13 กรกฎาคม 2555

แผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ราชอาณาจักรไทย

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2555 มีหนังสือจากอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ (กองสันติภาพ ความมั่นคง และการลดอาวุธ) กระทรวงการต่างประเทศ ให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิด เพื่อจัดทำรายงานประจำปี (Geneva Progress Report 2012) และเพื่อการดำเนินการตามแผนปฏิบัติคาร์ตาเฮนาข้อ 14 ที่กำหนดให้รัฐภาคีระบุพื้นที่ที่ยังคงมี หรือคาดว่ามีทุ่นระเบิดฯ ตกค้างอยู่  ซึ่งต้นเรื่องนี้เป็นการทวงถามมาจากคณะผู้แทนถาวรอินโดนีเซียและแซมเบีย (ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการประจำด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดฯ ภายใต้อนุสัญญญาฯ) ที่มีหนังสือไปถึงคณะผู้แทนถาวร ณ นครเจนีวา

ข้อมูลที่ประเทศไทยต้องแจ้งให้ทราบก็คือ
  1. พื้นที่ที่ประเทศไทยเคยรายงานเมื่อ พ.ค.2555 ว่ายังมีทุ่นระเบิดเหลืออยู่ จำนวน 542.6 ตร.กม.นั้น แยกเป็นพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยัน (Confirmed Hazardous Area : CHA) และเป็นพื้นที่อันตรายที่ระบุดชัดเจน (Defined Hazardous Area : DHA) จำนวนเท่าใด
  2. สถานะของแผนดำเนินการและกรอบระยะเวลาในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามพื้นที่ในข้อ 1
  3. ประเทศไทยจะสามารถเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามข้อ 1 ให้แล้วเสร็จภายใต้พันธกรณี ข้อ 5 ของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลฯ (ออตตาวา) ที่ขอต่อระยะเวลาถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 ได้หรือไม่
  4. จำนวนพื้นที่ที่ประเทศไทยจะเก็บกู้ได้จนถึงปลายปี พ.ศ.2557 


TMAC ตอบได้หรือไม่
ผมได้เสนอเรื่องการจัดทำ "แผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ" ที่ TMAC  ควรจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดของชาติ  ซึ่งแผนนี้ต้องเสนอให้คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษย์ธรรมของชาติ  ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ รับรองแผนฯ ด้วย ผมเสนอในที่ประชุมก่อนที่จะมีเรื่องนี้เข้ามาเพียง 2-3 วัน ยิ่งประเทศไทยต้องเก็บกู้ระเบิดฯ ให้หมดภายใน พ.ศ.2561 ซึ่งเหลืออีกเพียง 6 ปี กับพื้นที่ 542.6 ตร.กม.ที่เหลือนั้น จะมีอะไรเป็นหลักประกัน

เพื่อนผมที่ทำงานด้วยกันได้ไปค้นเอกสารเก่าๆ มาให้  ได้แก่  (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2553-2557 และ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ พ.ศ.2555-2561 ซึ่งทั้ง 2 ฉบับเป็นร่างทั้งนั้น ก็เป็นอันว่าจบเรื่อง 

"หาก TMAC ทำงานโดยไม่มีแผนฯ ซึ่งก็เท่ากับประเทศไทยทำงานโดยไม่มีแผนฯ เช่นกัน"


อนุสัญญาออตตาวานี้ เดิมประเทศไทยต้องเก็บกู้ระเบิดฯ ให้หมดภายใน 30 เม.ย.2552 แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ จึงขอขยายระยะเวลาออกไปจนถึง 1 พฤศจิกายน 2561 แต่หากไม่มี "แผนยุทธศาสตร์การปฏิบติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ" ที่เป็นกรอบในการปฏิบัติงานตั้งแต่บัดนี้ ถึง พ.ศ.2561 แล้ว แน่นอนว่า เมื่อรัฐบาลเปลี่ยน นายกเปลี่ยน ผู้บังคับบัญชาทางทหารเปลี่ยน หัวหน้าศูนย์ทุ่นระเบิดแห่งชาติเปลี่ยน แล้วใครจะรับประกันการทำงานของประเทศไทยว่าจะแล้วเสร็จตามพันธกรณีที่ให้ไว้ 


นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2551 ไว้ว่า



"ไม่เคยทราบว่าก่อนว่าการดำเนินการเรื่องนี้ยุ่งยาก ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้ลงนามร่วมกับ 150 ประเทศ และคณะกรรมการนี้ดำเนินการมาตลอด 10 ปีแล้ว แต่เหลือพื้นที่ตกค้างอีก 500 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทและใช้เวลา 10 ปี แต่รัฐบาลไม่สามารถให้งบประมาณผูกพันได้จึงได้อนุมัติให้ก่อน 1.4 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2553 หากสามารถดำเนินงานได้สัก 10 – 20 % ก็จะพิจารณาอนุมัติงบประมาณเพิ่มให้ในปีต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ล่าช้าเพราะวัตถุระเบิดเป็นพลาสติกทำให้ตรวจค้นลำบาก โดยได้ถามที่ประชุมว่าทำไมน้ำมันและแหล่งทองคำถึงตรวจค้นได้ แต่หาลูกระเบิดไม่ได้"


สรุปได้ว่า "เงิน" เป็นปัจจัยสำคัญ แต่ถ้าไม่มี "แผนงาน" มาให้ดูก่อน แล้วจะอนุมัติเงินได้อย่างไร ดังนั้น TMAC ไม่ควรทำงานแบบสะเปะสะปะ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องจัดทำ "แผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ" กันอย่างจริงจังเสียที

ผมเห็นว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีปัจจุบันของไทย  ควรหันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้  เพราะท่านเป็นผู้นำของประเทศ แถมมีตำแหน่งประธานคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย


*****************************
CoED : 13 ก.ค.2555


ที่มาข้อมูลและภาพ
http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1779&contents=22894

ไม่มีความคิดเห็น: