1 ตุลาคม 2557

SMART TMAC (นายเท่ ทีแม็ค)


ผมเขียนบทความนี้ ในวันที่ 1 ต.ค.2557 ซึ่งเป็นวันแรกในการเริ่มต้นปฏิบัติงานในศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ในปีงบประมาณ 2558 และนับเป็นปีที่ 3 ของผมที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ TMAC นี้อีก 1 ปี  


ผมได้อ่านประกาศของกองบัญชาการกองทัพไทย เรื่อง สมรรถหลัก (Core Competency) ของกองบัญชาการกองทัพไทย  ซึ่งพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2557 เรื่องกำหนดสมรรถนะหลักให้กำลังพลยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน โดยใช้คำย่อว่า SMART ประกอบด้วย 5 ด้าน ดังนี้
  1. S (Sacrifice) : เสียสละ หมายถึง ทุ่มเททำงานให้บรรลุผลสำเร็จอย่างเต็มกำลังความสามารถ  พร้อมและเต็มใจที่จะสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากไม่ว่าภารกิจนั้นจะเป็นสิ่งที่ยาก เสี่ยงอันตราย หรือไม่มีผลประโยชน์ตอบแทน
  2. M (Moral) : มีคุณธรรม หมายถึง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ซื่อตรงต่อหน้าที่ มีสัจจะรักษาคำพูด ไว้วางใจได้ ประพฤติปฏฺบัติตนอยู่ในกรอบของกฏ ระเบียบ แบบธรรมเนียม และจรรยาบรรณของการเป็นทหารอาชีพ มุ่งมั่นรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมทั้งกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง
  3. A (Accountability) : ดำรงความถูกต้องพร้อมรับผิด หมายถึง มุ่งมั่นรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการให้มีความถูกต้องตามระเบียบแบบแผนและหลักการด้วยความโปร่งใส โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการ และพร้อมรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ และการตัดสินใจของตนเองทั้งทางบวกและทางลบ พร้อมและยินดีให้ตรวจสอบการกระทำหรือผลงานของตนเอง
  4. R (Result oriented) : มุ่งมั่นในผลสัมฤทธิ์ หมายถึง เข้าใจถึงเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงาน พร้อมมุ่งมั่นปฏิบัติราชการให้เกิดผลสำเร็จอย่างดีที่สุด โดยพยายามพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถเพื่อสร้างสรรค์พัฒนากระบวนการทำงานให้ผลงานบรรลุผลสำเร็จยิ่งกว่าเป้าหมายหรือมาตรฐานที่กำหนด
  5. T (Teamwork) : ร่วมคิดทำงานเป็นทีม หมายถึง ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยปฏิบัติตนได้สอดคล้องตามบทบาทหน้าที่ของการเป็นสมาชิกที่ดีของทีม ยอมรับฟังความคิดเห็นหรือคำวิจารณ์ และวิธีการทำงานที่หลากหลาย สามารถประสานการทำงานระหว่างสมาชิกในทีมได้เป็นอย่างดี พร้อมมีส่วนร่วมในทีมอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้ผลงานของทีมบรรลุเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน
"SMART" ที่ท่านพลเอก ธนะศักดิ์ฯ ได้ให้แนวทางไว้ตามที่กล่าวมา ในความเห็นส่วนตัวแล้วเป็นสิ่งที่ดีมาก หากกำลังพลในกองบัญชาการกองทัพไทยได้พยามยามพัฒนาตนเองให้เป็นไปตามสมรรถนะหลักได้แล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมากมายมหาศาล แต่ตอนนี้ ท่านฯ เกษียณไปแล้ว คำว่า "SMART" จึงไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง แม้แต่ใน TMAC นี้เองก็ตาม  กำลังพลคงเฝ้ารอแต่นโยบายของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ท่านใหม่ ว่าจะมีแนวทางออกมาอย่างไร....

ปัจจุบันมีการนำคำว่า "SMART" มาใช้กันอย่างแพร่หลาย  เช่น Smart Police, Smart Phone, Smart Mobile, Smart TV, Smart Office เป็นต้น ผมมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับกำลังพลของกองบัญชาการทหารสูงสุดที่มาช่วยราชการใน TMAC นี้เกือบ 3 ปีแล้ว รู้สึกว่า "หลายคนไม่มี คำว่า SMART ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเลย ตกทุกสมรรถนะ" ด้วยเหตุนี้กระมัง ที่ท่านพลเอกธนะศักดิ์ฯ จึงต้องออกประกาศไว้ให้กำลังพลทุกคนพยายามทำ ก่อนที่ท่านจะเกษียณ


SMART TMAC (นายเท่ ทีแม็ค)
กำลังพลที่ปฏิบัติงานใน TMAC ปีงบประมาณ 2558 นี้ ส่วนใหญ่เป็นกำลังพลเดิมจากปีที่แล้ว มันทำให้ผมรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ "หลายคนที่ไม่ควรอยู่กลับได้อยู่ หลายคนที่ควรอยู่ กลับไม่ได้อยู่" ที่ผมกล้าพูดอย่างนี้ก็เพราะผมเห็นได้ชัดจากความประพฤติและผลการปฏิบัติงานในปีที่ผ่านมา 

"ปีที่แล้ว เรามีเรือ 50 ฝีพาย แต่คนในเรือเอาเท้าราน้ำไปเสียครึ่ง พวกเราฝีพายกล้า..เหนื่อยมาก กว่าเรือของเราจะไปถึงจุดหมายปลายทาง และในปีนี้ก็เช่นกัน คนที่เอาเท้าราน้ำเหล่านั้น ก็ยังคงอยู่ ฝีพายที่เหลือเดิมๆ ก็คงต้องเหนื่อยกันมากขึ้นอีก  ถึงจะพาเรือลำนี้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้อีกครั้ง" 

เอาละ หากเรายังมีคนเดิมที่เอาเท้าราน้ำอยู่ เราก็ควรพยายามพูดคุยกับเขา ให้เขาเลิกเอาเท้าราน้ำ หันมาช่วยกันพายเรือให้ได้ ผมอยากให้ทุกคนมีความเป็น "SMART TMAC" สมาร์ทของผมนี้ไม่มีคำย่อภาษาอังกฤษใดๆ แต่เป็นภาษาไทยตรงๆ เลย คือ เท่ หล่อ หรืออาจเรียกได้ว่า "นายเท่ ทีแม็ค" 

คุณลักษณะพึงประสงค์ของนายเท่ ทีแม็ค (SMART TMAC) 
ผมอยากให้กำลังพลใน TMAC มีคุณลักษณะพึงประสงค์ ใน 3 ด้าน ดังนี้
  1. ทุกคนต้องมีความรู้ (Knowledge) หมายถึง ทุกคนที่ปฏิบัติงานใน TMAC ต้องมีความรู้เรื่องการปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมในประเทศไทย รู้ว่าใครทำอะไร ที่ไหน แล้วทำกันอย่างไร ทุกคนต้องรู้ว่าตนเองเป็นฟันเฟืองตัวไหน มีหน้าที่อะไร ที่จะช่วยหมุนปั่นขับเคลื่อนการปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย   
  2. ทุกคนต้องมีความเป็นมืออาชีพ (Professional) หมายถึง ทุกคนต้องพร้อมปฏิบัติงานได้หนักกว่ากำลังพลทั่วไป 2 เท่า มีความสามารถในการแก้ปัญหาเร็วกว่ากำลังพลทั่วไป 2 เท่า และมีผลงานมากกว่ากำลังพลทั่วไป 2 เท่า อย่างนี้เขาถึงจะเรียกว่าเป็นมืออาชีพ (สามยกกำลังสอง) 
  3. ทุกคนต้องมีความภูมิใจในองค์กร (Pround) หมายถึง ทุกคนควรศึกษาประวัติที่ผ่านมาขององค์กรว่า คนทำงานในอดีตเขาทำงานอะไรกันบ้าง เขาต้องเหนื่อยยากและเสี่ยงอันตรายอย่างไร ผลงานที่ยิ่งใหญ่ในอดีตของ TMAC มีอะไรบ้าง พยายามค้นหาเรื่องราวย้อนกลับไป หากเป็นเช่นนี้ได้ ทุกคนก็จะเกิดความภูมิใจในองค์กร เมื่อทุกคนเกิดความภูมิใจ ก็จะก่อให้เกิดความรักความสามัคคี และเกิดความหวงแหนในชื่อเสียงขององค์กร หันมาตั้งใจทำงานเพื่อรักษาชื่อเสียงขององค์กรต่อไป   
ทุกคนที่มาปฏฺิบัติงานใน TMAC ควรมีลักษณะพึงประสงค์เช่นนี้  ผืนธงชาติไทยและอาร์มของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ที่ติดอยู่บนไหล่เธอทั้งสองข้าง จึงจะมีคุณค่าเพียงพอสำหรับเธอ อย่ามาเป็นเหลือบเกาะกิน TMAC เพื่อรับสิทธิแค่วันทวีคูณและรับค่าเลี้ยงดูไปวันๆ มันเป็นการเอาเปรียบกำลังพลอื่นๆ ที่เขาไม่มีโอกาส  

ไม่ว่าเธอจะถูกเลือกมา หรือเธอวิ่งเต้นมา
เมื่อเธอมาอยู่ตรงนี้ อย่าทำตัวเป็น "ผีเน่า โลงผุ"
กินเงินของแผ่นดิน และประชาชน ไปวันๆ หนึ่ง
เธอจงเปลี่ยนสันดาน เอาอุดมการณ์มาใส่ตัวเอง
****************************************
ชาติชยา ศึกษิต : 1 ก.ย.2557

ไม่มีความคิดเห็น: