAC กับ CMAC ณ โรงแรมอินโดจีน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยใช้ชื่อการประชุมว่า "The Thai-Cambodian Demining Cooperation Meeting" ซึ่งครั้งนี้ผมไม่ได้เข้าร่วมคณะ



ผลการหารือสรุปได้ว่า
  1. ทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะปฏิบัติงานตามแนวทางของรัฐบาลทั้งสองประเทศ ในเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
  2. CMAC เห็นว่าควรรอให้รัฐบาลทั้งสองตัดสินใจในเรื่องพื้นที่ที่จะดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วม แล้วจึงเริ่มเจรจาลงรายละเอียด (ที่ไหน อย่างไร กำลังพล ฯลฯ)
  3. CMAC เห็นว่าการดำเนินการเรื่องงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเก็บกู้ทุ่นระเบิดสามารถดำเนินการได้ทันที  (การเก็บกู้ฯ ควรรอให้รัฐบาลทั้งสองเป็นผู้กำหนด)
  4. CMAC เสนอให้มีการพบกันอีก ทั้งในระดับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติของทั้งสองฝ่าย เพื่อดำเนินการปรึกษาหารือในรายละเอียด และติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม
ครัั้งที่ 3 : เก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วม บ้านป่าไร่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ 
วันที่ 14 มี.ค.2559 ฯพณฯ เฮง รัตนา ในฐานะผู้แทนรัฐบาลกัมพูชาและผู้อำนวยการศูนย์ปฏฺิบัติการทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (CMAC) และคณะ ขอเข้าพบผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรไทย (TMAC) เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการ เรื่อง แนวทางการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมไทย-กัมพูชา บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษ บ้านป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.กัมพูชา ตามนโยบายรัฐบาลทั้งสองประเทศ ณ โรงแรมสเตชั่นวัน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว  สรุปผลการหารือได้ ดังนี้
  1. ทั้งสองฝ่ายเห็นควรมีการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันระหว่าง TMAC กับ CMAC 
  2. การกำหนดขอบเขตพื้นที่เก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันให้คณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา  เป็นผู้กำหนด
  3. การแบ่งพื้นที่การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมบริเวณ บ.ป่าไร่ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ 
    1. พื้นที่ที่ชัดเจนในเรื่องเขตแดนแล้ว แต่ละฝ่ายจัดเจ้าหน้าที่เก็บกู้เอง 
    2. ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ชัดเจนเรื่องเขตแดนให้จัดเจ้าหน้าที่เก็บกู้ร่วมกัน
  4. การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเก็บกู้ทุ่นระเบิดสามารถดำเนินการได้ทันที โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน 
  5. หากมีโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดร่วมกันตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จากผู้บริจาค ทาง TMAC ยินดีให้ CMAC เป็นเจ้าของโครงการ 




เฮง รัตนา บุคคลที่น่าจับตามอง
เฮง รัตนา ถือว่าเป็นลูกหม้อของ CMAC เคยทำงานในตำแหน่ง ผู้จัดการด้านประกันคุณภาพ (QA Manager) ไต่เต้าขึ้นมาเป็นหัวหน้าสำนักเลขานุการ เป็นรองผู้อำนวยการ CMAC และจนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้อำนวยการ CMAC  ในปี 2551

ปัจจุบัน CMAC เป็นองค์กรอิสระ มีประเทศที่เป็นผู้บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในประเทศกัมพูชามากกว่า 14 ประเทศ และองค์กรของสหประชาชนชาติ,  NGO ปฏิบัติงานร่วมกันมากกว่า 20 แห่ง ซึ่งหากเทียบกันแล้ว  เขาเหนือกว่า  TMAC ของไทยมาก

ใน 3 ครั้งที่มีการเจรจากัน เฮง รัตนา ยังคงเป็น ผอ.CMAC ในฐานะ หน.คณะเจรจา มาโดยตลอด แตกต่างกับประเทศไทย ทึ่ ผอ.TMAC เป็นคนละคนกัน  เฮง รัตนา มีลักษณะของนักการฑูต การเจรจาทุกครั้งมักเป็นฝ่ายได้เปรียบไทยเสมอ และมักจะมีวาระซ่อนเร้น ที่จะทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบในอนาคต 


ความเชี่ยวชาญในงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม และความเป็นนักการฑูต ของ เฮง รัตนา นี้เอง ที่ฝ่ายไทยต้องระมัดระวัง  อย่าได้เพลี่ยงพล้ำเป็นอันขาด ไม่งั้นฝ่ายไทยอาจจะเสียแผ่นดินอีกครั้งได้ ดั่งเช่นกรณีเขาพระวิหาร ที่ทุกคนต่างทราบดี

*************************
ชาติชาย คเขนชล : 18 มี.ค.2559

ไม่มีความคิดเห็น: