20 มกราคม 2556

ไม้พยุง งูจงอาง และเสียงปืน



เมื่อวันที่ 15 และ 16 ม.ค.2556 ผมและคณะกรรมการตรวจสอบประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด ได้เดินไปตรวจสอบฯ พื้นที่สนามทุ่นระเบิดแห่งหนึ่ง เป็นพื้นที่ป่าประมาณ 2 ตร.กม.ใน จ.ศรีสะเกษ ใกล้แนวชายแดนไทยและกัมพูชา ซึ่งต้องใช้เวลาเดินเท้าจากถนนที่รถยนต์เข้าถึง ผ่านผืนป่าโปร่งและเนินเขาประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง 

ไม้พยุง
วันแรกคณะฯ ของพวกเราประกอบด้วยชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง มาร่วมเดินทางตรวจสอบพื้นที่ฯ เพื่อเป็นสักขีพยานด้วย และยังมี ตชด. เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และทหารพราน คอยคุ้มกันให้เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่อันตราย ที่ต้องให้เขาคุ้มกันให้ ก็เพราะพวกเขามีปืนมีอาวุธ ส่วนพวกเรามีแต่เครื่องตรวจค้นทุ่นระเบิดและไม้เท้าเดินป่า สาเหตุที่พวกเราไม่มีปืน ไม่มีอาวุธ เพราะเราปฏิบัติงานเพื่อมนุษยธรรมจึงมีอาวุธไม่ได้ ระหว่างเส้นทางเดินเและภายในบริเวณผืนป่าแห่งนี้ ผมพบกับไม้พยุงที่ถูกลักลอบตัดแล้วเป็นจำนวนมาก สอบถามได้ความโดยสรุปว่า คนไทยเรานี้เองเป็นคนชี้เป้า ส่วนคนเขมรเป็นผู้ตัด โดยมีผู้มีอิทธิพลทั้งสองฝ่ายเป็นเจ้าของผลประโยชน์ร่วมกัน มีข้าราชการระดับสูงร่วมรับผลประโยชน์ด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ ที่ดูแลพื้นป่าแห่งนี้ มีไว้แค่เป็นไม้ประดับ พวกตัดไม้พยุงนี้ทำกันเป็นขบวนการ พวกเขมรที่เข้ามาตัดไม้พยุงในเขตแดนไทย มักจะมีกองกำลังติดอาวุธเข้ามาคุ้มกันด้วย บ่อยครั้งที่เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ของไทย 




พื้นที่ป่าสนามทุ่นระเบิดแห่งนี้ หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) เป็นหน่วยรับผิดชอบตรวจค้น พิสูจน์ทราบและกวาดล้างทุ่นระเบิด ทุ่นระเบิดที่เก็บกู้ในพื้นที่นี้ เป็นทุ่นระเบิดที่ถูกวางไว้ในอดีตกว่า 10 ปีที่แล้ว สมัยการรบกันของเขมร 3 ฝ่าย และเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยต้องกวาดล้างให้หมดตามพันธะของอนุสัญญาออตตาวาภายในปี 2561 แต่เวลานี้ ขณะที่ผมเดินไป ผมรู้สึกเสียวสันหลัง นึกในใจว่า "ถ้าหากมีการวางทุ่นระเบิดหรือกับระเบิดใหม่ เพื่อไว้ดักเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ที่จะเข้ามาลาดตระเวณตรวจจับการลักลอบการตัดไม้พยุงแล้ว จะทำอย่างไร" 

งูจงอาง
วันที่สอง คณะของเราเดินทางเข้าตรวจสอบพื้นที่อีกครั้ง วันนี้กำลังที่คุ้มกันไม่มา ชาวบ้านก็ไม่มา มีแต่พวกเราและเจ้าหน้าที่ นปท.3 เดินกันแต่เพียงลำพังไร้ซึ่งอาวุธใดๆ นอกจากเครื่องตรวจค้นทุ่นระเบิด วันนี้เรื่องแรกที่พบคือ "งูจงอาง" เจ้าหน้าที่ของ นปท.3 ซึ่งเป็นส่วนล่วงหน้าแจ้งวิทยุว่า ให้พวกเราย้อนกลับ...หาทางเดินใหม่เนื่องจากไม่ไว้ใจ เพราะรังของงูจงอางมันขวางอยู่ในเส้นทางการเดินของเรา สมัยก่อน พวก นปท.3 นี้เคยผจญกับงูจงอ้างตัวนี้มาแล้ว และได้เคยทำร้ายคู่ของมันจนตายเพื่อป้องกันตัว ดังนั้น..มันอาจจะกำลังหาทางแก้แค้นพวกเราอยู่ อาจเป็นอันตรายได้ 

เสียงปืน
หลังจากเปลี่ยนเส้นทาง พวกเราเดินทางต่อได้สักพักใหญ่ ส่วนล่วงหน้าฯ แจ้งวิทยุกลับมาอีกครั้งว่าให้หยุดรอก่อน มีกองกำลังติดอาวุธของเขมรที่มาคุ้มกันพวกตัดไม้พยุงอยู่ข้างหน้า หลังจากนั้นอีกไม่นานมีเสียงปืนดังขึ้น 2 ชุด จากนั้นก็เงียบหายไป คณะของเราร่วมปรึกษาราหือกันจึงตัดสินใจสั่งให้ถอนตัวกลับ ยกเลิกภารกิจในวันนี้ เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยแก่พวกเรา พวกเราไม่มีอาวุธอะไรจะสู้รบกับฝ่ายเขมรเลย มีแต่เครื่องตรวจค้นทุ่นระเบิดเท่านั้น 




เจ้าหน้าที่ นปท.3 เล่าให้ฟังว่า พวกเขาเคยโดนเขมรจับมาแล้ว กักตัวไว้ 4 ชั่วโมง กว่าผู้บังคับบัญชาทั้งสองฝ่ายจะเจรจาตกลงกันได้ หากโดนเขมรจับ ให้ชูมือและเครื่องตรวจค้นขึ้นเหนือหัว แล้วตะโกนว่า "ทีแม็ก ทีแม็ก" (ทีแม็กย่อมาจาก TMAC ซึ่งหมายถึง Thailand Mine Action Center) เขมรก็จะไม่ทำอะไร เพราะมันรู้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่เก็บกู้ทุ่นระเบิดเท่านั้น ไม่ใช่กำลังฝ่ายทหารที่ติดอาวุธ เพราะทางเขมรเขาก็จะมีเจ้าหน้าที่เก็บกู้ทุ่นระเบิดเหมือนกันแต่เป็นพลเรือน ที่เรียกว่า "ซีแม็ก" (ซีแม็กย่อมาจาก CMAC ซึ่งหมายถึง Cambodian Mine Action Center) 

"แต่บางพื้นที่ วิธีนี้อาจจะใช้ไม่ได้นะครับ บางครั้งกองกำลังเขมรก็ยิงใส่เลย โดยไม่มีการเจรจา เพราะมีเรื่องราวที่คลั่งแค้นสะสมกันอยู่ระหว่างกำลังฝ่ายไทยและฝ่ายเขมร" 

เจ้าหน้าที่ นปท.3 ยังเล่าต่อว่าหากพวกเขาไม่ต้องแต่งเครื่องแบบชุดทหารในการปฏิบัติงาน ก็จะลดอันตรายจากความเข้าใจผิดได้มากขึ้น ควรแต่งกายเป็นชุดพลเรือนไปเลย เพราะเราทำงานด้านมนุษยธรรม ซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่คงต้องหาคำสั่งอะไรสักอย่างจากหน่วยเหนือมารองรับ ซึ่งเรื่องการแต่งกายชุดทหารในการปฏิบัติงานนี้ มีปัญหาเช่นกันในพื้นที่ปฏิบัติงานตามแนวชายแดนไทย-ลาวและพม่า 

ถางป่า
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้พบในพื้นที่แห่งนี้ คือ วิธีการบุกรุกป่าเพื่อปลูกยางพารา ชาวบ้านจะทำการแอบเลื่อยต้นไม้ใหญ่ๆ ที่โคนต้นในพื้นที่ป่าที่ต้องการจะบุกรุก เลื่อยเข้าไปสักค่อนต้น แต่ไม่ต้องให้ขาดล้มลง ต้นไม้ยังคงยืนเด่นเป็นต้นไม้อยู่ เพื่อตบตาการตรวจการณ์และการลาดตระเวณของเจ้าหน้าที่ พอเข้าฤดูฝนมีพายุลมแรง ต้นไม้ใหญ่ที่ตัดเอาไว้ก็จะโค่นล้มลงเอง ทับต้นไม้เล็กรอบๆ จนต้องตายไปด้วย เพราะเข้าฤดูหนาวก็จะทำการจุดไฟเผา ทำให้พื้นที่ป่านั้นราบเตียน พร้อมปลูกยางพาราได้ในฤดูถัดไป..น่าสงสารป่าจริงๆ ครับ 




เรื่องราวตามชายขอบของประเทศไทยนี้ ยังคงมีปัญหารอให้แก้ไขอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องเส้นเขตแดนและทรัพยากรในพื้นที่ หากผู้ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ได้ก้มลงมามองเและหาทางแก้ปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง ผมคิดว่าปัญหาต่างๆ ก็คงจะดีขึ้นบ้าง..
















************************
จุฑาคเชน : 20 ม.ค.2556