19 กรกฎาคม 2555

การประชุมเชิงปฏิบัติการทุ่นระเบิดที่เชียงใหม่

วันที่ 19 ก.ค.2555 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย (ศทช.ศบท.บก.ทท.)ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการบูรณาการแผนงานปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในพื้นที่ของหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 4 (นปท.4) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือรวม 10 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย และเพชรบูรณ์ ขนาดพื้นที่อันตรายจากทุ่นระเบิดที่ยืนยัน รวม 524 ตร.กม. 


การจัดประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นที่ห้องภูมิระพี โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้แทนในแต่ละจังหวัดทั้ง 10 จังหวัดเข้าร่วมประชุม มีทั้งผู้แทนส่วนราชการพลเรือนด้านความมั่นคง ด้านสาธารณสุข อบจ. อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนภาคประชาชน และผู้แทนจากองค์กรอิสระที่ทำงานด้านทุ่นระเบิด PRO&APOPO และ NPA รวมแล้วจำนวนกว่า 100 คน หัวข้อในการประชุม ได้แก่ "ความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่กับ นปท.4 ในการปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดด้วยวิธี Land Release และ พื้นที่ที่มีความเร่งด่วนในการปรับลดพื้นที่ด้วยวิธีดังกล่าว" 

ก่อนเปิดการประชุม หัวหน้า ศทช. ได้ทำพิธีส่งมอบพื้นที่ปลอดภัยซึ่ง นปท.4 ได้ทำการกวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่ดังกล่าวหมดแล้ว โดยมีผู้แทนจาก 4 จังหวัดมารับมอบพื้นที่โดยตรง ต่อจากนั้นผู้แทนที่รับมอบจะได้แจ้งต่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าใช้ประโยชน์อย่างปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินต่อไป โดยพื้นที่ที่ส่งมอบอยู่ใน จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 103,146 ตร.ม. จ.อุตรดิตถ์ จำนวน 964,396 ตร.ม. จ.น่าน จำนวน 59,293 ตร.ม. และ จ.พิษณุโลก จำนวน 28 ตร.ม. 

นปท.4 ได้สรุปว่า พื้นที่ภาคเหนือที่ได้รับการกวาดล้างและทำลายทุ่นระเบิดที่ผ่านมา ได้แก่ 
  • บริเวณอนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ บ.สิมารักษ์ ต.เขาค้อ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ 
  • ช่องภู่ดู บ.ม่วงเจ็ดต้น อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ 
  • บ.แม่ส่วยอู ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 
  • ฐานฯ 17 ทหารกล้า บ.ห้วยโก๋น ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน 
  • ฐานฯ ภูพยัคฆ์ บ.น้ำรีพัฒนา ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน 
  • บ.สิบสองพัฒนา ต.ผาช้างน้อย อ.ปัง จ.พะเยา 
  • ภูหนองซำใหญ่ บ.วังอ้อ ต.บ้านเสี้ยว อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ 
  • เขากกกระบก บ.วังสัมพันธ์ ต.ม่วงเจ็ดต้น อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ 
ข้อมูลของ ศทช. เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2555 ระบุว่าพื้นที่อันตรายจากทุ่นระเบิดที่ยืนยัน (Comfirmed Hazardous Area : CHA) ยังคงเหลืออยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งสิ้น 103.46 ตร.กม. แยกเป็น
  • จ.เชียงใหม่ 40.48 ตร.กม. 
  • จ.พิษณุโลก จำนวน 32.99 ตร.กม. 
  • จ.ตาก จำนวน 10.06 ตร.กม. 
  • จ.พะเยา จำนวน 7.18 ตร.กม. 
  • จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 5.60 ตร.กม. 
  • จ.อุตรดิตถ์ จำนวน 3.34 ตร.กม. 
  • จ.น่าน จำนวน 2.76 ตร.กม. 
  • จ.เชียงราย จำนวน 1.05 ตร.กม. 


ผลการประชุม 
ประเด็นแรก : ความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่กับ นปท.4 ในการปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดด้วยวิธี Land Release ควรแบ่งขั้นตอนดำเนินการออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังดำเนินการ ดังนี้ 
  1. ก่อนดำเนินการ นปท.4 ควรแจ้งให้ชุมชนทราบถึงภารกิจ หน้าที่ ของตนเองโดยชัดเจน ให้ความรู้แก่ชุมชนเกี่ยวกับทุ่นระเบิด ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนได้รับทราบอย่างหลากหลาย โดยใช้สื่อของชุมชนเอง เช่น หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน จัดกิจกรรมเกี่ยวกับทุ่นระเบิดอย่างต่อเนื่องทั้งในชุมชนและสถานศึกษาของชุมชนระบุเจ้าหน้าที่ประสานงานให้ชัดเจนว่าชุมชนไหนจะติดต่อกับใคร สร้างความคุ้นเคยระหว่างผู้ประสานงานกับชุมชน 
  2. ระหว่างดำเนินการ ชุมชนควรมีจัดการความรู้เรื่องทุ่นระเบิดของชุมชนเอง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของชุมชนเกี่ยวกับการสู้รบ พื้นที่สู้รบ ข้อมูลจากคำบอกเล่าจากผู้มีประสบการณ์ตรง ฯลฯ ผ่านทางเวทีประชาคมในหมู่บ้าน หรือศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน จัดสร้างเครือข่ายกลุ่มต่างๆ ในชุมชนที่เกี่ยวข้องให้เข้มแข็ง กระจายข่าวสารเกี่ยวกับทุ่นระเบิดอย่างต่อเนื่องทั่วถึง พื้นที่อันตรายใดอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล บุคคลนั้นต้องให้ความร่วมมือในการกวาดล้างเก็บกู้ ชุมชนควรจัดผู้แทนเข้าร่วมประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ร่วมกันกับเจ้่าหน้าที่ของ นปท.4 
  3. หลังดำเนินการ หลังการปรับลดพื้นที่แล้ว หากยังพบทุ่นระเบิดตกค้าง หรือมีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับทุ่นระเบิด ต้องรีบแจ้ง นปท.4 ให้ทราบทันที 
ประเด็นที่สอง : ลำดับความเร่งด่วนในการดำเนินการปรับลดพื้นที่แบบ Land Release ในภาคเหนือ เนื่องจาก นปท.4 มีเจ้าหน้าที่จำนวนจำกัด และงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลก็จำกัดเช่นกัน จึงต้องเลือกดำเนินการในพื้นที่ตามลำดับความเร่งด่วนก่อน ซึ่งผลการประชุมได้กำหนดพื้นที่ปรับลดตามลำดับความเร่ง ดังนี้ 
  • ลำดับ 1 พื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ทำกิน พื้นที่เพื่อความมั่นคง และพื้นที่ตามโครงการพระราชดำริ
  • ลำดับ 2 พื้นที่ที่มีแผนการสร้างเส้นทางทางยุทธศาสตร์ หรือเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศ
  • ลำดับ 3 พื้นที่แหล่งท่องเที่ยว 
  • ลำดับ 4 พื้นที่ก่อสร้างตามแผนพัฒนาของแต่ละจังหวัด 
  • ลำดับ 5 พื้นที่อนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ต้นน้ำ 


การประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการบูรณาการแผนงานปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในพื้นที่ของหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 นับเป็นครั้งสุดท้ายของการปฏิบัติงานในรอบปีนี้ โดยในครั้งที่ 1 จัดการประชุมที่ จ.สระแก้ว(นปท.1) ครั้งที่ 2 จัดการประชุมที่ จ.จันทบุรี (นปท.2) และครั้งที่ 3 จัดการประชุมที่ จ.สุรินทร์ (นปท.3) 

ซึ่งข้อมูลต่างๆ จากผลการประชุมทั้ง 4 ครั้งนี้ ทาง ศทช. จะนำไปปรับปรุงและพัฒนาแนวทางในการปฏิบัติระดับชาติในปีต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติงานมีคุณภาพและได้ประสิทธิภาพ โดยมุ่งหวังในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ


****************************

CoED-TMAC : 19 ก.ค.2555

ไม่มีความคิดเห็น: