11 ตุลาคม 2561

ศาลเจ้าแม่สุนันทา

บริเวณแผนกที่พักแรม กองกิจการสโมสร กรมสวัสดิการทหารบก เป็นห้องพักของผมและเพื่อนๆ ที่มาจากต่างจังหวัดในขณะที่มาปฏิบัติงานในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรุงเทพฯ ที่พักแห่งนี้อยู่ในซอยตรงข้ามกับหอสมุดแห่งชาติ ไม่ห่างจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเท่าใดนัก บริเวณด้านหน้าที่พักมีศาลอยู่ศาลหนึ่งชื่อว่า  "ศาลเจ้าแม่สุนันทา" ซึ่งมีผู้คนมาเคารพสักการะ นำน้ำแดงมาถวายเพื่อขอพรกันเป็นจำนวนมาก ผมได้เข้าไปอ่านป้ายที่เขียนอธิบายไว้หน้าศาล สรุปคือ เป็นศาลของ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระนางเรือล่ม นั่นเอง    



พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พระนางเรือล่ม)
(คัดลอกมาจากป้ายที่เขียนไว้หน้าศาล)
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกพระนามว่า "พระนางเรือล่ม" มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์" เป็นพระราชธิดาในพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2403 เป็นพระเจ้าลูกเธอรุ่นเล็ก ลำดับที่ 50 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์ โดยรับราชการฝ่ายในเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 


พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงมีพระอุปนิสัยแข็งแกร่งเด็ดขาด แต่ด้วยพระสิริโฉม รวมทั้งพระอัธยาศัยที่สุภาพ เรียบร้อย และสงบเสงี่ยม ทำให้พระองค์เป็นที่น่านับถือในพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร และทรงเป็นที่สนิทเสน่หาในพระราชสวามียิ่งนัก

เมื่อวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการแต่งเรือพระที่นั่งเพื่อเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน พร้อมพระมเหสีทุกพระองค์ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และข้าราชบริพาร โดยก่อนวันเสด็จพระราชดำเนินนั้น พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงพระสุบิน (ฝัน) ว่า พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพระดำเนินข้ามสะพานแห่งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพลัดตกน้ำลงไป พระองค์สามารถคว้าพระหัตถ์ไว้ได้ แต่พระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ก็ลื่นหลุดจากพระหัตถ์ของพระองค์ไป พระองค์ทรงคว้าพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอจนทรงตกลงไปในน้ำด้วยกัน ทั้ง 2 พระองค์ ถึงแม้พระองค์จะทรงหวั่นพระทัย แต่ก็มิได้ทรงกราบบังคมทูลให้พระราชสวามีทรงทราบ และได้ตามเสด็จฯ ประพาสพระราชวังบางประอิน ตามพระราชประสงค์

ในวันเสด็จฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เคลื่อนขบวนเรือต่างๆ ออกไปก่อนในเวลาประมาณ 2 โมงเช้า โดยพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ประทับบนเรือเก๋งกุดัน โดยมีเรือปานมารุตซึ่งเป็นเรือกลไฟจูงเรือพระประเทียบ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จพระราชกิจถึงจะเสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งโสภาณภควีตามไป 


เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาดนั้น จมื่นทิพเสมากับปลัดวังซ้าย ลงมากราบทูลว่า "เรือพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้น ล่มลงที่บางพูด องค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ และพระชนนีสิ้นพระชนม์"  

โดยในขณะที่เรือล่มนั้น พระยามหามนตรี ได้ออกคำสั่งห้ามผู้ใดลงไปช่วยเหลือด้วยการขัดต่อกฏมณเฑียรบาลที่ห้ามมิให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล

พระนางเธอพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่ม ณ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี พระธิดา และพระราชบุตรในพระครรภ์ ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาอีกด้วย ระหว่างการตามเสด็จพระราชสวามีแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังบางปะอิน

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ ทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี" ดำรงพระฐานันดรศักดิ์พระอัครมเหสีพระองค์แรก ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเนื่องจากเหตุการณ์ที่ทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สิ้นพระชนม์นี้ ทำให้มหาชนถวายพระนามว่า "พระนางเรือล่ม"

*************************



ไม่มีความคิดเห็น: