ผมได้มีโอกาสมาทำงานที่ศูนย์ปฎิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) จะครบสามปีครึ่งในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ หน้าที่ส่วนหนึ่งของผม คือ การตรวจสอบและประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด หรือที่เรียกว่า การควบคุมคุณภาพ (Quaility Control : QC) ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ที่มีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ จากผลพวงของการสู้รบในอดีตที่ผ่านมา อาทิ สงครามระหว่างเขมรแดงและเวียดนาม ความขัดแย้งของพรรคคอมมิวนิสต์ การสู้รบของชนกลุ่มน้อย และสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น
ในการปฏิบัติงาน ผมได้มีโอกาสพบเห็นทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (UXO ) จำนวนมากที่ฝังอยู่ตามแนวชายแดน มีทั้งทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ทุ่นระเบิดดักรถถัง ส่วน UXO ก็จะเป็นพวก กระสุนปืนใหญ่ กระสุนเครื่องยิงลูกระเบิด จรวด กระสุนปืนเล็ก ระเบิดขว้าง ระเบิดแสวงเครื่อง(IED) ฯลฯ เป็นต้น หลังจากที่หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมต่างๆ เก็บกู้ทุ่นระเบิดและ UXO เหล่านี้ได้แล้ว ก็จะนำมาทำลายทิ้ง ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีในอนุสัญญาห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้เมื่อ 15 ปีก่อน
ในอนุสัญญาออตตาวาที่กล่าวมา จะครอบคลุมเฉพาะการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุุคคล เท่านั้น ส่วนทุ่นระเบิดดักรถถังและ UXO ไม่จำเป็นต้องทำลายก็ได้ และทุ่นระเบิดสังหารบุคคลดังกล่าวก็สามารถแบ่งบางส่วนไว้ฝึกศึกษาก็ได้ ตามจำนวนที่เหมาะสม
ทุ่นระเบิดตกค้างที่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นทุ่นระเบิดที่ผลิตจากประเทศจีน เวียดนาม รัสเซีย และอเมริกา นำมาวางไว้ในประเทศไทยตามวาระการสู้รบต่างๆ ตามแนวชายแดนของประเทศไทย
ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดของประเทศเวียดนาม และประเทศกัมพูชา ทั้งสองประเทศจัดสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์คล้ายกัน คือเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของทุ่นระเบิด ประวัติการสู้รบและสงครามต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศของเขา และมุ่งหวังเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงความโหดร้ายของสงครามในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการทุ่นระเบิดอยู่จำนวนหลายแห่ง
พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดเวียดนาม |
พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดของท้องถิ่น ที่ จ.เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา |
ห้องนิทรรศการทุ่นระเบิดและ UXO ของ CMAC UNIT4 ประเทศกัมพูชา |
ส่วนในประเทศไทย มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดเหมือนกัน แต่ส่วนใหญเป็นของหน่วยทหาร เช่น กรมการทหารช่าง กรมสรรพาวุธทหารบก เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้ใหญ่โตอันใด ไม่ได้มีการจัดสร้างอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นแค่ห้องนิทรรศการของหน่วยเท่านั้น
ส่วนที่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ซึ่งดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดมานานกว่า 15 ปี พบทุ่นระเบิดและ UXO จำนวนมาก แต่ที่นี่ก็มีเพียงห้องนิทรรศการเล็กๆ ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ ทั้งๆ ที่หน่วยงานนี้น่าจะเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องผลักดันให้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดแห่งชาติ ด้วยซ้ำไป
ผมเคยเสนอเรื่องราวของการสร้าง "พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดแห่งชาติ" ทั้งในส่วนที่เป็นอาคารสถานที่ รูปแบบ และพิพิธภัณฑ์ในสนามทุ่นระเบิดที่พบจริง แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทุกคนก็เห็นว่าดี แต่ก็ไม่เคยมีใครต่อยอดให้เรื่องราวนี้ไปสู่ความสำเร็จเลย
ผมเสียดายทุ่นระเบิดและ UXO ที่เราต้องทำลายทิ้งทั้งหมด โดยไม่เก็บไว้บ้างเพื่อจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้เหมือนประเทศอื่นๆ เขา
เขาบอกว่า "คนไทยไม่ชอบเก็บ ไม่ชอบเขียน ไม่ชอบบันทึกเรื่องราวของตัวเองเอาไว้ จะค้นคว้าอะไรในอดีตของตัวเองก็ต้องใช้เอกสารของชาวต่างชาติมาอ้างอิงอยู่ร่ำไป" เห็นทีจะจริงตามที่เขาบอกครับ
ผมเขียนบทความนี้เพียงมุ่งหวังว่า เผื่อมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจบารมีมาอ่านเข้า จะได้ช่วยกันผลักดันให้มีการจัดสร้าง "พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดแห่งชาติ" ของประเทศไทยเราบ้าง เพื่อบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับทุ่นระเบิดและ UXO ของเราเอาไว้ อย่างที่ประเทศเพื่อนบ้านเขาทำกัน
****************************
จุฑาคเชน : 25 ส.ค.2558
จุฑาคเชน : 25 ส.ค.2558
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น