22 กันยายน 2557

12 วันสามพันห้าร้อยกิโลเมตร จากเหนือสู่ปลายแหลมตะวันออก


การเดินทางครั้งสุดท้ายของพวกเราก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2557 นี้ ผมรู้สึกว่ามันตรากตรำและเหนื่อยล้าพอสมควร ผมรู้สึกหมดเรี่ยวหมดแรงโดยไม่รู้ตัว   


12 วันสามพันห้าร้อยกิโลเมตร จากเหนือสู่ปลายแหลมตะวันออก


คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลพพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด (QC/QA Team) ของเราออกเดินทางจากศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ(TMAC) ดอนเมือง ในเช้าวันจันทร์ที่ 8 ก.ย.2557 โดยมีจุดหมายปลายทางคือ ชมพูภูคารีสอร์ท ที่พักแรม ณ อ.ปัว จ.น่าน กว่าจะถึงก็พลบค่ำพอดี 

เช้าวันรุ่งขึ้นพวกเราเดินทางเข้าตรวจสอบและประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดของหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 4 (นปท.4) บริเวณ บ.ห้วยแกลบ ต.ชนแดน อ.สองแคว จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่สุดท้ายของปีงบประมาณ 2557 วันนั้นพวกเราเดินกันบนภูเขากันเกือบค่อนวัน ต่อจากนั้นช่วงบ่ายก็เดินทางต่อไปเยี่ยมผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดจำนวน 1 คน คือ นางหลอม กันทะ อายุ 68 ปี อยู่ บ.สะเกิน ต.ยอด อ.สองแคว จ.น่าน 

ที่น่าน พวกเราเดินภูเขาเกือบค่อนวัน
ชีวิตคุณแม่หลอม กันทะ น่าเศร้ายิ่งกว่าละคร

เหยียบทุ่นระเบิดขาขาด ผัวทิ้ง ลูกตาย
ชีวิตคุณแม่หลอม กันทะ น่าเศร้านัก เป็นชีวิตที่โดดเดี่ยวเดียวดาย หลังเหยียบทุ่นระเบิดขาขาดทั้งสองข้าง ผัวก็ทิ้งแกไปตั้งแต่ลูก 2 คนยังเล็ก  แกเฝ้าเลี้ยงดูลูกสาวลูกชายแต่เพียงลำพัง วิบากกรรมไม่จบสิ้น ไม่นานลูกชายและลูกสาวทั้งสองคนก็มาจากแกไปอีกตั้งแต่อายุยังน้อย ทิ้งให้แกผจญอยู่ในโลกของความเงียบเหงา แกเล่าให้ฟังว่า ตอนลูกชายตาย แกต้องขายนาผืนสุดท้ายที่มีอยู่ 4 ไร่ มาทำศพให้ลูกชายซึ่งแกรักมาก แม้จนวันนี้..แกไม่มีที่ดินทำกินแม้สักผืนเดียว บ้านที่อยู่หลังนี้ ทางราชการก็สร้างให้ตามโครงการอยู่ดีมีสุข ยังดีที่แกมีลูกเก็บ (ลูกเลี้ยง) อยู่คนหนึ่ง ซึ่งส่งเงินให้แกใช้บ้าง แต่ก็ไม่แน่ไม่นอน เพราะมีอาชีพรับจ้างเหมือนกัน บางทีปีหนึ่งก็มาเยี่ยมแกสักครั้ง แต่บางปีก็ไม่มาเลย 

ความที่มีร่างกายพิการผสมกับความหว้าเหว่เงียบเหงาจากการสูญเสียสิ่งที่แสนรัก ทำให้บางครั้งขณะที่ผมสนทนากับแก ผมแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ลำคอตีบตันเสียงผมสั่นเครือ ด้วยความสงสารและสมเพชเวทนาในชะตาชีวิตของแก  

วันนั้น..พวกเราช่วยกันเรี่ยไรเงินคนละเล็กละน้อยได้ 3,000 บาท มอบให้แกไว้ประทังชีวิต แกขอบอกขอบใจให้ศีลให้พรพวกเรา..ท่ามกลางหยาดน้ำตาของแก... (ดูภาพ)

มุ่งสู่อิสานใต้
เช้าวันพุธที่ 10 ก.ย.2557 พวกเราออกเดินทางต่อลงมาทางภาคอิสานตอนใต้ จุดมุ่งหมายคือ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อฝึกอบรมการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมให้แก่คณะผู้แทนจากประเทศเมียนมาร์ จำนวน 10 คน ในวันทีี 12-14 ก.ย.2557

2 วันเต็มจากน่านสู่ศรีสะเกษ
พวกเราลัดเลาะผ่าน ตัวเมืองน่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ มาค้างคืนที่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ในวันแรก เอาแค่นี้พอครับเพราะพวกเราไม่อยากเดินทางกลางคืนมันอันตราย รวมการเดินทางในวันนี้เกือบ 700 กม.

เช้าวันต่อมา คณะเราออกเดินทางแต่เช้าจากชุมแพ ลงมาตัวเมืองขอนแก่น ผ่านร้อยเอ็ด มหาสารคาม ถึงจุดหมายปลายทาง คือ สวัสดีรีสอร์ท อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ก็พลบค่ำของวันพฤหัสบดีที่ 11 ก.ย.2557 พอดี

มิงกะลาบา คำยา (ภาษาพม่า แปลว่า สวัสดีครับ)

คณะของเรากับหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) ได้ร่วมกันฝึกอบรมการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมให้แก่คณะผู้แทนจากประเทศเมียนมาร์ โดยผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการฝึก การฝึกประกอบด้วย การบรรยายการปรับลดพื้นที่ด้วยวิธี Land release การใช้ GPS ในการค้นหาและทำเครื่องหมายหมุดหลักฐานต่างๆ การเจาะช่อง การแกะรอยทุ่นระเบิด การทำลายทุ่นระเบิด การสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นยังพาคณะผู้แทนจากเมียนมาร์ไปทัศนศึกษาบริเวณผามออีแดง และเขาพระวิหารอีกด้วย (ดูภาพ1, ดูภาพ2, ดูภาพ3, ดูภาพ4, ดูภาพ5, ดูภาพ6)


ฝึกอบบรมให้ผู้แทนจากประเทศเมียนมาร์ (ผ่านล่าม)








ปิดการอบรมรับประกาศนียบัตร

จากศรีสะเกษ สู่ ตราด..ปลายแหลมตะวันออก
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการฝึกให้ผู้แทนเมียนมาร์แล้ว เช้าวันจันทร์ที่ 15 ก.ย.2557 พวกเราออกเดินทางจากศรีสะเกษ ผ่าน จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี ถึงที่พักโรงแรมตราดเซ็นเตอร์ก็เกือบค่ำ รวมระยะทางวันนี้ กว่า 500 กิโลเมตร

หาที่ซักผ้า

เจ็ดวันมาแล้ว พวกเรายังไม่ได้ซักผ้าสักชิ้น เพราะหาที่ซักไม่ได้ โดยเฉพาะชุดปฏิบัติงาน QC ของพวกเรา ซึ่งมีเพียงชุดเดียว (ได้รับแจกแค่นี้ครับ)  พวกเราแลดูสกปรกมอมแมมมาก  ที่โรงแรมตราดนี้ก็มีบริการซักผ้า แต่ต้องส่งซักตั้งแต่เช้า แต่ตอนนี้ค่ำแล้ว...ไม่ทัน  ทนใส่หน่อยนะ    


ป่าเมืองตราด
วันที่ 16-18 ก.ย.2557 คณะของเราทำการตรวจสอบและประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดของหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 2 (นปท.2)  ในพื้นที่ จ.ตราด จำนวน 3 วันเต็ม ที่นี่ขึ้นชื่อว่า "เมืองฝนแปดแดดสี่" และตอนนี้เป็นฤดูฝนพอดี พวกเราจึงต้องผจญกับน้ำฝนและน้ำป่าตลอดทั้งวัน  เสื้อผ้ารองเท้าไม่เคยแห้ง เจ้าทากตัวน้อยที่คอยดูดเลือดก็มากมายเหลือเกิน ทุกวันพอกลับมาถึงโรงแรมต้องรีบนำเสื้อผ้ารองเท้าตากพัดลมแอร์เพื่อเตรียมสวมใส่ในวันรุ่งขึ้น

เสื้อผ้าชุด QC พวกเราสกปรกมอมแมมและเหม็นมาก...เลอะเทอะเปอะเปลื้อนไปด้วยดินโคลน จนแขกที่มาพักโรงแรมมองพวกเราแปลกๆ และในที่สุดผมก็ไม่ได้ซักเสื้อผ้าสักชิ้นเลย 

จนกระทั่งเช้าวันศุกร์ที่ 19 ก.ย.2557 เสร็จภารกิจพวกเราจึงเดินทางกลับสู่ TMAC






เจ้าทากตัวน้อยที่คอยดูดเลือดก็มากมายเหลือเกิน


การเดินทางเพื่อปฏิบัติงานห้วงสุดท้ายก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2557 (30 ก.ย.2557) ครั้งนี้ รวม 12 วัน ระยะทางในการเดินทางจากกรุงเทพ-น่าน-ศรีสะเกษ-ตราด-กรุงเทพฯ รวมแล้วกว่าสามพันห้าร้อยกิโลเมตร  ถึงแม้พวกเราจะเหนื่อย แต่ผมรู้ว่ามีคนเหนื่อยกว่าเรามากมายนัก ก็คือเพื่อนพี่น้องคนหาระเบิดแห่ง นปท.ทุกคน ในการทำงานแต่ละพื้นที่ พวกเขาต้องบุกป่า ฝ่าดง ฝ่าน้ำ ฝ่าฝน ค้นหาระเบิดกันอยู่เป็นแรมเดือน พวกเราเพียงแค่เดินไปตรวจไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ยังเหนื่อยถึงเพียงนี้ 

ขอคารวะพี่น้อง นปท.ทุกคนด้วยใจจริงครับ

***********************************   
ชาติชยา ศึกษิต : 23 ก.ย.2557

15 กันยายน 2557

สามเหลี่ยมมรกต (The Emerald Triangle)


น้ำสีเขียวเข้มดุจดั่งสีของมรกตในอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนบน ผนวกกับป่าไม้ที่ยังคงความเขียวขจีอุดมสมบูรณ์ ในพื้นที่ กว่า 12 ตร.กม.ระหว่างรอยต่อของประเทศไทย ลาวและกัมพูชา จึงเป็นที่มาของนามว่า "สามเหลี่ยมมรกต" (The Emerald Triangle)


บนเนิน 500 ด้านหลังคือบริเวณสามเหลี่ยมมรกต

สามเหลี่ยมมรกต หรือช่องบก ตั้งอยู่ที่ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เป็นพื้นที่ที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง 3 ชาติ คือ ไทย สปป.ลาว และกัมพูชา พื้นที่ส่วนที่อยู่ในประเทศไทย คือ เขตอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี พื้นที่ในเขตประเทศลาว คือ แขวงจำปาสัก ส่วนพื้นที่ในประเทศกัมพูชา คือ จ.พระวิหาร

เมื่อวันอังคารที่ 2 ก.ย.2557 ผมและทีมงาน ได้ไปปฏิบัติงานการตรวจสอบและประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด บริเวณ บ.แปดอุ้ม ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี หลังจากเสร็จภารกิจแล้ว ท่านนายก อบต.โดมประดิษฐ์ ได้ขอร้องให้ผมเดินทางไปกับท่าน เพื่อชมพื้นที่บริเวณ เนิน 500 และพื้นที่สามเหลี่ยมมรกต ท่านบอกว่ามีเรื่องที่จะขอร้องให้ผมช่วย ผมตอบว่า "ยินดีครับ..ถ้าผมช่วยได้"

ผมต้องนั่งรถขับเคลื่อน 4 ล้อของ อบต. โดมประดิษฐ์ ไปยังเนิน 500 เนื่องสภาพเส้นทางค่อนข้างยำ่แย่เอาการเลยทีเดียว และยิ่งเป็นฤดูุฝนด้วยแล้ว รถตู้ของเราหมดสิทธิ์




เส้นทางขึ้นสู่เนิน 500 สภาพหนักหนาสาหัสเอาการ
ต้องรถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น

วีรกรรมทหารกล้าที่กำลังถูกลืม
หลายคนคงเคยได้ยินการรบที่ช่องบก หรือสมรภูมิรบช่องบก ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2528- ธันวาคม 2530 เป็นสงครามระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพเวียดนาม โดยกองทัพเวียดนามได้เข้ามายึดภูมิประเทศทางทหารที่สำคัญในดินแดนไทย เช่น เนิน 500 เนิน 408  เนิน 382 เนิน 496 และเนิน 495 เพื่อทำการผลักดันกองกำลังเขมรแดง การรบในครั้งนั้น ทหารไทยผู้กล้าต้องพลีชีพเพื่อปกป้กป้องแผ่นดินเอาไว้ถึง 109 คน บาดเจ็บอีก 664 นาย ส่วนทหารเวียดนาม และเขมรแดง ก็สูญเสียเป็นจำนวนมากเช่นกัน เล่ากันว่ารวมกันแล้ว ทั้งทหารไทย เวียดนาม และเขมรแดง เสียชีวิตที่สมรภูมิแห่งนี้ ไม่ตำกว่า 1,000 คน



เนิน 500 เป็นเนินสำคัญที่สุด ใครยึดได้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การรบชนะได้ เพราะสามารถตรวจการและชี้เป้าการยิงปืนใหญ่ได้ดีที่สุด บนเนิน 500 นี้ เต็มไปด้วยร่องรอยของการสู้รบสมัยนั้น เช่น บังเกอร์ หลุมบุคคล คูเลต ลูก ค. อาร์พีจี กระสุนปืนใหญ่ กระสุนปืนเล็ก ลูกระเบิดขว้าง เป็นต้น 





ภาพ UXO ที่มองเห็นเกลื่อนกลาดบนเนิน 500
ท่านรองนายก อบต.โดมประดิษฐ์ เล่าให้ฟังว่า ในทุกๆ ปี ช่วงหลังปีใหม่ ญาติของทหารผู้เสียชีวิตจะขึ้นมาทำบุญอุทิศส่วนกุศล รวมนักท่องเที่ยวด้วยแล้ว ปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ท่ามกลางพื้นที่ที่ยังเต็มไปด้วยทุ่นระเบิด และสรรพวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (UXO)  ผมเห็นพื้นที่เนิน 500 แล้ว รู้สึกสังเวชใจ มีร่องรอยของความพยายามที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์การสู้รบและพิพิธภัณฑ์สงคราม แต่ไม่สำเร็จ

เนิน 500 ยังคงเป็นแค่เนินแห่งความสูญเสียของวีรชนที่ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง 
มีแค่เพียงญาติผู้สูญเสียเท่านั้นที่ยังคงจดจำและรำลึกถึง

บริเวณหน้าฐานอนุพงศ์


อนุสรณ์วีรกรรม จ.ส.อ.สมชาย แก้วประดิษฐ์ บนยอดเนิน 500
เขาน่าจะถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นอนุสรณ์ของความเสียสละของทหารกล้า และเพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ ดังเช่น ห้วยโกร๋น หรือเขาค้อ เป็นต้น

อยากให้กู้ระเบิด
ที่เนิน 500 และพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมมรกตแห่งนี้ ในฐานข้อมูลของศูนย์ปฎิบัติการแห่งชาติ (TMAC) ระบุว่ายังคงเป็นพื้นที่อันตรายที่ได้รับยืนยันว่ามีทุ่นระเบิดอยู่ ยังไม่เคยมีการเข้าไปค้นหาเก็บกู้ทำลาย เพื่อทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยเลย ด้วยเหตุนี้ ท่านนายก อบต.โดมประดิษฐ์ จึงตั้งใจพาผมไปดู เพื่อขอร้องให้ TMAC ได้ช่วยเข้าไปดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อให้เป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต เพราะทุกวันนี้ ไม่มีใครกล้าเข้าไป

ศาลารวมใจ
ศาลารวมใจหรือศาลาตรีมุข เป็นศาลาที่ชาวไทย ลาว และกัมพูชา ได้ร่วมกันสร้างขึ้น ณ จุดกึ่งกลางสามเหลี่ยมมรกต เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ มิตรภาพ และเพื่อการเชื่อมโยงไปสู่ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในอนาคต สภาพศาลาในปัจจุบันถูกทิ้งให้ชำรุดทรุดโทรม ขาดการดูแล นายก อบต.ฯ เล่าให้ฟังว่า ชาวไทย ลาว และกัมพูชา จะนัดกันมากินข้าวร่วมกันที่ศาลาแห่งนี้เดือนละ 1 ครั้ง แต่พอมี คสช. ก็เลิกไปเพราะเขาห้ามชาวไทย ส่วนชาวลาวและกัมพูชาก็มารอเก้อไป..


ภาพศาลารวมใจหรือศาลาตรีมุข
ที่ชำรุดทรุดโทรม ขาดการดูแล
ถ่ายภาพร่วมกันกับนายก อบต.โดมประดิษฐ์ รองนายก อบต.ฯ
และทหารกัมพูชาและลาว (ผู้ชายแต่งชุดพลเรือน) ที่ศาลารวมใจ

ความฝันร่วมกัน 3 ชาติ
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับองค์กรการท่องเที่ยวโลก (WTO) ได้ดำเนินการสำรวจสามเหลี่ยมมรกต ความฝันร่วม 3 ชาติ พบว่าการพัฒนาพื้นที่ต้องใช้งบลงทุนมหาศาล เพราะบริเวณนี้ยังเต็มไปด้วยทุ่นระเบิดนับล้านลูก การปักปันเขตแดนที่ยังไม่แล้วเสร็จ โครงการสนามกอล์ฟ 3 ประเทศ รีสอร์ตเชิงนิเวศ ศูนย์วัฒนธรรม 3 ชาติ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์สงครามและการสู้รบ ล้วนต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลทั้งสิ้น และยังเสี่ยงต่อการต่อต้านของกลุ่มอนุรักษ์นิยมอีกด้วย

แต่ก่อนที่จะไปถึงฝัน สิ่งสำคัญตอนนี้ก็คือ "สามเหลี่ยมมรกตต้องปลอดจากทุ่นระเบิด" ดังนั้น TMAC จึงควรสั่งหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เข้าดำเนินการเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดในพื้นที่แห่งนี้เป็นลำดับแรก อย่าปล่อยให้ทุ่นระเบิดกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ อีกต่อไป

บนเนิน 500 ด้านหลังคือสามเหลี่ยมมรกต

ในความเห็นส่วนตัวผมแล่้ว พื้นที่สามเหลี่ยมมรกต (ช่องบก) แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่อีกแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยว และด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถ้าทุกคน ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานของทั้ง 3 ประเทศ หันมาร่วมกันพัฒนาอย่างจริงจังโดยไม่มีวาระอื่นๆ ซ่อนเร้น หากเป็นเช่นนี้แล้ว "ความฝันของ นายก อบต.โดมประดิษฐ์ น่าจะเป็นจริง"