28 พฤศจิกายน 2559

ผมอึดอัด ขอเขียนอีกครั้งครับ

ผมเคยปฏิบัติงานที่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 และถูกปรับย้ายออกในสมัยผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่งเมื่อ 31 มี.ค.2559 เหตุเพราะขัดแย้งเรื่องนโยบายที่สำคัญ วันนี้..ผู้บังคับบัญชาฯ ท่านนั้นย้ายไปแล้ว แต่ผมยังคงถูกรับเชิญให้เดินสายเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของทุ่นระเบิดในประเทศไทยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานรุ่นใหม่ฟังทั่วประเทศ เพื่อความเข้าใจและมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

เรื่องราวเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมอึดอัด มันยังรบกวนจิตใจของผมอยู่ เรื่องราวเหล่านี้ผมเคยนำเสนอให้ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องฟังมาโดยตลอด หลายยุคหลายสมัย แต่ถึงวันนี้ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด นั้นคือเรื่องราวของ "ระยะเวลาในอนุสัญญาออตตาวา ที่ประเทศไทยจะสิ้นสุดตามที่ให้สัญญาไว้ในวันที่ 1 พ.ย.2561 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเหลืออีกเพียง 2 ปี"  ผมอยากให้ผู้ที่มีอำนาจ ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันรับรู้และตัดสินใจในเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติ  ผมจึงขอเขียนบทความเรื่องนี้อีกครั้ง เผื่อจะสื่อไปถึงท่านเหล่านั้นได้บ้าง



อนุสัญญาออตตาวา
ประเทศไทยไปลงนามในอนุสัญญาในเวทีโลกว่าด้วยห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรือที่เรียกสั้นๆ อนุสัญญาออตตาวา  โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2542 เป็นต้นมา โดยพันธสัญญาข้อหนึ่งที่สำคัญและประเทศไทยทำไม่สำเร็จคือ 

"ต้องค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่ตกค้างจากสงครามและการสู้รบวาระต่างๆ ที่ยังคงฝังอยู่ในแผ่นดินไทยให้หมดสิ้นภายในวันที่ 30 เม.ย.2552"  (ภายใน 10 ปีหลังเริ่มสัญญา)

แต่เมื่อถึงวันที่ 30 เม.ย.2552 พื้นที่อันตรายที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดตกค้าง ที่บันทึกไว้จำนวน 2,556.7 ตร.กม.ในพื้นที่ 24 จังหวัด ประเทศไทยดำเนินการค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดได้เพียง 2,000 กว่าตร.กม. ยังคงเหลือพื้นอันตรายต้องสงสัยฯ ตกค้าง เหลืออยู่อีก 528.2 ตร.กม.

ประเทศไทยจึงอนุมัติต่อที่ประชุมรัฐภาคีต่างๆ เพื่อขอขยายระยะเวลาค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่อันตรายฯ ที่เหลืออยู่จำนวน 528.2 ตร.กม. ต่อไปอีก 9 ปีครึ่ง (หมดเขตถึงวันที่ 1 พ.ย.2561)

เหตุผลที่ประเทศไทยดำเนินการล่าช้า
ประเทศไทยอ้างเหตุผลที่ดำเนินการล่าช้า  ไม่สำเร็จตามระยะเวลา ต่อที่ประชุมในครั้งนั้น ว่า 
  1. การสำรวจของ Landmine Impact Survey เมื่อปี 2543-2544 เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น ทำให้มีความคลาดเคลื่อนและมีพื้นที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิดสูงกว่าความเป็นจริง (2,557 ตร.กม.) ซึ่งทำให้ไทยเสียเวลาเก็บกู้  
  2. วิธีการที่ไทยใช้ในการเก็บกู้คือการเก็บกู้แบบปกติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาเพราะต้องระมัดระวังสูงและใช้งบประมาณมาก
  3. สภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทุ่นระเบิดซึ่งยากและใช้เวลาในการเข้าถึงและจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์เครื่องจักรที่เหมาะสม เช่น ป่าทึบ ทิวเขาที่มีความลาดชันสูง และสภาพอากาศที่ไม่สามารถทำงานได้ตลอดทั้งปี
  4. งบประมาณที่จำกัด และความช่วยเหลือจากต่างประเทศมีไม่มากนัก
คาดว่าหลังจากขอขยายระยะเวลา ไทยจะเหลือพื้นที่ทุ่นระเบิดประมาณ 528.2 ตร.กม. จากพื้นที่ที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิดทั้งหมด 2,557 ตร.กม. โดยจะให้ความสำคัญกับพื้นที่ซึ่งมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน พื้นที่ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม พื้นที่ซึ่งมีผลต่อสภาพแวดล้อมและนิเวศวิทยา และพื้นที่ซึ่งยังปักปันเขตแดนไม่แล้วเสร็จ ตามลำดับ และคาดว่าจะใช้งบประมาณ 17,435.5 ล้านบาท ทั้งจากรัฐบาลไทย และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

แผนการใช้งบประมาณ
ประเทศไทยเสนอแผนการใช้งบประมาณใน 9 ปีครึ่งข้างหน้า ดังภาพด้านล่างนี้


ตามแผน : ในปี ค.ศ.2010-2018 ประเทศไทยวางแผนหางบประมาณมาใช้ในการดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดทั้งสิ้น 15,973.90 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากรัฐบาล 11,500 ล้านบาท และเงินบริจาคจากต่างชาติ 4,473.90 ล้านบาท 

แต่ในความเป็นจริง กลับตรงกันข้าม : รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระบิดให้แก่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ผ่านกระทรวงกลาโหม) เพียง 566.9 ล้านบาท (ถึงปี ค.ศ.2017) ส่วนเงินบริจาคจากต่างประเทศ มีน้อยมาก และไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ 

TIME LINE ของประเทศไทย
ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2559 ประเทศไทยยังคงเหลือพื้นทีอันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดฯ อีก 422.60 ตร.กม.ครอบคลุมพื้นที่ 13 จังหวัด ซึ่งเหลือเวลาอีก 2 ปี 2 เดือน จะสิ้นสุดเวลาที่สัญญาไว้




จากสถิติที่ผ่านมาภายใต้ทรัพยากรและเครื่องมือในปัจจุบัน ประเทศไทยปรับลดพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดฯ ได้ปีละ 30-35 ตร.กม. หากวิเคราะห์แล้ว สถานะปัจจุบัน ประเทศไทยมีความล่อแหลมต่อการผิดสัญญาอีกครั้ง


ผู้มีอำนาจต้องตัดสินใจ
ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในที่ประชุมรัฐภาคี ประเทศที่ประสงค์ขอต่ออนุสัญญาฯ ต้องเสนอคำขอล่วงหน้าหนึ่งปี ก่อนสิ้นสุดสัญญา ดังนั้นหากประเทศไทย จะตัดสินใจขอต่อหรือไม่ต่ออนุสัญญาฯ  อีกครั้ง นั้น ต้องเสนอในปี พ.ศ.2560 (ค.ศ.2017) นั่นหมายถึง ผู้ที่มีอำนาจโดยแท้จริง คือ  คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (National Mine Action Committee : NMAC) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ต้องมีมติเห็นชอบด้วยและจะต้องตัดสินใจว่า "จะเอากันอย่างไร" ไม่ใช่การตัดสินใจของผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ หรือผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ คนใดคนหนึ่ง 



และหากคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ( NMAC) มีมติตัดสินใจไม่ต่อสัญญา ก็ต้องมีมาตรการลงมาเพิ่มเติมว่า แล้วจะทำกันอย่างไรต่อไปให้สำเร็จตามสัญญา  อันที่จริงๆ เรื่องนี้ผมเคยนำเสนอมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 แล้วว่า "จะต่อหรือไม่ต่อ ต้องมีความชัดเจน" (ดังภาพที่แสดงด้านล่าง)  แต่ไม่มีผู้บริหารท่านใดให้ความสนใจ ทุกคนมาอยู่ชั่วพักชั่วยามแล้วก็จากไป  จนถึงวันนี้อาจจะต้องเร่งรีบดำเนินการมากขึ้น


จะใช้เหตุผลใดในการขอต่อสัญญา
หากประเทศไทยจะขอต่อสัญญาที่เป็นครั้งที่ 2 ต้องตอบคำถามมากมาย เพื่อให้ตัวเองไม่เสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือในรัฐภาคี เพราะแผนที่เคยเสนอไว้ในการต่อสัญญาครั้งที่ 1  ประเทศไทยไม่เคยได้ทำตามแผนเลย เหมือนการขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ เหมือนเด็กดื้อ ที่ทำการบ้านไม่เสร็จเป็นครั้งที่ 2 แล้วจะเอาเหตุผลอะไรไปอ้างครู  

หากประเทศไทย ปฏิบัติงานเก็บกู้ทุ่นระเบิดฯ ไม่แล้วเสร็จตามอนุสัญญาออตตาวาที่ให้ไว้อีกครั้ง ก็คงไม่เป็นไร รัฐภาคีทั้งหลายก็คงไม่ลงมติให้จับกุมประเทศไทยไปลงโทษ เข้าคุกเข้าตาราง แต่อย่างใด  แต่ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากค่าความน่าเชื่อถือและค่าความเชื่อมั่นต่อสังคมโลก ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออนุสัญญาฯ อีกหลายฉบับที่เข้าร่วมอยู่แล้ว และอีกหลายฉบับที่กำลังจะตามมา

ฤา..เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของประเทศไทยที่เคยสร้างสมไว้ในอดีต จะถูกทำลายลงในยุคผู้นำปัจจุบันของประเทศไทย  ช่วยกันเถอะครับ หันมาดูข้อเท็จจริง และช่วยกันแก้ไขเสียที ก่อนที่จะสายเกินไป

********************************
ชาติชยา ศึกษิต : 28 พ.ย.2559

คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ( NMAC) (ตามโครงสร้าง)

5 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

สุดยอดคับหัวหน้า ขอให้ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงได้เล็งเห็นความสำคัญตรงนี้ด้วย

Unknown กล่าวว่า...

เพราะงานของเรามีผลกระทบด้านการเมืองน้อยไงครับ...
ถ้าผู้มีอำนาจเข้าใจ ตามที่ครูให้ข้อมูลก็จะน่ามีโอกาสที่ภารกิจจะราบรื่นนะครับ ผมคิดว่าองค์กรสื่อน่าจะกระตุ้นได้
ขอให้กำลังใจครู และผู้ที่ทำงานด้านนี้ครับ

Suchart Chantrawong, Ph.D. กล่าวว่า...

ขอบคุณทุกคน

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ต้องออกสื่อค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ

Unknown กล่าวว่า...

ผมเพิ่งเข้ามาอ่านครับ คิดถึงหัวหน้าครับ หัวหน้าสอนผมทุกอย่าง ขอบพระคุณครับ