10 กุมภาพันธ์ 2556

ลีลาคชยุทธที่ขอบขัณฑสีมา

ผมได้มีโอกาสไปสักการะ "พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระพุทธรูปของชาวไทยใหญ่" ที่เจ้ายอดศึกแห่งไทยใหญ่ และทหารไทยได้ร่วมกันสร้างขึ้นบนดอยสูงสุด บนกึ่งกลางเส้นแบ่งขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรไทยและประเทศเมียนมาร์  ณ ตำบลนาปู่ป้อม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน (ดูแผนที่) ที่นั้นผมใด้พบภาพเขียนเกี่ยวกับ "ลีลาคชยุทธจำนวน 12 ท่า 12 ภาพ"  แขวนไว้ในศาลาที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไทยใหญ่  เป็นความรู้ใหม่ของผมที่ได้พบ จึงถ่ายรูปมาและบันทึกไว้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อไป

ภาพพาโนรามา
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
และพระพุทธรูปของชาวไทยใหญ่
บนกึ่งกลางเส้นแบ่งขอบขัณฑสีมา

พระบารมีแผ่ปกคุมหัวเมืองเหนือ
พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน)แห่งบ้านปางคาม เล่าให้ผมฟังว่า ชาวไทยใหญ่ทุกคนมีความเคารพและศรัทธาต่อสมเด็จพระนเรศวรฯ มาก เพราะท่านมีคุณูปการต่อชาวไทยใหญ่หลายครั้งหลายครา แม้เหตุการณ์ตอนที่พระองค์ฯ สิ้นพระชนม์ที่เมืองหาง ก็เพราะกำลังเดินทัพมาช่วยเหลือชาวไทยใหญ่นั้นเอง


พระบรมราชานุสาวรีย์
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


บันทึกเจ้ายอดศึก
ที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อกอบกู้รัฐฉาน (R.C.S.S) ได้จารึกพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเอาไว้  ผมขอคัดในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับไทยใหญ่ โดยสรุปดังนี้ 
  • พ.ศ.2107  สมเด็จพระนเรศวรฯ พระชนมายุ 9 พรรษา  บุเรงนอง กษัตริย์พม่า ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา  ทรงถูกนำไปเป็นตัวประกัน ณ กรุงหงสาวดี ประทับ 6 ปี ทรงรู้จัก "เจ้าคำก่ายน้อย" ของไทยใหญ่แห่งเมืองแสนหวี  ซึ่งเป็นตัวประกันอยู่กรุงหงสาวดี  ตั้งแต่ พ.ศ.2098
  • ................
  • พ.ศ.2126 สมเด็จพระนเรศวรฯ พระชนมายุ 28 พรรษา  ได้เป็นแม่ทัพยกไปช่วยเมืองหงสาวดีไปตีเมืองคัง (ไทยใหญ่เรียกเมืองกลอง) ในรัฐไทยใหญ่ ตามคำสั่งของพม่า
  • ...............
  • พ.ศ.2135 สมเด็จพระนเรศวรฯ พระชนมายุ 37 พรรษา สงครามยุทธหัตถี พม่า 240,000 คน ไทย 100,000 คน รบกันที่เมืองสุพรรณบุรี ทรงมีชัยชนะฟันพระมหาอุปราชา มังกะยอชวา แห่งกรุงหงสาวดี ด้วยพระแสงของ้าว สิ้นพระชนม์ เมื่อวันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ.2135  และในสงครามเมืองทะวาย  ตะนาวศรี ไทย 100,000 คน ตีได้เมือง
  • พ.ศ.2143  สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงส่งเจ้าคำก่ายน้อย  กลับแสนหวี เพื่อรวมอาณาจักรเจ้าฟ้าไทยใหญ่ทั้งปวงขึ้นตรงต่ออยุธยา
  •  พ.ศ.2147 สงครามครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยกทัพไปตีกรุงอังวะ ด้วยกำลังทัพจำนวน 200,000 คน เพื่อทรงช่วยพระสหาย เจ้าคำก่ายน้อยแห่งแสนหวี ที่กำลังถูกอังวะรุกราน ระหว่างทางทรงประชวร และเสด็จสวรรคต ที่เมืองหาง (อยู่ในรัฐฉาน) เมื่อวันจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง  ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2148  สิริพระชนมพรรษา 50 พรรษา รวมสิริดำรงราชสมบัติ 15 ปี
จากบันทึกดังกล่าวจึงเป็นสิ่งยืนยันได้ถึงสาเหตุของความเคารพศรัทธา ที่ชาวไทยใหญ่มีต่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ของเรา 

"พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ยืนตระหง่านบนยอดดอยสูงสุด  หลังของพระองค์ท่านฯ  พิงขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรไทย สายตามองยาวไกลเพื่อกำราบทัพพม่า เจ้าจงอย่ามารุกรานชาวไทยใหญ่ที่ดอยไตแลง ภายใต้สายพระเนตรของพระองค์ฯ "

หลังพิงขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรไทย
ปกป้องคุ้มภัย..ชาวไทยใหญ่..ที่อยู่ด้านหน้า
สายตามองไกล..ไปยอดเขาลิบ
กำราบทัพพม่า..ให้ยำเกรง
  

  
















ลีลาคชยุทธ
จากการที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงกระทำยุทธหัตถี มีชัยชนะฟันพระมหาอุปราชา มังกะยอชวา แห่งกรุงหงสาวดี ด้วยพระแสงของ้าว สิ้นพระชนม์นั้น  จึงได้เกิดภาพวาดลีลาคชยุทธ จำนวน 12 ท่าติดเอาไว้ในศาลาเพื่อเป็นอนุสรณ์นั่นเอง  ลีลาคชยุทธน่าจะเป็นเคล็ดวิชากระบวนท่าในการรบบนหลังช้าง เพราะสมัยก่อนแม่ทัพมักใช้ช้างเป็นพาหนะ จึงต้องมีการเรียนการฝึกฝนเพื่อให้ชำนาญและเชี่ยวชาญในการรบบนหลังช้าง ภาพลีลาคชยุทธ ที่ติดอยู่ประกอบด้วย 12 กระบวนท่า ได้แก่
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 1 นาคีพันหลัก
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 2 หักด่านลมกรด
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 3 องคตควงพระขรรค์
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 4 คชสารสะบัดงวง
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 5 ทะลวงประจัญบาน
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 6 คชสารประสานงา
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 7 บาทาลูบพักตร์
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 8 หักคอเอราวัณ
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 9 โค่นเขาพระสุเมรุ
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 10 เถรกวาดลาน
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 11 บั่นเศียรทศกัณฑ์
  • ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 12 ประหารราชสีห์                                                
ผมไม่มีความรู้เรื่องลีลาคชยุทธ จึงไม่สามารถอธิบายเคล็ดวิชาได้ แต่ผมได้ถ่ายภาพมาประกอบให้ชมด้านล่าง  เผื่อว่าท่านผู้ใดมีความรู้จะได้อธิบายเพิ่มเติมได้มากยิ่งขึ้น  

แต่ผมยังสงสัยว่า ตอนที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงกระทำยุทธหัตถี มีชัยชนะฟันพระมหาอุปราชา สิ้นพระชนม์นั้น ไม่ทราบว่าจะเป็นลีลาคชยุทธ  ท่าที่ 11 บั่นเศียรทศกัณฑ์ หรือ ท่าที่ 12 ประหารราชสีห์ กันแน่  วานให้ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญได้ต่อยอดองค์ความรู้ นี้เพื่อประโยชน์ในทางศิลปะการต่อสู้ต่อไป

    































































































































***********************************
ชาติชยา ศึกษิต
10 ก.พ.2556

ไม่มีความคิดเห็น: