11 มิถุนายน 2556

ทำความสะอาด..อุบลราชธานี

ผลการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทยขององค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์ (Norwegian People's Aid : NPA และศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center : TMAC) เมื่อปี พ.ศ.2544 พบว่าในประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดที่ยังตกค้างและถูกฝังอยู่ จากผลพวงของการสู้รบตามแนวชายแดนในอดีตที่ผ่านมา จำนวนถึง 2,557 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 25 จังหวัด และหนึ่งในนั้นคือ จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีพื้นที่ที่คาดว่ายังมีทุ่นระเบิดตกค้างและฝังอยูุ่ถึง 131.62 ตารางกิโลเมตร  TMAC ได้เริ่มการปฏิบัติการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


พื้นที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิดตกค้างและฝังอยู่
ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จำนวน 131.62 ตร.กม.

ผมมาทำหน้าที่หัวหน้าส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผลของ TMAC เมื่อเดือนตุลาคม 2555 ผมรู้สึกแปลกใจว่า เวลาล่วงมาแล้วถึง 11 ปี แต่ในพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี ไม่เคยมีหน่วยงานใดเข้าไปดำเนินการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดอย่างเป็นจริงเป็นจังเลย มีเพียงแค่เข้าไปกวาดล้างและเก็บกู้พื้นที่บางส่วน ตอนก่อสร้างถนนเข้าสู่ช่องเม็กเท่านั้น  ในขณะที่จังหวัดต่างๆ มีการจัดหน่วยงานเข้าไปดำเนินงานกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิด และสามารถทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้วถึง 7 จังหวัด คงเหลือพื้นที่ที่มีดำเนินการกวาดล้างและเก็บกู้ฯ ในปัจจุบันสลับกันไปมาในแต่ละปีอยู่ 17 จังหวัด ส่วน จ.อุบลราชธานี เป็นจังหวัดเดียวที่ไม่ได้รับการเหลียวแลและไม่มีแผนที่จะเข้าไปดำเนินการ

ผมพยายามถามผู้บังคับบัญชาและผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคนในวงการทุ่นระเบิด ก็ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้อย่างชัดเจน 

"บ้างก็ว่าเป็นพื้นที่กันชนระหว่างไทย ลาวและกัมพูชา จึงไม่อยากเก็บกู้ระเบิดออก เอาไว้เป็นเครื่องกีดขวางป้องกันตามแนวชายแดน"

"บ้างก็ว่าเอาทุ่นระเบิดไว้ป้องกันทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่จากพวกลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและล่าสัตว์"

"บ้างก็ว่านายทุนและนักการเมืองไม่ยอมให้เข้าไป เกรงว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปรู้ความลับเรื่องการทำผิดกฏหมายและอิทธิพลเถื่อนตามแนวชายแดนฯลฯ"

จนบัดนี้ ผมก็ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงเลยว่า 
"เหตุผลที่ไม่กวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี มันคืออะไรแน่"

ทำความสะอาด..อุบลราชธานี
Cleanup  Ubonratchathani
อยู่ๆ เมื่อกลางเดือน พ.ค.2556 ทางองค์กรพัฒนาเอกชนชื่อว่า Anti-Personnel Landmines Detection Product Development :  APOPO  และมูลนิธิถนนเพื่อสันติภาพ (Peace Road Organization : PRO) ได้ขออนุญาตจากกองบัญชาการกองทัพไทย เข้าปฏิบัติการสำรวจพื้นที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิด ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานีด้วยวิธีการสำรวจที่ไม่่ใช่ทางเทคนิค ในพื้นที่ อ.นาจะหลวย และ อ.บุณฑริก จ..อุบลราชธานี  ซึ่งได้รับการอนุญาต และขณะเดียวกันหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) ก็เปลี่ยนแผนการปฏิบัติงานประจำปีเข้าไปกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี เช่นกัน 


นายตรีภพ ตรีมรรคา ผู้จัดการภาคสนาม APOPO-PRO
ชี้แจงการเข้าสำรวจพื้นที่สนามทุ่นระเบิด
ในที่ประชุมประจำเดือนของ อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี
วันที่ 4 มิ.ย.2556
เหตุการณ์นี้  ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการที่มีการเข้าปฏิบัติการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดอย่างเป็นจริงเป็นจังใน จ.อุบลราชธานี

ผมรู้สึกดีใจที่มีการเริ่มปฏิบัติการด้านการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดใน จ.อุบลราชธานี เสียที หลังจากที่สงสัยมานาน แต่ก็ยังไม่คลายสงสัยอยู่ดี ว่าการเข้าปฏิบัติงานใน จ.อุบลฯ ครั้งนี้เป็นไปอย่างกระทันหัน และก็ไม่รู้ว่าการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดใน จ.อุบลฯ นี้ จะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน 


ได้มีโอกาสสนทนาบอกเล่า
ถึงสถานการณ์พื้นที่ทุ่นระเบิดใน จ.อุบลราชธานี
กับนายปัญญา จินตะเวช ส.ส.อุบลราชธานี เขต 9 

ไม่มีหลักประกันได้ว่า พื้นที่ 131.62 ตารางกิโลเมตร ของ จ.อุบลราชธานี จะถูกกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้หมดเมื่อใด....หากวันหนึ่งข้างหน้า  APOPO-PRO ไม่มีเงินจากต่างชาติมาช่วยเหลือบริจาคให้ทำงานต่อ และกองบัญชากองทัพไทยไร้ซึ่งนโยบายโดยต่อเนื่อง... 

แต่สิ่งที่ผมกลัวที่สุดว่างานด้านกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดใน จ.อุบลฯ จะหยุดและสะดุดลง ก็เพราะนายทุน ข้าราชการ นักการเมือง และผู้มีอิทธิพล ที่เป็นเหลือบหากินอยู่กับสิ่งผิดกฏหมายตามแนวชายแดนของ จ.อุบลฯ จะเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้งานนี้..จบลง..

***************************************
ชาติชยา  ศึกษิต : 11 มิ.ย.2556

ไม่มีความคิดเห็น: