28 มีนาคม 2559

หนังสือเล่มสีส้ม

หลังจากอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) มีผลบังคับใช้แล้ว การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย (Land Impact Survey : LIS) อย่างเป็นทางการได้เริ่มขึ้นในเดือน พ.ค.2543 โดยศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ (Survey Action Center : SAC) เป็นผู้ปฏิบัติการสำรวจ มีองค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (Norwegian People’s Aid : NPA) เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการสำรวจ การสำรวจเสร็จสิ้นในเดือน มิ.ย.2545 

ผลการสำรวจ
ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (UXO) จำนวน 933 แห่ง ชุมชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากภัยทุ่นระเบิดจำนวนทั้งสิ้น 530 หมู่บ้าน แยกเป็นหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 297 หมู่บ้าน ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา 139 หมู่บ้าน ตามแนวชายแดนไทย-ลาว 90 หมู่บ้าน และตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย 4 หมู่บ้าน รวมขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 2,556.7 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ใน 24 จังหวัด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของราษฎรจำนวน 503,682 คน

หนังสือเล่มสีส้ม

หนังสือเล่มสีส้ม : โจทย์ของประเทศไทย
พื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดจำนวน 2556.7 ตร.กม.ใน 24 จังหวัด ที่ถูกรายงานไว้ในหนังสือการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเะทศไทย (Landmind Impact Survey Kingdom of Thailand) ซึ่งผมมักจะเรียกเขาว่า "หนังสือเล่มสีส้ม"  ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ประเทศไทยต้องดำเนินการค้นหาเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดในพื้นที่ดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อน 1 พ.ค.2552 ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาออตตาวา แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เสร็จ จำต้องขอต่ออนุสัญญาฯ ไปอีก โดยการขอต่อสัญญางวดใหม่นี้ ประเทศไทยขอถึงวันที่ 1 พ.ย.2561 นับจากปัจจุบันเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีเศษๆ และมีแนวโน้มว่ากำลังจะไม่เสร็จอีก

กำลังจะถูกทิ้ง
หนังสือเล่มสีส้มนี้ จัดพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องราวรายละเอียดเกี่ยวกับผลการสำรวจ ความเป็นมาและวิธีการที่ใช้ การรายงานผลกระทบจากทุ่นระเบิดของประเทศไทยโดยละเอียด มีการจัดทำเป็นซีดีรอมแนบไว้ด้วย 

ตอนผมเข้ามาทำงานในศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิด (TMAC) ใหม่ๆ ประมาณปลายปี 2555 กำลังมีการจัดระเบียบภายในหน่วยงาน โดย เจ้าหน้าที่ทั้งหลายพยายามกำจัดหนังสือเก่าๆ  สิ่งของ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ที่ชำรุดและไม่จำเป็นแล้ว บ้างก็นำไปทิ้ง บ้างก็นำไปขาย เพื่อให้เกิดความสะอาดของหน่วยงาน  ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรมากนัก ผมพบหนังสือเล่มนี้กำลังจะถูกนำไปทิ้ง โดยไม่มีใครใส่ใจ ผมจึงแอบเก็บมาไว้ศึกษา จนกระทั่งปัจจุบันผมยังใช้เป็นคัมภีร์หลักประกอบการบรรยาย การปฏิบัติงาน และศึกษาภูมิหลังเรื่องราวของทุ่นระเบิดในประเทศไทยมาโดยตลอด

ปัจจุบัน "หนังสือเล่มสีส้ม" นี้  เหลืออยู่นับจำนวนเล่มได้  
ทีมสำรวจ LIS เมื่อปี พ.ศ.2543-2545

ดร.กาย โรดส์ คนที่ 4 จากซ้าย

ดร.กาย โรดส์ ผู้นำโครงการ
ผู้นำโครงการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดและกระสุนตกค้างที่ยังไม่ระเบิดในประเทศไทย ขณะนั้น คือ ดร.กาย โรดส์ จากองค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (NPA) ที่เหลือจะประกอบด้วย ผู้ช่วยผู้นำโครงการ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการข้อมูล ผู้บริหารฝ่ายการเงิน การบริหาร การจัดซื้อ และคณะสำรวจจำนวน 4 ชุด ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภาคสนามมากกว่า 50 คน รวมทั้งหมดแล้วเป็นผู้บริหารชาวต่างประเทศ 4 คน ที่เหลือเป็นคนไทย จำนวนประมาณ 80 คน

ขอลายเซ็น
ในโอกาสที่นาย Stefano Toscano เอกอัครราชฑูตและผู้อำนวยการศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการเก็บกู้ทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมแห่งนครเจนีวา (Geneva International Centre for Humanitarian Deming-GICHD) พร้อมด้วย Dr.Guy Rhodes ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของ GIHD  ได้มาเยี่ยมชมการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของประเทศไทย เป็นครั้งแรกในพื้นที่ จ.สุรินทร์ และ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 13-15 ธ.ค.2558 ผมได้เข้าร่วมให้การต้อนในครั้งนั้นด้วย  จึงมีโอกาสได้พบกับ ดร.กาย โรดส์ เป็นครั้งแรกเช่นกัน

ผมนำ "หนังสือเล่มสีส้ม" ติดตัวไปด้วย เพื่อถือโอกาสขอลายเซ็นตัวจริง เสียงจริง จาก ดร.กาย โรดส์ ผู้นำโครงการฯ เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เสียเลย ท่านรู้สึกดีใจมาก และผมก็รู้สึกดีใจเช่นกัน



ปัจจุบัน ผมยังใช้ "หนังสือเล่มสีส้ม" นี้ เป็นคัมภีร์หลักในปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทยตลอดมา 


************************
ชาติชยา ศึกษิต : 29 มี.ค.2559

ไม่มีความคิดเห็น: