20 พฤษภาคม 2556

ใครควรรับผิดชอบ?

เหตุการณ์จำลองนี้ดัดแปลงมาจาก Allen Prak, J.D.,Managing Partner (Cambodia) (9 May 2013) เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในประเทศไทย 

จอห์นและแคทเธอรีน เป็นนักท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ทั้งสองคนชอบเที่ยวในชนบทห่างไกล ไปตามหมู่บ้านตามแนวชายแดนของประเทศต่างๆ ทั้งสองเคยประสบอุบัติเหตุจากทุ่นระเบิดที่ตกค้างจากการสู้รบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกมาแล้วถึง 2 ครั้ง ทำให้ขาข้างขวาของจอห์นและขาข้างซ้ายของแคทเธอรีนต้องขาด กลายเป็นคนพิการใส่ขาเทียมจนถึงทุกวันนี้ แต่จอห์นและแคทเธอรีน ก็ยังชอบท่องเที่ยวอยู่เช่นเดิม 

เมื่อกลางเดือน มกราคม พ.ศ. 2555 จอห์นและแคทเธอรีน ต้องการมาเที่ยวในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขต อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ติดกับชายแดนประเทศกัมพูชา หมู่บ้านแห่งนี้ ทางรถยนต์เข้าไปไม่ถึง ไกด์ที่พามาแนะนำและวางแผนว่า ต้องใช้เกวียนเป็นพาหนะเดินทางผ่านทุ่งนาถึงจะถึงหมู่บ้านแห่งนี้ จอห์นและแคทเธอรีนถามว่าพื้นที่นี้ปลอดภัยหรือไม่ กลัวว่าจะมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ อาจเกิดอันตรายเหมือนประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาถึง 2 ครั้ง

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มาของภาพ masscomm35
ไกด์ตอบว่าพื้นที่แห่งนี้สมัยก่อนมีการสู้รบ และมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ แต่ทางหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 ได้ดำเนินการเก็บกู้และกวาดล้างไปหมดแล้ว และศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติก็ประกาศรับรองเป็นพื้นที่ปลอดภัยและส่งมอบพื้นที่ให้กับประชาชนในหมู่บ้านใช้ประโยชน์เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน จึงขอยืนยันว่า "พื้นที่นี้ ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด" ผู้ใหญ่บ้านและคนขับเกวียน ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านก็ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้นจริง และทุ่งนาที่จะเดินทางผ่านนี้ ได้ผ่านการทำนามาแล้วถึง 4 ฤดูกาล จึงมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัย 

จอห์นและแคทเธอรีนยอมเชื่อ จึงได้ตัดสินใจเดินทางด้วยเกวียนผ่านทุ่งนาแห่งนั้น 
ทันใดนั้น ล้อเกวียนวิ่งไปเหยียบบนรากไม้ของต้นไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง ทำให้ UXO ที่ฝังอยู่ใต้รากไม้เกิดระเบิดขึ้น 
จอห์น, แคทเธอรีน, ไกด์ และคนขับเกวียน ได้รับบาดเจ็บสาหัส 

แบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่มถกแถลงกันโดยอิสระ (15 นาที) 
  • กลุ่มที่ 1 จอห์นและแคทเธอรีน ผู้บาดเจ็บ ต้องการฟ้องร้องผู้รับผิดชอบได้แก่ หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3, ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ และผู้ใหญ่บ้าน พวกเขาควรจะฟ้องร้องด้วยข้อหาอะไรบ้าง 
  • กลุ่มที่ 2 ถ้าคุณเป็นผู้บังคับหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 คุณจะปกป้องตัวเองให้พ้นผิดจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร 
  • กลุ่มที่ 3 ถ้าคุณเป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ คุณจะปกป้องตัวเองให้พ้นจากความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร 
  • กลุ่มที่ 4 ถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่บ้าน คุณจะแก้ตัวเรื่องนี้ว่าอย่างไร และจะป้องกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต 

แต่ละกลุ่มนำเสนอ 5 นาที ????? 

เหตุการณ์นี้ปรับปรุงและดัดแปลงมาจากการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านความรับผิดชอบการดำเนินงาน   ด้านทุ่นระเบิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Regional Mine Action Liability Workshop for South East Asia) เมื่อวันที่ 8-10 พ.ค.2556 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมซันเวย์ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ผมตั้งใจนำมาเผยแพร่เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย  ได้ลองคิดทบทวนและไตร่ตรองดูว่า เหตุการณ์ดังกล่าว "ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ" ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้มีการถกแถลงกันในที่ประชุมแต่ก็ไม่มีข้อสรุปโดยแน่ชัด เพราะบริบทของแต่ละประเทศทั้งลาว ไทย กัมพูชา พม่า และเวียดนาม มีความแตกต่างกัน ทั้งทางกฏหมาย โครงสร้างอำนาจ ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ และการจัดองค์กร 

ผมอยากให้ทุกคนที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย ลองถกแถลงกันดู ครับ เผื่ออาจจะได้แนวคิดดีดี แล้ววันหนึ่ง ผมจะบรรยายเรื่อง "ความรับผิดชอบ" นี้ให้ฟังอีกครั้งเมื่อมีโอกาสได้พบกัน 
















************************** 
ชาติชยา ศึกษิต : 20 พ.ค.2556 

ไม่มีความคิดเห็น: