แนวชายแดนไทย-พม่า ด่านทัพต้นไทร (เนิน 491)
เป็นชื่อเรียกพื้นที่รอยต่อระหว่างพรมแดนไทยและสหภาพเมียนม่าร์ ตั้งอยู่ในเขต ต.รับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร สถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของชุมพร โดยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 รัฐบาลทหารพม่าได้นำกำลังเข้าปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงที่ฐานถ้ำดิน โดยทหารพม่ายึดพื้นที่บริเวณรอบเนิน 491 เป็นฐานตั้งยิง ซึ่งถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศไทย ภายหลังทหารพม่าปราบปรามกะเหรี่ยงได้สำเร็จ ก็ยังมิถอนกำลังออกไปจากเนิน 491 จึงเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ต่อมารัฐบาลได้ใช้ยุทธวิธีทางการทูตเจรจาจนกองทหารพม่ายินยอมและถอนกำลังออกไป เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2535พื้นที่บริเวณโดยรอบเนิน 491 |
ความตอนหนึ่งจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2535 ซึ่งได้อัญเชิญไปจารึกไว้ ณ จุดยุทธศาสตร์เนิน 491 ความว่า
"...ที่จริง ถ้าทั้งสองฝ่ายถอย แล้วก็ต่างคนต่างยิงปืนใหญ่ใส่กันบน "สี่เก้าหนึ่ง" นั้นให้เหลือ "สี่เก้าศูนย์" ก็หมดเรื่องไป หมดเรื่องไม่ต้องทำอะไร แต่ใครก็อย่าไปยืนบนนั้น จะเป็นไทยหรือพม่าอย่ายืนบนนั้น เพราะว่าทั้งสองฝ่ายจะยิงปืนใหญ่ใส่ อันนี้เป็นข้อตกลงที่ทำได้แล้วเป็นการดี..."
ปัจจุบันจังหวัดชุมพรกำลังพัฒนาเนิน 491 ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทางประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ของไทย
เนิน 491 ยังคงต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่
จากผลการสำรวจขององค์กรชาวต่างชาติ เมื่อปี พ.ศ.2543 พบว่าพื้นที่ด้านเหนือและด้านใต้ของเนิน 491 เลาะตามแนวชายแดนนั้น ยังคงมีทุ่นระเบิดและสรรพวุธระเบิดที่ไม่ระเบิด (UXO) ตกค้างอยู่ จากผลพวงของการสู้รับ เมื่อสมัยปี พ.ศ.2535 กินพื้นที่ประมาณเกือบ 7 ตารางกิโลเมตร
พื้นที่สีแดง คือ พื้นที่ต้องสงสัยว่ายังมีทุ่นระเบิดและ UXO ตกค้างอยู่ กินพื้นที่เกือบ 7 ตารางกิโลเมตร |
ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ไม่เคยดำเนินการใดๆ กับพื้นที่เนิน 491 นี้เลย ผมและทีมงานได้รับมอบหมายให้ลงไปสำรวจเป็นครั้งแรก ในมือมีเพียงแค่เอกสารที่สำรวจไว้เมื่อปี พ.ศ.2543 เท่านั้น
หลังเสร็จภารกิจ "คืนความบริสุทธิ์" ให้กับ จ.นครศรีธรรมราชแล้ว พวกเราเดินทางกลับขึ้นมาชุมพร และ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ส.ค.2557 ผมและทีมงานได้มีโอกาสเข้าพบท่านรองนายอำเภอท่าแซะ พร้อมด้วยข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และชาวบ้านที่เกี่ยวข้องอีกหลายท่าน ผมได้เล่าเรื่องราวดังกล่าวให้ฟัง ซึ่งทุกท่านทราบเรื่องการรบเมื่อปี พ.ศ.2535 เป็นอย่างดี แต่ไม่เคยทราบเลยว่าพื้นที่เนิน 491 นี้ถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลระดับชาติว่า ยังเป็นพื้นที่อันตราย เป็นพื้นที่ที่ต้องสงสัยว่ายังมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ ควรแจ้งเตือนราษฎรไม่ให้เข้าไปใช้พื้นที่ซึ่งอาจเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
พูดคุยหารือ ณ ที่ว่าการอำเภอท่าแซะ |
ไปไม่ถึงเนิน 491
หลังจากพูดคุยเสร็จ พวกเราได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่จริง ภายใต้การอำนวยความสะดวกและความคุ้มครองของปลัดอำเภอฝ่ายป้องกัน เจ้าหน้าที่ อส. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกำลังตำรวจตระเวนชายแดน ระหว่างทางพวกเราต้องเปลี่ยนไปนั่งรถขับเคลื่อนสี่ล้อที่ผู้ใหญ่บ้านจัดเตรียมไว้ให้ เพราะรถตู้ของเราเข้าไปไม่ได้ การเดินทางสำรวจพื้นที่สิื้นสุดที่ฐาน ต.ช.ด.ชุดเฝ้าระวังชายแดนที่ 4102 พวกเราไม่สามารถเดินทางต่อไปยังเนิน 491 ได้ เพราะสภาพเป็นป่ารกทึบ
หารือข้อมูลพื้นท กับ ร.ต.ต.วิรัช ทองเทพ ครูใหญ่ โรงเรียน ตชด.บ้านสันตินิมิตร |
เดินทางขึ้นฐาน ตชด.4102 |
UXO ที่พบระหว่างการปรับปรุงฐานของ ตชด.ฯ |
เส้นทางที่จะไปเนิน 491 มีสภาพป่ารกทึบ เพราะเป็นฤดูฝน |
วิเคราะห์พื้นที่การสู้รบ |
ภาพร่างพื้นที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดบริเวณรอบเนิน 491 |
วันหนึ่งข้างหน้า เราจะกลับไป
หลังจากที่พวกเราวิเคราะห์พื้นที่การสู้รบเสร็จแล้ว พวกเราได้ร่วมกันเขียนภาพร่างคร่าวๆ ว่าพื้นที่ใดบ้างที่มีความสงสัยว่ายังมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ยังสนับสนุนข้อมูลตามผลการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2543 แต่สิ่งที่ผมรู้สึกกังวลมากในขณะนี้คือ
"ในพื้นที่ที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดแห่งนี้ ไม่เคยมีการติดป้ายแจ้งเตือนอันตรายหรือแสดงเส้นขอบเขตไว้เลยว่าพื้นที่เหล่านี้มีทุ่นระเบิด ราษฎรไม่ควรเข้าไปใช้พื้นที่อาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้"
มอบป้ายแจ้งเตือนอันตรายจากวัตถุระเบิด ให้ผู้ใหญ่บ้านและครูใหญ่ รร.ตชด.ฯ ไว้เป็นตัวอย่าง |
ผมได้มอบป้ายแจ้งเตือนอันตรายจากวัตถุระเบิด ซึ่งเหลือมาจากการปฏิบัติงานที่นครศรีธรรมราช เพียง 1 แผ่น ให้ผู้ใหญ่บ้านและครูใหญ่ รร.ตชด. ไว้เพื่อเป็นตัวอย่าง หลังจากผมถึง TMAC แล้ว ผมสัญญาว่าจะส่งมาป้ายมาให้อีกทางพัสดุไปรษณีย์ และหลังจากได้รับป้ายแล้ว วานให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยเป็นธุระติดตั้งให้ด้วย
ก่อนที่พวกเราจะกลับ
ผมรู้สึกได้ว่า...แววตาแห่งความกังวลบางอย่างเกิดขึ้นกับชาวชุมพรที่ร่วมสำรวจกับพวกเรา...
ผมจึงกล่าวว่า "ไม่เป็นไรครับ แล้วผมจะกลับมาอีก"
ผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่งกล่าวเป็นภาษาใต้จับความได้ว่า หากจะกลับมาปฏิบัติงาน ให้มาเดือนมกราคมปีหน้า เพราะฝนหยุดตกแล้ว เขาจะจัดเตรียมที่พักไว้ให้พวกเราทุกคน
ผมยิ้ม...แล้วตอบแบบไม่ค่อยเต็มปากเต็มคำว่า "ครับ.."
วันหนึ่งข้างหน้า ผมจะกลับไป
กลับไปเพื่อปลดปล่อยพื้นที่เนิน 491 ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย
แต่ผมไม่รู้ว่า เมื่อใด เท่านั้นเอง
ขอบคุณชาวชุมพรทุกคนที่ร่วมสำรวจกับพวกเรา
*******************
ชาติชยา ศึกษิต : 31 ส.ค.2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น