1 กรกฎาคม 2556

พื้นที่ทับซ้อนดอยลาง กับ การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วม ไทย-เมียนม่าร์

เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2556 ผมได้มีโอกาสได้ไปตรวจสอบและประเมินพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด บริเวณช่องทางสันต้นดู่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ติดแนวชายแดนประเทศเมียนม่าร์ จึงได้พบว่าตามแนวชายแดนนี้ ยังมีปัญหารอให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายได้ช่วยแก้ไขอีกหลายเรื่อง  ซึ่งปัญหาเหล่านี้ มีมาตั้งแต่อดีต แม้กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จ



ถัดออกไปทางตะวันตกของช่องทางสันต้นดู่ มีพื้นที่ทับซ้อนที่ยังถกเถียงกันอยู่ ขนาดประมาณ 32 ตร.กม.เรียกชื่อพื้นที่นี้ว่า "พื้นที่ทับซ้อนดอยลาง" เหตุเพราะว่าประเทศไทยและประเทศเมียนม่าร์ ใช้แผนที่คนละฉบับ ดังแสดงไว้ในภาพด้านบน  พื้นที่แห่งนี้จึงตกลงกันไม่ได้ว่าเป็นพื้นที่ของประเทศเมียนม่าร์หรือของราชอาณาจักรไทย  ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหน่วยทหารทั้งของเมียนม่าร์ ว้า และทหารไทย ตั้งเผชิญหน้ากัน แต่ไม่มีความขัดแย้งใดๆ  มีความสัมพันธ์อันดี เพียงแต่รอเวลาว่าตัดสินว่า แผ่นดิน 32 ตร.กม.นี้จะเป็นของใคร

สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ที่ผมปฏิบัติงานอยู่ก็คือ พื้นที่ทับซ้อน 32 ตร.กม. แห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่ได้รับการยืนยันว่ามีอันตรายจากทุ่นระเบิดอยู่ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center: TMAC) ต้องเก็บกู้และกวาดล้างทุ่นระเบิดและทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2561 ตามพันธสัญญาที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ในอนุสัญญาออตตาวา ..แล้วทีนี้จะทำอย่างไรต่อไปดี..ปัญหาแนวชายแดนนี้คงไม่เสร็จสิ้นในเร็ววันนี้แน่นอน เพราะทั้งสองประเทศได้พยายามร่วมกันแก้ไขกันมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จ



พื้นที่ทับซ้อนดอยลาง

การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมระหว่างไทย-เมียนม่าร์
TMAC เป็นหน่วยงานปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม ไม่ถืออาวุธ ถือแต่เครื่องตรวจค้นทุ่นระเบิด มุ่งประโยชน์เพื่อมนุษยชาติเป็นสำคัญโดยไม่แบ่งเขตแดนและเชื้อชาติศาสนา ปฏิบัติงานภายใต้คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมแห่งชาติ (National Mine Action Committee: NMAC)  โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พื้นที่ดอยลางนี้ เป็นพื้นที่ทับซ้อน ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะอยู่ในเขตแดนของประเทศไทยหรือประเทศเมียนมาร์  วิธีการแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้ก็คือ "การเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันระหว่างไทย-เมียนม่าร์" ซึ่งมีหนทางที่เป็นไปได้มากที่สุด หากรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย เห็นแก่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรทั้ง 2 ประเทศ ไม่ว่าจะเชื้อชาติใดก็ตาม


ที่ตั้งกำลังทหารของพม่าบริเวณพื้นที่ทับซ้อนดอยลาง

แต่วิธีการนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะพื้นที่แห่งนี้ เป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดและสิ่งของผิดกฏหมาย ที่สำคัญของเหล่าผู้ทรงอิทธิพลทั้งหลาย ยากต่อการจับกุมและใช้กฏหมายบังคับ 

พื้นที่อันตรายจากทุ่นระเบิดคงไม่หมดไปจากประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2561 ตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมโลกอย่างแน่นอน เพราะพื้นที่ทับซ้อน เช่น ดอยลางนี้ ยังมีอยู่อีกหลายพื้นที่ตามแนวชายแดน..รอบประเทศไทย

*******************

ชาติชยา ศึกษิต : 30 มิ.ย.2556

ไม่มีความคิดเห็น: