16 ตุลาคม 2561

ศาลศักดิ์สิทธิ์ ภายใน กอ.รมน. สวนรื่นฤดี

ภายใน กอ.รมน.บริเวณสวนรื่นฤดี มีศาลศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 2 ศาล คือ ศาลที่มีมาแต่ตั้งเดิมขณะเป็นพระตำหนักสวนรื่นฤดี คือ ศาลท่านท้าวกุเวรธิราช (ศาลเจ้าพ่อหนูเผือก) และอีกศาลสร้างขึ้นภายหลัง คือ ศาลท้าววสุเทพเทพารักษ์ ทั้งสองศาลเป็นที่เคารพสักการะของผู้ที่ทำงาน ภายใน กอ.รมน. โดยมีความเชื่อว่า หากบูชาแล้วจะมีความร่มเย็นเป็นสุข ได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น ส่วนบุคคลทั่วไป ก็มักจะมาบนบานศาลกล่าวเพื่อให้สอบบรรจุเขารับราชการหรือเข้าทำงานตำแหน่งต่างๆ ได้ 

ด้านหน้า คือ  ศาลวสุเทพเทพารักษ์ 
ด้านหลัง คือ ศาลท่านท้าวกุเวรธิราช (ศาลเจ้าพ่อหนูเผือก) 

ศาลท่านท้าวกุเวรธิราช (ศาลเจ้าพ่อหนูเผือก)
ประวัติความเป็นมากล่าวว่า แต่เดิมศาลท่านท้าวกุเวรธิราช หรือเจ้าพ่อหนูเผือก ไม่ได้ตั้งอยู่ที่สวนรื่นฤดีแห่งนี้ เป็นศาลขนาดใหญ่ที่มีผู้คนเคารพสักการะจำนวนมาก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยตั้งอยู่ที่บริเวณ "บ้านนรสิงห์"  ซึ่งปัจจุบันคือ ทำเนียบรัฐบาล  

บ้านนรสิงห์
ทำเนียบรัฐบาล เดิมชื่อ “บ้านนรสิงห์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ พลเอก พลเรือเอก มหาเสวกเอก จางวางเอก เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถวายงานใกล้ชิด โปรดให้เป็นหัวหน้าห้องพระบรรทม นั่งร่วมโต๊ะเสวย ทั้งมื้อกลางวัน และกลางคืน ตลอดรัชกาล และตามเสด็จโดยลำพัง เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย

ชื่อบ้านนรสิงห์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า เป็นชื่อพระราชทานหรือเจ้าของบ้านตั้งขึ้นเอง คาดว่าเนื่องจากเจ้าพระยารามราฆพ เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมมหรสพ ซึ่งมีตราเป็นรูปนรสิงห์ อันเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์อวตารลงมาปราบยักษ์หิรัณยกศิปุ แต่เดิม เคยมีรูปปั้นนรสิงห์เต็มตัว ตั้งอยู่กลางสนามหญ้าหน้าตึกไกรสร (ตึกไทยคู่ฟ้า) ปัจจุบันไม่ทราบว่าเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ใด

บ้านนรสิงห์ ปัจจุบัน คือ ทำเนียบรัฐบาล
ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2484 เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้าน ได้มีหนังสือถึง นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอขายบ้านนรสิงห์ให้แก่รัฐบาล ในราคา 2,000,000 บาท เพราะเห็นว่าใหญ่โตเกินฐานะ และเสียค่าบำรุงรักษาสูง แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ซื้อ แต่หลักฐานบางแห่งระบุว่า จริงๆ แล้ว เจ้าพระยารามราฆพ มิได้อยากขายบ้านนรสิงห์   รัฐบาลอยากได้บ้านนรสิงห์ไว้เป็นที่ทำการรัฐบาลและรับแขกบ้านแขกเมือง จึงบังคับให้ เจ้าพระยารามราฆพขาย โดยรัฐบาลอ้างเหตุผลว่ากลัวทหารญี่ปุ่นจะมาขอเช่าเป็นกองบัญชาการเพื่อทำสงครามมหาเอเซียบูรพา  (ทัั้งๆ ที่ขณะนั้น ญี่ปุ่นยังไม่ยกพลขึ้นบกในประเทศไทย แต่อย่างใด) 

จนกระทั่งต่อมาถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2484 ปีเดียวกัน จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เห็นควรให้รัฐบาลไทยซื้อบ้านนรสิงห์ไว้ เพื่อเป็นสถานที่รับรองแขกเมือง  ในที่สุด จึงได้ตกลงซื้อขายกันในราคา 1,000,000 บาท โดยจ่ายเงินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้แก่เจ้าพระยารามราฆพ แล้วมอบบ้านนรสิงห์ให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล โดยให้ใช้เป็นที่ตั้งทำเนียบรัฐบาล และเป็นสถานที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ศาลท่านท้าวกุเวรธิราช (ศาลเจ้าพ่อหนูเผือก)

ย้ายศาลเจ้าพ่อหนูเผือกมาตำหนักสวนรื่นฤดี
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งเป็นพระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เคยประทับอยู่ที่ "บ้านนรสิงห์" ตอนพระองค์ฯ ท่าน ทรงถวายงานในกรมมหรสพ อนุมานได้ว่าหลังจากที่ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี สร้างพระตำหนักสวนรื่นฤดีเสร็จแล้ว เมื่อ พ.ศ.2477 และต่อมาทรงทราบเรื่องว่า บ้านนรสิงห์ ถูกขายให้รัฐบาล ในปี พ.ศ.2484  พระนางเจ้าสุวัทนาฯ จึงได้โปรดอัญเชิญให้ย้าย ศาลท่านท้าวกุเวรธิราช (ศาลเจ้าพ่อหนูเผือก) จากบ้านนรสิงห์ มาประดิษฐานไว้ที่พระตำหนักสวนรื่นฤดี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  ดังประวัติสังเขป ที่จารึกไว้ด้านหลังศาล


ประวัติ ศาลท่านท้าวกุเวรธิราช (ศาลเจ้าพ่อหนูเผือก)
ที่จารึกไว้ด้านหลังศาล
บูรณะครั้งสุดท้าย 10 ก.ย.2550
ศาลวสุเทพเทพารักษ์
ศาลท้าววสุเทพเทพารักษ์ เป็นศาลที่เปรียบเสมือนเจ้าที่ผู้ดูแล ปกป้อง และคุ้มครองบริเวณสวนรื่นฤดี คำว่า  เทพารักษ์ หมายถึง เทวดาที่ดูแลรักษาที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หากเทวดานั้นอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ จะเรียกว่า รุกขเทวดา หากเทวดานั้น อาศัยอยู่ตามบ้านเรือนจะเรียกว่า "พระภูมิ" 

ศาลวสุเทพเทพารักษ์

ท่านใดประสงค์ที่จะมาไหว้บูชา เคารพสักการะ และขอพร สามารถมาได้ในเวลาราชการ ดอกไม้ ธูปเทียน มีให้บริการที่บริเวณศาล


ป้าแดง เจ้าหน้าที่ที่คอยให้บริการ ดอกไม้ ธูปเทียน
คำอธิฐานบูชา ท่านท้าวกุเวรธิราช
อิติสุขะโต อะระหังพุทโธ  นะโมพุทธายะ ปะฐะวีคงคา ท่านท้าวกุเวรธิราช นะมามิหัง

คำอธิฐานบูชา ท่านท้าววสุเทพเทพารักษ์
อิติสุขะโต อะระหังพุทโธ  นะโมพุทธายะ ปะฐะวีคงคา ท่านท้าววสุเทพเทพารักษ์ นะมามิหัง

*******************************
ที่มาข้อมูล

  • https://th.wikipedia.org/wiki/พระนางเจ้าสุวัทนา_พระวรราชเทวี
  • https://th.wikipedia.org/wiki/ทำเนียบรัฐบาลไทย
  • https://th.wikipedia.org/wiki/เทพารักษ์
  • https://www.silpa-mag.com/club/miscellaneous/article_7714

ไม่มีความคิดเห็น: