ผมมาทำงานในกองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เมื่อ 2 ต.ค.2561 กอ.รมน. ตั้งอยู่ภายในบริเวณสวนรื่นฤดี และยังมีพระตำหนักเพชรรัตน์ ตั้งตะหง่านอยู่ให้เห็นด้วย ผมถามคนที่ทำงานอยู่ก่อนเกี่ยวกับเรื่องความเป็นมาของคำว่า "สวนรื่นฤดี" และ "พระตำหนักเพชรรัตน์" ก็ได้รับคำตอบแบบกว้างๆ จึงตัดสินใจลองสืบค้นข้อมูลดู หลังจากทราบเรื่องราวความเป็นมาแล้ว ผมรู้สึกภูมิใจว่าผมได้มีโอกาสทำงานในสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์ไทยเลยทีเดียว
![]() |
ภาพถ่ายพระตำหนักสวนรื่นฤดี เมื่อปี พ.ศ.2477 |
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นพระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระนามเดิมว่า เครือแก้ว อภัยวงศ์ เป็นบุตรีของพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) กับคุณเล็ก บุนนาค พระองค์ได้ประสูติการพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2468 คือ สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี แต่หลังจากประสูติพระเจ้าลูกเธอได้เพียงหนึ่งวัน รัชกาลที่ 6 พระราชสวามีก็เสด็จสวรรคตลงในวันต่อมาคือ วันที่ 25 พ.ย.2468
ย้ายที่ประทับหลายแห่ง
หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ขึ้นครองราชย์ มีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองหลายครั้ง เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และกบฏบวรเดช ทำให้พระนางเจ้าสุวัทนาฯ และสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ ต้องทรงย้ายที่ประทับอยู่ตลอดเวลา เช่น ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง, พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต, ตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา, พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวีในสวนสุนันทา และพระตำหนักเขียว วังสระปทุม
พระตำหนักสวนรื่นฤดี
ต่อมาในปี พ.ศ.2475 พระนางเจ้าสุวัทนาฯ จึงได้ทรงโปรดให้สร้างตำหนักใหม่ขึ้นเป็นส่วนพระองค์ บนที่ดิน 15 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา บริเวณหัวมุมถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัย ซึ่งเป็นที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่คราวอภิเษกสมรส ตำหนักแห่งนี้ มีมีนายหมิว อภัยวงศ์ เป็นสถาปนิก และพลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ (แอบ รักตะประจิต) เป็นวิศวกร พระตำหนักสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2477 พระองค์ฯ ทรงพระราชทานนามว่า "พระตำหนักสวนรื่นฤดี"
![]() |
พระนางเจ้าสุวัทนาฯ กับพระราชธิดาที่พระตำหนักสวนรื่นฤดี ในสมันรัชกาลที่ 7 |
องค์ตำหนักเป็นตึกสองชั้นครึ่ง สร้างด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ผสมอเมริกัน สง่างามด้วยรูปทรงเรียบทันสมัย หลังคาเป็นทรงปั้นหยาลาดชัน มีอัฒจันทร์กว้างขึ้นสู่มุขด้านหน้า เหนือขึ้นไปเป็นระเบียงทึบมีคิ้วคอนกรีตต่อเนื่องกับคิ้วที่ผนังรอบอาคาร มีพระแกลกว้างโดยรอบและมีช่องแสงรูปวงกลม คิ้ว คาน และพระแกลสีอ่อนตัดกับตำหนักสีเข้ม
พระตำหนักสวนรื่นฤดีแห่งนี้ เป็นที่สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ ได้ทรงพระอักษรตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยพระอาจารย์พิเศษจากโรงเรียนราชินีต่อมาได้เสด็จไปทรงพระอักษร ณ โรงเรียนราชินี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แล้วทรงลาออกมาทรงพระอักษรกับมิสซิสเดวีส์ อดีตครูโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย และนางสาวศรีนาถ สุทธะสินธุ (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ) ตลอดทั้งยังทรงเรียนเปียโนกับมิสเซดี้อีกด้วย
สวนรื่นฤดี เป็นตำหนักที่ร่มรื่นสวยงาม ประกอบด้วยสวนผลไม้ นานาชนิด เช่น มะม่วง ชมพู่ ขนุน มะปราง ฯลฯ และมีสระสรงน้ำ(สระว่ายน้ำ) สำหรับเสด็จลงสรงน้ำเป็นประจำด้วย
ขายให้กองทัพบก
เมื่อเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2482-2488) ขณะที่ทรงประทับยังสหราชอาณาจักร ได้เสด็จลี้ภัยไปที่แคว้นเวลล์ เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไบรตันแล้ว ทรงซื้อพระตำหนักใหม่ ซึ่งความอัตคัตขัดสนก็บังเกิดขึ้น เพราะต้องชุบเลี้ยงบรรดาข้าหลวง และเลี้ยงต้อนรับคนไทยที่ไปเฝ้ายังตำหนัก ในปี พ.ศ.2498 จึงทรงขายพระตำหนักสวนรื่นฤดีแก่กองทัพบกในราคา 9,000,000 บาทเพื่อทรงนำเงินไปใช้สอยระหว่างสงคราม และพระราชทานเงินบางส่วนสมทบทุนสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
![]() |
สภาพพระตำหนักสวนรื่นฤดี ในปัจจุบัน ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นพระตำหนักเพชรรัตน์ |
ปัจจุบันพระตำหนักสวนรื่นฤดี เปลี่ยนชื่อเป็น "พระตำหนักเพชรรัตน์" (ไม่มีหลักฐานว่าเปลี่ยนชื่อเมื่อใด) กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2540 ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา พื้นที่ที่เหลือใช้เป็นที่ทำงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
![]() |
เขตที่ดินโบราณสถานพระตำหนักเพชรรัตน์ ประกาศเมื่อ 10 ก.ย.2540 |
*************************************
ที่มาข้อมูล
https://th.wikipedia.org/wiki/พระนางเจ้าสุวัทนา_พระวรราชเทวี
https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ_เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา_สิริโสภาพัณณวดี
https://th.wikipedia.org/wiki/พระตำหนักสวนรื่นฤดี
https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ_เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา_สิริโสภาพัณณวดี
https://th.wikipedia.org/wiki/พระตำหนักสวนรื่นฤดี
https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น