8 เมษายน 2556

แค้นนี้..ต้องชำระ


เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2556 ซึ่งเป็น "วันรณรงค์การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดสากล" มีการจัดงานกันใน 120 กว่าประเทศทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญก็คือ รณรงค์ห้ามทุกประเทศในโลกใบนี้ ผลิต ใช้ หรือเก็บสะสม ทุ่นระเบิดชนิดต่างๆ ทั้งสังหารบุคคลและยานพาหนะ เพราะมันทำให้มนุษย์ต้องล้มตายและพิการมาแล้วจำนวนมาก จากผลพวงของสงครามและการสู้รบต่างๆ ที่่ผ่านมา แม้ทุกวันนี้ ทุ่นระเบิดยังคงตกค้างอยู่ในอีกหลายพื้นที่ทั่วโลก ในประเทศไทยเองครอบคลุมถึง 520 ตร.กม. ในเขต 18 จังหวัด การจัดงานของทุกประเทศในวันนี้เพื่อมุงหวังให้ "โลกใบนี้ปลอดจากทุ่นระเบิด" 

ที่ประเทศไทยนี้ ค่อนข้างตกกระแส เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี หลายคนไม่เคยทราบว่าประเทศไทยยังคงมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่อีกจำนวนมาก แม้แต่หน่วยงานที่ชื่อ "ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ" ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ตั้งมานานกว่า 10 ปีแล้ว ลองสอบถามคนทั่วไปสัก 100 คน เชื่อได้เลยว่าไม่มีใครรู้จักหน่วยงานนี้สักคน 


ปีนี้ หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดอยู่แถวภาคอิสานตามขอบชายแดนไทย-กัมพูชา ได้จัดงานฯ ขึ้นที่โรงเรียนบ้านสำโรงเกียรติ ต.บักดอง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ภายใต้แนวคิด "คนสู้ชีวิต" ซึ่งนอกเหนือจากการจัดนิทรรศการแจ้งเตือนอันตรายจากทุ่นระเบิด การประกวดวาดภาพชิงทุนการศึกษา การสาธิตการเก็บกู้ทุ่นระเบิดแล้ว ยังได้เชิญ "ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดตัวจริง" มาเล่าเรื่องราวชีวิตก่อนประสบภัยและหลังจากประสบภัยแล้ว ให้ผู้ร่วมงานฟังด้วย เพื่อให้เกิดความตระหนักและเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจ จากความเป็นคนธรรมดาต้องกลายมาเป็นคนพิการ สาเหตุเพราะไปเหยียบทุ่นระเบิดอำมหิตที่ยังตกค้างอยู่ในพื้นที่ทำมาหากินของเขา ถึงแม้ชีวิตของเขาจะต้องพิการในชั่วพริบตา แต่เขาก็ยังคงอยู่ได้อย่างคนปกติทั่วไปเพราะความสู้ชีวิตของเขานั่นเอง แต่เขาไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ อีกต่อไป 

ผู้ประสบภัย
เล่าประสบการณ์ให้ผู้ร่วมงานฟัง

ผู้ประสบภัยร่วมเป็นสักขีพยานในการทำลายทุ่นระเบิด

แค้นนี้..ต้องชำระ 
ในช่วงบ่าย นปท.3 มีการทำลายทุ่นระเบิดและสรรพาวุธที่ไม่ระเบิดที่เก็บกู้ได้เป็นจำนวนมาก จึงได้เชิญผู้ประสบภัยเหล่านี้ไปร่วมเป็นสักขีพยานด้วย ให้เขาได้ไปเห็นทุ่นระเบิดที่เขาเคยเหยียบและทำให้เขาต้องพิการ อยากน้อยความแค้นในใจก็ได้ชำระสะสางไปได้บ้าง แต่ที่สำคัญที่ผู้ประสบภัยทุกคนพูดตรงกันคือ 

"ไม่อยากให้ทุกคนประมาท หากพบเห็นป้ายแจ้งเตือนอันตรายจากทุ่นระเบิดที่ทางราชการปิดเอาไว้ อย่าพยายามเข้าไปเด็ดขาด ขอให้ดูชีวิตของผมเป็นอุทธาหรณ์" 

********************** 

ชาติชยา ศึกษิต : 8 เม.ย.2556

ไม่มีความคิดเห็น: