26 มีนาคม 2555

ประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Mine Ban Treaty)

สถานะของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรืออนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-personnel Mines and on Their Destruction) ซึ่งร่วมลงนามตั้งแต่ ปี ค.ศ.1997 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีจำนวน 157 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2011)

Mine Ban Treaty Map
ที่มาของภาพ
http://www.the-monitor.org/index.php/publications
/display?url=cmm/2011/maps/treaty.html

25 มีนาคม 2555

อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล

อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
(อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล)


ข้อมูล/ภูมิหลัง
  1. ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-personnel landmine) หมายถึงทุ่นระเบิดที่ได้รับการออกแบบให้ระเบิดเมื่อบุคคลปรากฏตัวเข้าใกล้หรือสัมผัส โดยไม่มีการเจาะจงเป้าหมาย และจะทำให้บุคคลหนึ่งหรือมากกว่า บาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต เป็นอาวุธที่มักใช้ในการสู้รบเพื่อการป้องกันตน
  2. ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจำนวน 82 ประเทศทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งจากผลการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลขั้นที่ 1 ของไทย (Thailand Landmine Level-one Impact Survey) ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลรวมทั้งสิ้น 2,556.7 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 531 ชุมชน 185 ตำบล 84 อำเภอ ใน 27 จังหวัด ซึ่งมีพื้นที่ติดหรืออยู่ใกล้ชายแดนและมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 504,303 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้ง การยังชีพของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม
  3. โดยที่ไทยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และเห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน ไทยจึงได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรืออนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-personnel Mines and on Their Destruction หรือ Mine Ban Convention) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักด้านมนุษยธรรมในการแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และลดจำนวนผู้ประสบภัยทุ่นระเบิด
  4. ไทยลงนามในอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 เป็นรัฐภาคีลำดับที่ 53 และเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นรัฐภาคี และได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 และรัฐบาลไทยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) ขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2542 เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในประเทศไทยและเพื่อรองรับการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ทั้งนี้ ศทช. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมยุทธการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม จนถึงปัจจุบัน อนุสัญญาฯ มีรัฐภาคีจำนวนทั้งสิ้น 156 ประเทศ สำหรับอาเซียนมี 6 ประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ คือ ไทย กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และอินโดนีเซีย ขณะที่ สิงคโปร์ พม่า ลาว และเวียดนามยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ

United Nations Mine Action Service (UNMAS)



United Nations, New York, 28 May 2010 - The United Nations Mine Action Service (UNMAS) works towards a world free from the threat of landmines and explosive remnants of war, including cluster bombs.

ที่มา : http://youtu.be/qkCBfrTAT0Y

23 มีนาคม 2555

รายงานตัววันแรกที่ TMAC

ผมได้ตัดสินใจที่จะไปช่วยราชการที่ "ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย (ศทช.ศบท.บก.ทท.)"  เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมาเพราะเห็นว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำภารกิจเพื่อชาติ มองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม และยังเป็นหน่วยงานในระดับสากล ตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติงานตามอนุสัญญาที่ชื่อว่า "อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต โอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล" หรือเรียกสั้นๆ ว่า "อนุสัญญาออตตาวา(Mine Ban Treaty)"  มีประเทศที่ลงนามเป็นรัฐภาคี จำนวน 156 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย (ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาออตตาวาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2540  และมีผลบังคับใช้วันที่ 1 พฤษภาคม 2542) จนถึงวันนี้ก็เกือบ 15 ปีแล้ว